วิธีการทำงานหลังผ่านพ้นโรคระบาดคือสิ่งที่หลายบริษัทต้องตัดสินใจ เพราะการทำงานแบบ “Work from Anywhere” มีทั้งข้อดีและข้อเสีย อยู่ที่ใครจะให้น้ำหนักกับฝั่งไหนมากกว่า ในกรณีของ “จีเอเบิล” เลือกที่จะไปต่อจนสุดทางหลังลงทุนระบบทำงานจากที่ไหนก็ได้จน full-function เราจะไปคุยกับแม่ทัพของบริษัทกันดูว่า นโยบายการทำงานแบบนี้มีอะไรที่ “เวิร์กจริง” และที่ยังต้องอุดจุดอ่อนต่อไป
Positioning สัมภาษณ์พิเศษ “ดร.ชัยยุทธ ชุณหะชา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทจีเอเบิล ถึงนโยบายการทำงานแบบ “Work from Anywhere” ให้พนักงานทำงานจากที่ไหนก็ได้ ซึ่งเป็นนโยบายที่บริษัทตั้งใจจะคงไว้หลังเริ่มใช้ในช่วงเกิดโรคระบาด COVID-19 แม้ว่าขณะนี้ความจำเป็นบังคับจะน้อยลง แต่บริษัทเห็นข้อดีที่เกิดขึ้นจึงเลือกที่จะ ‘ไปต่อ’ อย่างไรก็ตาม แม้มีข้อดีแต่ก็ต้องมีการปรับตัวกันพอสมควรทีเดียว
Q: ในช่วง COVID-19 บริษัทมีการลงทุนอะไรไปบ้างเพื่อให้พร้อมกับการ Work from Anywhere?
A: ต้องบอกก่อนว่า Work from Anywhere ไม่ใช่เรื่องใหม่ของเรา เพราะเราเป็นบริษัทสายเทคที่ต้องมีการทำงานจากไซต์ของลูกค้า ต้องอยู่นอกออฟฟิศกันอยู่แล้ว แต่เมื่อมี COVID-19 เราจะต้องทำงานจากข้างนอกได้แบบ full-function เพราะจะไม่มีใครได้เข้าออฟฟิศเลย
เราจึงต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มคือ เพิ่มขนาดคลาวด์ จัดระบบระเบียบ และเน้นหนักเรื่อง Cybersecurity ส่วนนี้เราลงทุนไปมากกว่า 10 ล้านบาท เพราะเป็นเรื่องสำคัญมากในฐานะที่เราเป็นบริษัทเทค และประเทศไทยถือเป็นเป้าหมายโจมตีทางไซเบอร์ ทำให้ต้องป้องกันแน่นหนา เมื่อมีพื้นฐานอยู่แล้วแค่มาลงทุนเพิ่มบ้างจึงทำให้เราปรับตัวได้เร็ว
Q: ขณะนี้จีเอเบิลอนุญาตให้ทำงานจากที่ไหนก็ได้ทุกคนหรือเปล่า?
A: เรามีนโยบายสนับสนุน Hybrid Workplace แล้ว แต่จะแยกย่อยไปตามความเหมาะสมของตำแหน่งงาน เช่น สายดีเวลอปเปอร์ สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ 100% แต่ถ้าเป็นหน่วยงานสนับสนุน เช่น การเงิน, ฝ่ายบุคคล ยังจำเป็นต้องเข้าออฟฟิศ แต่จะสลับเป็นทีม A ทีม B
Q: บริษัทเล็งเห็นข้อดีอะไรบ้างจากการทำ Hybrid Workplace?
A: หนึ่ง คือ พนักงานได้เวลาเดินทางคืนมาวันละ 2-3 ชั่วโมง เราพบว่าประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานดีขึ้นเพราะมีเวลามากขึ้น และพนักงานมีเวลาส่วนตัวเพิ่ม เป็นสถานการณ์ที่ win-win ทั้งสองฝ่าย
สอง คือ พนักงานรู้สึกว่ามีสมดุลชีวิตกับการงานดีขึ้น จากเวลาที่ได้คืนมา เขาได้นำไปใช้ทำสิ่งที่มีประโยชน์กับตัวเอง
สาม คือ ขณะนี้ COVID-19 ยังไม่จบ การมีคนในออฟฟิศน้อยลงทำให้เสี่ยงติดเชื้อในที่ทำงานน้อยลง สอดคล้องกับการทำ BCP (Business Continuity Plan) ของเรา
สี่ คือ เราสามารถลดพื้นที่ออฟฟิศได้ 50% เพราะพนักงานไม่ได้เข้ามาใช้พื้นที่พร้อมกันหมด
Q: แน่นอนว่าการทำงานแบบ Work from Anywhere ย่อมมีข้อเสียด้วย จีเอเบิลมองเห็นอะไรบ้าง?
A: หลักๆ คือ การควบคุมตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานจะยากขึ้นสำหรับหัวหน้างาน รวมถึงมีประเด็นเรื่องการพัฒนาวัฒนธรรมองค์กร โดยเฉพาะกับพนักงานใหม่ เพราะปกติถ้าเข้าออฟฟิศก็ยังได้คุยเล่นกัน พักทานข้าวเที่ยงด้วยกัน
Q: ขอถกไปทีละประเด็น จีเอเบิลแก้ปัญหากับการควบคุมการทำงานออนไลน์ได้อย่างไร?
A: กุญแจสำคัญของเรื่องนี้คือต้องมี ‘Trust & Ownership’ คือ บริษัทหรือหัวหน้าก็ต้องมีความเชื่อใจลูกน้องว่าจะส่งงานได้ตามเวลาไม่ว่าทำงานจากที่ไหน การเช็กงานรายวันหรือเช็กเวลาเข้าออกงานต้องมีความเหมาะสม เราจะไม่มีการให้รายงานตัววันละ 5 ครั้ง หรือให้เปิดกล้องทิ้งไว้ เพราะการจะทำงานแบบไฮบริดได้ต้องอาศัยความเชื่อใจ
[ในส่วนนี้ “ธนัชชา อรุณประเสริฐกุล” Scrum Master/ Cloud Native Application Development ของจีเอเบิล ให้ข้อมูลเพิ่มว่าทีมของเธอมีการใช้แพลตฟอร์ม ‘Gather Town’ ในการสร้างที่ทำงานเสมือนจริงในทีม ลักษณะเหมือนสร้างอวาตาร์ของเราไว้ในเกมและ online ไว้ในเวลางาน ทำให้รู้สึกเหมือน login เข้ามาทำงานอยู่ด้วยกัน และสามารถเดินไปทักทายกันได้จริง มีบรรยากาศที่ผ่อนคลายกว่า]
Q: แล้วกรณีของการสร้างวัฒนธรรมองค์กรหรือการรับน้องใหม่ แก้ปัญหาอย่างไร?
A: เป็นประเด็นที่เรายังต้องพัฒนา เพราะวัฒนธรรมการทำงานแบบไทยต้องยอมรับว่ามีปัจจัยเรื่องความสนิทสนม ความสัมพันธ์ของเพื่อนร่วมงานค่อนข้างสูง ฝ่ายบุคคลของเรากำลังหาวิธีกระตุ้นให้เกิดการสร้างสัมพันธ์กันโดยธรรมชาติอยู่ หลังจากพ้นช่วง COVID-19 ระบาดหนักแล้ว เราคิดว่าบริษัทจะเริ่มมีกิจกรรมต่างๆ ได้แล้ว
อีกวิธีแก้หนึ่งของเราเป็นปัญหาเฉพาะตัวของบริษัท จีเอเบิลเรามีสำนักงานใหญ่บนถนนพระราม 3 ซึ่งหากไม่มีรถส่วนตัวจะเดินทางมาค่อนข้างยาก เราจึงลงทุน Satellite Office แล้วที่อาคารจามจุรีสแควร์ ซึ่งออกแบบให้รับกับ Hybrid Workplace เน้นสิ่งแวดล้อมที่ให้คนมามีตติ้ง มาทำงานร่วมกัน
เราคิดว่าการมีออฟฟิศย่อยในทำเลที่ไปมาง่าย มีแหล่งร้านอาหาร กิจกรรมโดยรอบ น่าจะกระตุ้นให้พนักงานอยากออกมาเจอกันบ้าง คาดว่า Satellite Office นี้น่าจะเปิดใช้ได้ช่วงพฤศจิกายนปีนี้
Q: แสดงว่าการประชุมผ่านทางออนไลน์ก็ยังไม่เพียงพอ?
A: ปกติถ้าเป็นการประชุมประจำวันอัปเดตเนื้องาน เราสามารถประชุมออนไลน์ได้ราบรื่นแล้ว แถมยังประหยัดเวลากว่าด้วยเพราะไม่ต้องเสียเวลาแม้กระทั่งย้ายห้องประชุม แต่กับการประชุมที่เป็นการ workshop หรือแชร์ไอเดีย เป็นการวางแผนเชิงกลยุทธ์ ประชุมประเภทนี้เราพบว่ายังต้องเจอหน้ากันจะคุยกันได้มีประสิทธิภาพมากกว่า
กุญแจสำคัญของเรื่องนี้คือต้องมี ‘Trust & Ownership’ คือ บริษัทหรือหัวหน้าก็ต้องมีความเชื่อใจลูกน้องว่าจะส่งงานได้ตามเวลาไม่ว่าทำงานจากที่ไหน
Q: ผลตอบรับของพนักงานเป็นอย่างไรบ้าง?
A: จากการเซอร์เวย์พบว่า 80% ของพนักงานชอบ Work from Anywhere มีอยู่ 20% ที่ไม่ชอบ ซึ่งน่าจะเกิดจากสภาพแวดล้อมที่บ้านเขาไม่เหมาะกับการทำงาน แต่เราก็จะเน้นย้ำว่าคำว่า ‘จากที่ไหนก็ได้’ แปลว่าคนที่ชอบเข้าออฟฟิศก็ยังมาออฟฟิศได้เสมอ หรือจะทำงานจากร้านกาแฟก็ได้ ตามที่เขาสะดวก
Q: หลายๆ แห่งมีปัญหาเรื่องความต่างระหว่างเจนเนอเรชันในการปรับมาทำงานออนไลน์ ที่นี่เป็นแบบนั้นไหม?
A: ก็มีบ้างเพราะ Gen X กับ Baby Boomer มีความเชื่อในวิธีทำงานที่ต่างกัน เขาจะชอบการมาออฟฟิศ และต้องการให้ทุกคนมาออฟฟิศ เพราะควบคุมงานได้ง่ายกว่า
แต่เขาก็ต้องปรับตัว เพราะเราต้องฟัง Gen Y , Gen Z ที่รับผิดชอบตัวเองได้ รับผิดชอบงานได้ เขาต้องการจะทำงานแบบไหน เพราะยุคนี้คนทำงานสายเทคหายากมากโดยเฉพาะในไทย และ ‘คน’ คือต้นทุนที่สำคัญที่สุดในธุรกิจเทคคัมปะนีแบบเราครับ
อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับ Hybrid Workplace เพิ่มเติม
- 57% ของบริษัททั่วโลกพบว่าออฟฟิศแบบ “ไฮบริด” ช่วยให้ประสิทธิภาพ “การทำงาน” ดีขึ้น
- กลับมาออฟฟิศ! 38% ของบริษัทในเอเชียต้องการให้พนักงานเข้าสำนักงาน “ทุกวัน”