“Canva” บริษัทซอฟต์แวร์กราฟิกดีไซน์พลัง AI จากออสเตรเลีย บุกตลาดยุโรปแล้ว

Photo : Shutterstock
บริษัทซอฟต์แวร์กราฟิกดีไซน์จากแดนจิงโจ้ “Canva” บุกตลาดยุโรปอย่างเป็นทางการ ตั้งสำนักงานใหญ่ภูมิภาคในลอนดอน โดยการขยายตัวครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์อุตสาหกรรมเทคที่กำลังผันผวน แต่ซีอีโอหญิง “Melanie Perkins” เชื่อว่าบริษัทจะสามารถต้านทานปัจจัยลบต่างๆ ได้

Canvaปิดสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคยุโรปที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ไปเมื่อเดือนที่แล้ว โดยมุ่งมั่นที่จะแข่งขันกับบริษัทเทครายใหญ่ เช่น Adobe, Microsoft และดึงดูดให้ทั้งองค์กรและบุคคลทั่วไปหันมาใช้โปรแกรมดีไซน์ของบริษัทได้มากขึ้น

แม้ว่าตลาดดูจะไม่สู้เป็นใจนักต่อวงการเทค ท่ามกลางกระแสการเลย์ออฟทั่วโลก และเศรษฐกิจที่คาดว่าจะชะลอตัวลง แต่ Melanie Perkins ซีอีโอของ Canva เชื่อว่าบริษัทอายุ 9 ปีแห่งนี้จะรับแรงกดดันได้

“จากการที่เรามีกำไรมาตลอด 6 ปี มีกระแสเงินสดที่แข็งแรง สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก” Perkins กล่าวกับสำนักข่าว CNBC

Canva นั้นเป็นซอฟต์แวร์เครื่องมือที่ใช้สำหรับงานดีไซน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบเว็บไซต์ พรีเซนเทชั่น ไปจนถึงคอนเทนต์สำหรับลงโซเชียลมีเดีย โดยมีทั้งเครื่องมือที่ให้ใช้ฟรีและที่ต้องชำระเงิน

บริษัทระบุว่า ตั้งแต่ต้นปีจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2023 บริษัททำรายได้ไปแล้ว 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ และยังมีกระแสเงินสดอยู่ 700 ล้านเหรียญสหรัฐ

Melanie Perkins
Melanie Perkins ซีอีโอ Canva (Photo By Eóin Noonan/Sportsfile for Web Summit via Getty Images)

ในจำนวนสมาชิกทั่วโลก 135 ล้านคน มีสมาชิก 16% ที่ใช้งานอยู่ในยุโรป และจากสมาชิกทั่วโลก มีอยู่ประมาณ 15% ที่ใช้งานในระบบชำระเงิน แบ่งได้เป็นผู้ใช้งานแบบบุคคลทั่วไป 14 ล้านคน ส่วนอีก 6 ล้านคนเป็นผู้ใช้ในระดับองค์กร ลูกค้าของ Canva ที่เป็นองค์กรนั้นมีทั้ง Unilever, Rolls Royce และ WPP (บริษัทโฆษณาที่ใหญ่ที่สุดในโลก)

“เรากำหนดราคาสินค้าของเราให้เข้าถึงได้ง่ายมากๆ ดังนั้น ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาค คนก็จะหันมาใช้ Canva มากกว่าที่จะหันหนี” Perkins กล่าว “เราได้เห็นสถานการณ์นั้นเกิดขึ้นแล้วในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาซึ่งเศรษฐกิจผันผวนเริ่มเป็นปัจจัยสำคัญ”

 

ใช้ “เวทมนตร์” แห่ง AI ต่อสู้ในธุรกิจ

บริษัท Canva ใช้ AI ในการพัฒนาบริการมาตลอด โดยการอัปเดตฟีเจอร์รอบล่าสุดของแพลตฟอร์มนี้ ทำให้บริษัทมีลูกค้าใหม่เข้ามาถึง 10 ล้านรายภายในเวลาเดือนเดียว ปัจจุบัน AI กลายเป็นคำที่วงการเทคใช้กันทั่วไป แต่ Canva ที่ใช้ AI เป็นเบื้องหลังมาตลอด ได้เรียกสิ่งนี้ว่า “เวทมนตร์” (magic) เช่น ฟีเจอร์คำสั่งเปลี่ยนสิ่งของในรูปจากสิ่งหนึ่งไปเป็นอีกสิ่งหนึ่งอัตโนมัติ ถูกเรียกว่า ‘Magic Edit’ จนคำนี้กลายเป็นแบรนดิ้งของบริษัท

Canva
เครื่องมือ Magic Edit สามารถสั่งเปลี่ยนสิ่งของในรูปจากสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง

นอกจากนี้ Canva ยังเป็นพันธมิตรกับ OpenAI แล้ว เพื่อร่วมมือกันพัฒนาเครื่องมือ Magic Write เป็นเครื่องมือสำหรับเขียนข้อความในพรีเซนเทชั่นหรือโพสต์ให้โดยอัตโนมัติ เพียงแค่ป้อนคำสั่งเข้าไปไม่กี่คำ

ท่ามกลางความกังวลของสังคมต่อการใช้ AI คิดข้อความหรือข้อมูลออกมาเอง Perkins เองก็ใส่ใจในเรื่องนี้เช่นกัน โดยเธอระบุว่า Magic Write จะไม่สามารถทำงานได้ในบางหมวดข้อมูล เช่น การแพทย์ การเมือง เพราะทางบริษัทมองว่าหมวดเหล่านี้ยังเสี่ยงอันตรายในการใช้ AI

 

อุตสาหกรรม “สร้างสรรค์” กำลังตกอยู่ในความเสี่ยง?

เมื่อ AI มาถึง ทำให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์กำลังกังวลถึงโลกดิสรัปชัน เพราะบางแพลตฟอร์มเริ่มทำให้การรังสรรค์ภาพหรือคอนเทนต์ใดๆ ออกมาทำได้ง่ายขึ้น

Perkins มองประเด็นนี้ว่า เครื่องมือใหม่เหล่านี้มีความตั้งใจที่จะทำให้กระบวนการดีไซน์ทำได้ง่ายขึ้น ราบรื่นขึ้นมากกว่า

“ทุกอุตสาหกรรมต้องผ่านการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง แน่นอนว่าอุตสาหกรรมของเราก็ไม่แตกต่างกัน” เธอกล่าว “เมื่อเทคโนโลยีใหม่มาถึง อุตสาหกรรมทั้งหมดต้องปรับตัวและทุกคนต้องเรียนรู้ทักษะใหม่ ฉันคิดว่านั่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่ามาตลอด”

“เมื่อครั้งที่เราเปิดตัว Canva คนพูดกันว่า ‘โห นี่จะทำให้งานกราฟิกดีไซน์ถึงจุดจบเลยนะ’ และสุดท้ายมันก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้น ฉันคิดว่าเราได้เห็นความต้องการงานกราฟิกดีไซน์และการสื่อสารด้วยภาพภายในองค์กรต่างๆ มากขึ้นกว่าเดิมเสียอีก” Perkins กล่าว

Canva กำลังจะครบรอบ 10 ปีในเดือนสิงหาคมนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายไว้ว่า หลังจากนั้นบริษัทจะต้องไปให้ถึงเป้ามีผู้ใช้งาน 1,000 ล้านคนทั่วโลก และจะเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกให้ได้

Source