ก่อนหน้านี้ วิน วิลเลียม ไลฟ์ฉลองครบรอบวันเกิดไป Birthday Super Big Sale โดยการไลฟ์แค่วันเดียว! ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง! มีคนแห่ซื้อไปมากกว่า 500,000 ออเดอร์ ภายในเวลาแค่ 15 นาที! โดยยอดขายรวมล่าสุด ทะลุหลัก 100 ล้านไปแล้ว เป็นยอดขายสูงสุดในประวัติศาสตร์การไลฟ์ขายครั้งเดียวทาง TikTok Thailand
วิน วิลเลียมเคยสร้างความฮือฮามาหลายครั้งแล้ว เช่น บินไปถึงเมืองเฉิงตู จีน เพื่อไลฟ์ขายตุ๊กตาฮอต ลาบูบู้ ให้ทาง POP Mart ยังบินไปจีนอีกครั้ง เพื่อไลฟ์ขายรถยนต์ BYD จนคนแห่ซื้อทะลุเป้า
จุดเริ่มต้นของปรากฏการณ์วิน วิลเลียม ถูกมองว่าคล้ายกับพิมรี่พาย คือแจกเงินรัวๆ จนได้ใจคนสมัยใหม่ที่ชื่นชอบการตลาดแบบแจกเงินแบบเห็นได้ชัด ความใจบุญทำให้ “ได้เอนเกจเมนต์สูงมาก” มีคำวิจารณ์ว่าการแจกเงิน 1 ล้าน นำมาสู่การได้รับยอดไลก์-ยอดแชร์ มากกว่าการชื้อพื้นที่สื่อถึง 10 เท่า
สำหรับคลิปไวรัลของวิน วิลเลียม นั้นมีทั้งคลิปที่วินเข้าไปในร้านอาหาร แล้วชวนพนักงานเสิร์ฟให้เล่นเกมง่ายๆ โดยให้เลือกระหว่างเงินสด 10,000 บาท กับกล่องปริศนา ซึ่งเมื่อเปิดกล่องออกมาก็ปรากฏว่าในกล่องมีเงินสดถึง 100,000 บาท พร้อมมอบให้พนักงานคนนั้นไปทันที คลิปนี้สร้างความประทับใจและกลายเป็นไวรัลบนโลกโซเชียล อย่างรวดเร็ว
อินฟลูเอนเซอร์ใจบุญมีอีกบทบาทหนึ่งคือเป็นพ่อค้าออนไลน์ที่มีผู้ติดตามมากที่สุดบน TikTok แซงหน้าพิมรี่พายไปด้วยสถิติ 18.2 ล้านคน (พิมรี่พายมี 13 ล้านคน) ถามว่าวินทำได้อย่างไร? คำตอบอาจเป็นเพราะผู้ชมชอบฟังวิลเลียม ที่พูดเพราะไม่หยาบคาย
วิน วิลเลียม เป็นนักธุรกิจหนุ่มชาว สปป.ลาว ที่โด่งดังจากคอนเทนต์แจกเงินหมื่น แจกเงินแสน ทอง และสิ่งของให้ผู้โชคดี
นอกจากแจกเงินหมื่นเงินแสนแล้ว วินยังแจก iPhone, iPad ให้ผู้โชคดีที่ได้พบหน้ากันตามสถานที่ต่างๆ และที่น่าสนใจไปกว่านั้น วินยังเคยเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้ธนาคารชื่อดังแห่งหนึ่งของ สปป.ลาว ร่วมกับสาว “เบลล่า ราณี” อีกด้วย
ไม่ว่าตัวตนของวินจะเป็นอย่างไร แต่หน้ากล้อง วินใช้กลยุทธ์ทำคอนเทนต์สร้างแรงบันดาลใจ เพราะไม่เพียงคลิปแจกเงินและสิ่งของ วินยังทำคลิปเริ่มต้นหารายได้ด้วยเงิน 1 บาท แล้วทำให้กลายเป็นเงินหมื่นภายในเวลาไม่นาน
วิธีการของวินคือไปซื้อผลไม้จากแม่ค้าแถวตลาดจตุจักร แล้วนำไปขายต่อเพื่อทำกำไรทีละเล็กละน้อย พอได้เงินมาส่วนหนึ่งก็เริ่มซื้อของที่ได้กำไรสูงขึ้น ไล่ตั้งแต่น้ำเปล่า เสื้อผ้ามือสอง ภาพวาด งานศิลปะ เสื้อผ้าต่างๆ จนสามารถหาเงินหมื่นได้จริงๆ สร้างแรงบันดาลใจให้คนจำนวนมากว่าหากใครมีความมุ่งมั่นไม่ยอมแพ้ ทุกคนก็สามารถทำทุกอย่างให้สำเร็จได้
หากเปรียบเทียบกับพิมรี่พาย เจ้าแม่ไลฟ์ขายของของเมืองไทย ทั้งวินและพิมรี่พายเป็นพ่อค้าแม่ค้าที่มีคาแรกเตอร์แตกต่างกันอย่างชัดเจน พิมรี่พายนั้นเป็นคนที่มีคาแรกเตอร์จัด พูดจาตรง ฉะฉาน ตรงไปตรงมา มีคำหยาบบ้าง ซึ่งสไตล์นี้ถูกใจลูกค้าสายฮาร์ดคอร์ที่ชื่นชอบความจริงใจแบบไม่มีกั๊ก ส่วนวินนั้นพูดจาดี ไพเราะ นุ่มนวล ออกแนวซอฟต์ๆ มีลูกอ้อน ลูกค้าที่ชอบพ่อค้าแม่ค้าสไตล์นี้ก็จะเทมาหาวิน
ยอดขายถล่มทลายที่แจ้งเกิดวิน คือช่วงวันที่ 9 เดือน 9 หรือ Shopping Day ปี 2024 ซึ่งมีการช้อปปิ้งกันอย่างคึกคัก เวลานั้นมีบันทึกว่าพิมรี่พายมีคนดูไลฟ์ตั้งแต่ 30,000-40,000 คน ขณะที่วินมีคนดูไลฟ์อยู่ประมาณ 60,000 ถึงหลักแสนคน
ไม่ว่าไลฟ์ครั้งต่อไปจะเป็นอย่างไร ยอดผู้ติดตามของทั้งคู่บน TikTok ในเวลานี้เริ่มชัดเจน โดยพิมรี่พายมีผู้ติดตาม 13.3 ล้านคน ยอด Likes คือ 241.6 ล้านครั้ง ขณะที่วินมี 18.2 ล้านคน ยอด Likes เบาๆ 371.3 ล้านครั้ง
สำหรับเรื่องยอดขาย แม้ปัจจุบันยังไม่มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการ แต่จากข้อมูลที่เคยมีการเปิดเผยในช่วงปี 2022 พิมรี่พายเคยบอกว่ามียอดขายคืนละ 100 ล้านบาท แม้บางช่วงยอดอาจจะตกลงมาเหลือประมาณ 50 ล้านบาท แต่ก็ยังถือว่าขายดีมากๆ ฝั่งหนุ่มวินมีการเปิดเผยยอดขายในช่วงวันคล้ายวันเกิด เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2024 ว่าสามารถทำลายสถิติบนแพลตฟอร์ม TikTok เนื่องจากไลฟ์ขายของไปเพียงแค่ 10 นาที มีออเดอร์จากไลฟ์ของเขาถึง 165,000 ออเดอร์ และมียอดคนดูมากกว่า 200,000 คน ที่สำคัญคือสามารถปิดยอดขายในวันนั้นได้มากกว่า 230 ล้านบาทเลยทีเดียว
ที่สุดแล้ว การเป็นอินฟลูเอนเซอร์บน TikTok อาจเป็นทางลัดสู่ความสำเร็จและชื่อเสียง แต่การสร้างรายได้จริงๆ นั้นต้องอาศัยมากกว่าความสนุก ต้องมีความสม่ำเสมอ ความคิดสร้างสรรค์ และภาพลักษณ์ที่ดี โดยหากต้องการประสบความสำเร็จ อินฟลูเอนเซอร์จำเป็นต้องสะสมช่องทางการสร้างรายได้ที่หลากหลาย และต่อยอดความนิยมให้กลายเป็นธุรกิจที่ยั่งยืน
เหมือนที่ “วิน วิลเลียม” ต่อยอดจุดเริ่มต้นความดังด้วยการแจกเงิน แล้วใช้ TikTok สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำได้สำเร็จ
]]>แม้ว่า TikTok ในตลาดสหรัฐฯ จะถูกแบนเป็นเวลาสั้น ๆ ในวันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมา ก่อนจะกลับมาให้บริการตามปกติ หลังจากที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวว่า เขาจะลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารในวันจันทร์ หลังการเข้ารับตำแหน่ง เพื่อชะลอการแบนแอปฯ ดังกล่าวจากรัฐบาลกลาง ตามที่เขาโพสต์ลงบน Truth Sociai โซเชียลมีเดียของเจ้าตัว
อย่างไรก็ตาม อนาคตของบริษัทก็ยังไม่ชัดเจนภายใต้กฎหมายในปัจจุบัน รวมไปถึงอีก 2 แพลตฟอร์มอย่าง CapCut และ Lemon8 ที่มีเจ้าของคนเดียวกันก็คือ บริษัท ByteDance
แต่ถึงจะแบนหรือไม่แบน เจ้าพ่อโซเชียลฯ อย่าง Meta เจ้าของแพลตฟอร์ม Facebook และ Instagram ก็ชิงโอกาสเปิดตัวฟีเจอร์ตัดต่อวิดีโอ Edits เพื่อมาชนหรือแทนที่ CapCut หากถูกแบน
Adam Mosseri หัวหน้าทีม Instagram ได้เปิดตัวแพลตฟอร์ม Edits ผ่าน Threads ว่า แอปฯ ดังกล่าวออกแบบมาเพื่อ คนที่ถนัดการตัดต่อวิดีโอบนมือถือ โดยมีจุดเด่น ดังนี้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า Edits จะสามารถดาวน์โหลดได้บน App Store แต่จะยัง ใช้งานไม่ได้ โดยจะใช้งานได้ในเดือน กุมภาพันธ์
ทั้งนี้ ตั้งแต่ที่ TikTok มีข่าวว่าจะโดนแบนในสหรัฐฯ ผู้ใช้งานหลายคนเริ่มมองหาแพลตฟอร์มใหม่เพื่อใช้แทน เช่น เรดโน้ต (RedNote) หรือ เสี่ยวหงชู (Xiaohongshu) ดังนั้น การที่ Meta เพิ่มแอปฯ ใหม่อย่าง Edits ก็ไม่ได้แปลว่าจะทำให้คนกลับมาใช้ Instagram เสมอไป
]]>อย่างที่รู้กันว่า TikTok กำลังเผชิญกับการแบนที่ในตลาดสหรัฐอเมริกา หากศาลฎีกาตัดสินใจบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งวันที่ 19 มกราคมที่จะถึงนี้จะเป็นวันตัดสินชะตา ดังนั้น อีกทางเลือกของ ByteDance ที่จะไม่ยอมปิด TikTok ไปโดยไม่ได้อะไร อาจตัดสินใจขายแพลตฟอร์มให้บริษัทสัญชาติอเมริกัน
แม้ว่าปัจจุบัน ทาง ByteDance ยังไม่ได้ระบุว่าจะขายให้บริษัทไหนในสหรัฐฯ แต่ รัฐบาลจีน ได้พิจารณาแผนที่จะให้มหาเศรษฐี อีลอน มัสก์ (Elon Musk) เจ้าของ Tesla และ X เข้าซื้อกิจการดังกล่าว ตามที่ Bloomberg รายงาน
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามที่คิดจะซื้อ TikTok ก็ต้องอาจเตรียมเงินไว้มหาศาลพอสมควร โดย Angelo Zino รองประธานอาวุโสของ CFRA Research ประเมินว่า หาก ByteDance ตัดสินใจขาย ผู้ซื้อที่อาจต้องเตรียมเงินไว้ราว ๆ 40,000 – 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.4-1.75 ล้านล้านบาท) โดยอ้างอิงจากการประมาณการฐานผู้ใช้และรายได้ของ TikTok ในสหรัฐอเมริกาเมื่อเปรียบเทียบกับแอปคู่แข่ง
จากการประเมินของบริษัทวิเคราะห์ตลาด Sensor Tower คาดว่า ปัจจุบัน TikTok มีผู้ใช้งานในสหรัฐฯ ประมาณ 115 ล้านคนต่อเดือน ซึ่งน้อยกว่า Instagram เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ทางด้านนักวิเคราะห์จาก Bloomberg Intelligence กลับมองว่า มูลค่าของ TikTok ในสหรัฐฯ อาจจะอยู่ที่ 30,000-35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1 – 1.2 ล้านล้านบาท) เนื่องจากเป็นการ ขายโดยบังคับ นอกจากนี้ บริษัทที่เข้าซื้อ TikTok อาจต้องเผชิญการตรวจสอบด้านกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวของข้อมูล ซึ่งถือเป็นเรื่องท้าทาย นอกจากนี้ ยังอาจทำให้ผู้ซื้อขยายธุรกิจโฆษณาของ TikTok ได้ยากอีกด้วย
ที่ผ่านมา กลุ่มนักธุรกิจรวมถึงมหาเศรษฐี แฟรงก์ แม็คคอร์ต และ เควิน โอเลียรี ประธานบริษัท O’Leary Ventures ได้เคยยื่นข้อเสนอเพื่อซื้อ TikTok จาก ByteDance ในราคาถึง 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไม่ต้องใช้อัลกอริทึมของ TikTok
ก็คงต้องรอดูบทสรุปของ TikTok ในวันที่ 19 มกราคมนี้ ว่าจะถูกแบนหรือถูกขาย หรืออาจจะยังดำเนินธุรกิจได้ต่อไป เพราะได้รัฐบาลของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนล่าสุด ที่เคยประกาศไว้แล้วว่าจะไม่แบน TikTok
]]>แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียจาก จีน อย่าง Xiaohongshu (เสี่ยว ฮง ซู) หรือชื่อสากลอย่าง RedNote ได้มียอดดาวน์โหลดพุ่งทะยานขึ้นสู่อันดับสูงสุดของ App Store ตามมาด้วยแพลตฟอร์ม Lemon8 เนื่องจากผู้ใช้งาน TikTok ในสหรัฐฯ กำลังมองหา ทางเลือกอื่น หาก TikTok โดนแบน ซึ่งจะมีการตัดสินวันที่ 19 มกราคมนี้
อย่างไรก็ตาม บรรดาครีเอเตอร์ของ TikTok บางรายกำลังดำเนินการแผนฉุกเฉินโดยการย้ายไปยังแพลตฟอร์ม RedNote อาทิ allieusyaps ที่โพสต์ว่า แม้ TikTok จะถูกแบนในสหรัฐอเมริกา แต่เขาและครีเอเตอร์รายอื่น ๆ จะไม่กลับไปที่ Instagram และ Facebook เนื่องจากพวกเขาเข้าร่วมกับ RedNote แล้ว นอกจากนี้ มีผู้ใช้อย่าง Krystan Walmsley ที่เริ่มโพสต์วิดีโอสั้นสอนผู้คนเกี่ยวกับการตั้งค่าและตกแต่งบัญชี RedNote ของพวกเขา
สำหรับ Xiaohongshu ถือกำเนิดขึ้นในปี 2013 โดยเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียแนว ไลฟ์สไตล์ผสมกับอีคอมเมิร์ซ ยอดนิยมของชาว Gen Z จีน โดยมีจำนวนผู้ใช้กว่า 300 ล้านคน ซึ่ง Xiaohongshu ถือเป็นคู่แข่งรายสำคัญของ Alibaba และ Douyin หรือก็คือ TikTok เวอร์ชั่นประเทศจีนของ ByteDance และ Xiaohongshu ก็ถือเป็น แรงบัลดาลใจสำคัญ ที่ทำให้ ByteDance พัฒนาแพลตฟอร์ม Lemon8 ออกมา
จุดเด่นของ Xiaohongshu คือ ผู้ใช้สามารถแชร์วิดีโอสั้น ๆ และรูปภาพเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแฟชั่น ความงาม อาหาร การเดินทาง ซึ่งเหมาะกับการใช้ ป้ายยา ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้ใช้มักจะค้นหารีวิวและ เกี่ยวกับสินค้าหรือบริการจาก KOLs
ปัจจุบัน Xiaohongshu มีมูลค่า 17,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากระดมทุนในเดือนกรกฎาคมจากนักลงทุน เช่น Boyu Capital และ HongShan Capital Group ซึ่งเคยเป็นแผนกการลงทุนในจีนของ Sequoia Capital ตามข้อมูลของ PitchBook โดยระดมทุนได้ทั้งหมดกว่า 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีพนักงานมากกว่า 2,000 คน
]]>Lemon8 (เลมอนเอท) เป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่พัฒนาโดย Heliophilia ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ByteDance หรือก็คือเจ้าของเดียวกันกับ TikTok แพลตฟอร์มวิดีโอสั้นสุดฮิตที่มาเขย่าโลกโซเชียลมีเดีย
อย่างไรก็ตาม Lemon8 ไม่ใช่แพลตฟอร์มใหม่อะไร เพราะเปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2020 โดยในช่วงแรกแพลตฟอร์มจะเน้นทำตลาดในภูมิภาคเอเชียเป็นหลัก โดยประเทศที่ได้รับความนิยม ได้แก่ ญี่ปุ่น และไทย จากนั้นในปี 2023 ก็ได้เข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ โดยมียอดติดตั้งแอปพลิเคชันสูงสุดถึง 650,000 ครั้งต่อสัปดาห์
จนมาช่วงกลางปี 2024 แพลตฟอร์ม Lemon8 ในสหรัฐฯ ก็เติบโตถึง 340% มีการดาวน์โหลดกว่า 12 ล้านครั้ง และเมื่อสัปดาห์แรกของปี 2025 แพลตฟอร์ม Lemon8 ก็ขึ้นแท่นเป็นแอปพลิเคชันฟรีที่มียอดดาวน์โหลดอันดับ 1 ของ App Store
หากพูดถึงการใช้งาน Lemon8 จะคล้าย ๆ กับ XiaohongShu โซเชียลมีเดียของจีนที่มีผู้ใช้กว่า 300 ล้านคน ซึ่งก็จะคล้าย ๆ Instagram ผสมกับ Pinterest โดยจะเป็นแพลตฟอร์มสายไลฟ์สไตล์ ให้ผู้ใช้ได้ ป้ายยา หรือ รีวิว เรื่องราวหรือสินค้าต่าง ๆ ผ่านข้อความ รูปภาพ และวิดีโอสั้น ๆ ตามหมวดหมู่ที่แพลตฟอร์มแยกไว้ ไม่ว่าจะเป็นความงาม แฟชั่น ไลฟ์สไตล์ และที่เที่ยว เป็นต้น
โดยจุดเด่นของแพลตฟอร์ม Lemon8 ก็คือ เทมเพลต ฟิลเตอร์ แบบตัวอักษร ที่ผู้ใช้สามารถหยิบจับมาตกแต่งดัดแปลง เพื่อสร้างสรรค์โพสต์ดูน่าสนใจ และเป็นไปในสไตล์ที่ผู้ใช้ต้องการ คล้าย ๆ กับการออกแบบปกนิตยสารของตัวเอง และอีกจุดเด่นของ Lemon8 ก็คือ อัลกอริทึม เนื่องจาก Lemon8 ใช้อัลกอริทึมเดียวกันกับ TikTok
ด้วยความที่ Lemon8 เป็นแพลตฟอร์มที่มีเจ้าของเดียวกันกับ TikTok ดังนั้น ท่ามกลางความนิยมที่กำลังเพิ่มขึ้นในสหรัฐฯ ทำให้หลายคนก็ยังไม่แน่ใจเกี่ยวกับอนาคตของ Lemon8 และ CapCut ที่มี ByteDance เป็นเจ้าของ จะถูกแบนไปด้วยไหม
อย่างไรก็ตาม คงต้องรอว่าบทสรุปจะเป็นอย่างไร เพราะทาง TikTok ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ศาลคาดว่าจะรับฟังข้อโต้แย้งในวันที่ 10 มกราคม นอกจากนี้ยังเป็นไปได้ว่า ภายใต้รัฐบาลของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนล่าสุดจะ ไม่แบน TikTok เพราะเคยได้กล่าวชัดเจนในช่วงหาเสียงว่าจะสนับสนุนให้ TikTok สามารถดำเนินงานได้ในสหรัฐอเมริกา
]]>ย้อนไปในปี 2020 หลังจากที่ อินเดีย ได้ แบน TikTok ด้วยข้อหา ภัยความมั่นคง จากนั้น โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในขณะนั้นก็เริ่มส่งสัญญาณการแบน TikTok โดยให้เหตุผลว่า “การใช้แอปพลิเคชันที่พัฒนาโดยจีนอย่างแพร่หลายในสหรัฐอเมริกา ถือป็นความเสี่ยงต่อความมั่นคงของชาติ”
ส่งผลให้ทางบริษัท ByteDance จึงเริ่มวางแผนจะขายหุ้นบางส่วนของบริษัทฝั่งสหรัฐฯ ให้กับผู้ถือหุ้นอเมริกัน เพื่อป้องกันการถูกแบน โดยในตอนนั้นมีบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่หลายรายให้ความสนใจ โดยเฉพาะ ไมโครซอฟท์ (Microsoft) ที่ดูมีโอกาสใกล้เคียงที่สุด
แต่ถึงอย่างนั้น รัฐบาลจีน ก็ดูเหมือนจะอยากให้ TikTok ไปอยู่ในมือบริษัทสัญชาติสหรัฐฯ เพราะหลังมีข่าวเรื่องดีลขาย TikTok กระทรวงพาณิชย์จีนก็ได้เพิ่มข้อกำหนด AI เข้าไปอยู่ในรายการผลิตภัณฑ์ควบคุมการส่งออก ส่งผลให้ ByteDance ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลจีนก่อน และผู้ที่ซื้อจะไม่ได้อัลกอริทึม AI ของ TikTok ที่ถือเป็นจุดแข็งของแพลตฟอร์ม ส่งผลให้ดีลการซื้อขายก็ล่มไป
จนกระทั่งในเดือนมิถุนายน 2021 ที่ตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้เปลี่ยนไปอยู่ในมือของ โจ ไบเดน ซึ่งได้เซ็นคำสั่งพิเศษให้ ปลดแบน ออกไปก่อน แต่ก็ได้สั่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สืบสวนว่า แพลตฟอร์มมีความเสี่ยงจะเป็น ภัยต่อความมั่นคงของชาติสหรัฐฯ หรือไม่
ขณะเดียวกัน TikTok เองก็ยืนยันว่าไม่ได้มีการนำส่งข้อมูลของผู้ใช้ในสหรัฐฯ ให้กับรัฐบาลจีน โดยทาง Shou Zi Chew ซีอีโอ TikTok ได้ออกมาแถลงยืนยันต่อหน้าการไต่สวนจากรัฐสภาสหรัฐฯ ในเดือน มี.ค. 2023 ว่า บริษัทไม่ได้ตกอยู่ภายใต้หรือถูกควบคุมโดยรัฐบาลจีน เป็นเพียงบริษัทเอกชนเท่านั้น
นอกจากนี้ แพลตฟอร์มยังได้ใช้เงินไปประมาณ 1.5 พันล้านดอลลาร์ใน Project Texas เพื่อเก็บข้อมูลผู้ใช้ของสหรัฐฯ ไว้ในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น อีกทั้งยังยอมให้รัฐบาลสหรัฐฯ สามารถแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลที่รัฐบาลสหรัฐฯ เห็นชอบ 3 คน เพื่อเข้ามาสอดส่องโครงการนี้ได้
แม้จะพยายามทำทุกทาง แต่บรรดาส.ส.สหรัฐฯ มองว่า การที่ ByteDance เป็นบริษัทจีน และอยู่ภายใต้กฎหมายของรัฐบาลจีน ก็ยังสุ่มเสี่ยงที่บริษัทอาจส่งข้อมูลใน TikTok ให้กับทางการจีน
จนท้ายที่สุด สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกาได้ผ่านร่างกฎหมายคุ้มครองชาวอเมริกันจากแอปพลิเคชันที่รัฐศัตรูต่างชาติควบคุม (Protecting Americans from Foreign Adversary Controlled Applications Act) หรือชื่อเล่นว่ากฎหมายแบน TikTok ในเดือนมีนาคม 2024 ซึ่งจะ บังคับให้ ByteDance ที่เป็นบริษัทแม่ต้องขาย TikTok ให้ธุรกิจในสหรัฐฯ ไม่เช่นนั้นจะถูกแบนจากทุกแพลตฟอร์ม ภายใน 6 เดือน ส่งผลให้ ByteDance มีเวลาถึงวันที่ 19 มกราคม ปี 2025
แน่นอนว่า TikTok ไม่ยอมโดนแบนง่าย ๆ โดยได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาก่อนที่การห้ามจะมีผลในต้นปีหน้า อย่างไรก็ตาม แม้ว่าศาลปฏิเสธคำอุทธรณ์ แต่ TikTok ก็ยืนยันสู้ต่อในศาลสูงสุด
โดยหลายคนมองว่า TikTok พยายามจะยื้อจนกว่า โดนัลด์ ทรัมป์ จะขึ้นรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 20 มกราคม ซึ่งอาจเป็น ความหวังเดียว ที่จะทำให้ TikTok รอด เพราะแม้ต้นตอที่ทำให้ TikTok ถูกแบนในตลาดสหรัฐฯ ก็คือทรัมป์ แต่ในช่วงที่เขาหาเสียงเลือกตั้ง ทรัมป์กลับบอกว่า ไม่เห็นด้วยกับการแบน TikTok และถ้าเขาได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีเขาจะ ไม่อนุญาตให้การแบน TikTok
แน่นอนว่าตลาดสหรัฐฯ ถือเป็นตลาดที่สำคัญมากของ TikTok เพราะด้วยจำนวนผู้ใช้ที่สูงถึงกว่า 170 ล้านคน และถือเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีกำลังซื้อมากที่สุดในโลก ทำให้ในปีที่ผ่านมา TikTok พึ่งจะเปิดตัวฟีเจอร์ TikTok Shop ไปหมาด ๆ พร้อมกับวางเป้าหมายที่จะมียอดขายสินค้าออนไลน์รวม (GMV) ให้ได้มากถึง 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐอีกด้วย ดังนั้น ถ้า TikTok ถูกแบน แปลว่าต้องเสียรายได้มหาศาล
ขณะเดียวกัน แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่น ๆ ที่มีฟีเจอร์ วิดีโอสั้น ก็จะได้ประโยชน์ไปเต็ม ๆ เนื่องจากคู่แข่งตัวฉกาจได้หายไป ทำให้เหล่าครีเอเตอร์ TikTok ต้องย้ายไปยังแพลตฟอร์มที่เหลือ ซึ่งก็จะช่วยดึงดูดผู้ใช้และผู้ลงโฆษณา
จะเห็นได้จากที่หุ้น Meta พุ่งขึ้น +2.4% หลังจากที่มีข่าว TikTok ถูกแบน เพราะ Meta เองก็มีฟีเจอร์ Reels ที่แม้ Meta จะไม่เคยเปิดเผยถึงรายได้จาก Reels แต่ก็มีการระบุว่า Reels ส่งผลเชิงบวกต่อรายได้โดยรวมของ Meta และในช่วงไตรมาสแรกของปี 2024 การใช้งาน Reels คิดเป็น 50% ของเวลาที่ผู้ใช้ใช้บน Instagram เช่นเดียวกันกับ YouTube ที่มีทั้งวิดีโอยาวและ YouTube Shorts วิดีโอสั้น ราคาหุ้นก็พุ่ง +1.25%
]]>ยุคนี้โซเชียลมีเดียกลายเป็นสิ่งที่เข้ามามีอิทธิพลต่อผู้คนมากขึ้นโดยเฉพาะกับกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ จากข้อมูลการสำรวจผ่านแบบสอบถามของ lovefrankie (ครีเอทีฟเอเจนซี่ที่มุ่งแก้ไขปัญหาการพัฒนาสังคม เพื่อพัฒนาสังคม) สำรวจกลุ่มตัวอย่างเยาวชนไทยจำนวน 500 คน (อายุ 16-24 ปี) โดยมีสัดส่วนเพศชายและหญิงเท่ากัน ในประเด็นด้าน “สุขภาพจิต” ของเยาวชนไทย
การสำรวจนี้พบว่า เยาวชนส่วนใหญ่ให้คุณค่ากับคอนเทนต์ที่สร้างแรงสนับสนุนทางอารมณ์และความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน รวมถึงคอนเทนต์ที่แบ่งปันเรื่องราวจากชีวิตจริง สร้างการมีส่วนร่วมในรูปแบบที่มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน นอกจากนี้เยาวชนยังแสดงออกว่ามีความต้องการข้อมูลที่ถูกต้อง ชัดเจน และเชื่อถือได้ผ่านโซเชียลมีเดีย
ผลการสำรวจยังพบว่า 85% ของผู้ตอบแบบสอบถามใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นที่ตนสนใจอีกด้วย ทำให้การเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือในโลกโซเชียลมีเดียถือเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องตระหนักและให้ความสำคัญอย่างมาก เพื่อส่งเสริมความเข้าใจและสนับสนุนด้านสุขภาพจิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เยาวชนไทย 10% เสี่ยงซึมเศร้า 17% เสี่ยงฆ่าตัวตาย
ปัญหาสุขภาพจิต เป็นปัญหาระดับโลกที่ไม่เคยมีอัตราตัวเลขลดลงเลยในช่วง 34 ปีที่ผ่านมา จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกเปิดเผยว่า 1 ใน 8 ของผู้คนทั่วโลกกำลังมีปัญหาด้านสุขภาพจิต โดยทุกๆ 40 วินาที ในโลกนี้จะมีคนฆ่าตัวตาย 1 คน
‘ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์’ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น รองโฆษกกระทรวงสาธารณสุข และ TikTok Safety Advisory Councils เปิดเผยว่า ปัญหาด้านสุขภาพจิตของเยาวชนไทยมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี จากข้อมูลการสำรวจของกรมสุขภาพจิตระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-ตุลาคม 2567 พบว่า ในไทยมีเยาวชนไทยวัยต่ำกว่า 18 ปีราว 500,000 คน มากกว่า 10% ในจำนวนนี้หรือคิดเป็นประมาณ 50,000 คนมีความเสี่ยงเป็นโรคซีมเศร้า และอีก 17% หรือราว 80,000 คน มีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตาย
ดร.นพ.วรตม์กล่าวด้วยว่า กลุ่มเด็กวัยรุ่นนั้นเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบทางลบต่อจิตใจสูงกว่าวัยอื่น เนื่องจากเป็นวัยที่โซเชียลมีเดียมีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิต ทำให้การใช้สื่อในเชิงบวกและปลอดภัยจะส่งผลดีต่อสุขภาพจิตของคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะกับกลุ่มวัยรุ่นที่มีความเปราะบางมากกว่า
ดังนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรมีความรับผิดชอบในการดูแลการเลือกรับชมสื่อของเด็กๆ อีกทั้งครีเอเตอร์และผู้ผลิตสื่อทุกคนก็ควรให้ความสำคัญต่อการผลิตคอนเทนต์อย่างมีความรับผิดชอบ โดยการช่วยกันสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่จะช่วยสร้างการตระหนักรู้เรื่องการดูแลสุขภาพจิตด้วยตัวเอง ตลอดจนถึงการเอาใจใส่คนรอบข้างและคนที่เราพบเจอบนโลกออนไลน์ เพื่อสร้างสังคมออนไลน์ให้เป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความสุขสำหรับทุกคน
‘Mindful Makers’ แคมเปญจาก ‘TikTok’ เพื่อดูแล ‘สุขภาพจิต’
TikTok ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียมาแรงแห่งยุคจึงต้องการจะช่วยสร้างสังคมออนไลน์ที่ดีต่อสุขภาพจิตมากขึ้น ‘ชนิดา คล้ายพันธ์’ Head of Public Policy, Thailand กล่าวว่า มีผู้คนนับล้านเข้ามาที่ TikTok ทุกวันเพื่อแบ่งปันและค้นหาคอมมูนิตี้ที่ตรงกับความสนใจ ซึ่งหนึ่งในประเด็นที่มีการค้นหาข้อมูลนั้นเกี่ยวข้องกับด้าน “สุขภาพจิต” TikTok พบว่ามีผู้ใช้เข้ามาค้นหาแหล่งข้อมูลในด้านนี้บนแพลตฟอร์มถึงกว่า 500,000 คนต่อเดือน
เหตุนี้ TikTok จึงต้องการจะสร้างความมั่นใจว่าผู้ใช้แพลตฟอร์มจะได้รับข้อมูลที่เชื่อถือได้บนแพลตฟอร์มนี้ผ่านการเปิดตัวแคมเปญ ‘Mindful Makers‘ โครงการที่ช่วยส่งเสริมการตระหนักรู้และทักษะความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาพจิตผ่านชุมชนออนไลน์
Mindful Makers จะมีการรวบรวมครีเอเตอร์ชั้นนำและผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตมาร่วมสร้างพื้นที่สร้างสรรค์และปลอดภัย โดย TikTok จับมือกับกับ “กระทรวงสาธารณสุข” ของประเทศไทย แอปพลิเคชัน “SATI” และเครือข่ายผู้สร้างคอนเทนต์เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ เพื่อส่งเสริมการนำคอนเทนต์ที่น่าสนใจและเชื่อถือได้เกี่ยวกับสุขภาวะทางจิตใจเข้าสู่แพลตฟอร์ม
ในโครงการนี้ TikTok มีการเชิญเหล่าครีเอเตอร์ที่จะมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์และเผยแพร่ข้อมูลด้านสุขภาพจิตที่เชื่อถือได้มากมาย เช่น หนึ่ง-ปฐมาภรณ์ ตันจั่นพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการไลฟ์สตรีมมิ่ง และเจ้าของช่อง @this.is.neung , แจน-วรินรำไพ ไตรพัชรพัฒน์ เจ้าของช่อง @janjanuary1 นอกจากนี้ยังมีครีเอเตอร์ภายใต้โครงการอีกหลายท่าน ได้แก่ @ppeachy28 @dr.tangmakkaporn @tam.kulissara @caraunited และ @kruyuy.supaporn เป็นต้น
ทั้งนี้ โครงการ Mindful Makers โดย TikTok ก่อตั้งขึ้นในฐานะโครงการริเริ่มระดับชาติในประเทศไทย ที่มีความร่วมมือกับองค์การอนามัยโลก (WHO – World Health Organization) โดยมีเป้าหมายเพื่อมอบข้อมูลด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือได้และมีหลักฐานอ้างอิงแก่ผู้คน
]]>การประกาศเลิกจ้างในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนในการปรับปรุงระบบการควบคุมดูแลให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดย TikTok นำระบบตรวจสอบเนื้อหาที่ใช้เทคโนโลยี AI มาใช้ในการตรวจสอบเนื้อหาที่ผู้ใช้โพสต์บนแพลตฟอร์มมากขึ้น
โฆษกของ TikTok กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาระบบการควบคุมเนื้อหาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อีกทั้งบริษัทมีแผนการลงทุน 2 พันล้านดอลลาร์ ในการยกระดับมาตรฐานความน่าเชื่อถือ และความปลอดภัยของแพลตฟอร์มในปีนี้
บริษัทฯ จะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาระบบตรวจจับเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยปัจจุบันเนื้อหาที่ละเมิดแนวปฏิบัติ 80% จะถูกลบออกโดยอัตโนมัติ
ทั้งนี้การประกาศเลิกจ้างนั้นเกิดขึ้น ท่ามกลางแรงกดดันด้านกฎระเบียบด้านเทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในมาเลเซีย ที่รัฐบาลของมาเลเซียได้ขอให้บริษัทแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ต้องทำการยื่นขอใบอนุญาตในการดำเนินงาน
ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการในการจัดการกับอาชญากรรมทางไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการฉ้อโกงออนไลน์ อาชญากรรมทางเพศต่อเด็ก และการกลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ต ทำให้มีผลกระทบต่อการปรับโครงสร้างองค์กรของบริษัทเทคโนโลยีและนำมาสู่การตัดสินใจเลิกจ้างในครั้งนี้ ทำให้จะมีพนักงานมาเลเซียราว 500 คนที่จะได้รับผลกระทบดังกล่าว
ที่มา : ABC Australia
]]>สำนักข่าว Bloomberg รายงานผลสำรวจจาก Pew Research ที่ออกมาเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2024 พบว่า คนอเมริกันวัยผู้ใหญ่ที่ทำการสำรวจมีเพียง 32% ที่สนับสนุนนโยบาย “แบน TikTok” ลดลงจากผลสำรวจเมื่อเดือนมีนาคม 2023 ที่มีถึง 50% ที่ต้องการให้แบน
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบด้วยว่า 50% ของคนอเมริกันปัจจุบันคิดว่าการแบน TikTok ‘อาจจะหรือไม่น่าจะเกิดขึ้นจริงได้’
ในการสำรวจนี้ Pew เก็บตัวอย่างสำรวจจากผู้ใหญ่อเมริกัน 10,658 คน ระหว่างวันที่ 15 กรกฎาคม – 4 สิงหาคม 2024
ผลสำรวจนี้ทำให้เห็นว่า คนอเมริกันเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับ TikTok ไปแล้วในรอบ 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา โดยประเด็นการแบน TikTok ปะทุขึ้นหลังประธานาธิบดี โจ ไบเดน เซ็นกฎหมายที่บีบให้ ByteDance บริษัทแม่ของ TikTok จะต้องขายหุ้นส่วนใหญ่ของบริษัทออกมา หรือมิฉะนั้นจะถูกแบนการใช้งานในประเทศสหรัฐฯ เหตุที่รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องการจะแบน TikTok เพราะหวั่นเกรงว่าความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของชาวอเมริกันจะลดลงเพราะแอปพลิเคชันนี้มีเจ้าของเป็นบริษัทจีน
อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจไม่ได้ถามเจาะจงว่าทำไมชาวอเมริกันจึงเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับการแบน TikTok แต่จะเห็นได้ว่าปัจจุบันไม่ได้มีแต่ชาวบ้านทั่วไปที่เปลี่ยนความคิด เพราะแม้แต่นักการเมืองอเมริกันก็หันมาใช้โซเชียลมีเดียนี้ในการสื่อสารและหาเสียง
อดีตประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ผู้เคยพยายามจะแบน TikTok มาแล้วระหว่างดำรงตำแหน่งในช่วงปี 2020 ล่าสุดดูเหมือนทรัมป์จะเปลี่ยนความคิดแล้วเพราะเขาเพิ่งจะเปิดบัญชี TikTok ไปเมื่อช่วงต้นปี 2024 ด้านคู่แข่งของทรัมป์คือ “กมลา แฮร์ริส” เองก็มีบัญชี TikTok เหมือนกัน และใช้ช่องทางนี้ในการหาเสียง
ในการสำรวจครั้งนี้ของ Pew มีการแบ่งกลุ่มผู้ถูกสำรวจตามจุดยืนทางการเมืองด้วย โดยพบว่าคนอเมริกันที่เลือกพรรครีพับลิกันหรือมีแนวโน้มจะเลือกรีพับลิกันมักจะมองว่า TikTok เป็นภัยความมั่นคงของชาติมากกว่า พวกเขามีแนวโน้มจะสนับสนุนนโยบาย “แบน TikTok” มากกว่าผู้ที่เลือกพรรคเดโมแครตถึง 2 เท่า อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมแล้วผู้ที่สนับสนุนการแบน TikTok นั้นลดลงเกือบ 20% ใกล้เคียงกันทั้งสองขั้วการเมือง
ไทม์ไลน์ทางกฎหมายเส้นตายที่ ByteDance จะต้องขาย TikTok ออกไปนั้นคือเดือนมกราคม 2025 และเส้นตายนั้นจะสามารถขอขยายได้อีก 90 วันหากดีลการขายดูเหมือนอยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินการ นอกจากนี้ การต่อสู้ทางกฎหมายของ TikTok ก็อาจจะทำให้การแบนจริงขยายเวลาออกไปอีกได้
]]>Axios ชี้รายละเอียดร่างกฎหมายแบน TikTok ที่ฝ่ายนิติบัญญัติของสหรัฐฯ ที่ให้ผ่านออกมานั้น ข้อความในกฎหมายกว้างและครอบคลุมมากทีเดียว เพราะมีการระบุว่า “รัฐบาลสหรัฐฯ สามารถแบนแอปพลิเคชันใดก็ได้ที่มีการควบคุมโดยหน่วยงานที่เป็นภัยจากต่างประเทศ” รวมถึงแอปฯ ที่ “ดำเนินการไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม ผ่านบริษัทแม่หรือบริษัทลูกของหน่วยงานที่เป็นภัยจากต่างประเทศ”
นั่นทำให้ถ้ากฎหมายนี้ถูกบังคับใช้จริง ก็เป็นไปได้ว่าแอปฯ ที่ได้รับผลกระทบจะไม่ใช่แค่ TikTok แต่หมายถึงแอปฯ ที่อยู่ภายใต้บริษัท ByteDance ทั้งหมด
แอปฯ อื่นที่เป็นที่นิยมในสหรัฐฯ เช่นกันคือ “CapCut” แอปฯ ตัดต่อวิดีโอสั้นเบื้องหลังคลิปมากมายที่นำไปโพสต์ลงใน TikTok รวมถึงแอปฯ วิดีโอสั้นอื่นๆ ด้วย หากมีการแบน CapCut ก็จะกระทบครีเอเตอร์มากมายที่ใช้แอปฯ นี้เป็นหลักในการตัดต่อ
รวมถึงแอปฯ “Lemon8” แอปฯ โซเชียลคู่แข่ง Pinterest ที่นิยมมากขึ้นในสหรัฐฯ โดยเฉพาะกลุ่มที่ชื่นชอบคอนเทนต์แนวไลฟ์สไตล์และสุขภาพ ก็อาจจะโดนแบนไปด้วย
ภายใต้บริษัท ByteDance ยังมีแอปฯ อื่นที่ทำธุรกิจในสหรัฐฯ อีก เช่น “Lark” แอปฯ ที่รวมฟีเจอร์สำหรับทำงาน ทำเอกสาร แชทในออฟฟิศ หรือ “Hypic” แอปฯ สำหรับตัดต่อรูป เป็นต้น
สำนักข่าว Mashable ยังประเมินด้วยว่า ไม่ใช่แค่ ByteDance ที่จะถูกแบน แต่กฎหมายนี้อาจจะใช้ครอบคลุมบริษัทจีนอื่นด้วยก็ได้ เช่น กลุ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ซอย่าง Alibaba หรือ Temu
อย่างไรก็ตาม มีรายงานข่าวมาก่อนหน้านี้ว่า ByteDance จะไม่ยอมง่ายๆ และน่าจะเตรียมสู้ในทางกฎหมาย แต่ถ้าสุดท้ายแล้วแพ้คดี บริษัทอาจจะเลือกที่จะปิดกิจการไปเลยมากกว่าขายหุ้นให้กับบริษัทอื่น
]]>