buy now pay later – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 08 Mar 2023 08:44:21 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ตั้งเป้าขยายลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัล เตรียมเปิดตัว Buy Now Pay Later ในปีนี้ https://positioningmag.com/1422267 Wed, 08 Mar 2023 07:56:33 +0000 https://positioningmag.com/?p=1422267 กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ตั้งเป้าขยายลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้นในปีนี้ โดยมองสัญญาณของพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ขณะเดียวกันเตรียมเข้ามารุกในตลาด Buy Now Pay Later ซึ่งจะมีการเปิดตัวในภายหลัง รวมถึงการรุกเข้าไปในตลาดอาเซียนมากขึ้น

ณญาณี เผือกขำ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ได้กล่าวถึงการใช้จ่ายบัตรของลูกค้าในปี 2565 ที่ผ่านมาว่ามีสูงถึง 333,000 ล้านบาท และมียอดสินเชื่อใหม่มากถึง 87,000 ล้านบาท หลังจากสภาวะเศรษฐกิจได้ฟื้นตัว รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปใช้ช่องทางดิจิทัลในการจับจ่ายใช้สอย

สำหรับยอดใช้จ่ายของลูกค้าบัตรกรุงศรีในปีที่ผ่านมา เมื่อเรียงตามยอดใช้จ่ายมากที่สุดได้แก่ ประกันภัย ปั๊มน้ำมัน และ ช้อปปิ้งออนไลน์และกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ ตามลำดับ ขณะที่หมวดต่างๆ นั้น หมวดสายการบินมากสุด รองลงมากคือตัวแทนท่องเที่ยว และสถานเสริมความงาม

ขณะเดียวกันเธอก็ยังชี้ว่าคนไทยยังใช้ QR Code สำหรับการทำธุรกรรมติดอันดับ 5 ของโลก และเธอยังเปิดเผยว่าลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัลของ Krungsri Consumer ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 3 เท่า ซึ่งตัวเลขล่าสุดนั้นอยู่ที่ 549,000 ราย

ปัจจุบันกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ได้ให้บริการด้านบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ประกอบไปด้วย บัตรเครดิตกรุงศรี, บัตรเครดิตกรุงศรี นาว, บัตรเครดิตโฮมโปร, บัตรเครดิตสยามทาคาชิมายะ, บัตรเครดิตเซ็นทรัล เดอะวัน, บัตรเครดิตโลตัส, บัตรเครดิตกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ วีซ่า แพลทินัม และบัตรเอ็กซ์ยู ดิจิทัล การ์ด

โดยในปี 2566 กลยุทธ์ทางธุรกิจของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ 4 ประการได้แก่

  1. การใช้นวัตกรรมและข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ เพื่อเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจ พัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่แตกต่าง ตอบโจทย์ ตรงใจ และสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า ส่งผลทำให้สามารถสร้างรายได้ผ่านช่องทางใหม่ ๆ ได้ เช่น การทำ Data Analytics
  2. จับมือร่วมกับพันธมิตรในหลากหลายธุรกิจ เพื่อความเติบโต โดยกรุงศรี คอนซูมเมอร์จะจับมือกับพันธมิตร เพื่อสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจ ขยายโอกาสในการเข้าถึงลูกค้าได้กว้างขวางยิ่งขึ้น
  3. มอบบริการและผลิตภัณฑ์ของกรุงศรีให้กับลูกค้า โดยยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง
  4. ขยายธุรกิจสินเชื่อเพื่อรายย่อยสู่ภูมิภาคอาเซียน ไม่ว่าจะเป็น ลาว กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม โดยผสานความร่วมมือกับบริษัทในเครือกรุงศรีในภูมิภาค เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำธุรกิจ สอดคล้องกับกลยุทธ์ของธนาคารที่ได้ประกาศไปว่าจะเน้นตลาดอาเซียนจริงจังมากขึ้น

สำหรับกรุงศรี คอนซูมเมอร์ได้ตั้งเป้าภายในปี 2566 จะมียอดใช้จ่ายผ่านบัตร 350,000 ล้านบาท ยอดสินเชื่อใหม่ 97,000 ล้านบาท และจำนวนลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัลเติบโต 20% และจะมีลูกค้าผ่านช่องทางดังกล่าวจำนวนมากขึ้นในระยะยาว

นอกจากนี้ประธานกรรมการของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ยังได้กล่าวถึงบริการ Buy Now Pay Later ที่เตรียมเปิดตัวในปีนี้ และจะใช้ข้อมูลจากแหล่งต่างๆ นำมาพิจารณาลูกค้าในแต่ละราย ซึ่งลูกค้าสามารถสมัครผ่านช่องทางออนไลน์ได้ โดยในช่วงที่ผ่านมาบริการดังกล่าวได้รับความนิยมทั่วโลกทำให้สถาบันการเงินไทยหลายรายลงมาเล่นในธุรกิจดังกล่าวมากขึ้นด้วย

]]>
1422267
คุยกับ ‘Atome’ ถึงบริการ “ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง” เทรนด์แรงในไทยที่มีโอกาสโตถึง 16 เท่า https://positioningmag.com/1420947 Mon, 27 Feb 2023 14:26:57 +0000 https://positioningmag.com/?p=1420947 ในยุคนี้ถ้าจะต้องซื้อสินค้าที่มีราคาสูงสักชิ้นการ ‘ผ่อนจ่าย’ นับเป็นอะไรที่ช่วยได้มากเพราะเราไม่ต้องจ่ายเงินก้อน สามารถแบ่งจ่ายได้ตามกำลัง จนนำไปสู่เทรนด์ “ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง” หรือ “Buy Now Pay Later” (BNPL) ที่กำลังเติบโตมากในไทย

รู้จัก BNPL

สำหรับคนไทยที่มีบัตรเครดิตก็น่าจะชินกับการผ่อนจ่ายสินค้าผ่านบัตรฯ อยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่ก็จะต้องเป็นของที่มีราคาสูงสักนิดโดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าหรือเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น แต่ด้วยการมาของบริการ Buy Now Pay Later (BNPL) ที่ช่วยให้ผ่อนชำระสินค้าที่มีมูลค่าน้อยลงมา

โดยบริการ Buy Now Pay Later นี้ จะสามารถแบ่งผู้เล่นได้เป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่

  • Pure Pay หรือ แพลตฟอร์ม Buy Now Pay Later โดยเฉพาะ ปัจจุบันในไทยมีผู้ให้บริการประมาณ 2-3 ราย
  • Close ecosystem ฟีเจอร์ที่ถูกพัฒนาเพื่อใช้ในอีโคซิสเต็มส์ของตัวเอง เช่น SPayLater ของ Shopee
  • Bank หรือ บริการ BNPL จากธนาคารเอง

ปัจจุบัน ประเทศไทยถือเป็นผู้นำในด้านของดิจิทัล เพย์เมนต์โลก โดยในปี 2021 มีปริมาณการทําธุรกรรมการชําระเงินแบบเรียลไทม์ (Real-time payment transactions) ประมาณ 9.7 พันล้านครั้ง มากที่สุดเป็น อันดับ 3 ของโลกรองจากประเทศอินเดียและจีน และคาดว่าการใช้จ่ายทางดิจิทัลจะเติบโตขึ้นถึง 12% ภายในปี 2025 จากการส่งเสริมนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย

ขณะที่บริการ BNPL ถือเป็นหนึ่งในการชําระเงินที่เติบโตไวที่สุดของโลก โดยทั่วโลกมีการเติบโตเฉลี่ยกว่า 50% ต่อปี และสำหรับประเทศไทยคาดว่าจะเติบโตถึง 16 เท่า จาก 893 ล้าน เป็น 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่ปี 2021-2028

ลูกค้าผ่อนได้ ร้านก็ขายได้มากขึ้น

หนึ่งในผู้เล่น Pure Pay ในตลาดไทยที่เพิ่งทำตลาดได้ประมาณ 1 ปีก็คือ Atome (อะโทมี่) หนึ่งในธุรกิจของ Advance Intelligence Group หรือ AI Group สตาร์ทอัพด้านฟินเทคระดับยูนิคอร์นรายแรกของสิงคโปร์ ปัจจุบันให้บริการใน 8 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม ฮ่องกง จีน และไทย มีผู้ใช้รวม 30 ล้านคน มียอดการใช้จ่ายรวม 3 พันล้านเหรียญ โดย Atome ได้เข้ามาทำตลาดในไทยตั้งแต่ปลายปี 2021

“แม้บริการ BNPL จะมีมานาน แต่เราเพิ่งเข้ามาไทยเพราะเรามองว่าไทม์มิ่งสำคัญมาก ปีที่ผ่านมาทุกคนพยายามจะเพิ่มยอดขาย และช่องทางการชำระเงินเป็นสิ่งสำคัญที่จะกระตุ้นการจับจ่าย โดยเฉพาะการซื้อก่อนจ่ายทีหลังที่ช่วยแบ่งเบาภาระลูกค้า ช่วยให้เขาตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น” ภูมิพงษ์ ตันเจริญผล ผู้จัดการทั่วไป Atome ประจำประเทศไทย กล่าว

ภูมิพงษ์ ตันเจริญผล ผู้จัดการทั่วไป Atome ประจำประเทศไทย

หลังจากให้บริการได้ 1 ปีเต็ม Atome พบว่า บริการ BNPL เพิ่มมูลค่าการซื้อเฉลี่ยต่อครั้ง (increase basket size) ถึง 35% ปัจจุบันแพลตฟอร์มมียอดใช้จ่ายเฉลี่ยที่ 2,500 บาท/ครั้ง และการใช้บริการจะเน้นไปที่สินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยหมวดหมู่สินค้าที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ได้แก่ สินค้าแฟชั่น,บิวตี้, ท่องเที่ยว, สินค้าไลฟ์สไตล์ และสินค้าตกแต่งบ้าน

“บริการ BNPL จะต่างจากการผ่อนของบัตรเครดิตที่เป็นสินค้าใหญ่ ๆ แต่จะเป็นสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เมื่อเขาสามารถแบ่งจ่ายได้ เขาก็สามารถจะซื้อสินค้าที่มีราคาสูงขึ้นได้ เพราะเขารู้ว่าเขามีกำลังจ่ายนะ แต่เป็นในอนาคต ดังนั้น บริการของเราจะเน้นตอบโจทย์สินค้าประจำวัน และการใช้จ่ายระยะสั้น”

วางเป้าผู้ใช้โต 3 เท่า พร้อมขยายพาร์ตเนอร์กลุ่มคลินิก

ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา Atome มียอดใช้จ่ายรวม 1,500 ล้านบาท มีผู้ใช้งานรวม 750,000 คน ปัจจุบันแอคทีฟประมาณ 400,000 คน โดยผู้ใช้ 78% เป็นผู้หญิง กลุ่มอายุ 26-35 ปี มีสัดส่วนใหญ่ที่สุด (45%) ตามด้วยกลุ่ม 36-55 ปี (31%) โดยในปี 2023 บริษัทตั้งเป้าเพิ่มลูกค้าให้ได้ 2-3 เท่า โดยจะเน้นไปที่กลุ่ม First Jobber ที่เริ่มทำงานมีรายได้ ที่ผ่านมา แพลตฟอร์มได้เปิดตัว Atome+ Point รอยัลตี้โปรแกรมสำหรับใช้แลกส่วนลดหรือสินค้าต่าง ๆ จากพาร์ทเนอร์ เพื่อกระตุ้นการใช้งาน

ส่วนพาร์ตเนอร์ร้านค้าคาดว่าจะเติบโตจาก 1,300 ราย เป็น 2,000 ราย โดยในช่วงไตรมาส 2 จะมีพาร์ตเนอร์ใหม่ เช่น King Power, AI-Futtaim Group, Major Cineplex และ Super Sports นอกจากนี้ แพลตฟอร์มจะเพิ่มพาร์ตเนอร์เพย์เมนต์เกตเวย์อีก 3-4 ราย เพื่อเพิ่มความสะดวกของการใช้บริการ

“ปีนี้จะเป็นปีที่เราเน้นเพิ่มผู้ใช้งาน ส่วนร้านค้าพันธมิตรจะเริ่มโฟกัสไปที่แบรนด์ย่อย ๆ มากขึ้น จากตอนแรกที่เน้นไปที่แบรนด์ใหญ่เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ โดยในปีนี้เราเห็นโอกาสในกลุ่มของคลินิกความงาม, คลินิกทันตกรรม และเฮลท์แคร์”

ทิ้งห่างคู่แข่ง 5 เท่า

ในส่วนของการแข่งขัน ภูมิพงษ์ กล่าวว่า ยังไม่ดุเดือด หากนับเฉพาะผู้เล่น Pure Pay แพลตฟอร์ม Atome ทิ้งห่างคู่แข่งถึง 5 เท่า เนื่องจากจุดเด่นของ Atome คือ ใช้งานได้แบบ Omnichannel สามารถจ่ายแบบ Offline หรือช้อป Online ผ่านแพลตฟอร์มได้เลย โดยลูกค้าสามารถผ่อนจ่ายได้ 3 เดือน โดยไม่มีดอกเบี้ย ซึ่งแพลตฟอร์มจะเป็นผู้ชำระค่าสินค้าให้ก่อน

อย่างไรก็ตาม หากไม่ชำระตามกำหนด บัญชีจะถูกล็อกจนกว่าจะจ่ายครบ พร้อมคิดดอกเบี้ยที่ 0.25% ทั้งนี้ ระบบในปัจจุบันจะตัดผ่านบัตรเครดิตและบัตรเดบิตเท่านั้น ยังไม่สามารถผูกกับบัญชีธนาคารได้

“คู่แข่งรายอื่นก็ไม่ได้รุกตลาดหนักมาก ในขณะที่ผู้ให้บริการอย่าง Shopee เราเชื่อว่าเขาคงจะไม่เอาฟีเจอร์ออกมานอกอีโคซิสเต็มส์ ส่วนบริการ BNPL ของแบงก์ก็คิดดอกเบี้ยในการการผ่อน แต่เราไม่คิด เพราะเราค่าธรรมเนียมจากร้านค้า ซึ่งเรามองว่าแบงก์คงไม่โฟกัสที่ BNPL เพราะเขาเป็นองค์กรใหญ่ มีบริการหลักให้โฟกัสมากกว่า

BNPL ไม่เกี่ยวกับหนี้ครัวเรือน

แน่นอนว่าบริการ BNPL ได้ถูกมองว่ามีส่วนทำให้เกิด หนี้เสีย หรือทำให้เกิดพฤติกรรมการ ใช้จ่ายเกินตัว แต่ ภูมิพงษ์ มองว่าไม่เกี่ยว เพราะสินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันมูลค่าไม่สูงมาก โดยลูกค้าส่วนใหญ่จะคำนวณแล้วว่ามีกำลังพอจ่ายได้ใน 3 เดือน ที่น่าเป็นห่วงคือ หนี้นอกระบบ มากกว่า

“เรามองว่าการผ่อนจ่ายสินค้ากับการกู้เงินมาซื้อของมันต่างกัน และแพลตฟอร์มเราก็แสดงให้เขาเห็นเลยว่าต้องผ่อนเท่าไหร่ ไหวไหมหากจะซื้อ ซึ่งเราก็มีความกังวลเรื่องหนี้เสียเหมือนกัน ดังนั้น แพลตฟอร์มเราก็จะมีระบบคอยดูธุรกรรมที่ผิดปกติ หรือห้ามซื้อสินค้าที่แปลเป็นเงินสดง่าย เช่น ทองคำ ซึ่งปัจจุบันอัตราหนี้เสียเราต่ำมากไม่ถึง 1%”

มุ่งสู่ไฟแนนเชียลซูเปอร์แอป!

ภูมิพงษ์ ทิ้งท้ายว่า บริการ BNPL เป็นแค่จุดเริ่มต้นของ Atome โดยบริษัทยังมีบริการทางการเงินอื่น ๆ ที่อาจจะทำตลาดในอนาคต อาทิ Atome Card หรือบริการบัตรเครดิตที่ให้บริการแล้วในฟิลิปปินส์ และ อินโดนีเซีย โดยเป้าหมายระยะยาวของ Atome ต้องการเป็น ไฟแนนเชียลซูเปอร์แอป ในไทย

“ไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่บริษัทแม่ให้ความสำคัญ เพราะโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อม ทั้งการใช้งานมือถือ อินเทอร์เน็ต การเติบโตของอีคอมเมิร์ซ และความพร้อมของรีเทล และในปี 2023 ถือเป็นปีที่กำลังเปลี่ยนผ่าน หลายองค์กรกำลังกลับมาฟื้นตัวเพราะผู้บริโภคกลับมาจับจ่าย แต่ตอนนี้ร้านไม่ใช่แค่ต้องการเพิ่มยอดขาย เขาต้องการหาลูกค้าที่เด็กลง เขาไม่ได้ต้องการแค่เครื่องมือจ่ายเงิน แต่ต้องการเครื่องมือที่พาลูกค้ามาหาเขา ดังนั้น เรามีโอกาสเติบโตไปพร้อมกับธุรกิจเหล่านี้

]]>
1420947
Major Cineplex x Atome มิติใหม่ของวงการหนัง “ดูก่อนจ่ายทีหลัง” แบ่งจ่ายฟินๆ แบบไร้ดอกเบี้ย https://positioningmag.com/1396867 Wed, 24 Aug 2022 10:00:19 +0000 https://positioningmag.com/?p=1396867

ภาพรวมสถานการณ์ของการแพร่ระบาดของ COVID-19 เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น ผู้บริโภคเริ่มออกมาจับจ่ายใช้สอย ธุรกิจหลายภาคส่วนเริ่มฟื้นตัวไม่ว่าจะเป็นศูนย์การค้า ร้านอาหาร และการท่องเที่ยว รวมไปถึงธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักอย่าง “โรงภาพยนตร์” ที่เริ่มเห็นสัญญาณดีขึ้นเช่นกัน

ในส่วนของโรงภาพยนตร์นอกจากจะมีภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ตบเท้าเข้าโรงอย่างต่อเนื่องแล้ว ในเรื่องของนวัตกรรมต่างๆ ก็ตอบโจทย์ผู้บริโภคมากขึ้น ยิ่งล่าสุดกับนวัตกรรมดูหนังแบบแบ่งจ่าย หรือที่เรียกว่าดูก่อนจ่ายทีหลังเป็นครั้งแรกในประเทศไทย จะเป็นอย่างไรบ้าง เราจะมาเล่าให้ฟัง


ดูหนังก่อน จ่ายทีหลังครั้งแรกในประเทศไทย

ถ้าการช้อปปิ้งสินค้าทั่วไปยังสามารถแบ่งจ่ายได้ แล้วทำไมการดูหนังจะแบ่งจ่ายไม่ได้? ก่อนหน้านี้เราได้เห็นหลายธุรกิจเริ่มมีเทรนด์ Buy Now Pay Later กันมาบ้างแล้ว หรือช้อปก่อน จ่ายทีหลัง หรือคือการแบ่งจ่ายนั่นเอง แต่เป็นการแบ่งจ่ายโดยแพลตฟอร์มที่มีตัวกลาง สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคทั่วไปที่ไม่มีสินเชื่อ หรือบัตรเครดิตได้ โดยผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดนี้ก็คือ Atome (อาโตมี่)

เมื่อไม่นานมานี้ “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์” ได้ประกาศความร่วมมือกับ Atome ในการเริ่มให้บริการ Buy Now Pay Later เรียกว่าเป็นการสร้างมิติใหม่แห่งวงการภาพยนตร์ ลูกค้าสามารถดูหนังก่อนแบบชิลล์ๆ แล้วค่อยจ่ายทีหลัง นับเป็นครั้งแรกของโรงภาพยนตร์ในเมืองไทยที่ลูกค้าสามารถ “ดูหนังก่อนจ่ายทีหลัง” ไร้ดอกเบี้ยไร้ค่าบริการเพิ่มเติม

วิธีการใช้บริการนั้นสะดวกสบายอย่างมาก เพียงซื้อตั๋วหนังผ่านตู้จำหน่ายตั๋วอัตโนมัติ E-Ticket แล้วเลือกชำระเงินผ่านแอปพลิเคชั่น Atome แบ่งจ่ายค่าตั๋วหนังได้ 3 ครั้ง แถมดอกเบี้ย 0% ทุกเรื่องทุกรอบ สามารถแบ่งจ่ายครั้งแรกเป็น 1/3 ของยอดชำระทั้งหมด เพียงแค่มีสมาร์ทโฟนและมีบัตรเดบิต หรือบัตรเครดิต ก็แบ่งจ่ายแบบชิลล์ๆ

นรุตม์ เจียรสนอง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์กรุ้ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า

“เนื่องจากลูกค้าของเราเป็น Smart Shopper ฉลาดใช้ฉลาดเลือก เรามองว่า Buy Now Pay Later (BNPL) เป็นเทรนด์ใหม่ที่คนเลือกใช้ และกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วเมเจอร์เองอยากสร้างการชำระเงินที่สะดวกสบายที่สุดให้กับลูกค้าทางเมเจอร์จึงร่วมมือกับ Atome เป็นเจ้าแรก ที่ทำเรื่อง BNPL ให้เกิดมิติใหม่แห่งการดูหนังการขยายช่องทางชำระเงินของลูกค้า เป็นสิ่งที่จำเป็นที่ต้องสร้างความสะดวกสบายให้ลูกค้ามากที่สุดเราพยายามหานวัตกรรมใหม่ๆ ในการชำระเงินให้กับลูกค้า เพื่อให้รู้สึกว่าการมาชมภาพยนตร์เป็นการซื้อตั๋วที่สะดวกสบายที่สุดนี่คือเป้าในการจ่ายเงินแบบใหม่ต่างๆ ที่เรานำมาเสิร์ฟให้ลูกค้า”


สร้างประสบการณ์ใหม่ เพิ่มทางเลือกในการจ่ายเงิน

ความสำคัญของการร่วมมือกันครั้งนี้นอกจากจะเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ให้แก่กลุ่มลูกค้าของเมเจอร์ ให้มีทางเลือกการชำระเงินที่หลากหลายขึ้น สะดวกขึ้น ยังเป็นโอกาสที่ดีให้การขยายฐานกลุ่มลูกค้าให้ทั้งทางเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์และ Atome อีกด้วย รวมไปถึงการทำระบบ BNPL ร่วมกับทางเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ก็สะดวกสบาย ง่ายต่อการใช้งาน

ทางด้าน ภูมิพงษ์ ตันเจริญผล ผู้จัดการทั่วไป Atome ประจำประเทศไทย เล่าว่า

“จากสถานการณ์ช่วง COVID-19ทำให้วิถีการใช้ชีวิตของผู้บริโภคเปลี่ยนไป เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ และ Atome เห็นว่าหลังจากที่มีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ผู้บริโภคก็จะกลับมาใช้ชีวิต และทำกิจกรรมนอกบ้านมากขึ้นธุรกิจบันเทิงอย่าง การดูหนัง ก็จะเป็นหนึ่งในกิจกรรมหลักที่ผู้บริโภคจะกลับไปทำ จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ Atomeหันมาสนใจธุรกิจด้านนี้ เพื่อเป็นการตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์รูปแบบใหม่ เพื่อยกระดับประสบการณ์ลูกค้าให้ดีขึ้น และเพิ่มฐานลูกค้าใหม่ให้ทั้ง 2 ฝ่ายลูกค้าจะมีตัวเลือกในการชำระเงินมากขึ้น และตอบโจทย์ความต้องการของตัวเองได้มากขึ้น”

กลุ่มลูกค้าหลักของเมเจอร์ 70% อยู่ในช่วงอายุประมาณ 15-35 ปี เป็น Gen Z มีพฤติกรรมในการใช้ BNPL อยู่แล้ว การที่เราทำโปรโมชั่นร่วมกับ Atome เป็นการดึงฐานลูกค้าของ Atome ที่มียอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชันมากกว่า 350,000 ครั้งในไทย ให้มาชมภาพยนตร์มากขึ้น

ในขณะเดียวกันลูกค้าเมเจอร์ได้มีทางเลือกมากขึ้นในการชำระเงินที่หลากหลาย ซึ่งทิศทางของเมเจอร์ คือต้องการลดการใช้เงินสดที่ตู้ การมีระบบการจ่ายเงินที่หลากหลาย ทำให้ลูกค้าสะดวกสบายมากขึ้น ซึ่ง BNPL ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ลูกค้าชื่นชอบ

ปกติแล้วเมเจอร์มีตู้ซื้อตั๋วอัตโนมัติ หรือ E-ticket อยู่ทุกสาขา และสามารถซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ได้ ทำให้ปัจจุบันการซื้อตั๋วของลูกค้า 60% ซื้อที่ตู้ E-ticket 35% ซื้อผ่านทางออนไลน์ และอีก 5% ซื้อเงินสดที่ Box Office ในสิ้นปีนี้ทางเมเจอร์ตั้งเป้าการใช้เงินสดเหลือ 0% หรือพูดง่ายๆ ก็คือ การซื้อตั๋วจะเป็น Cashless 100% ให้ได้ภายในปีนี้

การร่วมมือกับ Atome ก็เป็นอีกหนึ่งจิ๊กซอว์สำคัญในการผลักดันภารกิจนี้ให้รวดเร็วขึ้น รวมถึงอาจจะขยายความร่วมมือจากการซื้อตั๋วหนังไปยังระบบ M Pass ในอนาคตอีกด้วย


สามารถซื้อได้ทุกสาขาทั่วประเทศไทย พร้อมโปรจัดเต็มลด 100 บาท

แน่นอนว่าในความร่วมมือครั้งนี้ ต้องจัดเต็มด้วยโปรโมชั่นอย่างแน่นอน สำหรับลูกค้าใหม่ที่ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น Atome ในครั้งแรก รับทันทีส่วนลดตั๋วหนัง 100 บาท เมื่อชำระค่าตั๋วหนังผ่านแอพพลิเคชั่นอาโตมี่ ตั้งแต่ 200 บาทขึ้นไป ถึงวันที่ 31 ส.ค. 65

ง่ายๆ กับ 3 ขั้นตอนรับสิทธิ์บริการ “ดูหนังก่อนจ่ายทีหลัง” ไร้ดอกเบี้ย

  • ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น Atome และลงทะเบียนสมัครสมาชิก
  • ใช้บริการซื้อตั๋วหนังที่ ตู้จำหน่ายตั๋วอัตโนมัติ E-Ticket แล้วเลือกชำระค่าตั๋วหนังผ่านแอพพลิเคชั่น Atome
  • ชำระค่าตั๋วหนังเป็น 3 ครั้ง ครั้งละเท่าๆ กันเป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยไม่มีดอกเบี้ยสามารถซื้อตั๋วหนังได้ทุกประเภทที่นั่ง ไม่จำกัดจำนวน


จับตาเทรนด์ Buy Now Pay Later กระตุ้นยอดขายได้ 30%

เทรนด์ของ BNPL ในไทยมีศักยภาพในการเติบโตเป็นอย่างมาก จากรายงานของ FIS World Pay 2022 เผยว่าตั้งแต่ปี 2021 จนถึงปี 2025 โซลูชัน BNPL จะเป็นเทรนด์วิธีการชำระเงินที่เติบโตเร็วที่สุดทั้งช่องทางหน้าร้าน และออนไลน์

กลุ่มผู้บริโภคหลักของ BNPL คือกลุ่ม Millennial และ Gen Zซึ่ง BNPL ตอบโจทย์ความต้องการของคนกลุ่มนี้ที่อยากมี ความยืดหยุ่นในการใช้จ่ายมากขึ้น และควบคุมการใช้จ่ายของตัวเองได้มากขึ้น โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

จากประสบการณ์ของร้านค้าที่มีโซลูชั่นของ Atome พบว่าสามารถช่วยเพิ่มฐานลูกค้าใหม่ และเพิ่มยอดใช้จ่ายต่อบิลของลูกค้า (Basket Size) ประมาณ 30% ซึ่งก็ถือเป็นช่องทางในการขยายธุรกิจได้อย่างดี เพราะผู้บริโภครู้สึกอุ่นใจในการใช้จ่าย ซื้อของได้มากขึ้น แบ่งจ่ายอย่างสบายใจ

สำหรับ Atome มาจากคำว่า Available to me เป็นธุรกิจมาจากประเทศสิงคโปร์ ผู้นำทางด้าน Buy Now Pay Later ในอาเซียน เป็นบริษัทลูกของ Advance Intelligence Group บริษัทเทคโนโลยีซีรีส์ D ซึ่งเป็นยูนิคอร์นจากสิงคโปร์

Atomeได้เปิดตัวในประเทศไทยเมื่อปี 2564 มีจุดเด่นตรงที่ให้ผู้บริโภคแบ่งจ่าย 3 ครั้ง ดอกเบี้ย 0% และไม่มีค่าธรรมเนียม สามารถชำระได้ผ่านทั้งทางหน้าร้าน และช่องทางออนไลน์ โมเดลการหารายได้ของ Atome ก็คือ คิดค่าธรรมเนียมกับทางพาร์ทเนอร์ ไม่ได้คิดค่าบริการกับทางลูกค้า

จุดประสงค์หลักของ Atome ก่อตั้งมาตอบโจทย์กลุ่ม Underserved และ Unbanked พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ กลุ่มที่ไม่สามารถถึงบริการ หรือผลิตภัณฑ์ของแบงค์ได้ อาจจะเป็นกลุ่มฟรีแลนซ์ คนไม่มีบัตรเครดิต ขอสินเชื่อไม่ได้ คนกลุ่มนี้มีจำนวนสูงมากในอาเซียน

นอกจากความร่วมมือในด้านการชำระเงินแล้ว เราอาจจะได้เห็นเมเจอร์ และ Atome ร่วมมือกันในด้านอื่นๆ อีกอาจจะเป็นการจัดเทศกาลภาพยนตร์ร่วมกัน เพื่อโปรโมทภาพยนตร์ไทย หรือเอเชียรวมไปถึงมีแผนในการพัฒนาการชำระเงินของ M pass ผ่าน Atome และขยายไปยังธุรกิจอื่นๆ อาจจะรวมถึงเครื่องดื่ม ป๊อบคอร์น โบว์ลิ่ง ไอซ์สเก็ต คาราโอเกะ

ต่อไปอาจจะได้เห็น กินป๊อปคอร์นก่อน แล้วแบ่งจ่ายทีหลัง ก็เป็นได้… สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://atome-th.onelink.me/SrPK/MJCATOME

]]>
1396867
กสิกรไทยบุกธุรกิจ Buy Now, Pay Later ปรับระบบขอสินเชื่อให้ได้เร็วกว่าเดิม https://positioningmag.com/1392206 Mon, 11 Jul 2022 15:41:53 +0000 https://positioningmag.com/?p=1392206 ธนาคารกสิกรไทย (KBank) ประกาศโครงการเดินหน้าเชิงกลยุทธ์มูลค่า 1 แสนล้านบาท มุ่งขยายโอกาสการเข้าถึงบริการธนาคาร ให้กับคนไทย และคนที่มีธุรกิจเล็กๆ เป็นของตัวเอง ที่ยังไม่เคยเข้าถึงบริการธนาคาร หรืออาจจะเข้าถึงบริการของธนาคารแล้วแต่ยังไม่เต็มประสิทธิภาพ

ในโครงการของธนาคารกสิกรไทยที่ประกาศออกมานั้น ประกอบไปด้วยการเร่งลงทุนในเทคโนโลยีต่างๆ การซื้อกิจการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี การผนึกกำลังพาร์ตเนอร์เชิงพาณิชย์ การยกระดับองค์กรไปอีกขั้น รวมไปถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการขยายโอกาสการเข้าถึงบริการธนาคารให้กับประชาชนในสังคมวงกว้างมากยิ่งขึ้น

Positioning ได้สรุปประเด็นที่น่าสนใจในโครงการดังกล่าวของธนาคารกสิกรไทย

ลุย Buy Now, Pay Later ขยายฐานลูกค้าผ่าน LINE BK และเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ

การปล่อยสินเชื่อ Buy Now, Pay Later นั้นทางธนาคารได้ปล่อยให้กับผู้ที่ทำงานอิสระ หรือ ไม่มีเอกสารยืนยันรายได้ โดยจะพิจารณาอนุมัติจากข้อมูลอื่นๆ แทน โดยทางธนาคารอนุมัติสินเชื่อเฉลี่ย 1,600 รายต่อวัน มีวงเงินสินเชื่อโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1,500 บาท และสูงสุด 20,000 บาทในบางราย

โดยธนาคารตั้งเป้าที่จะเข้าถึงลูกค้ากลุ่มผู้มีรายได้น้อย และรวมไปถึงกลุ่มอาชีพอิสระไม่ว่าจะรายได้สูงหรือต่ำ ซึ่งหลายครั้งกลุ่มลูกค้าเหล่านี้ไม่มีเวลาไปติดต่อใช้บริการที่สาขาธนาคาร หรืออาจจะรู้สึกไม่สบายใจนักที่จะเข้าไปติดต่อขอใช้บริการ

นอกจากนี้ทางธนาคารเองก็ได้เตรียมขยายลูกค้าไปยังกลุ่มใหม่ๆ ผ่านช่องทาง LINE BK โดยรู้ผลอนุมัติภายใน 24 ชั่วโมง และถ้าเป็นผู้ที่มีบัญชีเงินฝากกับธนาคารกสิกรไทยอยู่แล้ว จะสามารถสมัครขอสินเชื่อและรู้ผลการอนุมัติได้ภายในเวลาไม่ถึง 5 นาที

ไม่เพียงเท่านั้นทางธนาคารกสิกรไทยเองอยู่ในระหว่างการเจรจากับกลุ่มค้าปลีกเพื่อที่จะนำเสนอช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อธุรกิจขนาดย่อมให้แก่ผู้ประกอบการร้านค้าปลีกขนาดเล็กของครอบครัวในต่างจังหวัด โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน นอกจากนั้น ธนาคารกสิกรไทยยังตั้งเป้าจะปล่อยสินเชื่อรายย่อยแก่ลูกค้าของร้านค้าดังกล่าวอีกด้วย

LINE BK อีกหนึ่งช่องทางที่ธนาคารเตรียมขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มคนธรรมดา หรือแม้แต่ผู้ที่มีอาชีพอิสระให้เข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น

 

พิจารณาสินเชื่อง่ายขึ้นและรวดเร็วขึ้น เปิดบัญชีได้ไวกว่าเดิม

ทางธนาคารได้ริเริ่มทดลองนำระบบและขั้นตอนกระบวนการแบบใหม่ๆ มาใช้แล้วมากมายหลายอย่าง เพื่อให้การพิจารณาสินเชื่อง่ายขึ้นและรวดเร็วขึ้น โดยผู้ที่มีบัญชีกับธนาคารสามารถขอสินเชื่อโดยใช้เวลา 24-72 ชั่วโมง ในการรอพิจารณา และหากได้รับการอนุมัติ เงินกู้จะถูกโอนเข้าบัญชี ภายในไม่ถึง 30 นาที

ขณะที่การเปิดบัญชีสำหรับประชาชนทั่วไปสามารถเปิดบัญชีใหม่ผ่านช่องทางออนไลน์ ได้อย่างครบถ้วนทุกขั้นตอน โดยใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีสำหรับลูกค้าปัจจุบัน

ซื้อกิจการ ประสานความร่วมมือ รวมถึงลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ

นอกจากจะมีการรุกเข้าไปยังกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ แล้ว ธนาคารกสิกรไทยจะลงทุนประมาณ 22,000 ล้านบาท ในปี 2022 นี้และในช่วงอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งการลงทุนนั้นจะมีการลงทุนในระบบต่างๆ และเทคโนโลยีใหม่ๆ เพิ่มเติมจากที่ลงทุนไปแล้ว 12,700 ล้านบาทตลอด 2 ปีที่ผ่านมา

และภายในระยะ 1 ปีข้างหน้านี้ ทางธนาคารยังเตรียมเม็ดเงินอีก 30,000 ล้านบาท เพื่อซื้อกิจการ รวมถึงมีความร่วมมือในเชิงพาณิชย์กับกิจการที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี 2-5 ดีล

ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย ได้กล่าวว่า โครงการดังกล่าวต้องการที่จะลดกระบวนการที่ยุ่งยากซับซ้อน มอบการให้บริการที่รวดเร็วกว่า ใช้งานง่ายกว่า และสามารถเข้าถึงได้ทุกที่ตลอดเวลา และทำให้กลุ่มลูกค้าที่ไม่เคยเข้ามาใช้บริการ ซึ่งเป็นคนธรรมดา คนที่ประกอบอาชีพอิสระ รวมทั้งธุรกิจที่มีขนาดเล็กมากๆ สามารถที่จะก้าวเข้าสู่ระบบธนาคาร นอกจากนี้การที่ธนาคารปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ยังช่วยหลายคนให้หลุดพ้นจากวงจรหนี้นอกระบบที่คิดดอกเบี้ยแพงมหาศาล

]]>
1392206
กว่าครึ่งของ Gen Z มองวิธีชำระเงินแบบ BNPL ในแง่ลบ วินัยการเงินลดลงจากการยืมเงินอนาคต https://positioningmag.com/1377561 Tue, 15 Mar 2022 07:03:43 +0000 https://positioningmag.com/?p=1377561 การศึกษากระแส Buy Now Pay Later (BNPL) ในหมู่ผู้บริโภคอเมริกัน พบว่า 52% ของคน Gen Z มองวิธีชำระเงินแบบนี้ในแง่ลบ เพราะทำให้วินัยการเงินเสีย แต่ยังถือเป็นวัยที่เปิดรับมากที่สุดเทียบกับวัยอื่น ฟากเอเชีย กระแสการ “ซื้อก่อนผ่อนทีหลัง” ลุยตลาดได้ชัดเจนขึ้นเมื่อปี 2021 โดยมีคนรุ่นใหม่เป็นเป้าหมายหลัก และดูจะเปิดใจรับมากกว่า

ผลวิจัยจากบริษัท Student Beans บริษัทเทคด้านการตลาด ศึกษาการใช้วิธีชำระเงินแบบ Buy Now Pay Later (BNPL) ซึ่งกำลังเป็นกระแสฮิตในช่วงที่ผ่านมา พบว่าคน Gen Z ประมาณ 1 ใน 3 ชื่นชอบวิธีชำระเงินแบบนี้ แต่ก็มีมากกว่าครึ่งที่มองว่าเป็นวิธีชำระเงินที่ทำให้วินัยการเงินเสียไป

BNPL หมายถึงการจ่ายแบบ “ซื้อก่อนผ่อนทีหลัง” คล้ายกับการผ่อนผ่านบัตรเครดิต แต่ส่วนใหญ่แพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่ไม่ใช่ธนาคารและเข้ามาให้บริการ จะตัดวงรอบการผ่อนไม่เกิน 6 เดือน ดอกเบี้ย 0% และจับมือกับร้านค้าแบรนด์ระดับกลางๆ การชำระต่อบิลไม่สูงมาก ต่างจากการผ่อนกับบัตรเครดิตที่มักจะมีตัวเลือกให้ผ่อนเมื่อเป็นการซื้อของชิ้นใหญ่ราคาสูง แต่สิ่งที่เหมือนกันคือการมีค่าธรรมเนียมปรับหากชำระคืนไม่ตรงเวลา

แน่นอนว่าหลักการทางจิตวิทยาของบริการนี้จะคล้ายกับผ่อนผ่านบัตรเครดิตเช่นกัน เพราะทำให้การซื้อถูกแบ่งออกเป็นเงินก้อนเล็กๆ จากการซื้อน้ำหอมที่ต้องจ่ายครั้งเดียว 3,000 บาท กลายเป็นจ่ายเพียงเดือนละ 1,000 บาทติดต่อกัน 3 เดือน เป็นต้น

Contactless and cashless payment through qr code and mobile banking

การวิจัยครั้งนี้ศึกษาในวัยรุ่นอเมริกัน Gen Z ซึ่งพบว่า วัยรุ่น 34% มองว่า BNPL เป็นบริการที่ดีเยี่ยม แต่กลับกัน มีถึง 52% ที่ยังไม่แน่ใจ เพราะเห็นว่าเป็นการส่งเสริมให้วินัยการเงินเสียไป

“แม้ว่าบริการซื้อก่อนผ่อนทีหลังจะล่อตาล่อใจ คุณก็ต้องมั่นใจว่าคุณมีทุนพอที่จะจ่ายเงินคืนจากที่ยืมล่วงหน้ามา” Student Beans ให้คำแนะนำ “ควรจะวางแผนจ่ายล่วงหน้าด้วยการทำตารางงบประมาณการเงินส่วนตัว ใช้เครื่องมือคำนวณให้ชัดเจนว่าการเงินต่อเดือนของคุณเป็นอย่างไร และอะไรที่เหมาะสมกับงบที่ตนเองมี”

 

ยิ่งสูงวัยกว่า ยิ่งกังวลกับ BNPL

แม้ตัวเลข 52% ของ Gen Z ดูเหมือนว่ามาก แต่ก็ยังน้อยกว่ากลุ่มที่สูงวัยกว่า เช่น กลุ่มพ่อแม่ของ Gen Z (มักจะเป็นคนวัย Gen X) มีถึง 60% ที่มองว่าการซื้อก่อนผ่อนทีหลังเป็นความเสี่ยง และจะทำให้คนวัยหนุ่มสาวซื้อของมากกว่าที่ตัวเองจะจ่ายไหว ยิ่งขึ้นไปถึงระดับปู่ย่าตายาย (มักจะเป็นคนวัยเบบี้บูม) มีถึง 67% ที่มองว่าการผ่อนแบบนี้เป็นความเสี่ยงทางการเงิน

วัยรุ่น Gen Z อเมริกัน นิยมซื้อเสื้อผ้าเพื่อใส่ถ่ายคอนเทนต์ลง Instagram/TikTok

อย่างไรก็ตาม มีคนทุกวัยที่เข้ามาใช้บริการแต่นำไปซื้อสินค้าต่างกัน Gen Z นิยมใช้เพื่อซื้อเสื้อผ้า ขณะที่ Gen X และเบบี้บูมจะใช้ซื้อสินค้าไอทีซึ่งมีราคาสูง

“โดยเฉลี่ยแล้ววัยรุ่นอเมริกันจะใช้เงินเดือนละประมาณ 103.16 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3,400 บาท) ที่ดึงออกจากงบซื้ออาหาร มาซื้อเสื้อผ้าแทน จุดประสงค์เพื่อใส่ถ่ายรูปลง Instagram และ TikTok เท่านั้น” ผลการสำรวจระบุ

 

BNPL เริ่มบุกตลาดเอเชีย

สำหรับในเอเชีย เริ่มเห็นแอปฯ สำหรับชำระเงินแบบ BNPL บุกตลาดชัดเจนขึ้นเมื่อปี 2021 มีประเทศที่เป็นตลาดหลัก เช่น จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, สิงคโปร์, มาเลเซีย, ไทย, อินโดนีเซีย

โดยเฉพาะในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Buy Now Pay Later เห็นโอกาสการบุกตลาดสูงมาก เนื่องจากประชากรจำนวนมากเข้าไม่ถึงเครดิตธนาคาร ทำให้ไม่มีบัตรเครดิต ขณะที่แพลตฟอร์มเหล่านี้สมัครง่ายกว่าบัตรเครดิตธนาคารมาก

ปัจจุบันผู้เล่นหลักที่เห็นการบุกชัดเจน เช่น Razer, Grab, Shopee กลุ่มนี้เป็นการเพิ่มฟังก์ชันใหม่ภายในแอปฯ หลักของตนเอง และมีกลุ่มที่เป็นแอปฯ ซื้อก่อนผ่อนทีหลังโดยเฉพาะ เช่น Atome, Pine Labs, Pace, EmpatKali เป็นต้น

BNPLสิ่งที่เหมือนกับกับฝั่งตะวันตกคือผู้ใช้เป้าหมายส่วนใหญ่จะเป็นวัยรุ่นที่ถนัดการใช้เทคโนโลยี ข้อมูลจาก Pace ซึ่งให้บริการในสิงคโปร์, มาเลเซีย และฮ่องกง ระบุว่า ผู้ใช้แอปฯ ของบริษัท 72% เป็นคน Gen Y และ Gen Z

Pace ยังบอกด้วยว่า ถ้าเจาะลึกเฉพาะคน Gen Z มีถึง 55% ที่เป็น “แฟนตัวยง” ของการชำระเงินด้วย BNPL โดยคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้ไม่มีบัตรเครดิต และเชื่อว่าการใช้ BNPL คือการบริหารกระแสเงินสด รวมถึงมองบวกว่าบริการแบบนี้จะไม่ทำให้พวกเขาเป็นหนี้ เพราะเป็นการจ่ายเงินก้อนเล็กๆ เท่านั้น เห็นได้ว่าโอกาสฝั่งเอเชียดูจะมากกว่าฝั่งสหรัฐฯ เพราะมุมมองผู้ใช้เปิดกว้างกว่า

สอดคล้องกับข้อมูลจาก Atome ที่บุกตลาดไทยเมื่อเดือนกันยายนปีก่อน พบว่ามีคนไทยเพียง 7-8 ล้านคนที่ถือบัตรเครดิต และเป้าหมายหลักคือกลุ่มคนวัย 18-30 ปี เป็นคนทำงานอิสระจำนวนมาก ทำให้เข้าไม่ถึงบัตรเครดิตอยู่แล้ว จึงมีโอกาสสูงที่จะเจาะตลาด

ต้องติดตามต่อว่าการทำตลาดในเอเชียจะเติบโตได้มากแค่ไหนจากนี้ และจะมีผู้เล่นรายใหม่ๆ เข้าไทยอีกหรือไม่

Source: foxbusiness, 2c2p, CNAluxury

]]>
1377561
สวยผ่อนได้! Konvy x Atome เปิดบริการ buy now pay later สวยก่อน จ่ายทีหลัง https://positioningmag.com/1353711 Tue, 28 Sep 2021 07:29:05 +0000 https://positioningmag.com/?p=1353711 Konvy ค้าปลีกออนไลน์ด้านผลิตภัณฑ์ความงามในประเทศไทย จับมือกับ Atome ให้บริการระบบชำระเงินแบบ buy now pay later ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง รองรับการใช้งานทั้งบนเว็บไซต์ และแอปพลิเคชันบนมือถือ ผ่อนได้แบบไม่มีดอกเบี้ย

ผ่อนได้ ไม่มีดอกเบี้ย

Konvy เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์สำหรบสินค้าความต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสกินแคร์ เครื่องสำอาง เปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อปี 2012 ปัจจุบันมีทั้งรูปแบบเว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน มีสินค้ากว่า 1,000 แบรนด์

บริการ buy now pay later นี้ นักช้อปสามารถแบ่งชำระยอดซื้อสินค้าออกเป็น 3 ครั้ง ครั้งละเท่าๆ กัน โดยไม่มีดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียม ผ่านช่องทางชำระสินค้าของ Konvy สามารถเริ่มต้นใช้งานครั้งแรก เพียงดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Atome และลงทะเบียนสมัครสมาชิก จากนั้นสามารถเลือกชำระกับ Atome ที่หน้าตัวเลือกการชำระเงิน

คิงก้วย หวง ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คอนวี่ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าวว่า

“ความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยให้ลูกค้าสามารถซื้อและเข้าถึงสินค้าเพื่อความสวยความงามและเครื่องสำอางจากแบรนด์ชั้นนำกว่า 1,000 แบรนด์ที่ขายบนเว็บไซต์ Konvy ได้สะดวกมากขึ้น นับเป็นการเพิ่มทางเลือกการชำระเงินที่หลากหลาย และมีความยืดหยุ่นให้แก่ลูกค้าของเรา พร้อมยกระดับประสบการณ์การช้อปปิ้งและชำระเงินขึ้นไปอีกขั้น และเราหวังว่าจะได้ผสานความร่วมมือกับ Atome ให้แข็งแกร่งขึ้นอีกในอนาคต”

ทางด้าน ภูมิพงษ์ หรือ คุณแน่น ผู้จัดการทั่วไป Atome ประจำประเทศไทย กล่าวว่า

“หลังจาก Atome ได้เปิดตัวในประเทศไทยเมื่อเดือนที่ผ่านมา เรารู้สึกตื่นเต้นที่จะประกาศความร่วมมือกับแบรนด์ Konvy ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้เป็นอีกข้อพิสูจน์ถึงความน่าดึงดูดของตัวเลือกการชำระเงินของ Atome ที่ช่วยให้แบรนด์พาร์ตเนอร์ของเราอย่าง Konvy สามารถเพิ่มยอดขาย ยอดซื้อต่อครั้ง รวมถึงดึงดูดลูกค้าใหม่ๆ ได้ เราพร้อมให้การสนับสนุนพาร์ตเนอร์ของเราในการปรับตัวและเปลี่ยนโฉมธุรกิจให้พร้อมรับพฤติกรรมการช้อปปิ้งและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 และโดยเฉพาะในปัจจุบันที่ธุรกิจในอุตสาหกรรมค้าปลีกกำลังเผชิญกับความท้าทายและกำลังก้าวเข้าสู่ช่วงสิ้นปีที่เป็นเทศกาลช้อปปิ้งประจำปี”

Atome (อาโตมี่) แบรนด์ผู้นำด้านบริการซื้อก่อน จ่ายทีหลัง (buy now pay later) ในเอเชีย ได้ร่วมมือกับธุรกิจค้าปลีกทั้งออนไลน์และออฟไลน์กว่า 5,000 ร้านค้า ใน 9 ประเทศ โดยแบรนด์พาร์ตเนอร์สำคัญ อาทิ Sephora, Agoda, ZALORA, SHEIN, ZARA, Marks & Spencer, Charles & Keith, Aldo, และ Pandora โดย Atome ได้เข้ามาดำเนินธุรกิจในตลาดประเทศไทยครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่าน ภายใต้การดูแลของบริษัทแม่อย่าง Advance Intelligence Group (แอดวานซ์ อินเทลลิเจนซ์ กรุ๊ป) ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้สามารถระดมเงินทุนรอบ Series D ได้มากกว่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ปัจจุบันกิจการมีมูลค่าประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขึ้นแท่นหนึ่งในสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอิสระที่ใหญ่ที่สุดในสิงคโปร์

]]>
1353711