ETRAN อีทราน (ไทยแลนด์) – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Fri, 20 Aug 2021 10:19:03 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 เส้นทางฝันใหญ่ของ “สรณัญช์ ชูฉัตร” ผู้ก่อตั้ง ETRAN มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าพันธุ์ไทย https://positioningmag.com/1344792 Mon, 02 Aug 2021 09:12:41 +0000 https://positioningmag.com/?p=1344792 ประเทศไทยมีการผลิต “มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า” แบรนด์ของตัวเองแล้ว โดยผู้ผลิตไม่ใช่บรรษัทขนาดยักษ์แต่เป็น “สตาร์ทอัพ” ที่มีความฝันยิ่งใหญ่อย่าง “ETRAN” ภายใต้การนำของ “สรณัญช์ ชูฉัตร” เด็กลาดกระบังที่กล้าทุ่มพัฒนาสิ่งที่ทุกคนมองว่า “ยาก” มานาน 6 ปี กว่าจะมาถึงวันนี้

มอเตอร์ไซค์รุ่นล่าสุดของ ETRAN (อีทราน) คือรุ่น MYRA (ไมร่า) สามารถทำความเร็วได้สูงสุด 120 กม./ชม. อัตราเร่ง 0-100 กม. ภายใน 7 วินาที พูดง่ายๆ คือขับขี่ได้เหมือนกับมอเตอร์ไซค์ใช้น้ำมัน ลบภาพมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าสำหรับแม่บ้านจ่ายตลาดที่คนไทยคุ้นเคย

ที่สำคัญ รุ่น MYRA ไม่ได้เป็นเพียงโปรโตไทป์แล้ว แต่มีการผลิตจริงด้วยกำลังผลิต 500 คันต่อเดือน ทุกชิ้นส่วนยกเว้นแบตเตอรีผลิตในประเทศไทย และออกแบบด้วยทีมงานคนไทย ปัจจุบันมียอดจองครบ 1,000 คันแล้ว ทำให้บริษัทเพิ่มเป้าหมายยอดขายเป็น 2,000 คันภายในปีนี้

“สรณัญช์ ชูฉัตร” ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอ บริษัท อีทราน (ประเทศไทย) จำกัด

ผู้ก่อตั้งมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าแบรนด์นี้คือ “สรณัญช์ ชูฉัตร” ซีอีโอวัย 33 ปีของ บริษัท อีทราน (ประเทศไทย) จำกัด เขาก่อตั้งบริษัทขึ้นในรูปแบบสตาร์ทอัพเมื่อปี 2558 และอดทนฝ่าฟันมานาน 6 ปีจนในที่สุดบริษัทได้รับเงินลงทุนรอบ Series A มูลค่ารวม 3.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 100 ล้านบาท ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนให้บริษัทได้ขยายการผลิต

เหตุใดสรณัญช์จึง ‘กล้า’ พอที่จะเริ่มก่อตั้งแบรนด์มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าซึ่งเห็นหนทางที่ ‘ยาก’ มาตั้งแต่ต้น แถมยังเริ่มตั้งแต่ช่วงที่สาธารณชนไทยยังไม่สนใจยานยนต์ไฟฟ้า Positioning ขอชวนไปเจาะเส้นทางของ ETRAN ก่อนจะมาถึงจุดนี้กัน

 

ความเป็น ‘ผู้ประกอบการ’ ที่คิดเร็ว ทำเลย

“เรามีความเป็นผู้ประกอบการอยู่แล้ว อยากจะลองทำนั่นทำนี่หลายอย่าง เคยทำธุรกิจไป 11 อย่าง ตอนนี้เหลืออยู่ 6 อย่าง” สรณัญช์เริ่มเล่าถึงความเป็นตัวตนของเขาที่ทำให้เกิดแบรนด์ ETRAN ขึ้น

โดยสรณัญช์เรียนจบสาขาออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะ และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยเชี่ยวชาญด้านการออกแบบยานยนต์

“ตอนเรียนอยู่ อาจารย์มักจะบอกเราว่า ‘ในไทยไม่มีงานรองรับหรอกนะ เพราะเราไม่มีแบรนด์รถยนต์ของตัวเอง’” สรณัญช์กล่าว

จนมีวันหนึ่ง คนขับรถเราไม่มา เราก็เลยต้องนั่งวินมอ’ไซค์ ปรากฏว่ามันเป็นสภาพที่แย่มาก รถแบบนี้ไม่เหมาะกับการขนส่งคน มลภาวะที่พี่วินต้องเจอก็เยอะมาก

เมื่อจบมาเขาจึงมาตั้งบริษัทรับออกแบบของตัวเอง โดยรับจ้างออกแบบทุกอย่างที่ลูกค้าต้องการ บริษัทหลักของเขาประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง พร้อมๆ กับการร่วมเป็นหุ้นส่วนลองทำธุรกิจอื่นๆ ตามแต่โอกาสที่เข้ามา

“จนมีวันหนึ่ง คนขับรถเราไม่มา เราก็เลยต้องนั่งวินมอ’ไซค์ ปรากฏว่ามันเป็นสภาพที่แย่มาก รถแบบนี้ไม่เหมาะกับการขนส่งคน มลภาวะที่พี่วินต้องเจอก็เยอะมาก พอลงจากมอเตอร์ไซค์ได้เราก็คิดขึ้นมาว่า ‘เออ เราเคยออกแบบรถนี่หว่า’ ก็เลยโทรฯ หาเพื่อนๆ ที่เรียนด้วยกันที่ลาดกระบังว่าให้มาคอนโดฯ เราเลยคืนนี้”

มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ารุ่น PROM ออกจำหน่ายจริงในปี 2560 สองปีหลังเริ่มก่อตั้งบริษัท

กลุ่มเพื่อนลาดกระบัง 5 คนจึงมารวมตัวกันในคอนโดฯ ของสรณัญช์เพื่อระดมไอเดีย “แก้ไข” ข้อบกพร่องของรถมอเตอร์ไซค์ของพี่วิน โดยที่ประชุมเห็นโจทย์ตรงกัน 2 ข้อคือ ทำอย่างไรให้รถเหมาะกับการส่งคน และทำอย่างไรให้คุณภาพชีวิตคนบนถนนดีขึ้น ลดมลภาวะ

3 เดือนหลังจากนั้น ภาพร่างของมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ารุ่น PROM (พร้อม) ก็ออกมา เป็นดีไซน์ให้ระหว่างที่นั่งของคนขับกับคนซ้อนมีช่องตรงกลางไว้วางขาได้สบายๆ

 

ออกสตาร์ทการเดินทาง

หลังจากนั้นสรณัญช์และทีมได้เข้าร่วม Digital Ventures Accelerator ของธนาคารไทยพาณิชย์ และได้รางวัล Popular Vote มาครอง โดยทีมเขาเป็นรายเดียวที่ทำธุรกิจที่เป็นฮาร์ดแวร์ ท่ามกลางเพื่อนๆ ที่เป็นเทคสตาร์ทอัพพัฒนาซอฟต์แวร์

“เราเห็นตั้งแต่วันแรกว่าการทำสิ่งนี้มันยาก เพราะมันต้องมีปั๊มเป็นระบบนิเวศ” สรณัญช์กล่าวถึงความท้าทายที่ทุกคนเห็นตรงกัน

รุ่น KRAF เปิดตัวปี 2562

การร่วม Digital Ventures Accelerator ทำให้ทีม ETRAN ไปสะดุดตา ปตท. พวกเขาได้เซ็น MOU เพื่อวิจัยพัฒนาร่วมกันในประเด็นที่เกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า โดยแบรนด์ ETRAN มีการนำเทคโนโลยีวัสดุคอมโพสิทจากมันสำปะหลังของ ปตท. มาใช้จริงในเวลาต่อมา เพื่อตอบโจทย์จุดประสงค์ของบริษัทที่ต้องการลดมลภาวะในทุกขั้นตอนการผลิต

การจับมือกับ ปตท. ยังทำให้ ETRAN ได้ร่วมออกบูธมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ากับ ปตท. หลายครั้ง ในช่วงนั้นพวกเขามีโปรโตไทป์รุ่น KRAF (คราฟ) ออกมาโชว์ตัวแล้ว โดยวางตำแหน่งการตลาดให้เป็นมอเตอร์ไซค์พรีเมียมสำหรับคนรักรถ (ปัจจุบันมีการผลิตจำหน่ายไปแล้ว 50 คัน) ซึ่งทำให้มีคนรู้จักแบรนด์มากขึ้นและเป็นช่องทางพูดคุยรับ feedback กับกลุ่มที่นับว่าเป็น ‘Early Adopter’ ของมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า

 

เกือบล้มเลิก แต่ลุกขึ้นใหม่เพราะ ‘ไรเดอร์’

สตาร์ทอัพอย่างอีทรานจะไปต่อได้ต้องมีเงินทุน นอกจากเงินส่วนตัวแล้วสรณัญช์มีการระดมทุนจากลูกค้าของบริษัทตัวเองที่สนิทสนมกัน ร่วมลงขันแบบ Angel Investor และจากการผลิตรถโปรโตไทป์จำหน่ายก็ทำให้บริษัทพอมีรายได้บ้าง แต่ยังไม่ถึงจุดที่นับว่า ‘จุดติด’ จริงๆ เสียที

“ระหว่างนั้นทุกคนที่ร่วมก่อตั้งต้องมาพยายามกับเราถึงตี 1 ตี 2 เงินเดือนก็ไม่ได้ เราเกรงใจจนเคยคิดว่าจะล้มเลิก บริษัทมีพัฒนาการ มีรายได้บ้างนะ แต่เส้นชัยมันยังอยู่อีกไกลมาก” สรณัญช์กล่าว  “แต่คนในทีมทุกคนไม่ยอมเลิก ทุกคนบอกว่าเราทุ่มมา 4 ปีแล้ว เรามาไกลมากแล้ว”

เมื่อทุกคนยังฮึดสู้ สรณัญช์จึงวิ่งหานักลงทุนอีกครั้ง โดยมีนักลงทุนพร้อมจะลงใน Series A แล้ว แต่เกิดโรคระบาด COVID-19 เสียก่อน ทำให้นักลงทุนทั้งหมดส่งสัญญาณ ‘ถอย’

รุ่น MYRA เรือธงที่ทำให้จุดติดในตลาด ราคาขายเริ่มต้น 69,550 บาท (ไม่รวมแบตเตอรี่)

เงินทุนที่ไม่เข้ามาตามนัดทำให้อีทรานจำเป็นต้องปลดพนักงานออกมากกว่าครึ่ง ในห้วงเวลาวิกฤตนั้น สรณัญช์ต้องย้อนกลับไปคิดใหม่ทำใหม่ และกลายเป็นว่า COVID-19 ที่ทำลายโอกาส Series A กลับกลายเป็นการสร้างโอกาสแบบใหม่ขึ้นมาแทน นั่นคือการมาถึงของยุคทอง “ฟู้ดเดลิเวอรี” และ “อี-คอมเมิร์ซ”

“ไรเดอร์” ทั้งขนส่งอาหารและส่งพัสดุที่วิ่งอยู่ทั่วเมืองทำให้อีทรานได้ไอเดียโจทย์ใหม่ ระดมกำลังออกแบบรถให้เหมาะกับการขนส่ง รูปร่างเพรียวบาง เปลี่ยนที่นั่งซ้อนเป็นที่วางกล่องอาหาร โปรโตไทป์นี้คือมอเตอร์ไซค์ MYRA ที่จะกลายเป็นเรือธงสู่เส้นชัยแรกของบริษัท

จับมือกับ Robinhood ให้เช่ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าแก่ไรเดอร์

สรณัญช์นำ MYRA ไปติดต่อแอปพลิเคชัน Robinhood เพื่อขอให้ไรเดอร์ของแอปฯ ทดลองใช้ ปรากฏว่า Robinhood มีความสนใจ เนื่องจากมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตรงกับแนวทางของบริษัท สุดท้ายแล้วอีทรานจึงคว้า TOR มาได้ และสัญญาที่การันตีดีมานด์นี้เองที่ทำให้บริษัทระดมทุนรอบ Series A สำเร็จ

อ่านเพิ่มเติม

 

ไปต่อ ไม่รอให้ใครสร้าง

เงินทุนที่ได้จาก Series A ช่วยปลดล็อกการขยายตัวได้ทันที โดยบริษัทจะนำเงินไปเพิ่มกำลังผลิตรถ จากปัจจุบัน 500 คันต่อเดือน ปี 2565 ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 1,000 คันต่อเดือน โดยมีดีมานด์จาก Robinhood และการทำตลาดของบริษัทเองที่มีทั้งรูปแบบให้เช่าทั้ง B2B B2C รวมถึงเปิดจำหน่ายด้วย

อีกส่วนหนึ่งคือนำมาสร้าง “ปั๊ม” ที่เป็นความท้าทายตั้งแต่วันแรก

คำถามสำคัญที่มีมาตลอดสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าคือ “ชาร์จไฟเร็วแค่ไหน” แต่เมื่อการชาร์จปัจจุบันยังทำได้ไม่เร็วเท่ากับการเติมน้ำมัน วิธีแก้ปัญหาของ ETRAN จึงเป็นการสร้าง “สถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี” แทนที่จะรอชาร์จแบต ก็ยกเปลี่ยนแบตลูกใหม่ที่ชาร์จเต็มอยู่แล้วเข้าไปแทนได้เลย (โมเดลเดียวกับที่เกิดขึ้นแล้วในไต้หวัน)

ภาพต้นแบบ “สถานีเปลี่ยนแบตเตอรี” ของ ETRAN

เมื่อไม่มีใครสร้างสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี ETRAN จึงลงทุนสร้างเอง โดยตั้งเป้าที่ 100 จุดทั่วกรุงเทพฯ ปัจจุบันเริ่มต้นแล้ว 8 จุด มีโมเดลสถานีหลายขนาด รองรับได้ตั้งแต่ 30-160 คันต่อวัน

การมีโครงข่ายสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรีของตัวเองก่อนจะทำให้ ETRAN ได้เปรียบในสนามธุรกิจ เพราะดีไซน์แบตเตอรีในรถแต่ละยี่ห้อไม่เหมือนกัน ทำให้ในอนาคตถ้าลูกค้าจะลงทุนซื้อมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ต้องคำนึงถึงในตลาดก่อนว่ามีสถานีเปลี่ยนแบตเตอรีที่ตรงรุ่นกับของตนเองเพียงพอหรือไม่

คู่แข่งระดับโลกของเราไม่ใช่บริษัทยานยนต์ แต่เรามองธุรกิจที่มีระบบนิเวศพร้อมแล้วมากกว่า อย่างกลุ่มพลังงานที่มีสถานีของตัวเอง เช่น ปตท. บางจาก เชลล์ ทุกคนลงทุนด้านพลังงานไฟฟ้าหมดแล้ว

“ดังนั้น คู่แข่งระดับโลกของเราไม่ใช่บริษัทยานยนต์ แต่เรามองธุรกิจที่มีระบบนิเวศพร้อมแล้วมากกว่า อย่างกลุ่มพลังงานที่มีสถานีของตัวเอง เช่น ปตท. บางจาก เชลล์ ทุกคนลงทุนด้านพลังงานไฟฟ้าหมดแล้ว หรือแม้แต่บริษัทขนส่ง เช่น Grab หากวันหนึ่งจะทำมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าของตัวเองขายก็ทำได้ เพราะมีดีมานด์จากไรเดอร์ตัวเอง” สรณัญช์กล่าว

 

อีก 4 ปีขอส่วนแบ่ง 1 แสนคัน

พลังฮึดของ ETRAN รุกคืบเข้าตลาดไรเดอร์ได้ ประจวบเหมาะเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลกและประเทศไทยที่เป็นไปในทางเดียวกันคือ ต้องการใช้พลังงานสะอาด ลดมลพิษ รัฐบาลไทยจึงมีแนวทางสนับสนุนให้ไทยเป็น ‘EV Hub’ ศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า โดยบริษัทอีทรานได้เข้าไปร่วมในคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ หรือ บอร์ด EV

การสนับสนุนมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าและสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรีอยู่ในแผนเร่งด่วนของบอร์ด EV แล้ว สรณัญช์ยังให้ข้อมูลด้วยว่า บอร์ด EV มีเป้าส่งเสริมให้มีการใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า 360,000 คันภายในปี 2568 จากปัจจุบันมีการใช้งานเพียง 4,000 คัน (ในไทยมีรถมอเตอร์ไซค์ใช้งานอยู่ 20-22 ล้านคัน)

จากเป้าหมายของประเทศ ETRAN ตั้งเป้าชิงส่วนแบ่ง 100,000 คันในปี 2568 และหวังว่าจะเป็นเจ้าตลาดในไทย

นอกจากนี้ ยังต้องการจะดึงให้การผลิตเกิดขึ้นที่ไทย 100% ดังนั้นต้องลงทุนไลน์ผลิตแบตเตอรี โดยหวังว่ารัฐจะให้การสนับสนุน BOI หากมีดีมานด์สูงคุ้มค่าและได้รับการสนับสนุนจากรัฐ สรณัญช์คาดว่าอาจเริ่มลงทุนได้ภายในปี 2565

แม้ว่าการตั้งเป้าตัวเลขและการตะลุยสร้างโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้จะสำคัญ แต่สิ่งที่สรณัญช์ไม่เคยทิ้งไปคือโจทย์หลักตั้งแต่วันแรกในการประชุมที่คอนโดฯ ของเขานั่นคือ “คุณภาพชีวิต” ของผู้ขับขี่ เขาต้องการให้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าของเขา ‘ช่วยโลก’ ได้จริงๆ ลดการปล่อยมลภาวะทุกขั้นตอน และเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ใช้รักษ์โลกของเรามากขึ้น โดยอนาคตจะเห็นกลยุทธ์ที่น่าสนใจกว่าแค่การผลิตมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า

“วันแรกเราเหมือนเริ่มจากติดลบ เราทำแบบไม่รู้อะไรเลย แต่วันนี้เหมือนเราจบปริญญาตรีแล้ว กำลังจะต่อปริญญาโท เพราะเราเริ่มมี core technology ของตัวเองแล้ว” สรณัญช์กล่าวทิ้งท้าย

]]>
1344792
ETRAN มอ’ไซค์ไฟฟ้าไทยระดมทุน Series A สร้าง “สถานีเปลี่ยนแบตฯ” แก้ปัญหาผู้ใช้งาน https://positioningmag.com/1331814 Wed, 12 May 2021 11:12:09 +0000 https://positioningmag.com/?p=1331814 ฝันให้ไกล ไปให้ถึง! ETRAN (อีทราน) สตาร์ทอัพมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าสัญชาติไทยก้าวไปอีกขั้น ระดมทุน Series A ได้รับเงินลงทุนกว่า 100 ล้านบาท พร้อมเปิดสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่ ไม่ต้องรอชาร์จ สนับสนุนระบบนิเวศการใช้งาน ออกรถโมเดลใหม่ “MYRA” (ไมร่า) ตีตลาด “ไรเดอร์” ส่งของเดลิเวอรี่โดยเฉพาะ

บางคนอาจเคยผ่านตารถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าไทยยี่ห้อ ETRAN มาบ้าง เพราะสตาร์ทอัพรายนี้ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2559 และมีรถออกมาแล้ว 2 รุ่นคือ PROM (พร้อม) และ KRAF (คราฟ) จนในที่สุด บริษัท อีทราน (ไทยแลนด์) จำกัด เจ้าของแบรนด์ ระดมทุนรอบ Series A ได้สำเร็จ พร้อมจะเข้าสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ และนำเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบนิเวศของยานยนต์ไฟฟ้า

โดยบริษัทแจ้ง การระดมทุนรอบ Series A คิดเป็นเงินรวม 3.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 100 ล้านบาท แบ่งแหล่งเงินทุนออกเป็น 2 แหล่งคือ

1.บมจ.เอ็น.ดี.รับเบอร์ หรือ NDR (อยู่ในตลาดหุ้น mai) เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายยางล้อมอเตอร์ไซค์ เข้าลงทุนด้วยวิธีแลกหุ้น (shares swap) คิดเป็นมูลค่าการลงทุนราว 60.2 ล้านบาท และจะทำให้ NDR เข้ามาถือหุ้นในอีทรานเป็นสัดส่วน 35%

2.Angel Investor นักลงทุนอิสระ ใช้เงินสดในการเข้าซื้อหุ้นของอีทราน คิดเป็นมูลค่า 43 ล้านบาท

ETRAN KRAF มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ารุ่นพรีเมียม เหมาะกับคนรักการขับขี่ ราคา 150,000 บาท

 

ยกระดับเป็นมืออาชีพ ตั้งเป้าครองผู้นำตลาดไทย

อีทราน เป็นบริษัทจากการก่อตั้งของ “สรณัญช์ ชูฉัตร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีทราน (ไทยแลนด์) จำกัด มีวิสัยทัศน์ที่ต้องการส่งเสริมให้รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเป็นตัวเลือกของคนไทยในการใช้งาน เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนของรถน้ำมัน ลดมลพิษ ทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น และยังวางเป้าที่จะหาโมเดลธุรกิจที่ทำให้คนไทยทุกคนเข้าถึงยานยนต์ไฟฟ้าได้

“เราไม่คิดว่ายานยนต์ไฟฟ้าเป็นสินค้าของคนมีเงินเท่านั้น แต่ทุกคนควรจะเข้าถึงได้” สรณัญช์กล่าว

หลังจากระดมทุน Series A ร่วมกับงบสนับสนุนการวิจัยจาก สำนักงานสภานโยบาย การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กว่า 16 ล้านบาท เงินทุนดังกล่าวจะนำมาใช้ใน 3 ด้านคือ 1.เพิ่มไลน์ผลิตให้ได้ในระดับเพื่อการค้าพาณิชย์ 2.โครงสร้างพื้นฐาน สถานีชาร์จและเปลี่ยนแบตเตอรี่ และ 3.ทำการตลาด

ผู้บริหารและนักลงทุน บริษัท อีทราน (ไทยแลนด์) จำกัด

รวมถึงบริษัทจะยกระดับไปสู่การเป็น “มืออาชีพ” โดยมีคณะกรรมการบริหาร (Board of Directors) เพิ่มเติมจำนวน 3 ท่าน ได้แก่

  1. ศิโรตม์ เสตะพันธุ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง Managing Partner บริษัท เอ็กซ์ฟอร์แม็ท จำกัด มีประสบการณ์ด้านการเงินและการลงทุนมากกว่า 25 ปี เคยดำรงตำแหน่งในกระทรวงการคลัง และ บริษัท เจพีมอร์แกน
  2. ฐิติ ตวงสิทธิตานนท์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท Dole Packaged Foods มีประสบการณ์ด้านการพัฒนาธุรกิจและการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ มากกว่า 20 ปี เคยดำรงตำแหน่งใน Coca-Cola, Mars, และ Royal Canin
  3. ธันวา มหิทธิวาณิชชา ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง Partner บริษัท แกรนท์ ธอนตัน จำกัด มีประสบการณ์เกี่ยวกับกฎหมายและมาตรการภาษีมากกว่า 15 ปี เคยดำรงตำแหน่งในบริษัท PricewaterhouseCoopers

ด้วยโครงสร้างบริษัทที่แกร่งขึ้น สรณัญช์กล่าวว่า เป้าหมายของบริษัทจากนี้ ต้องการจะมีส่วนแบ่งตลาดรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าไทย 50% ภายใน 3 ปี โดยมีกลุ่มเป้าหมายลูกค้า 4 กลุ่มคือ ไรเดอร์ขนส่ง, ‘พี่วิน’ มอเตอร์ไซค์, หน่วยงานราชการ และกลุ่มคนรักรถมอเตอร์ไซค์

ETRAN MYRA รุ่นใหม่สำหรับไรเดอร์จัดส่งเดลิเวอรี่ เน้นความเพรียวบาง ซอกแซกง่าย มีที่วางกระเป๋าไว้ด้านหลัง

ชัยสิทธิ์ สัมฤทธิวณิชชา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ดี.รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NDR นักลงทุนรายใหญ่ที่ร่วมกับอีทราน มองว่า บริษัทอีทรานจะเติบโตได้ 15-20% ในปีนี้ วางเป้ารายได้ไว้ที่ 300-500 ล้านบาท ส่วนปี 2565 น่าจะทำรายได้แตะ 1,000 ล้านบาทและน่าจะเป็นปีที่เริ่มทำกำไร

โดยบริษัทเลือกเข้าลงทุนในอีทรานเพื่อหา New S-curve ให้บริษัท NDR เชื่อว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าจะเป็นอนาคต และเพิ่งจะเริ่มเข้าสู่วัฏจักรการเติบโต เหมาะแก่การเริ่มลงทุน

 

แก้ปัญหาผู้ใช้ สร้าง “สถานีเปลี่ยนแบตฯ” ในเมือง

หนึ่งในปัญหาหลักที่ทำให้คนกลัวการเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าคือ ขณะนี้แบตเตอรี่ยังชาร์จได้ช้า ต้องใช้เวลา 2-4 ชั่วโมงในการชาร์จ ไม่สอดคล้องกับการใช้งานจริง ดังนั้น อีทรานจะเข้ามาแก้ปัญหา และทำให้โมเดลธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าเป็นจริงได้

สรณัญช์กล่าวว่า อีทรานจะตั้ง “สถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่” รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ตั้งเป้า 100 จุดทั่วกรุงเทพฯ (50 เขต เขตละ 2 จุด) ตั้งในห้างสรรพสินค้า อาคารพาณิชย์ หรือพื้นที่ของบริษัท เฟสแรกเริ่ม 3 จุดก่อน แต่ยังไม่ระบุว่าเป็นที่ไหน

ภาพต้นแบบ “สถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่” ของ ETRAN

วิธีใช้งานคือ ผู้ใช้รถของอีทรานจะต้องจองเวลาผ่านแอปฯ ว่าจะเข้ามาเปลี่ยนแบตฯ เวลาใด จากนั้นเข้ามาเปลี่ยนแบตเตอรี่ลูกใหม่ได้เลย ไม่ต้องรอชาร์จ เชื่อว่าจะช่วยจูงใจให้การใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าน่าสนใจขึ้น

 

รุ่นใหม่ “MYRA” รถเช่าเพื่อไรเดอร์ส่งเดลิเวอรี่

ความเคลื่อนไหวอีกอย่างหนึ่งในปีนี้ของอีทรานคือ จะเปิดตัวรถรุ่นใหม่ MYRA ในเดือนมิถุนายนนี้ เป็นโมเดลรถที่ออกแบบมาเพื่อกลุ่ม “ไรเดอร์” ส่งพัสดุ อาหาร เดลิเวอรี่โดยเฉพาะ ด้านหลังใช้วางกล่องใส่ของ วิ่งได้สูงสุด 190 กม.ต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง ทำความเร็วสูงสุด 120 กม./ชม.

โดยช่วงแรกจะบริการแบบให้เช่าเริ่มต้นวันละ 1xx บาท เปิดเช่าทั้งแบบ B2B กับบริษัทที่ต้องการฟลีตรถมอเตอร์ไซค์ของตนเอง และราย่อยแบบ B2C ก่อนจะเปิดขายในระยะถัดไป

รถรุ่น MYRA นี่เองที่จะเป็นเรือธงสำคัญ เป็นซัพพลายที่ต้องเติบโตคู่ไปกับสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่่ โดยสรณัญช์ระบุว่า บริษัทตั้งเป้าให้เช่าหรือขายเฉพาะรถรุ่นนี้ 100 คันต่อเดือน เชื่อว่าจะมีรถวิ่งในตลาดสะสม 5,000 คันภายใน 3-4 ปี

 

โอกาสธุรกิจ…ที่ต้องการรัฐส่งเสริม

ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าในระดับโลกเริ่มเห็นความเป็นไปได้มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะในยุโรป สหรัฐฯ หรือจีน ต่างส่งเสริมรถอีวีทั้งนั้น

โดย “อาร์ชวัส เจริญศิลป์” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อีทราน (ไทยแลนด์) จำกัด มองว่าตลาดนี้เริ่มเติบโตในระดับหนึ่งจนทำให้ต้นทุนและเทคโนโลยีการผลิตเริ่มเข้าถึงได้จริงแล้ว และเห็นว่าประเทศไทยเริ่มให้ความสำคัญ จากการที่รัฐบาลตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้า

ในประเด็นนี้ มองว่าการสนับสนุนจากรัฐที่จะช่วยให้ธุรกิจนี้เติบโตได้ดีที่สุดคือ 1.สนับสนุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานประเภทสถานีชาร์จและเปลี่ยนแบตเตอรี่ 2.ลดภาษีสรรพสามิตให้กับกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า 3.สนับสนุน BOI ให้กับผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และ 4.สนับสนุนให้หน่วยงานราชการจัดซื้อจัดจ้างใช้งาน เพราะจะเป็นสัญญาณสำคัญว่าภาครัฐ ‘เอาจริง’ ในการส่งเสริม

สำหรับบริษัทเองก็จะเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพขึ้นเรื่อยๆ ให้แบตเตอรี่หนึ่งลูกวิ่งได้ไกลขึ้น ชาร์จเร็วขึ้น ปลอดภัย และลดต้นทุนการผลิตให้คนทุกคนเข้าถึงได้แบบ ‘ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ โดยปีนี้ยังมีพัฒนามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าอยู่อีก 2 รุ่น เชื่อว่าจากนี้จะกดราคาลงให้ต่ำได้ถึง 50,000 บาทต่อคัน เป็นราคาที่เข้ามาตีตลาดรถน้ำมันได้แล้ว

]]>
1331814