สภาล่างของสหรัฐอเมริกา มีมติเอกฉันท์ในการออกข้อกฎหมายโดยให้ ByteDance ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ TikTok ต้องแยกกิจการออกมาเพื่อขายต่อ โดยมีระยะเวลาทั้งสิ้น 6 เดือน ถ้าไม่ทำตามมีโทษแบน อย่างไรก็ดีในการออกข้อกฎหมายนั้นยังต้องผ่านวุฒิสภาของสหรัฐฯ ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนว่าข้อกฎหมายดังกล่าวจะผ่านการพิจารณาหรือไม่
สภาล่างของสหรัฐอเมริกา มีมติ 352 ต่อ 65 ในการออกข้อกฎหมายโดยให้ ByteDance ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ TikTok นั้นต้องแยกกิจการออกมาเพื่อขายต่อ โดยมีระยะเวลาทั้งสิ้น 6 เดือน และถ้าหากไม่ทำตามภายในระยะเวลาที่กำหนดก็จะทำให้แอปพลิเคชันดังกล่าวถูกแบนในทันที
เสียงของ ส.ส. ไม่ว่าจะเป็นทั้งพรรคเดโมแครต 155 เสียง และพรรครีพับลิกัน 197 เสียงต่างเห็นด้วยกับร่างดังกล่าว และคะแนนโหวตยังผ่านขั้นต่ำที่ 2 ใน 3 ของสมาชิกสภาทั้งหมดอีกด้วย แม้ว่าคำสั่งดังกล่าวจะถูกกลุ่มผู้ใช้งาน TikTok ล็อบบี้ หรือแม้แต่ โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการแบนแอปพลิเคชันดังกล่าวก็ตาม
สาเหตุสำคัญที่ทำให้มีการออกคำสั่งของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ให้ ByteDance ขายกิจการของ TikTok ออกมาเนื่องจากระบบของ TikTok นั้นมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลประชาชนชาวสหรัฐฯ เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อเรื่องภัยความมั่นคง
และยังมีกรณีที่พนักงานของ ByteDance ในประเทศจีนสามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้งานได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้งานในทวีปยุโรป หรือแม้แต่นักข่าวในสหรัฐอเมริกาอย่าง Forbes รวมถึงอังกฤษอย่าง Financial Times ทำให้มีความกังวลถึงสิทธิของผู้ใช้งาน
ขณะเดียวกันมาตรการดังกล่าวถือเป็นความเคลื่อนไหวล่าสุดของสภาสหรัฐฯ เพื่อตอบสนองต่อประเด็นด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ เกี่ยวข้องกับจีน เนื่องจากตัวกฎหมายความมั่งคงของจีนนั้นกำหนดให้บริษัทเอกชนจะต้องทำตามนโยบายด้านความมั่งคงของจีน ซึ่งอาจมีการขอข้อมูลของผู้ใช้งานต่างๆ ทำให้เกิดความกังวลในประเด็นดังกล่าวเพิ่มขึ้น
คริสโตเฟอร์ เรย์ ผู้อำนวยการของ FBI ได้กล่าวกับคณะกรรมการข่าวกรองประจำสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาว่า รัฐบาลจีนอาจใช้ช่องโหว่ด้านซอฟต์แวร์ของ TikTok เพื่อเข้าถึงชาวอเมริกัน และชาวอเมริกันต้องถามตัวเองว่าพวกเขาต้องการให้รัฐบาลจีนสามารถควบคุมการเข้าถึงข้อมูลของตนได้หรือไม่
ก่อนที่จะมีการไฟเขียวกับร่างดังกล่าว ในเดือนมีนาคมของปี 2023 ที่ผ่านมา Shou Zi Chew ซึ่งเป็น CEO ของ TikTok ได้ขึ้นให้การกับสภาคองเกรส และยังมีการออกคลิปวิดีโอแสดงถึงความสำคัญของ TikTok ว่าสร้างความบันเทิง และภาคธุรกิจในสหรัฐฯ ได้ใช้งานแพลตฟอร์มนี้ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้งานในสหรัฐฯ มากกว่า 150 ล้านคน
ถ้าหาก ByteDance ไม่มีการขายกิจการ TikTok และมีการแบนเกิดขึ้นจริง สหรัฐฯ ก็จะเป็นอีก 1 ประเทศที่มีการแบนแอปพลิเคชันนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้เนปาลได้ประกาศแบนแอปพลิเคชันดังกล่าว เนื่องจากเนื้อหาเป็นอันตรายต่อความสามัคคีในสังคมมาแล้ว
ในส่วนของ หวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนมองว่าการแบน TikTok ถือเป็น “การกลั่นแกล้ง” และยังชี้ว่าเรื่องดังกล่าวจะส่งผลย้อนกลับต่อสหรัฐอเมริกาเองหลังจากนี้
อย่างไรก็ดีในการออกข้อกฎหมายนั้นยังต้องผ่านวุฒิสภาของสหรัฐฯ ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนว่าข้อกฎหมายดังกล่าวจะผ่านการพิจารณาหรือไม่ และยังรวมถึงมีความเสี่ยงจากการยื่นฟ้องผ่านศาลว่าร่างดังกล่าวขัดกับข้อกฎหมายของสหรัฐอเมริกาหรือไม่ด้วย
ที่มา – CNN, ABC News, CBS News