เปิดผลทดลองทำงานสัปดาห์ละ 4 วัน พนง.เหนื่อยน้อย-ลาป่วยลด บริษัทรายได้เพิ่ม

work from anywhere
Photo : Shutterstock
เพราะความอยากรู้ว่าการมีวันหยุดลองวีคเอนด์ 3 วันทุกสัปดาห์ จะมีผลเปลี่ยนแปลงประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานและบริษัทอย่างไร นักวิจัยจำนวนหนึ่งจึงจัดมหกรรมการทดลองทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ครั้งใหญ่ที่สุดในโลกที่ประเทศอังกฤษ โดยร่วมกับบริษัท 61 แห่งและพนักงานรวม 2,900 คนตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงธันวาคม 2564 ปรากฏว่าผลลัพธ์ที่ได้นั้นดีมากจนบริษัทส่วนใหญ่ในการทดลองบอกว่าจะยังคงยึดเกณฑ์ทำงาน 4 วันต่อไป ไม่เปลี่ยนกลับไปทำงาน 5 วันอีกแล้ว

พนักงานส่วนใหญ่ในการทดลองนี้รายงานว่าได้รับประโยชน์เต็มที่จากการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ เช่น ความเครียดน้อยลงและความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานดีขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพนักงานจะทำงานน้อยลง แต่รายได้ส่วนใหญ่ยังคงเท่าเดิม และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วง 6 เดือนเดียวกันของปีก่อน

การทดลองนี้ดำเนินการในหลายอุตสาหกรรม ตั้งแต่การตลาด การเงิน ไปจนถึงองค์กรไม่แสวงหากำไร และแสดงให้เห็นว่าการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์สามารถนำไปใช้ได้สำเร็จในหลายเซ็กเมนต์ แต่อย่างไรก็ตาม การทำงาน 4 วันใช้ไม่ได้กับทุกคน เพราะมี 8% ของบริษัทที่เลือกกลับไปทำงาน 5 วัน เพราะระดับความเร่งรีบที่นำไปสู่ความเครียดที่ต่างกัน

การทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์นั้นอาจเป็นสิ่งที่หลายคนนึกภาพไม่ออกว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะรูปแบบการทำงานที่ลดจำนวนวันลงนี้ แปลว่าบริษัทจะต้องจ่ายเงินพนักงานเต็ม 100% เพื่อแลกกับเวลาของพนักงานที่หดเหลือ 80% จากที่เคยได้รับ

work from anywhere
Photo : Shutterstock

จนในช่วงไม่นานมานี้ โครงการทดลองที่ถูกเรียกกันว่า 4-day workweek experiment ได้เริ่มนำร่องในสหราชอาณาจักร โดยมีบริษัท 61 แห่งเข้าร่วมการทดลองใช้รูปแบบการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ และเปิดโอกาสให้พนักงานมีวันหยุดทุกสัปดาห์พร้อมรับค่าจ้างเต็มใบ

ปรากฏว่าโปรเจกต์นี้ประสบความสำเร็จอย่างมากโดยมากกว่า 90% ของบริษัทที่เข้าร่วม ต้องการใช้รูปแบบการทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ต่อไป โดยมีทั้งกลุ่มที่ต้องการขยายเวลาทดลอง และกลุ่มที่ต้องการเปลี่ยนแปลงถาวร

บริษัทที่เข้าร่วมการทดลองรอบประวัติศาสตร์นี้มีหลายขนาด ตั้งแต่ร้านอาหารท้องถิ่นขนาดเล็ก ไปจนถึงบริษัทการเงินและเทคโนโลยีขนาดใหญ่ วัตถุประสงค์ของการศึกษาคือเพื่อทำความเข้าใจการรักษาระดับประสิทธิภาพการทำงานในขณะที่ให้พนักงานมีเวลาว่างมากขึ้น ซึ่งผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า พนักงานยอมรับถึงความรู้สึกเหนื่อยหน่ายที่ลดลง (71%) และยอดวันลาป่วยก็ลดลงด้วย (65%)

พนักงานฟิลกู้ด บริษัทรู้สึกดี

ไม่เพียงพนักงานที่ฟิลกู้ด แต่บริษัทก็รู้สึกดีเพราะรายได้ที่เพิ่มขึ้นด้วย โดยรายงานที่เผยแพร่โดย Autonomy ซึ่งเป็นเว็บไซต์คลังไอเดียของสังคมคนอังกฤษ มีการอ้างอิงจากการวิจัยของนักวิชาการจากวิทยาลัยบอสตันของสหรัฐฯ และมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ของสหราชอาณาจักร ว่ารายได้โดยรวมของบริษัทในกลุ่มทดลองเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเช่นกัน และบริษัทส่วนใหญ่รู้สึกพึงพอใจที่ยังคงรักษาประสิทธิภาพการทำงานไว้ได้

work from anywhere
Photo : Shutterstock

ตรงนี้ Charlotte Lockhart ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการของกลุ่ม 4 Day Week Global ซึ่งสนับสนุนสัปดาห์การทำงานที่สั้นลงเหลือ 4 วัน ออกมาสรุปว่าการทดลองในสหราชอาณาจักรนั้นครั้งนี้ย้ำว่า การลดชั่วโมงทำงานลงนั้นสามารถมุ่งเน้นที่ผลลัพธ์ได้

อย่างไรก็ตาม รายงานยังเน้นย้ำว่ารูปแบบการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์นั้นใช้ไม่ได้กับทุกคน โดย 8% ของบริษัทเลิกใช้รูปแบบดังกล่าวในช่วงทดลอง หนึ่งในบริษัทกลุ่มนี้คือ Studio Don ซึ่งเป็นสตูดิโอออกแบบบูติกในลอนดอน

4 วันไม่ใช่คำตอบของทุกคน

Thomas Seddon ผู้ก่อตั้ง Studio Don เล่าผ่านรายงานวิจัยว่าหลังจากเริ่มต้นธุรกิจมา 1 ปี บริษัทได้ทดลองเปลี่ยนแปลงเวลางานเป็น 4 วันต่อสัปดาห์ อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ส่งผลดีสำหรับบริษัทและทีมงาน เนื่องจากทุกฝ่ายประสบกับความเครียดมากขึ้น ไม่ได้ลดน้อยลงอย่างที่เป็นในหลายบริษัท โดยพบว่าทุกสิ่งที่ทีมงานและบริษัทต้องทำนั้นไม่เข้ากับตารางงานที่บีบรัด บริษัทจึงตัดสินใจย้ายกลับไปใช้โครงสร้าง 5 วันเรียบร้อย

แต่การทดลองนี้ทำให้ Studio Don ได้เรียนรู้ถึงข้อดีของความยืดหยุ่น ซึ่งยิ่งตอกย้ำว่าบริษัทต่างๆ จำเป็นต้องออกแบบจำนวนวันต่อสัปดาห์ที่เหมาะสมและสอดรับกับอุตสาหกรรมเฉพาะของแต่ละบริษัท รวมถึงต้องปรับนโยบายให้เหมาะกับภาพรวมการทำงาน ความท้าทายขององค์กร โครงสร้างแผนก และวัฒนธรรมการทำงาน ตัวอย่างเช่น บางบริษัทหยุดการขายส่งในวันศุกร์ ขณะที่บางบริษัทเปลี่ยนการกำหนดวันหยุดในหมู่พนักงาน และบางบริษัทตัดสินใจปล่อยให้ทีมหรือบุคคลวางแผนเองว่าจะจัดสัปดาห์การทำงานอย่างไร

Asian woman work from home during corona virus, COVID-19 out break use laptop for teleconference with her teamates

David Frayne หนึ่งในนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ที่อยู่เบื้องหลังการศึกษาวิจัยนี้ ตั้งข้อสังเกตว่า ขั้นต่อไปของการศึกษา ควรจะมุ่งเน้นไปที่วิธีที่ผู้นำธุรกิจ สหภาพแรงงาน และรัฐบาลสามารถทำงานร่วมกันเพื่อสร้างรูปแบบการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ที่เป็นผลดีกับทุกฝ่ายที่สุด ซึ่งจะทำให้ได้ผลการทดลองที่ลงลึกกว่าผลรอบนี้

สำหรับผลการทดลองรอบนี้ ไฮไลต์ไม่ได้อยู่ที่พนักงานกลุ่มตัวอย่างที่รายงานว่ามีความพึงพอใจในการทำงานเพิ่มขึ้น สุขภาพจิตดีขึ้น และคุณภาพการนอนหลับดีขึ้นเท่านั้น แต่การทดลองพบว่าอุตสาหกรรมที่ต้องการคนทำงานตลอด 24 ชั่วโมง เช่น พยาบาลและแพทย์ผู้ปฏิบัติการช่วยเหลือฉุกเฉินเบื้องต้น นั้นไม่สามารถกำหนดชั่วโมงการทำงานที่สั้นลงได้เลย

อย่างไรก็ตาม การระบาดใหญ่ทำให้พนักงานในอุตสาหกรรมนี้ต้องการความยืดหยุ่นได้มากขึ้น เพื่อจะได้ปรับปรุงความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานต่อไป

สำหรับบริษัทไทย ใครจะเริ่มลองทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ก่อนดี?

ที่มา :Washington Post, Adn, QZ, ABCNews