กรุงศรีเปิดแผนธุรกิจปี 66 มองตลาดอาเซียนเป็นรายได้ใหม่ ศึกษาธุรกิจ Virtual Bank จริงจัง

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ประกาศแผนธุรกิจประจำปี 2566 โดยเน้นให้ความสำคัญในการกระจายรายได้ของธนาคารออกไปยังธุรกิจที่ลงทุนไว้ทั่วอาเซียน โดยให้เหตุผลเนื่องจากอาเซียนเองมีศักยภาพทางเศรษฐกิจ รวมถึงประชากรที่สูง ขณะเดียวกันประเด็นของ Virtual Bank นั้นธนาคารได้กล่าวว่ากำลังศึกษาธุรกิจนี้อย่างจริงจัง

เซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จํากัด (มหาชน) ได้กล่าวถึงแผนธุรกิจระยะกลางของธนาคารนั้นจะสิ้นสุดในปี 2566 นี้ แม้ว่าตัวของธนาคารเองได้ผ่านเรื่องราวต่างๆ มาอย่างมากมายเช่น การแพร่ระบาดของโควิดที่ส่งผลกระทบต่อ Supply Chain ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ไปจนถึง Digital Transformation

ความสำเร็จของธนาคารในปีที่ผ่านมา เช่น การเปิดตัวสินเชื่อดิจิทัล U Choose การขยายกิจการไปในอาเซียนอย่างต่อเนื่องผ่านความร่วมมือทางธุรกิจกับ SB Finance ประเทศฟิลิปปินส์ และ SHB Finance ในประเทศเวียดนาม การซื้อกิจการ Home Credit ที่ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย เป็นต้น

ในปี 2565 ที่ผ่านมารายได้จากธุรกิจในอาเซียนของธนาคารนั้นมีสัดส่วนอยู่ที่ 6% จากรายได้รวมของธนาคาร

ความร่วมมือของธนาคารกับพาร์ตเนอร์อื่นๆ เช่น การจับมือกับ Grab ในเรื่องสินเชื่อและผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ การจับมือกับ ShopeeFood ในการเช่ารถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า การลงทุนใน ADDX แพลตฟอร์มที่ทำให้นักลงทุนสามารถลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดหลักทรัพย์ได้ง่ายขึ้น

ขณะที่เรื่องของ ESG นั้นธนาคารได้ร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ในเรื่องของ ESG ตั้งแต่การลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในธนาคาร หรือร่วมมือกับลูก้าในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์

สำหรับแผนธุรกิจในปี 2566 ที่ธนาคารวางไว้ 3 ด้านหลักๆ ได้แก่

1. รุกตลาดอาเซียน

ธนาคารจะเริ่มกระจายรายได้ไปยังอาเซียนมากขึ้น โดยดูจากประเทศที่มีฐานประชากรที่ใหญ่ และ GDP เติบโตสูง จึงทำให้ตัวธนาคารเข้าไปทำธุรกิจในฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม นอกจากนี้ธนาคารยังเชื่อมโยงลูกค้าที่เข้าไปลงทุนในอาเซียนไม่ว่าจะเป็นในด้านธุรกิจ โดยมี Advisory Services สามารถให้บริการที่ปรึกษาเกี่ยวกับธุรกิจได้ เรื่องของการโอนเงินต่างประเทศ รวมถึงการลงทุนในตลาดหุ้นของประเทศต่างๆ ในอาเซียนผ่าน Krungsri iGlobal

ธนาคารมองว่ารายได้จากธุรกิจในอาเซียนเพิ่มเป็นสัดส่วน 10% ของรายได้รวมนั้นคาดว่าจะเป็นไปได้ โดยสิ่งที่แตกต่างเมื่อเทียบกับสถาบันการเงินอื่นๆ คือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้ออกไปทำธุรกิจจริงๆ ซึ่งเริ่มจาก Consumer Finance โดยใช้จุดแข็งคือมีธนาคารที่ MUFG ถือหุ้นอยู่ในประเทศต่างๆ

2. เน้นธุรกรรมด้าน ESG เพิ่มขึ้น

ในปีนี้ธนาคารจะสนับสนุนให้ลูกค้าสามารถเปลี่ยนผ่านและดำเนินงานตามแนวทาง ESG ผ่านหลายโครงการสำหรับลูกค้าธุรกิจและรายย่อย ในส่วนของภาคธุรกิจ ยังรวมถึงการให้เงินสนับสนุนกับโครงการที่เกี่ยวข้องกับการประหยัดพลังงาน เช่น หลังคาพลังงานแสงอาทิตย์  จุดชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) และพลังงานทดแทน 

นอกจากนี้ธนาคารตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อหรือธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับ ESG ราวๆ 50,000-100,000 ล้านบาทให้ได้ภายในปี 2030 หรือเร็วกว่านั้น

3. Digital & Innovation

ธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้กล่าวถึงเรื่องของระบบดิจิทัลและนวัตกรรมก็เป็นส่วนหนึ่งของแผนธุรกิจด้วยเช่นกัน ในปีนี้นั้นจะมีการพัฒนาระบบหลายๆ อย่าง เช่นระบบ API ที่ทำให้พันธมิตรของธนาคารสามารถนำไปใช้งานได้ ภายใต้เรื่องของ Banking As A Service ซึ่งมีบริการหลากหลายชนิด เช่น การเปิดบัญชี การคิดอัตราดอกเบี้ย ไปจนถึง ระบบ KYC 

ขณะเดียวกันธนาคารยังได้กล่าวว่ายังมีการขยาย QR Cross Border Payment ทำให้คนไทยสามารถจ่ายเงินในประเทศญี่ปุ่นผ่าน QR ในสถานที่สำคัญๆ เช่น สถานี JR บางสถานีในโตเกียว และจะขยายไปเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังรวมถึงความร่วมมือสกุลเงินดิจิทัลที่เป็นโครงการของธนาคารแห่งประเทศไทย (CBDC) ที่กำลังพัฒนาและทดลองระบบอยู่ในตอนนี้

ไม่เพียงเท่านี้ธนาคารยังลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเช่น การอัปเกรดระบบ Mobile Banking การพัฒนาระบบ Core Banking ให้ทันสมัยมากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการในอนาคต และยังมองถึงเรื่องของการดึงดูดให้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานในองค์กรมากขึ้น 

ธนาคารกรุงศรีอยุธยายังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกยังคงมีความท้าทาย แต่มุมมองเศรษฐกิจในอาเซียนที่ได้ประโยชน์จากการบริโภค ขณะที่เศรษฐกิจไทยมองว่า GDP โต 3.6% 

โดยธนาคารตั้งเป้าหมายทางการเงินในปีนี้คือเงินให้สินเชื่อจะเติบโตที่ 3-5% และตั้งเป้าหมายของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ที่ 3.5% ซึ่งคาดว่ารายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย (Non-Interest Income) จะยังอยู่ในระดับเดียวกับปีที่ผ่านมา และอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) อยู่ที่ราว 2.5-2.6%

ทางด้านประเด็นของ Virtual Bank นั้นธนาคารได้กล่าวว่ากำลังศึกษาธุรกิจนี้อย่างจริงจัง

ความท้าทายปีนี้ที่เซอิจิโระมองคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่กำลังกลับมา อย่างไรก็ดีในแต่ละภาคธุรกิจกลับเติบโตไม่เท่ากัน และธนาคารพร้อมที่จะช่วยเหลือกับลูกค้าที่เปราะบางเหล่านี้ ขณะเดียวกันในด้านบวกนั้นมองเห็นโอกาสในไทยและอาเซียนนั้นทำให้กรุงศรีขยายธุรกิจเข้าไปเพิ่มเติมได้