“เอเชีย-ยุโรป” กลับเข้าออฟฟิศ แต่ “สหรัฐฯ” ยังคง WFH ความต่างที่มีผลต่อธุรกิจ “สำนักงานให้เช่า”

Photo : Shutterstock
หลังผ่านวิกฤตโควิด-19 นโยบายการทำงานเริ่มกลับสู่ชีวิตปกติในแถบทวีปยุโรป เอเชีย และตะวันออกกลาง โดยมีอัตราเรียกกลับเข้าออฟฟิศ 70-110% เทียบกับสหรัฐอเมริกาซึ่งยังกลับเข้าออฟฟิศเพียง 40-60% สถิติเหล่านี้มีผลต่อธุรกิจ “สำนักงานให้เช่า” และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น ร้านอาหาร คาเฟ่ ร้านค้า ที่เน้นขายให้มนุษย์ออฟฟิศ

ผลสำรวจจาก JLL บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ พบว่า บริษัทในสหรัฐอเมริกายังคงมีนโยบาย “ทำงานทางไกล” (remote work) ต่อเนื่องแม้จะพ้นช่วงวิกฤตโรคระบาดแล้วก็ตาม โดยออฟฟิศคนอเมริกันเรียกพนักงานกลับมาสำนักงานเฉลี่ย 40-60% เท่านั้น แตกต่างกันแล้วแต่ช่วงเดือนและเมืองที่สำรวจ

เทียบกับอัตราการเรียกกลับเข้าออฟฟิศของทวีปอื่นทั่วโลก สถิติในอเมริกาถือว่าแตกต่างมาก เพราะในยุโรปและตะวันออกกลางมีการเรียกกลับในอัตรา 70-90% ขณะที่ในเอเชียถือเป็นทวีปที่เรียกกลับในอัตราสูงสุด เพราะ 80-110% ของพนักงานต้องกลับออฟฟิศ อัตราที่สูงกว่าก่อนเกิดโรคระบาดเป็นเพราะในบางเมืองบางบริษัทให้พนักงานเข้าออฟฟิศสูงกว่าเดิมด้วย

 

ทำไม “สหรัฐฯ” ให้พนักงาน WFH มากกว่า

JLL สำรวจเหตุผลที่สหรัฐฯ ยังมีการทำงานทางไกลหรือ Work from Home (WFH) สูงกว่า น่าจะมาจาก 3 เหตุผล คือ บ้านคนอเมริกันใหญ่กว่า, คนอเมริกันใช้เวลาเดินทางไปทำงานนานกว่า และ สหรัฐฯ ยังคงขาดแคลนแรงงานสูงกว่า

เจาะไปทีละเหตุผล ขนาดและสภาพแวดล้อมภายใน “บ้าน” ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการทำงาน คนอเมริกันนั้นมีค่าเฉลี่ยการอยู่อาศัยในบ้านหลังใหญ่เขตชานเมืองมากกว่าทวีปอื่น นั่นหมายความว่า อเมริกันชนมีแนวโน้มจะสร้าง “ห้องทำงาน” หรือโฮมออฟฟิศที่มีประสิทธิภาพ ไม่มีเสียงรบกวน ได้มากกว่าทวีปอื่น หากเทียบกับฮ่องกงซึ่งคนมักจะอาศัยในห้องพักขนาดเล็ก หลายคนอยู่กันเป็นครอบครัวขยาย ดังนั้น การทำงานที่บ้านจึงไม่ใช่เรื่องน่าอภิรมย์

OECD Better Life Index มีข้อมูลขนาดบ้านเฉลี่ยของประชากรกลุ่มประเทศ OECD มักจะมีบ้านขนาดประมาณ 1.7 ห้องต่อคน ซึ่งคนอเมริกันนั้นมีค่าเฉลี่ยอาศัยในบ้านขนาดประมาณ 2.4 ห้องต่อคน

เมื่อคนอเมริกันอยู่ในบ้านใหญ่ในเขตชานเมือง ค่าเฉลี่ยเวลาการเดินทางก็จะสูงกว่า ยิ่งต้องเดินทางนาน ติดอยู่ในสภาพจราจรติดขัด พนักงานก็จะยิ่งไม่อยากมาทำงานที่ออฟฟิศ ข้อมูลจาก Moovit Inc. เปรียบเทียบพบว่า คนนิวยอร์กใช้เวลาเดินทางจากบ้าน-ออฟฟิศเที่ยวละเกือบ 60 นาที เทียบกับสิงคโปร์ที่ใช้เวลาเที่ยวละประมาณ 45 นาทีเท่านั้น

Moovit Inc. ยังรายงานด้วยว่าการขนส่งสาธารณะในยุโรปและเอเชียมักจะตรงเวลาและเชื่อถือได้มากกว่า ถ้าเทียบกับสหรัฐฯ

สุดท้ายก็คือ ปัจจัยการขาดแคลนแรงงาน ค่าเฉลี่ยอัตราว่างงานของสหรัฐฯ อยู่ที่ 3.4% ขณะที่ในยุโรปอยู่ที่ 6.1% ต่างกันเกือบจะครึ่งหนึ่ง นั่นหมายความว่า บริษัทในสหรัฐฯ จะต้องโอนอ่อนให้พนักงานมากกว่าเพื่อที่จะดึงทาเลนต์มาทำงานให้ได้

 

กลับออฟฟิศหรือไม่ มีผลโดยตรงกับธุรกิจ “สำนักงานให้เช่า”

นโยบายกลับเข้าออฟฟิศมีผลกับสำนักงานให้เช่า ตัวอย่างเช่น WeWork Inc. รายงานเมื่อไตรมาส 4 ปี 2022 ว่า สำนักงานของบริษัทในนิวยอร์กมีอัตราการเช่าเพียง 72% เทียบกับปารีสที่มีถึง 80% หรือลอนดอน 81% และสิงคโปร์ขึ้นไปแตะ 82%

นอกจากผลกระทบที่มีต่อสำนักงานให้เช่าโดยตรงแล้ว ยังมีผลกับธุรกิจเกี่ยวเนื่องต่างๆ ด้วย เช่น ขนส่งสาธารณะ ร้านอาหาร คาเฟ่ ร้านค้า และธุรกิจใดๆ ที่เน้นลูกค้ากลุ่มคนทำงานออฟฟิศ ปัจจุบัน สถานการณ์ในยุโรปและเอเชียเรียกว่าค่อนข้างจะกลับมาเป็นปกติ แต่ในเมืองใหญ่ของสหรัฐฯ เช่น นิวยอร์ก ซานฟรานซิสโก ธุรกิจท้องถิ่นเหล่านี้ก็ยังซบเซา

แล้วยิ่งนโยบายกลับเข้าออฟฟิศยังไม่เพิ่มขึ้นมากเท่าไหร่ในสหรัฐฯ พนักงานก็จะยิ่งไม่อยากกลับเข้าออฟฟิศเท่านั้น เพราะบรรยากาศออฟฟิศโล่งๆ เงียบๆ นั้นไม่ชวนให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่าในการทำงาน

Source