ถอดบทเรียนการทำงานกับ “ยูนิลีเวอร์” เข้าออฟฟิศ 40% ไม่มีสแกนนิ้ว ลดห้องประชุม เพิ่มโซนพักผ่อน แต่ประสิทธิภาพการทำงานยังเหมือนเดิม

ในยุคปัจจุบันนอกจากจะต้องแข่งขันในเรื่องธุรกิจแล้ว ในเรื่องของ “คน” ก็มีการแข่งขันสูงไม่แพ้กัน หลายองค์กรต้องต่อสู้เพื่อแย่งชิงบุคลากรที่มีคุณภาพ รวมถึงการรักษาคนให้อยู่ยาวนานด้วย หลายองค์กรจึงให้ความสำคัญในเรื่อง Workforce กันมากขึ้น ใส่ใจในเรื่องการทำงาน สวัสดิการ และสถานที่ทำงาน เพราะเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดในการทำงานอย่างมาก

Positioning มีโอกาสได้พูดคุยกับ “ภูธัต เนตรสุวรรณ” ผู้อำนวยการฝ่ายประสบการณ์การทำงานของพนักงาน ประเทศไทยและภาคพื้นอาเซียน บริษัท ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย จำกัด ที่จะมาแชร์ประสบการณ์ในการดูแลพนักงานของยูนิลีเวอร์ หลังจากที่ได้ทดลองการทำงานแบบไฮบริดสอดรับกับวิถีการทำงานของคนรุ่นใหม่ และรับกับสถานการณ์ในปัจจุบัน

unilever

ยูนิลีเวอร์เป็นองค์กรระดับโลก มีการทำตลาดใน 190 ประเทศ มีพนักงานรวมกว่า 190,000 คน ส่วนในประเทศไทย ยูนิลีเวอร์ได้เข้ามาทำตลาดตั้งแต่ปี 2475 หรือ 90 ปีมาแล้ว มีพนักงานรวมกว่า 3,300 ราย แบ่งเป็น 1 ออฟฟิศสำนักงานใหญ่ หรือ Unilever House ถนนพระราม 9 มีพนักงาน 892 คน โรงงานมีนบุรี 2,600 คน และโรงงาน Gateway ฉะเชิงเทรา มีพนักงาน 500 คน

นำร่อง “ไฮบริด” มาก่อนกาล เข้าออฟฟิศ 40%

หลังจากที่ทั่วโลกได้เจอสถานการณ์ COVID-19 หลายคนได้คุ้นเคยกับการทำงานแบบ Work from Home บ้าง ทำงานแบบไฮบริดบ้าง ซึ่งโรคระบาดเป็นตัวแปรสำคัญในการเปลี่ยนวิถีชีวิตในหลายๆ ด้านเลยทีเดียว หลังจากที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย หลายบริษัทก็ไม่ได้กลับไปทำงานที่ออฟฟิศแบบ 100% ก็มี เพราะหลายคนคุ้นชินกับการทำงานที่บ้านไปแล้ว

แต่สำหรับยูนิลีเวอร์ได้ลองใช้นโยบายการทำงานแบบ “ไฮบริด” มาตั้งแต่ปี 2562 เป็นช่วงก่อนเกิด COVID-19 เป็นนโยบายในระดับโกลบอล เนื่องจากเริ่มเห็นเทรนด์ของพนักงานว่าอยากทำงานแบบ Work from Home พอเริ่มมี COVID-19 ก็เริ่มกำหนดทิศทางมากขึ้นเป็นระบบ 2+2+1 ก็คือ ทำงานที่บ้าน 2 วัน ที่ออฟฟิศ 2 วัน และอีก 1 วันทำที่ไหนก็ได้

unilever

หลังจากได้ทดลองมาระยะหนึ่ง ก็เริ่มกำหนดเป็นนโยบายชัดเจนว่าขอให้พนักงานมาทำงานที่ออฟฟิศ 40% หรือ 2 วัน/สัปดาห์ แต่เป็นการตกลงกันในทีมของตัวเองว่าจะเข้ามากันทุกวันไหน ภูธัตบอกว่า ส่วนใหญ่จะเลือกกันเข้าวันอังคาร, พุธ, พฤหัสบดี เลี่ยงๆ วันจันทร์ กับศุกร์

ภูธัตเสริมอีกว่า เหตุผลที่ยังต้องมีการเข้าออฟฟิศอยู่ เพราะการทำงานยังต้องมีการปฏิสัมพันธ์กัน โดยเฉพาะงานที่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ การเจอหน้ากันจะทำให้มีไฟในการทำงานมากขึ้น รวมไปถึงออฟฟิศยังส่งเสริมวาระสำคัญต่างๆ เช่น วันเกิด วันครบรอบการทำงาน ได้รับรางวัล คนในองค์กร คนในทีมยังต้องการโมเมนต์ในการฉลองร่วมกันอยู่

ถ้าถามว่าการทำงานแบบไฮบริดแล้ว พนักงานยังทำงานได้ตาม KPI หรือไม่ ภูธัตบอกว่า หลังจากที่ทดลองการทำงานแบบใหม่ก็พบว่า ประสิทธิภาพการทำงานไม่ได้ลดลง อัตราการออกก็ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในตลาด ของยูนิลีเวอร์อยู่ที่ 12% แต่ในตลาดอยู่ที่ 15% รวมไปถึงการเข้าออฟฟิศก็ไม่มีระบบสแกนนิ้ว แต่ทุกคนก็รู้หน้าที่ของตัวเองดี

unilever

นอกจากการทำงานแบบไฮบริดแล้ว ยังมีรูปแบบการจ้างงานที่ไม่เหมือนเดิมด้วย เนื่องจากบางคนอาจติดเงื่อนไขบางอย่าง เช่น ตัวอยู่เชียงใหม่ ไม่ได้อยากเป็นพนักงานประจำ ก็รับงานเป็นโปรเจกต์ไปได้ ทำให้เปิดรับคนได้มากขึ้น หลากหลายขึ้น สอดรับเทรนด์คนรับงานฟรีแลนซ์มากขึ้น

ตอนนี้ยูนิลีเวอร์ทั่วโลกได้ขานรับนโยบายการทำงานแบบไฮบริดแล้วราวๆ 30-40% โดยเริ่มจากโซนยุโรปมาก่อนที่มีวัฒนธรรมการทำงานแบบนี้อยู่แล้ว ในสิ้นปีนี้คาดว่าจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 70% ที่ทำงานแบบไฮบริด ทางเอเชียเริ่มรับเทรนด์นี้มาเรื่อยๆ เริ่มจาก สิงคโปร์ ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ บางประเทศอย่างเวียดนาม และอินโดนีเซีย ยังติดเรื่องการเปลี่ยนแปลงการจ้างงาน ยังมีวัฒนธรรมที่เข้าออฟฟิศอยู่

ยุบเหลือ 2 ชั้น ลดห้องประชุม เพิ่มโซนพักผ่อน

ยูนิลีเวอร์ได้เปิดออฟฟิศแห่งใหม่ หรือที่เรียกว่า U-House เมื่อปี 2560 เป็นตึกขนาดใหญ่ย่านถนนพระราม 9 พื้นที่รวม 36,000 ตารางเมตร มี 12 ชั้น แรกเริ่มจะมีส่วนของพื้นที่ค้าปลีก 2 ชั้น ลานจอดรถ 4 ชั้น และ 6 ชั้นเป็นออฟฟิศของยูนิลีเวอร์ ซึ่งในตอนนั้นมีพนักงานรวม 1,150 คน

แต่หลังจากมีนโยบายการทำงานแบบไฮบริด รวมถึงในช่วงหลายปีที่ผ่านมาธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลง มีการขายธุรกิจบางส่วนออก จึงทำให้จำนวนพนักงานลดลง ในปี 2563 ยูนิลีเวอร์ได้ปล่อยพื้นที่ 2 ชั้นให้กับ “แฟลช เอ็กซ์เพรส” เช่า ในตอนนี้ก็กำลังรอเช่าคนใหม่เข้ามาเติมอีก 2 ชั้นเช่นกัน

unilever

เท่ากับว่ายูนิลีเวอร์ได้หั่นพื้นที่ทำงานเหลือ 2 ชั้น จากเดิม 6 ชั้น และทำการรีโนเวตใหม่เป็น U-House 2.0 ด้วยงบลงทุน 30 ล้านบาท แบ่งสัดส่วนเป็นพื้นที่ทำงาน 50% ห้องประชุม 40% และพื้นที่พักผ่อน 10%

หลักๆ มีการดีไซน์ใหม่ ให้สอดรับกับการทำงานรูปแบบใหม่ ห้องทำงานเป็นเหมือน Co-Working Space ไม่มีที่นั่งตายตัว เพราะทุกคนไม่ได้เข้าทำงานพร้อมกัน ให้พนักงานมีส่วนช่วยในการออกแบบ เลือกเฟอร์นิเจอร์ เลือกเกมที่ใช้ในโซนพักผ่อน ตั้งชื่อห้องประชุม และเสริมเทคโนโลยีมากขึ้น หลักๆ แบ่งเป็น 5 โซน

  • Focus Zone มุมที่ต้องการความเป็นส่วนตัว มีโต๊ะเดี่ยวๆ หรือเป็นโฟนบูธ
  • Collaboration Zone มีโต๊ะยาวที่ทำงานเป็นทีมได้
  • Connect Zone มีการลดห้องประชุมขนาดใหญ่ เพิ่มห้องเล็กมากขึ้น
  • Vitality Zone โซน U Rest มุมพักผ่อน มุมกินขนม เล่นเกม ดูหนัง โซน Wellness Area มีเก้าอี้กึ่งนอนได้ มีผ้าปิดตา ที่อุดหู
  • Special Zone มีคลินิกสำหรับผู้ป่วย มีห้องปั๊มนมได้ มีทีมซัพพอร์ต ทีมไอที Business Support Centre

unilever

สวัสดิการแบบยืดหยุ่น ไฮบริดยังให้เพิ่มอีก

โดยปกติแล้วยูนิลีเวอร์มีสวัสดิการที่คุ้มครองพนักงานอยู่แล้ว หลักๆ จะมีสวัสดิการเรื่องสุขภาพ ส่วนอื่นๆ จะเป็นแบบ Flexible ยืดหยุ่นได้ แล้วแต่ความชอบแต่ละบุคคล จะมีวงเงินประจำปี แต่ในช่วงการทำงานแบบไฮบริด ก็มีสวัสดิการเพิ่มเติมเข้าไป จะเรียกว่าเป็นพอยท์ บางคนอาจจะไปใช้ส่งเสริมทักษะตัวเอง หรือไปใช้ในการดูแลสุขภาพร่างกายก็ได้

อีกหนึ่งสวัสดิการสำคัญก็คือ พนักงานสามารถซื้อสินค้าของยูนิลีเวอร์ได้ส่วนลด 30% ด้วย แต่ภูธัตบอกว่าสวัสดิการนี้เริ่มสู้ช้อปปิ้งออนไลน์ไม่ได้แล้ว บางเจ้ามี 1 แถม 1

unilever
ห้องพระ

ถ้าถามว่า ในยุคนี้คนทำงานต้องการสวัสดิการอะไรมากที่สุด หรือพนักงานที่จะเข้าใหม่ต้องการอะไร ภูธัตบอกว่า สวัสดิการด้านสุขภาพยังคงเป็นสิ่งที่ต้องการมากที่สุด รองลงมาคือเรื่องรูปแบบการทำงาน และการส่งเสริมตัวเอง แต่สวัสดิการต่างๆ ต้องยืดหยุ่น ปรับตามความชอบส่วนตัวได้

ภูธัตบอกว่า ตำแหน่งที่หายากที่สุดของยูนิลีเวอร์ประเทศไทยคือ การตลาด ในตลาดแรงงานก็หายาก และหาที่ฟิตกับองค์กรยากด้วย

ปัจจุบันยูนิลีเวอร์มีพนักงานระดับกลางกว่า 66% และผู้บริหารระดับอาวุโสกว่า 75% เป็นผู้หญิง ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ยูนิลีเวอร์กำหนดไว้ว่าต้องมีบุคลากรเพศหญิง 50% จากจำนวนพนักงานทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีสวัสดิการสิทธิลาคลอดสูงสุดถึง 16 สัปดาห์ และมีวันลา 15 วันสำหรับคุณพ่อ และยังมีสวัสดิการครอบคลุมสำหรับคู่สมรสเพศเดียวกัน