ไม่กลับ! พนักงาน Apple ยื่นเรื่องงัดข้อนโยบาย “กลับเข้าออฟฟิศ” ของบอร์ดบริหาร

(Karl Mondon/Digital First Media/The Mercury News via Getty Images)
นโยบาย “กลับเข้าออฟฟิศ” ของ Apple ยังคงเป็นประเด็นงัดข้อกันอยู่ เพราะบอร์ดบริหารต้องการให้พนักงานกลับมาออฟฟิศอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน แต่พนักงานต้องการทำงานแบบ Work from Anywhere เป็นหลัก

Apple ถือเป็นหนึ่งในองค์กรดังของสหรัฐฯ ที่อยู่ในกลุ่มบริษัทที่มีนโยบาย “กลับเข้าออฟฟิศ” เมื่อสัปดาห์ก่อน “ทิม คุก” ซีอีโอของบริษัท ตั้งกำหนดเส้นตายไว้ว่า ตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน พนักงานออฟฟิศทุกคนจะต้องกลับมาสำนักงานอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน ถือเป็นความพยายามรอบล่าสุดของบริษัทที่จะดึงพนักงานให้กลับมาทำงานแบบเจอหน้ากัน

จากนโยบายเส้นตายล่าสุดนี้ พนักงานในบริษัทจึงมีการยื่นข้อเรียกร้องให้บริษัทจัดนโยบาย “ยืดหยุ่นโลเคชันที่ทำงาน” (location flexible work) ข้อเรียกร้องดังกล่าวมาจากกลุ่มพนักงานที่เรียกว่า “Apple Together” โดยให้เหตุผลว่า พวกเขายังสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพระหว่างทำงานจากที่ไหนก็ได้ในช่วงเกิดโรคระบาด เหมือนๆ กับตอนทำงานอยู่ในออฟฟิศ

Apple ตุรกี
Apple Store ในกรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกี (Photo: Shutterstock)

ด้านความเห็นพนักงานโดยรวมก็เป็นไปในทางเดียวกัน จากการสำรวจความเห็นพนักงาน Apple เมื่อเดือนเมษายน พบว่าพนักงาน 76% มีความเห็นเชิงลบต่อการกลับเข้าออฟฟิศ

อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพการทำงานจากการทำงานทางไกลนั้นยังคงเป็นคำถามอยู่ เพราะดาต้าล่าสุดพบว่าการทำงานจากบ้านจะมีผลสูงต่อการสร้างวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งทำให้นโยบายของ Apple ที่ต้องการให้พนักงานกลับมาออฟฟิศอาจจะนับได้ว่า ‘มีเหตุผล’

 

ทำงานจากที่ไหนก็ได้ ดีหรือไม่ดีกันแน่?

จากการศึกษาโดย Qatalog และ GitLab เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา พบว่า ปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งของการทำงานจากบ้านคือ พนักงานจะต้องเสียเวลาเฉลี่ย 67 นาทีต่อวันในการทำงานจุกจิกและไม่สำคัญ เพียงเพื่อเป็นข้อพิสูจน์กับหัวหน้างานว่าพวกเขามาทำงานแล้ว หรือที่ผู้เขียนงานวิจัยเรียกว่าเป็นงานเพื่อ “ตอกบัตรเข้างานแบบดิจิทัล”

Photo : Shutterstock

ขณะที่ผลศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการของ MIT Sloan ก็พบว่า การทำงานทางไกลอาจจะทำให้วัฒนธรรมองค์กรด้อยลง และในระยะยาวอาจมีผลในการลดประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานบางคนลงด้วย รวมถึงอาจจะทำให้เกิดการนัดประชุมที่ไม่สำคัญได้ง่ายขึ้น ส่งผลต่อความสุขของพนักงาน

นอกจาก Apple แล้ว กลุ่มซีอีโอบริษัทที่ไม่เชื่อในการทำงานแบบ Work from Anywhere มาโดยตลอดก็เช่น “เดวิด โซโลมอน” ซีอีโอ Goldman Sachs เคยเรียกการทำงานทางไกลว่าเป็น “การออกนอกลู่นอกทาง” ที่บริษัทหวังว่าจะจัดการได้โดยเร็ว

รวมถึง “อีลอน มัสก์” ซีอีโอ Tesla ก็เคยแสดงความเห็นเชิงเสียดสีเหมือนกันว่า เขาหวังว่าจะได้เจอหน้าพนักงานในออฟฟิศเร็วๆ นี้ หรือไม่อย่างนั้นพนักงานก็ควรจะ “ไปแสร้งทำเป็นทำงานในบริษัทอื่นละกัน”

Apple อาจจะถือว่าเป็นบริษัทที่ฟังเสียงพนักงานมากที่สุดแล้วในกลุ่มนี้ เพราะยอมใช้กลยุทธ์ “ไฮบริด” ให้พนักงานเข้าออฟฟิศสัปดาห์ละ 3 วันแทนการเข้าทุกวัน ซึ่งอาจเกิดจากกลัวพนักงานจะพากันลาออกเสียหมดก็ได้

Source