ETRAN มอ’ไซค์ไฟฟ้าไทยระดมทุน Series A สร้าง “สถานีเปลี่ยนแบตฯ” แก้ปัญหาผู้ใช้งาน

ฝันให้ไกล ไปให้ถึง! ETRAN (อีทราน) สตาร์ทอัพมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าสัญชาติไทยก้าวไปอีกขั้น ระดมทุน Series A ได้รับเงินลงทุนกว่า 100 ล้านบาท พร้อมเปิดสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่ ไม่ต้องรอชาร์จ สนับสนุนระบบนิเวศการใช้งาน ออกรถโมเดลใหม่ “MYRA” (ไมร่า) ตีตลาด “ไรเดอร์” ส่งของเดลิเวอรี่โดยเฉพาะ

บางคนอาจเคยผ่านตารถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าไทยยี่ห้อ ETRAN มาบ้าง เพราะสตาร์ทอัพรายนี้ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2559 และมีรถออกมาแล้ว 2 รุ่นคือ PROM (พร้อม) และ KRAF (คราฟ) จนในที่สุด บริษัท อีทราน (ไทยแลนด์) จำกัด เจ้าของแบรนด์ ระดมทุนรอบ Series A ได้สำเร็จ พร้อมจะเข้าสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ และนำเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบนิเวศของยานยนต์ไฟฟ้า

โดยบริษัทแจ้ง การระดมทุนรอบ Series A คิดเป็นเงินรวม 3.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 100 ล้านบาท แบ่งแหล่งเงินทุนออกเป็น 2 แหล่งคือ

1.บมจ.เอ็น.ดี.รับเบอร์ หรือ NDR (อยู่ในตลาดหุ้น mai) เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายยางล้อมอเตอร์ไซค์ เข้าลงทุนด้วยวิธีแลกหุ้น (shares swap) คิดเป็นมูลค่าการลงทุนราว 60.2 ล้านบาท และจะทำให้ NDR เข้ามาถือหุ้นในอีทรานเป็นสัดส่วน 35%

2.Angel Investor นักลงทุนอิสระ ใช้เงินสดในการเข้าซื้อหุ้นของอีทราน คิดเป็นมูลค่า 43 ล้านบาท

ETRAN KRAF มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ารุ่นพรีเมียม เหมาะกับคนรักการขับขี่ ราคา 150,000 บาท

 

ยกระดับเป็นมืออาชีพ ตั้งเป้าครองผู้นำตลาดไทย

อีทราน เป็นบริษัทจากการก่อตั้งของ “สรณัญช์ ชูฉัตร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีทราน (ไทยแลนด์) จำกัด มีวิสัยทัศน์ที่ต้องการส่งเสริมให้รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเป็นตัวเลือกของคนไทยในการใช้งาน เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนของรถน้ำมัน ลดมลพิษ ทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น และยังวางเป้าที่จะหาโมเดลธุรกิจที่ทำให้คนไทยทุกคนเข้าถึงยานยนต์ไฟฟ้าได้

“เราไม่คิดว่ายานยนต์ไฟฟ้าเป็นสินค้าของคนมีเงินเท่านั้น แต่ทุกคนควรจะเข้าถึงได้” สรณัญช์กล่าว

หลังจากระดมทุน Series A ร่วมกับงบสนับสนุนการวิจัยจาก สำนักงานสภานโยบาย การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กว่า 16 ล้านบาท เงินทุนดังกล่าวจะนำมาใช้ใน 3 ด้านคือ 1.เพิ่มไลน์ผลิตให้ได้ในระดับเพื่อการค้าพาณิชย์ 2.โครงสร้างพื้นฐาน สถานีชาร์จและเปลี่ยนแบตเตอรี่ และ 3.ทำการตลาด

ผู้บริหารและนักลงทุน บริษัท อีทราน (ไทยแลนด์) จำกัด

รวมถึงบริษัทจะยกระดับไปสู่การเป็น “มืออาชีพ” โดยมีคณะกรรมการบริหาร (Board of Directors) เพิ่มเติมจำนวน 3 ท่าน ได้แก่

  1. ศิโรตม์ เสตะพันธุ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง Managing Partner บริษัท เอ็กซ์ฟอร์แม็ท จำกัด มีประสบการณ์ด้านการเงินและการลงทุนมากกว่า 25 ปี เคยดำรงตำแหน่งในกระทรวงการคลัง และ บริษัท เจพีมอร์แกน
  2. ฐิติ ตวงสิทธิตานนท์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท Dole Packaged Foods มีประสบการณ์ด้านการพัฒนาธุรกิจและการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ มากกว่า 20 ปี เคยดำรงตำแหน่งใน Coca-Cola, Mars, และ Royal Canin
  3. ธันวา มหิทธิวาณิชชา ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง Partner บริษัท แกรนท์ ธอนตัน จำกัด มีประสบการณ์เกี่ยวกับกฎหมายและมาตรการภาษีมากกว่า 15 ปี เคยดำรงตำแหน่งในบริษัท PricewaterhouseCoopers

ด้วยโครงสร้างบริษัทที่แกร่งขึ้น สรณัญช์กล่าวว่า เป้าหมายของบริษัทจากนี้ ต้องการจะมีส่วนแบ่งตลาดรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าไทย 50% ภายใน 3 ปี โดยมีกลุ่มเป้าหมายลูกค้า 4 กลุ่มคือ ไรเดอร์ขนส่ง, ‘พี่วิน’ มอเตอร์ไซค์, หน่วยงานราชการ และกลุ่มคนรักรถมอเตอร์ไซค์

ETRAN MYRA รุ่นใหม่สำหรับไรเดอร์จัดส่งเดลิเวอรี่ เน้นความเพรียวบาง ซอกแซกง่าย มีที่วางกระเป๋าไว้ด้านหลัง

ชัยสิทธิ์ สัมฤทธิวณิชชา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ดี.รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NDR นักลงทุนรายใหญ่ที่ร่วมกับอีทราน มองว่า บริษัทอีทรานจะเติบโตได้ 15-20% ในปีนี้ วางเป้ารายได้ไว้ที่ 300-500 ล้านบาท ส่วนปี 2565 น่าจะทำรายได้แตะ 1,000 ล้านบาทและน่าจะเป็นปีที่เริ่มทำกำไร

โดยบริษัทเลือกเข้าลงทุนในอีทรานเพื่อหา New S-curve ให้บริษัท NDR เชื่อว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าจะเป็นอนาคต และเพิ่งจะเริ่มเข้าสู่วัฏจักรการเติบโต เหมาะแก่การเริ่มลงทุน

 

แก้ปัญหาผู้ใช้ สร้าง “สถานีเปลี่ยนแบตฯ” ในเมือง

หนึ่งในปัญหาหลักที่ทำให้คนกลัวการเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าคือ ขณะนี้แบตเตอรี่ยังชาร์จได้ช้า ต้องใช้เวลา 2-4 ชั่วโมงในการชาร์จ ไม่สอดคล้องกับการใช้งานจริง ดังนั้น อีทรานจะเข้ามาแก้ปัญหา และทำให้โมเดลธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าเป็นจริงได้

สรณัญช์กล่าวว่า อีทรานจะตั้ง “สถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่” รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ตั้งเป้า 100 จุดทั่วกรุงเทพฯ (50 เขต เขตละ 2 จุด) ตั้งในห้างสรรพสินค้า อาคารพาณิชย์ หรือพื้นที่ของบริษัท เฟสแรกเริ่ม 3 จุดก่อน แต่ยังไม่ระบุว่าเป็นที่ไหน

ภาพต้นแบบ “สถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่” ของ ETRAN

วิธีใช้งานคือ ผู้ใช้รถของอีทรานจะต้องจองเวลาผ่านแอปฯ ว่าจะเข้ามาเปลี่ยนแบตฯ เวลาใด จากนั้นเข้ามาเปลี่ยนแบตเตอรี่ลูกใหม่ได้เลย ไม่ต้องรอชาร์จ เชื่อว่าจะช่วยจูงใจให้การใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าน่าสนใจขึ้น

 

รุ่นใหม่ “MYRA” รถเช่าเพื่อไรเดอร์ส่งเดลิเวอรี่

ความเคลื่อนไหวอีกอย่างหนึ่งในปีนี้ของอีทรานคือ จะเปิดตัวรถรุ่นใหม่ MYRA ในเดือนมิถุนายนนี้ เป็นโมเดลรถที่ออกแบบมาเพื่อกลุ่ม “ไรเดอร์” ส่งพัสดุ อาหาร เดลิเวอรี่โดยเฉพาะ ด้านหลังใช้วางกล่องใส่ของ วิ่งได้สูงสุด 190 กม.ต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง ทำความเร็วสูงสุด 120 กม./ชม.

โดยช่วงแรกจะบริการแบบให้เช่าเริ่มต้นวันละ 1xx บาท เปิดเช่าทั้งแบบ B2B กับบริษัทที่ต้องการฟลีตรถมอเตอร์ไซค์ของตนเอง และราย่อยแบบ B2C ก่อนจะเปิดขายในระยะถัดไป

รถรุ่น MYRA นี่เองที่จะเป็นเรือธงสำคัญ เป็นซัพพลายที่ต้องเติบโตคู่ไปกับสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่่ โดยสรณัญช์ระบุว่า บริษัทตั้งเป้าให้เช่าหรือขายเฉพาะรถรุ่นนี้ 100 คันต่อเดือน เชื่อว่าจะมีรถวิ่งในตลาดสะสม 5,000 คันภายใน 3-4 ปี

 

โอกาสธุรกิจ…ที่ต้องการรัฐส่งเสริม

ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าในระดับโลกเริ่มเห็นความเป็นไปได้มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะในยุโรป สหรัฐฯ หรือจีน ต่างส่งเสริมรถอีวีทั้งนั้น

โดย “อาร์ชวัส เจริญศิลป์” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อีทราน (ไทยแลนด์) จำกัด มองว่าตลาดนี้เริ่มเติบโตในระดับหนึ่งจนทำให้ต้นทุนและเทคโนโลยีการผลิตเริ่มเข้าถึงได้จริงแล้ว และเห็นว่าประเทศไทยเริ่มให้ความสำคัญ จากการที่รัฐบาลตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้า

ในประเด็นนี้ มองว่าการสนับสนุนจากรัฐที่จะช่วยให้ธุรกิจนี้เติบโตได้ดีที่สุดคือ 1.สนับสนุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานประเภทสถานีชาร์จและเปลี่ยนแบตเตอรี่ 2.ลดภาษีสรรพสามิตให้กับกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า 3.สนับสนุน BOI ให้กับผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และ 4.สนับสนุนให้หน่วยงานราชการจัดซื้อจัดจ้างใช้งาน เพราะจะเป็นสัญญาณสำคัญว่าภาครัฐ ‘เอาจริง’ ในการส่งเสริม

สำหรับบริษัทเองก็จะเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพขึ้นเรื่อยๆ ให้แบตเตอรี่หนึ่งลูกวิ่งได้ไกลขึ้น ชาร์จเร็วขึ้น ปลอดภัย และลดต้นทุนการผลิตให้คนทุกคนเข้าถึงได้แบบ ‘ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ โดยปีนี้ยังมีพัฒนามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าอยู่อีก 2 รุ่น เชื่อว่าจากนี้จะกดราคาลงให้ต่ำได้ถึง 50,000 บาทต่อคัน เป็นราคาที่เข้ามาตีตลาดรถน้ำมันได้แล้ว