Canva – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 22 Jan 2024 07:58:56 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 Canva แพลตฟอร์มกราฟิกดีไซน์ คู่แข่งสำคัญของ Adobe ล่าสุดมีมูลค่ากิจการเกิน 9 แสนล้านบาทแล้ว หลังระดมทุนรอบล่าสุด https://positioningmag.com/1459656 Mon, 22 Jan 2024 06:01:35 +0000 https://positioningmag.com/?p=1459656 Canva แพลตฟอร์มกราฟิกดีไซน์จากประเทศออสเตรเลีย คู่แข่งสำคัญของ Adobe ล่าสุดมีมูลค่ากิจการเกือบ 9.3 แสนล้านบาทแล้ว หลังจากบริษัทได้ประกาศระดมทุนรอบล่าสุดมากถึง 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐจากกลุ่มอดีตพนักงานและผู้ลงทุนรายเดิม

สำนักข่าว Bloomberg รายงานข่าวโดยอ้างอิงแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องว่า Canva แพลตฟอร์มด้านกราฟิกดีไซน์ ซึ่งเป็นคู่แข่งอีกรายของ Adobe นั้น ล่าสุดมีมูลค่ากิจการอยู่ที่ 26,000 ล้านเหรียญสหรัฐแล้ว หรือคิดเป็นเงินไทยราวๆ 930,000 ล้านบาท หลังจากมีการระดมทุนรอบล่าสุด

การระดมทุนรอบล่าสุดของ Canva คาดว่าบริษัทจะได้เม็ดเงินไปมากถึง 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทย 53,370 ล้านบาท โดยบริษัทได้ขายหุ้นให้กับอดีตพนักงานและกลุ่มนักลงทุนหน้าเดิม และดีลดังกล่าวยังตามหลังมาจาก Adobe ได้ประกาศยกเลิกดีลการซื้อกิจการของ Figma โดยให้เหตุผลถึงหน่วยงานกำกับดูแลที่อาจไม่ให้ดีลดังกล่าวผ่าน เนื่องจากส่งผลต่อการแข่งขันด้านแพลตฟอร์มออกแบบดีไซน์

นอกจากนี้แหล่งข่าวรายดังกล่าวยังรายงานว่ารายได้ของ Canva ในปี 2023 ยังทำได้มากถึง 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ในช่วงกลางปี 2023 ที่ผ่านมา Canva ได้เปิดสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคยุโรป โดยบริษัทตั้งเป้าที่จะแข่งขันกับบริษัทเทคโนโลยี เช่น Adobe หรือแม้แต่ Microsoft และการตั้งสำนักงานดังกล่าวนั้นเพื่อดึงดูดลูกค้าองค์กรและลูกค้าแบบบุคคลทั่วไปหันมาใช้โปรแกรมดีไซน์ของบริษัทได้มากขึ้น

Canva ถือเป็นแพลตฟอร์มกราฟิกดีไซน์ ที่เหมาะกับการออกแบบงานง่ายๆ ไม่เน้นความยุ่งยาก บริษัทมีลูกค้าระดับองค์กรทั้ง Unilever ยักษ์ใหญ่ค้าปลีก Zoom Starbucks Rolls Royce หรือแม้แต่ WPP บริษัทโฆษณารายใหญ่ระดับโลกที่ใช้งานแพลตฟอร์มของบริษัท

Melanie Perkins นั้นดำรงประธานเจ้าหน้าที่บริหารหรือ CEO ของ Canva และยังถูกจัดอันดับเป็นมหาเศรษฐีนีเบอร์ 2 ของออสเตรเลียในปี 2022 ซึ่งเธอเองยังได้บริจาคทรัพย์สินส่วนใหญ่ให้กับองค์กรการกุศลด้วย

ปัจจุบัน Canva มีผู้ใช้งานมากถึง 170 ล้านคนต่อเดือนจาก 190 ประเทศทั่วโลก ซึ่งเติบโตจากปี 2022 ทีผ่านมาซึ่งมีผู้ใช้งาน 135 ล้านคน แสดงให้เห็นถึงการเติบโตของบริษัทที่มีอย่างต่อเนื่อง

]]>
1459656
“Canva” บริษัทซอฟต์แวร์กราฟิกดีไซน์พลัง AI จากออสเตรเลีย บุกตลาดยุโรปแล้ว https://positioningmag.com/1433510 Thu, 08 Jun 2023 09:32:38 +0000 https://positioningmag.com/?p=1433510 บริษัทซอฟต์แวร์กราฟิกดีไซน์จากแดนจิงโจ้ “Canva” บุกตลาดยุโรปอย่างเป็นทางการ ตั้งสำนักงานใหญ่ภูมิภาคในลอนดอน โดยการขยายตัวครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์อุตสาหกรรมเทคที่กำลังผันผวน แต่ซีอีโอหญิง “Melanie Perkins” เชื่อว่าบริษัทจะสามารถต้านทานปัจจัยลบต่างๆ ได้

Canvaปิดสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคยุโรปที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ไปเมื่อเดือนที่แล้ว โดยมุ่งมั่นที่จะแข่งขันกับบริษัทเทครายใหญ่ เช่น Adobe, Microsoft และดึงดูดให้ทั้งองค์กรและบุคคลทั่วไปหันมาใช้โปรแกรมดีไซน์ของบริษัทได้มากขึ้น

แม้ว่าตลาดดูจะไม่สู้เป็นใจนักต่อวงการเทค ท่ามกลางกระแสการเลย์ออฟทั่วโลก และเศรษฐกิจที่คาดว่าจะชะลอตัวลง แต่ Melanie Perkins ซีอีโอของ Canva เชื่อว่าบริษัทอายุ 9 ปีแห่งนี้จะรับแรงกดดันได้

“จากการที่เรามีกำไรมาตลอด 6 ปี มีกระแสเงินสดที่แข็งแรง สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก” Perkins กล่าวกับสำนักข่าว CNBC

Canva นั้นเป็นซอฟต์แวร์เครื่องมือที่ใช้สำหรับงานดีไซน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบเว็บไซต์ พรีเซนเทชั่น ไปจนถึงคอนเทนต์สำหรับลงโซเชียลมีเดีย โดยมีทั้งเครื่องมือที่ให้ใช้ฟรีและที่ต้องชำระเงิน

บริษัทระบุว่า ตั้งแต่ต้นปีจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2023 บริษัททำรายได้ไปแล้ว 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ และยังมีกระแสเงินสดอยู่ 700 ล้านเหรียญสหรัฐ

Melanie Perkins
Melanie Perkins ซีอีโอ Canva (Photo By Eóin Noonan/Sportsfile for Web Summit via Getty Images)

ในจำนวนสมาชิกทั่วโลก 135 ล้านคน มีสมาชิก 16% ที่ใช้งานอยู่ในยุโรป และจากสมาชิกทั่วโลก มีอยู่ประมาณ 15% ที่ใช้งานในระบบชำระเงิน แบ่งได้เป็นผู้ใช้งานแบบบุคคลทั่วไป 14 ล้านคน ส่วนอีก 6 ล้านคนเป็นผู้ใช้ในระดับองค์กร ลูกค้าของ Canva ที่เป็นองค์กรนั้นมีทั้ง Unilever, Rolls Royce และ WPP (บริษัทโฆษณาที่ใหญ่ที่สุดในโลก)

“เรากำหนดราคาสินค้าของเราให้เข้าถึงได้ง่ายมากๆ ดังนั้น ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาค คนก็จะหันมาใช้ Canva มากกว่าที่จะหันหนี” Perkins กล่าว “เราได้เห็นสถานการณ์นั้นเกิดขึ้นแล้วในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาซึ่งเศรษฐกิจผันผวนเริ่มเป็นปัจจัยสำคัญ”

 

ใช้ “เวทมนตร์” แห่ง AI ต่อสู้ในธุรกิจ

บริษัท Canva ใช้ AI ในการพัฒนาบริการมาตลอด โดยการอัปเดตฟีเจอร์รอบล่าสุดของแพลตฟอร์มนี้ ทำให้บริษัทมีลูกค้าใหม่เข้ามาถึง 10 ล้านรายภายในเวลาเดือนเดียว ปัจจุบัน AI กลายเป็นคำที่วงการเทคใช้กันทั่วไป แต่ Canva ที่ใช้ AI เป็นเบื้องหลังมาตลอด ได้เรียกสิ่งนี้ว่า “เวทมนตร์” (magic) เช่น ฟีเจอร์คำสั่งเปลี่ยนสิ่งของในรูปจากสิ่งหนึ่งไปเป็นอีกสิ่งหนึ่งอัตโนมัติ ถูกเรียกว่า ‘Magic Edit’ จนคำนี้กลายเป็นแบรนดิ้งของบริษัท

Canva
เครื่องมือ Magic Edit สามารถสั่งเปลี่ยนสิ่งของในรูปจากสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง

นอกจากนี้ Canva ยังเป็นพันธมิตรกับ OpenAI แล้ว เพื่อร่วมมือกันพัฒนาเครื่องมือ Magic Write เป็นเครื่องมือสำหรับเขียนข้อความในพรีเซนเทชั่นหรือโพสต์ให้โดยอัตโนมัติ เพียงแค่ป้อนคำสั่งเข้าไปไม่กี่คำ

ท่ามกลางความกังวลของสังคมต่อการใช้ AI คิดข้อความหรือข้อมูลออกมาเอง Perkins เองก็ใส่ใจในเรื่องนี้เช่นกัน โดยเธอระบุว่า Magic Write จะไม่สามารถทำงานได้ในบางหมวดข้อมูล เช่น การแพทย์ การเมือง เพราะทางบริษัทมองว่าหมวดเหล่านี้ยังเสี่ยงอันตรายในการใช้ AI

 

อุตสาหกรรม “สร้างสรรค์” กำลังตกอยู่ในความเสี่ยง?

เมื่อ AI มาถึง ทำให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์กำลังกังวลถึงโลกดิสรัปชัน เพราะบางแพลตฟอร์มเริ่มทำให้การรังสรรค์ภาพหรือคอนเทนต์ใดๆ ออกมาทำได้ง่ายขึ้น

Perkins มองประเด็นนี้ว่า เครื่องมือใหม่เหล่านี้มีความตั้งใจที่จะทำให้กระบวนการดีไซน์ทำได้ง่ายขึ้น ราบรื่นขึ้นมากกว่า

“ทุกอุตสาหกรรมต้องผ่านการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง แน่นอนว่าอุตสาหกรรมของเราก็ไม่แตกต่างกัน” เธอกล่าว “เมื่อเทคโนโลยีใหม่มาถึง อุตสาหกรรมทั้งหมดต้องปรับตัวและทุกคนต้องเรียนรู้ทักษะใหม่ ฉันคิดว่านั่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่ามาตลอด”

“เมื่อครั้งที่เราเปิดตัว Canva คนพูดกันว่า ‘โห นี่จะทำให้งานกราฟิกดีไซน์ถึงจุดจบเลยนะ’ และสุดท้ายมันก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้น ฉันคิดว่าเราได้เห็นความต้องการงานกราฟิกดีไซน์และการสื่อสารด้วยภาพภายในองค์กรต่างๆ มากขึ้นกว่าเดิมเสียอีก” Perkins กล่าว

Canva กำลังจะครบรอบ 10 ปีในเดือนสิงหาคมนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายไว้ว่า หลังจากนั้นบริษัทจะต้องไปให้ถึงเป้ามีผู้ใช้งาน 1,000 ล้านคนทั่วโลก และจะเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกให้ได้

Source

]]>
1433510
Melanie Perkins CEO แห่ง Canva ผู้บริจาคทรัพย์สินให้สังคมแบบไม่เสียดาย… https://positioningmag.com/1377444 Mon, 14 Mar 2022 13:41:55 +0000 https://positioningmag.com/?p=1377444 ถือเป็นก้าวใหญ่ที่ยิ่งส่งให้ชื่อ Canva เป็นที่สนใจมากขึ้นอีก เมื่อ Melanie Perkins ประธานเจ้าหน้าที่บริหารหรือ CEO แห่ง Canva ผู้ถูกจัดอันดับเป็นมหาเศรษฐีนีเบอร์ 2 ของออสเตรเลีย ได้แสดงจุดยืนลุกขึ้นมาวางแผนบริจาคหุ้นส่วนใหญ่ใน Canva ของตัวเองให้กับสังคม โดยจะโอนหุ้น 97% จากทั้งหมดที่ถืออยู่ใน Canva เข้ามูลนิธิเพื่อส่งต่อเงินสนับสนุนให้องค์กรด้านมนุษยธรรมแบบไม่เสียดาย

ความเคลื่อนไหวนี้สะท้อนวิธีคิดในการบริหารที่ไม่ธรรมดา ซึ่งเสริมความเข้มข้นให้กับดีกรีของ Canva ที่ได้ชื่อว่าเป็นดาวเด่นในวงการซอฟต์แวร์เพื่อการออกแบบ โดยสาว Perkins สามารถดันธุรกิจให้เติบใหญ่จน Canva มีมูลค่าตลาดทะลุ 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในเพียงเวลา 9 ปี จากเงินทุนรอบแรก 3 ล้านดอลลาร์เท่านั้น ผลจากความพยายามเป็นเครื่องมือใช้งานง่ายที่ช่วยเปลี่ยนให้ชาวเน็ตทั่วโลกสวมบทบาทกราฟิกดีไซเนอร์ได้ตามใจชอบ รวมถึงช่วยให้ธุรกิจสามารถเนรมิตงานดีไซน์หลายประเภทได้โดยไม่ต้องเทเงินตามจ้างทีมออกแบบราคาแพง

ในส่วนของ Perkins มูลค่าทรัพย์สินของ CEO หญิงแกร่ง Canva คาดว่าจะสูงเกิน 6.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการถือหุ้นประมาณ 18% ในบริษัท Canva ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในบริษัทสตาร์ทอัพที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก แต่เธอย้ำว่าเงินพันล้านเหรียญนั้นไม่ใช่เรื่องสนุก แถมเป็นสิ่งที่ไร้สาระด้วย

เงินพันล้านสู่แรงบันดาลใจ

Canva นั้นก่อตั้งโดย Melanie Perkins และ Cliff Obrecht ซึ่งกลายมาเป็นคู่สามีภรรยาในปัจจุบัน แม้ความสำเร็จของ Canva จะสร้างแรงบันดาลใจสำคัญให้วงการธุรกิจทั่วโลก แต่ก้าวต่อไปที่ผู้ก่อตั้ง Canva มุ่งมั่นที่จะไปต่อนั้นอาจจะสร้างอิมแพคที่ยิ่งใหญ่มากกว่าเดิม นั่นคือการบริจาคหุ้นส่วนใหญ่ใน Canva ให้กับองค์กรด้านมนุษยธรรม ผ่านมูลนิธิ Canva

Perkins วัย 35 ปี และ Obrecht วัย 36 ปี ขานรับเป็นผู้ลงนามรายใหม่ใน Giving Pledge ซึ่งเป็นองค์กรที่รณรงค์ให้มหาเศรษฐีระดับโลก เซ็นชื่อให้คำมั่นว่าจะบริจาคทรัพย์สินครึ่งหนึ่งสู่การกุศล ทั้ง 2 คนตอบรับให้คำมั่นสัญญาผ่านการลงนามในปี 2021 พร้อมกับเขียนในจดหมายของมูลนิธิถึง “แผน 2 ขั้นตอน” ที่เตรียมไว้สำหรับ Canva ในระยะยาว หลังจากแสดงความเชื่อมั่นในเชิงบวกว่า สิ่งที่จะแก้ปัญหาส่วนใหญ่ของโลกได้เมื่อมีมากพอ คือเงิน ความปรารถนาดี และเจตนาที่ดีต่อโลก

Melanie Perkins
(Photo By Eóin Noonan/Sportsfile for Web Summit via Getty Images)

แผนขั้นแรกที่ 2 ผู้ก่อตั้งวางไว้คือการสร้าง Canva ให้เป็น “บริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก” และขั้นตอนที่สองคือ “ทำสิ่งที่ดีที่สุดที่เราสามารถทำได้” โดยทั้ง 2 ย้ำถึงความรู้สึกว่าการเซ็นสัญญานี้ไม่ใช่แค่โอกาสที่ยิ่งใหญ่ แต่เป็นความรับผิดชอบที่สำคัญ และทั้งคู่ต้องการใช้เวลาทั้งชีวิตเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายนี้

Perkins เป็นหนึ่งในเศรษฐีทั่วโลก 231 รายผู้มีอายุตั้งแต่ 34-98 ปี ที่เซ็นสัญญาใจให้คำมั่นว่าจะแบ่งทรัพย์สินล้นฟ้ามาช่วยสังคมกับ Giving Pledge โปรเจกต์นี้ถูกริเริ่มขึ้นโดย Warren Buffett, Melinda Gates และ Bill Gates ในปี 2010 เพื่อสนับสนุนให้คนที่ร่ำรวยที่สุดในโลกมุ่งมั่นที่จะมอบความมั่งคั่งส่วนใหญ่ให้กับการกุศล ทั้งในช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่หรือเมื่อใดก็ได้ ตามความประสงค์ ในเว็บไซต์มีการแสดงชื่อผู้ลงนามอื่นได้แก่ Michael Bloomberg, Mark Zuckerberg, Elon Musk และ Mackenzie Bezos ซึ่งหลายคนมีเส้นทางชีวิตที่คล้ายกับ Perkins ผู้มีเชื้อสายฟิลิปปินส์ที่ไปเติบโตในออสเตรเลียคนนี้

สูตรคือไม่หยุดนิ่ง

ก่อนจะร่ำรวยพันล้าน เด็กหญิง Perkins เกิดที่เมืองเพิร์ท รัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย ชีวิตพลิกผันจากความฝันที่จะเป็นนักสเก็ตลีลาด้วยการตื่นนอน 4:30 น. เพื่อฝึกฝนทุกวันในช่วงอายุ 14 ปี มาเป็นแม่ค้าขายผ้าพันคอทำมือในตลาดและส่งให้กับร้านบูติกแฟชั่นสตรีรอบบ้านเกิด จนกระทั่งลงทะเบียนเรียนที่มหาวิทยาลัยเวสเทิร์นออสเตรเลีย ในสาขาการสื่อสาร จิตวิทยา และพาณิชยศาสตร์ ที่นี่เธอได้พบกับ Obrecht สามีผู้เคยร่วมกันทำเงินจากธุรกิจขาย “รอยสักแบบสเปรย์” ด้วย แต่จุดพลิกผันคืออาชีพครูสอนพิเศษส่วนตัวที่ Perkins สอนให้กับนักเรียนที่อยากเรียนการออกแบบกราฟิกด้วยโปรแกรม Photoshop ทำให้ Perkins ตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัยเมื่ออายุ 19 ปีและก่อตั้งบริษัท Fusion Books ครั้งแรกกับ Obrecht

Fusion Books เป็นจุดเริ่มต้นก่อนจะเกิดเป็น Canva ในช่วงแรก Fusion Books เป็นเว็บไซต์ที่ช่วยให้นักเรียนปรับแต่งหนังสือรุ่นทางออนไลน์ได้ เวลาผ่านไป Fusion Books กลายเป็นผู้จัดพิมพ์หนังสือรุ่นรายใหญ่ที่สุดของออสเตรเลียภายใน 5 ปี และขยายไปยังฝรั่งเศสและนิวซีแลนด์ แพลตฟอร์มนี้อนุญาตให้นักเรียนออกแบบหนังสือรุ่นของโรงเรียนตัวเอง ในอีกไม่กี่ปีต่อมา Perkins ได้พบกับ Bill Tai นักลงทุนใน Silicon Valley ทำให้ Fusion Books ถูกปลดขีดจำกัดแค่หนังสือรุ่นของนักเรียน และขยายไปสู่การออกแบบที่หลากหลายทั้งงานนำเสนอ วิดีโอ โบรชัวร์ และอีกมากมาย

Photo : Shutterstock

ในปี 2012 น้องใหม่อย่าง Canva จึงเริ่มต้นเติบโตอย่างจริงจังด้วยความช่วยเหลือจากที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีหลายคน หนึ่งในนั้นมี Lars Rasmussen ผู้ร่วมก่อตั้ง Google Maps โดย Perkins และ Obrecht ยังพบผู้ร่วมก่อตั้งด้านเทคนิคอย่าง Cameron Adams และนักพัฒนาเทคโนโลยีอย่าง Dave Hearnden ด้วย จนในที่สุด Canva มีผู้ใช้มากกว่า 10 ล้านคนในปี 2015

สำหรับช่วงล็อกดาวน์ การทำงานจากที่บ้านที่แพร่หลายทั่วโลกในช่วงการระบาดของ COVID-19 ทำให้มีรายงานว่าการใช้งาน Canva เพิ่มขึ้นก้าวกระโดดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยในช่วงเริ่มต้นของการระบาดใหญ่ Canva สำนักข่าวเทคครันช์รายงานว่าบริการออกแบบที่เปิดให้ผู้ใช้หลายคนร่วมกันพัฒนาของ Canva นั้นมียอดการใช้งานเพิ่มขึ้น 50% และงานออกแบบใหม่ถูกสร้างบน Canva เพิ่มขึ้นอีก 25%

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่าปัจจุบัน Canva มีผู้ใช้ประมาณ 60 ล้านคนต่อเดือน กลายเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มการออกแบบที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก ด้วยสถิติการสร้างงานออกแบบโดยเฉลี่ย 150 ชิ้นงานต่อวินาที คาดว่า Canva จะมีรายรับเกิน 1 พันล้านดอลลาร์ในปี 2022

เมื่อคำนวณว่า Perkins จะจูงมือ Obrecht ซึ่งเป็นเจ้าของหุ้น Canva รวมกันในสัดส่วน 31% (มูลค่าปัจจุบันประมาณ 12,400 ล้านดอลลาร์) ร่วมบริจาคหุ้น 97% ของหุ้นที่ถืออยู่ทั้งหมด ย่อมแปลว่าทั้งคู่จะเทเงิน 12,000 ล้านดอลลาร์ให้กับมูลนิธิ Canva ซึ่งทั้ง 2 ร่วมกันสร้างขึ้นเมื่อต้นปีด้วยภารกิจในการแก้ปัญหาด้านความยากจน ตรงนี้แม้จะมีคำถามว่าการใส่เงินจำนวนมหาศาลเข้ามูลนิธินั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถตัดสินได้ว่าใครใจบุญ เพราะจะต้องพิจารณาถึงวิธีการบริจาคเงินออกไปเพื่อการกุศลเป็นประจำ แต่คำให้สัมภาษณ์ของ Perkins ก็เรียกความเชื่อมั่นได้มากมาย

Perkins ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเดอะฟาสต์คัมพานีว่า “เงินหลายพันล้านเหรียญนั้นไม่สนุก และเป็นสิ่งที่ไร้สาระ ก่อนจะตั้งคำถามย้อนกลับอย่างตรงไปตรงมาว่า “ใครต้องการใช้เงินหลายพันล้านเหรียญกัน” สำหรับ Perkins แล้ว เธอย้ำถึงความมุ่งมั่นที่จะใช้เงินมหาศาลเพื่อออกแบบโลกที่ดีกว่า เพราะการสร้างความมั่งคั่งนั้นเป็น “สิ่งที่ไม่น่าสนใจที่สุด” เท่าที่เธอจะจินตนาการได้

ที่มา : Fastcompany, Startupdaily, ibtime, Techcrunch, Bloomberg, Yahoo, 3ba

]]>
1377444
รู้จัก “เมลานี เพอร์กินส์” เศรษฐีพันล้านเจ้าของ Canva แต่มีแหวนหมั้นแค่ 30 ดอลลาร์ฯ https://positioningmag.com/1291010 Tue, 04 Aug 2020 15:05:03 +0000 https://positioningmag.com/?p=1291010 นับเป็นมหาเศรษฐีอายุน้อยที่สุดในออสเตรเลีย สำหรับเมลานี เพอร์กินส์” สาวลูกครึ่งฟิลิปปินส์ออสเตรเลีย เจ้าของไอเดียแอปพลิเคชันกราฟิกดีไซน์สุดเจ๋ง แคนวา (Canva) ที่ตอนนี้นอกจากเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งแล้ว ยังนั่งตำแหน่งซีอีโอของธุรกิจสตาร์ทอัพให้บริการแพลตฟอร์มกราฟิกดีไซน์ด้วย

เส้นทางสู่เศรษฐีพันล้าน

ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับชาวสตาร์ทอัพ ที่จะก้าวเข้ามาอยู่ในฐานะของเศรษฐีพันล้าน จึงทำให้กลุ่มคนพวกนี้ได้ชื่อว่าเป็น “ยูนิคอร์น” เพราะมันช่างหายากอย่างจริงแท้ แพลตฟอร์มกราฟิกดีไซน์ แคนวา เปิดตัวขึ้นมาเมื่อ 2 ปีที่แล้ว สามารถแปลงกายเป็นยูนิคอร์นได้อย่างรวดเร็ว กับรายได้ 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เมลานี กลายเป็นเศรษฐีพันล้านไปในวัยแค่ 32 ปี

เมลานี กำลังศึกษาด้านสื่อสารมวลชนที่มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น ออสเตรเลีย ในเมืองเพิร์ท ก่อนที่เธอจะดร็อปเรียนมามุ่งมั่นสร้างสรรค์เว็บไซต์ ฟิวชั่น บุ๊กส์ เพื่อที่จะให้เป็นแพลตฟอร์มหนังสือรุ่นสำเร็จรูปให้นักศึกษาเข้ามาใช้กัน โดยออกแบบร่วมกับ คลิฟฟ์ โอเบรคต์ แฟนหนุ่มของเธอเอง

ทั้งคู่มีไอเดียมากมาย แต่ไร้เงินทุน พวกเขาไปกู้เงิน และนั่งสร้างเว็บกันที่ห้องนั่งเล่นของบ้านแม่แมลานี ในที่สุด ฟิวชั่น บุ๊กส์ ก็กลายเป็นแพลตฟอร์มหนังสือรุ่นสำเร็จรูปที่ใหญ่ที่สุดในออสเตรเลีย มีนักเรียน/นักศึกษาเข้ามาใช้บริการกันมากมาย

ที่มาของ Canva

แม้ว่าเมลานีจะไม่เคยเรียนด้านการดีไซน์มาโดยตรง แต่เธอก็มีพรสวรรค์ทางด้านนี้ ระหว่างปี 2006 – 2007 เธอเคยสอนนักเรียนให้ใช้โปรแกรมโฟโต้ช็อป และอินดีไซน์ จนสังเกตว่า เด็กๆ ที่มาเรียนมีความรู้สึกว่า โปรแกรมเหล่านี้ใช้ยากมาก นั่นคือ ที่มาของไอเดีย ฟิวชั่น บุ๊กส์ และกลายมาเป็น แคนวา ในที่สุด

แม้ ฟิวชั่น บุ๊กส์ จะประสบความสำเร็จมาก แต่ถ้าจะก้าวไปข้างหน้าอีก เมลานีเห็นว่า ต้องทำมากกว่าการเป็นหนังสือรุ่น นั่นก็คือ แพลตฟอร์มกราฟิกในรูปแบบต่างๆ แบบใช้ง่ายๆ ที่ทุกคนต้องการ ตอนนี้เรื่องของเงินทุนกลายเป็นเรื่องใหญ่ พวกเขาต้องมองหานักลงทุนมาสนับสนุนให้ไอเดีย แคนวา เป็นจริง

เมลานี เล่าว่า การที่เธอเคยไปหัดเรียนกีฬาทางน้ำ อย่างไคต์เซิร์ฟ ทำให้ได้เจอกับนักลงทุนรายที่ว่าเราเรียนแล้วเราก็เข้าสังคมบ้างนิดหน่อย หลังเรียนเสร็จก็จะมีปาร์ตี้จิบไหมไทยริมหาดบ้าง อะไรบ้าง ทำให้ฉันได้รู้จักกับคนอย่างโอเวน วิลสัน กับวู้ดดี้ ฮาร์เรลสัน อะไรพวกนี้ ฉันก็ขายไอเดียสิคะ จะรออะไร แล้วก็สำเร็จเสียด้วย เธอให้สัมภาษณ์

แหวนหมั้นแค่ 30 ดอลลาร์!

หลังประสบความสำเร็จในการพัฒนา แคนวา จนแพลตฟอร์มกราฟิกดีไซน์ได้การยอมรับไปทั่วโลก สร้างรายได้เป็นพันล้านให้สตาร์ทอัพรุ่นใหม่กลายเป็นเศรษฐี ปีที่ผ่านมา คลิฟฟ์ แฟนหนุ่มก็คุกเข่าขอแต่งงานกับเมลานี ระหว่างที่ทั้งคู่ไปเที่ยวที่คัปปาโดเกีย ประเทศตุรกี ด้วยแหวนหมั้นราคา 30 ดอลลาร์!

คลิฟฟ์ คู่หมั้นหนุ่มสุดอินดี้บอกว่าจะว่าไปแล้วรายได้ของพวกเราไม่ได้แน่นอนอะไร เราไม่ควรจะหมดเงินแพงๆ ไปกับสิ่งนี้หรอกจริงมั้ย บริษัทของเราให้ความสำคัญเรื่องการศึกษา โดยเฉพาะการให้โอกาสกับคนที่ขัดสน เพื่อที่จะทำลายกำแพงของความรวยกับความจน

อย่างไรก็ตาม แคนวา นับว่าเป็นหนึ่งในบริษัทที่โชคดีมากๆ เพราะในช่วงวิกฤตโรคระบาดนั้นก็มีรายได้เพิ่มขึ้น สวนทางกับธุรกิจอื่นๆ

ล่าสุด แคนวา ได้แถลงอย่างเป็นทางการว่า ได้รับเงินสนับสนุนจากผู้ใช้แพลตฟอร์มของพวกเขา 60 ล้านดอลลาร์ ซึ่งทำให้มูลค่าของแคนวา เพิ่มขึ้นเป็น 6,000 ล้านดอลลาร์ อาจด้วยเพราะอานิสงส์ที่ช่วงล็อกดาวน์ หลายๆ คนต้องทำงานอยู่ที่บ้าน ทำให้คนเข้ามาใช้ แคนวา แพลตฟอร์มกราฟิกที่ใช้งานง่ายเพิ่มมากขึ้นถึงอีก 50%

Source

]]>
1291010