Melanie Perkins CEO แห่ง Canva ผู้บริจาคทรัพย์สินให้สังคมแบบไม่เสียดาย…

Melanie Perkins
(Photo By David Fitzgerald/Sportsfile for Web Summit via Getty Images)
ถือเป็นก้าวใหญ่ที่ยิ่งส่งให้ชื่อ Canva เป็นที่สนใจมากขึ้นอีก เมื่อ Melanie Perkins ประธานเจ้าหน้าที่บริหารหรือ CEO แห่ง Canva ผู้ถูกจัดอันดับเป็นมหาเศรษฐีนีเบอร์ 2 ของออสเตรเลีย ได้แสดงจุดยืนลุกขึ้นมาวางแผนบริจาคหุ้นส่วนใหญ่ใน Canva ของตัวเองให้กับสังคม โดยจะโอนหุ้น 97% จากทั้งหมดที่ถืออยู่ใน Canva เข้ามูลนิธิเพื่อส่งต่อเงินสนับสนุนให้องค์กรด้านมนุษยธรรมแบบไม่เสียดาย

ความเคลื่อนไหวนี้สะท้อนวิธีคิดในการบริหารที่ไม่ธรรมดา ซึ่งเสริมความเข้มข้นให้กับดีกรีของ Canva ที่ได้ชื่อว่าเป็นดาวเด่นในวงการซอฟต์แวร์เพื่อการออกแบบ โดยสาว Perkins สามารถดันธุรกิจให้เติบใหญ่จน Canva มีมูลค่าตลาดทะลุ 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในเพียงเวลา 9 ปี จากเงินทุนรอบแรก 3 ล้านดอลลาร์เท่านั้น ผลจากความพยายามเป็นเครื่องมือใช้งานง่ายที่ช่วยเปลี่ยนให้ชาวเน็ตทั่วโลกสวมบทบาทกราฟิกดีไซเนอร์ได้ตามใจชอบ รวมถึงช่วยให้ธุรกิจสามารถเนรมิตงานดีไซน์หลายประเภทได้โดยไม่ต้องเทเงินตามจ้างทีมออกแบบราคาแพง

ในส่วนของ Perkins มูลค่าทรัพย์สินของ CEO หญิงแกร่ง Canva คาดว่าจะสูงเกิน 6.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการถือหุ้นประมาณ 18% ในบริษัท Canva ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในบริษัทสตาร์ทอัพที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก แต่เธอย้ำว่าเงินพันล้านเหรียญนั้นไม่ใช่เรื่องสนุก แถมเป็นสิ่งที่ไร้สาระด้วย

เงินพันล้านสู่แรงบันดาลใจ

Canva นั้นก่อตั้งโดย Melanie Perkins และ Cliff Obrecht ซึ่งกลายมาเป็นคู่สามีภรรยาในปัจจุบัน แม้ความสำเร็จของ Canva จะสร้างแรงบันดาลใจสำคัญให้วงการธุรกิจทั่วโลก แต่ก้าวต่อไปที่ผู้ก่อตั้ง Canva มุ่งมั่นที่จะไปต่อนั้นอาจจะสร้างอิมแพคที่ยิ่งใหญ่มากกว่าเดิม นั่นคือการบริจาคหุ้นส่วนใหญ่ใน Canva ให้กับองค์กรด้านมนุษยธรรม ผ่านมูลนิธิ Canva

Perkins วัย 35 ปี และ Obrecht วัย 36 ปี ขานรับเป็นผู้ลงนามรายใหม่ใน Giving Pledge ซึ่งเป็นองค์กรที่รณรงค์ให้มหาเศรษฐีระดับโลก เซ็นชื่อให้คำมั่นว่าจะบริจาคทรัพย์สินครึ่งหนึ่งสู่การกุศล ทั้ง 2 คนตอบรับให้คำมั่นสัญญาผ่านการลงนามในปี 2021 พร้อมกับเขียนในจดหมายของมูลนิธิถึง “แผน 2 ขั้นตอน” ที่เตรียมไว้สำหรับ Canva ในระยะยาว หลังจากแสดงความเชื่อมั่นในเชิงบวกว่า สิ่งที่จะแก้ปัญหาส่วนใหญ่ของโลกได้เมื่อมีมากพอ คือเงิน ความปรารถนาดี และเจตนาที่ดีต่อโลก

Melanie Perkins
(Photo By Eóin Noonan/Sportsfile for Web Summit via Getty Images)

แผนขั้นแรกที่ 2 ผู้ก่อตั้งวางไว้คือการสร้าง Canva ให้เป็น “บริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก” และขั้นตอนที่สองคือ “ทำสิ่งที่ดีที่สุดที่เราสามารถทำได้” โดยทั้ง 2 ย้ำถึงความรู้สึกว่าการเซ็นสัญญานี้ไม่ใช่แค่โอกาสที่ยิ่งใหญ่ แต่เป็นความรับผิดชอบที่สำคัญ และทั้งคู่ต้องการใช้เวลาทั้งชีวิตเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายนี้

Perkins เป็นหนึ่งในเศรษฐีทั่วโลก 231 รายผู้มีอายุตั้งแต่ 34-98 ปี ที่เซ็นสัญญาใจให้คำมั่นว่าจะแบ่งทรัพย์สินล้นฟ้ามาช่วยสังคมกับ Giving Pledge โปรเจกต์นี้ถูกริเริ่มขึ้นโดย Warren Buffett, Melinda Gates และ Bill Gates ในปี 2010 เพื่อสนับสนุนให้คนที่ร่ำรวยที่สุดในโลกมุ่งมั่นที่จะมอบความมั่งคั่งส่วนใหญ่ให้กับการกุศล ทั้งในช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่หรือเมื่อใดก็ได้ ตามความประสงค์ ในเว็บไซต์มีการแสดงชื่อผู้ลงนามอื่นได้แก่ Michael Bloomberg, Mark Zuckerberg, Elon Musk และ Mackenzie Bezos ซึ่งหลายคนมีเส้นทางชีวิตที่คล้ายกับ Perkins ผู้มีเชื้อสายฟิลิปปินส์ที่ไปเติบโตในออสเตรเลียคนนี้

สูตรคือไม่หยุดนิ่ง

ก่อนจะร่ำรวยพันล้าน เด็กหญิง Perkins เกิดที่เมืองเพิร์ท รัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย ชีวิตพลิกผันจากความฝันที่จะเป็นนักสเก็ตลีลาด้วยการตื่นนอน 4:30 น. เพื่อฝึกฝนทุกวันในช่วงอายุ 14 ปี มาเป็นแม่ค้าขายผ้าพันคอทำมือในตลาดและส่งให้กับร้านบูติกแฟชั่นสตรีรอบบ้านเกิด จนกระทั่งลงทะเบียนเรียนที่มหาวิทยาลัยเวสเทิร์นออสเตรเลีย ในสาขาการสื่อสาร จิตวิทยา และพาณิชยศาสตร์ ที่นี่เธอได้พบกับ Obrecht สามีผู้เคยร่วมกันทำเงินจากธุรกิจขาย “รอยสักแบบสเปรย์” ด้วย แต่จุดพลิกผันคืออาชีพครูสอนพิเศษส่วนตัวที่ Perkins สอนให้กับนักเรียนที่อยากเรียนการออกแบบกราฟิกด้วยโปรแกรม Photoshop ทำให้ Perkins ตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัยเมื่ออายุ 19 ปีและก่อตั้งบริษัท Fusion Books ครั้งแรกกับ Obrecht

Fusion Books เป็นจุดเริ่มต้นก่อนจะเกิดเป็น Canva ในช่วงแรก Fusion Books เป็นเว็บไซต์ที่ช่วยให้นักเรียนปรับแต่งหนังสือรุ่นทางออนไลน์ได้ เวลาผ่านไป Fusion Books กลายเป็นผู้จัดพิมพ์หนังสือรุ่นรายใหญ่ที่สุดของออสเตรเลียภายใน 5 ปี และขยายไปยังฝรั่งเศสและนิวซีแลนด์ แพลตฟอร์มนี้อนุญาตให้นักเรียนออกแบบหนังสือรุ่นของโรงเรียนตัวเอง ในอีกไม่กี่ปีต่อมา Perkins ได้พบกับ Bill Tai นักลงทุนใน Silicon Valley ทำให้ Fusion Books ถูกปลดขีดจำกัดแค่หนังสือรุ่นของนักเรียน และขยายไปสู่การออกแบบที่หลากหลายทั้งงานนำเสนอ วิดีโอ โบรชัวร์ และอีกมากมาย

Photo : Shutterstock

ในปี 2012 น้องใหม่อย่าง Canva จึงเริ่มต้นเติบโตอย่างจริงจังด้วยความช่วยเหลือจากที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีหลายคน หนึ่งในนั้นมี Lars Rasmussen ผู้ร่วมก่อตั้ง Google Maps โดย Perkins และ Obrecht ยังพบผู้ร่วมก่อตั้งด้านเทคนิคอย่าง Cameron Adams และนักพัฒนาเทคโนโลยีอย่าง Dave Hearnden ด้วย จนในที่สุด Canva มีผู้ใช้มากกว่า 10 ล้านคนในปี 2015

สำหรับช่วงล็อกดาวน์ การทำงานจากที่บ้านที่แพร่หลายทั่วโลกในช่วงการระบาดของ COVID-19 ทำให้มีรายงานว่าการใช้งาน Canva เพิ่มขึ้นก้าวกระโดดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยในช่วงเริ่มต้นของการระบาดใหญ่ Canva สำนักข่าวเทคครันช์รายงานว่าบริการออกแบบที่เปิดให้ผู้ใช้หลายคนร่วมกันพัฒนาของ Canva นั้นมียอดการใช้งานเพิ่มขึ้น 50% และงานออกแบบใหม่ถูกสร้างบน Canva เพิ่มขึ้นอีก 25%

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่าปัจจุบัน Canva มีผู้ใช้ประมาณ 60 ล้านคนต่อเดือน กลายเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มการออกแบบที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก ด้วยสถิติการสร้างงานออกแบบโดยเฉลี่ย 150 ชิ้นงานต่อวินาที คาดว่า Canva จะมีรายรับเกิน 1 พันล้านดอลลาร์ในปี 2022

เมื่อคำนวณว่า Perkins จะจูงมือ Obrecht ซึ่งเป็นเจ้าของหุ้น Canva รวมกันในสัดส่วน 31% (มูลค่าปัจจุบันประมาณ 12,400 ล้านดอลลาร์) ร่วมบริจาคหุ้น 97% ของหุ้นที่ถืออยู่ทั้งหมด ย่อมแปลว่าทั้งคู่จะเทเงิน 12,000 ล้านดอลลาร์ให้กับมูลนิธิ Canva ซึ่งทั้ง 2 ร่วมกันสร้างขึ้นเมื่อต้นปีด้วยภารกิจในการแก้ปัญหาด้านความยากจน ตรงนี้แม้จะมีคำถามว่าการใส่เงินจำนวนมหาศาลเข้ามูลนิธินั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถตัดสินได้ว่าใครใจบุญ เพราะจะต้องพิจารณาถึงวิธีการบริจาคเงินออกไปเพื่อการกุศลเป็นประจำ แต่คำให้สัมภาษณ์ของ Perkins ก็เรียกความเชื่อมั่นได้มากมาย

Perkins ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเดอะฟาสต์คัมพานีว่า “เงินหลายพันล้านเหรียญนั้นไม่สนุก และเป็นสิ่งที่ไร้สาระ ก่อนจะตั้งคำถามย้อนกลับอย่างตรงไปตรงมาว่า “ใครต้องการใช้เงินหลายพันล้านเหรียญกัน” สำหรับ Perkins แล้ว เธอย้ำถึงความมุ่งมั่นที่จะใช้เงินมหาศาลเพื่อออกแบบโลกที่ดีกว่า เพราะการสร้างความมั่งคั่งนั้นเป็น “สิ่งที่ไม่น่าสนใจที่สุด” เท่าที่เธอจะจินตนาการได้

ที่มา : Fastcompany, Startupdaily, ibtime, Techcrunch, Bloomberg, Yahoo, 3ba