Pull&Bear – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 11 Jan 2021 09:31:14 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 3 แบรนด์เสื้อผ้าเครือ Zara “ปิดสาขา” หน้าร้านทั้งหมดใน “จีน” ลุยออนไลน์เต็มตัว https://positioningmag.com/1313646 Mon, 11 Jan 2021 08:42:09 +0000 https://positioningmag.com/?p=1313646 3 แบรนด์ย่อยในเครือบริษัทเดียวกับ Zara ได้แก่ Bershka, Pull&Bear และ Stradivarius เตรียมปิดหน้าร้านสาขาทั้งหมดในประเทศจีน และมุ่งสู่การขายออนไลน์เท่านั้น ตามแผนธุรกิจใหม่ของบริษัทแม่ รับมือตลาดจีนที่เป็นเรดโอเชียนธุรกิจเสื้อผ้าแฟชั่น

Woman’s Wear Daily รายงานอ้างอิงแหล่งข่าววงในว่า บริษัทฟาสต์แฟชั่น Inditex ยักษ์ใหญ่จากสเปน เตรียมปิดสาขาหน้าร้านออฟไลน์ทั้งหมดในจีนของ 3 แบรนด์ในเครือ ได้แก่ Bershka, Pull&Bear และ Stradivarius เหลือเฉพาะการขายออนไลน์เท่านั้น โดยปัจจุบันทั้ง 3 แบรนด์มีแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซบนหน้าเว็บไซต์ของตนเอง ร้านค้าทางการบน Tmall และโปรแกรมไลฟ์ขายของบน WeChat

ทำให้เครือ Inditex จะมี 4 แบรนด์ในจีนที่ยังมีร้านค้าแบบออฟไลน์อยู่ คือ Zara, Zara Home, Massimo Dutti และ Oysho

ตั้งแต่ปี 2020 บริษัท Inditex ทยอยปิดสาขาของทั้ง 3 แบรนด์ดังกล่าวรวมกว่า 120 แห่ง จนกระทั่งขณะนี้แต่ละแบรนด์มีสาขาเหลือแบรนด์ละประมาณ 10-12 สาขาเท่านั้น โดยมีเฉพาะในเมืองใหญ่ เช่น เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง เสิ่นเจิ้น

หน้าร้าน Pull&Bear ในเมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ภาพเมื่อเดือนธ.ค. 2018 (Photo : Shutterstock)

การปิดสาขาเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนปรับใหญ่ของ Inditex ที่ต้องการจะ “ทำให้เป็นดิจิทัล” ทั้งบริษัท โหมการค้าออนไลน์เพื่อรับมือกับผลของโรคระบาด COVID-19 เมื่อช่วงกลางปี 2020 บริษัทจึงประกาศเตรียมปิดสาขาแบรนด์ Zara ถึง 1,200 สาขาทั่วโลก และตั้งเป้าจะมีสัดส่วนการขายจากช่องทางออนไลน์ 25% ของยอดขายรวมภายในปี 2022

3 แบรนด์ย่อยดังกล่าวมีคาแร็กเตอร์ที่แตกต่างจาก Zara โดย Bershka วางกลุ่มเป้าหมายเป็นวัยรุ่นสไตล์คนเมือง Pull&Bear จำหน่ายเสื้อผ้าที่กำลังฮิตในกลุ่มวัยรุ่นอเมริกัน ขณะที่ Stradivarius เป็นเสื้อผ้าวัยรุ่นที่มีความคิดสร้างสรรค์ ทั้งหมดเข้าสู่ตลาดจีนมาแล้วหลายปี แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่ากับแบรนด์ Zara ด้วยสภาพตลาดจีนแข่งขันสูงและลูกค้ามีรสนิยมที่ละเอียดอ่อนมาก

ปัจจุบัน นับได้ว่าแบรนด์ต่างประเทศในกลุ่มฟาสต์แฟชั่นที่เข้าจีนแล้วติดตลาดจริงๆ มีเพียงแค่ Zara จากสเปน H&M จากสวีเดน และ Uniqlo จากญี่ปุ่น

Source: S&P Global Market Intelligence, Yicai Global

]]>
1313646
Zara เตรียมปิด 1,200 สาขาทั่วโลก วงการ “ฟาสต์แฟชั่น” ปรับเกมใหม่ มุ่ง “ขายออนไลน์” https://positioningmag.com/1283141 Thu, 11 Jun 2020 10:02:18 +0000 https://positioningmag.com/?p=1283141 วงการฟาสต์เเฟชั่นต้องปรับตัวครั้งใหญ่หลัง COVID-19 ล่าสุด Inditex บริษัทแม่ของเเบรนด์ดังอย่าง Zara เตรียมปิดร้านค้าขนาดเล็กประมาณ 1,000-1,200 สาขาทั่วโลก ภายในช่วง 2 ปีนี้ พร้อมโฟกัสเฉพาะสาขาใหญ่หันมาบุกตลาดออนไลน์เต็มสูบ

ผลกระทบจากการเเพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ผลประกอบการของ Inditex ขาดทุนรายไตรมาสเป็นครั้งแรกในช่วงต้นปีที่ผ่านมา จากการปิดร้านค้าชั่วคราวตั้งเเต่เดือน ก.พ. ถึง เม.ย. เกือบ 90% ของสาขาทั่วโลกมาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศ

หนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา Zara มีการเติบโตอย่างรวดเร็วเเละมีสาขากว่า 7,500 แห่งทั่วโลกใน 96 ประเทศ แต่การเเพร่ระบาดของไวรัส ทำให้มีเพียง 965 สาขาเท่านั้นที่สามารถเปิดได้ในไตรมาสแรกของปีนี้

ในไตรมาส 1/2020 Inditex มียอดขายลดลง 44% คิดเป็นมูลค่าราว 3.3 พันล้านยูโร (ราว 1.1 แสนล้านบาท) นับตั้งเเต่ 1 ก.พ. ถึง 30 เม.ย. ส่งผลให้มีผลขาดทุนสุทธิ 409 ล้านยูโร (ราว 1.4 หมื่นล้านบาท)

ขณะเดียวกัน ถือเป็นโอกาสขยายเติบโตของอีคอมเมิร์ซ โดยยอดขายออนไลน์ของแบรนด์เพิ่มขึ้นถึง 50% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นกว่า 95% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

โดยล่าสุดพบว่า ยอดขายของร้านค้าในเอเชีย เช่น จีนและเกาหลีใต้ เริ่มกลับมาเกือบเท่าช่วงก่อน COVID-19 แล้ว ซึ่งบริษัทประเมินว่าจะสามารถกลับมาเปิดร้านค้าในตลาดสำคัญได้ภายในสิ้นเดือนมิ.ย.นี้

จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปนี้จึงนำมาสู่การปรับ “เเผนใหม่” ของ Inditex ที่มีเเบรนด์ในเครืออย่าง Zara, Pull&Bear, Bershka และ Massimo Dutti ฯลฯ เพื่อจะหันมาลงทุนด้านขายออนไลน์อย่างเต็มที่

ในช่วง 3 ปีนี้บริษัทวางเเผนจะทุ่มงบ 1 พันล้านยูโร (ราว 3.5 หมื่นล้านบาท) ในการพัฒนาด้านการขายออนไลน์ และอีก 1.7 พันล้านยูโร (ราว 6 หมื่นล้านบาท) พัฒนาร้านค้าเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ในการช้อปปิ้ง เเละเพิ่มเทคโนโลยีเชื่อมต่อกันทั้งออฟไลน์เเละออนไลน์ โดยจะให้สาขาใหญ่เป็นศูนย์จัดส่งสินค้าเพื่อสนับสนุนการขายออนไลน์

Inditex ตั้งเป้าว่าจะทำยอดขายออนไลน์ให้เพิ่มขึ้นมากกว่า 25% ของยอดรวมภายในปี 2022 เมื่อเทียบกับ 14% ที่สามารถทำได้ในปี 2019

Pablo Isla ซีอีโอของ Inditex ระบุในเเถลงการณ์ว่า เป้าหมายสำคัญที่จะทำให้ได้ภายในปี 2022 คือการเร่งปรับให้ร้านค้ามีความ “ครบวงจร” สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ต่อเนื่อง ไม่ว่าพวกเขาจะใช้ดีไวซ์อะไร หรืออยู่บนเเพลตฟอร์มใดก็ตาม

การตัดสินใจเดินหน้าลุยขายออนไลน์ของบริษัทเเฟชั่นยักษ์ใหญ่ครั้งนี้ ชี้ให้เห็นว่าอีคอมเมิร์ซจะมีบทบาทสำคัญในระยะยาว เพราะนอกเหนือจากผู้ครองตลาดฟาสต์แฟชั่นอย่าง Inditex เเล้ว คู่เเข่งสำคัญอย่าง H&M, Uniqlo รวมถึงคู่แข่งออนไลน์ที่กำลังได้รับความนิยมอย่าง Asos และ Boohoo ในสหราชอาณาจักร ต่างประสบความสำเร็จในการปรับตัวมาขายออนไลน์ ในช่วงมาตรการล็อกดาวน์เช่นกัน

โดยผลประกอบการไตรมาสแรกของ H&M ติดลบอย่างหนักเป็นครั้งแรกในรอบทศวรรษ โดยเฉพาะในจีนที่เป็นตลาดใหญ่ ทำให้ยอดขายรวมในเดือนมี.ค.ลดลง 46% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะเดียวกันยอดขายออนไลน์กลับเติบโตเพิ่มขึ้น 17%

ดังนั้น H&M จึงเตรียมเปิดตัวเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซของแบรนด์ H&M ในออสเตรเลียในปลายปีนี้ พร้อมจะส่งแบรนด์ไลฟ์สไตล์อย่าง Arket ไปลุยตลาดเอเชียบนอีคอมเมิร์ซ Tmall ของอาลีบาบาในเดือนส.ค.นี้ เพื่อรับมือกับความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปหลังผ่านพ้น COVID-19

อย่างไรก็ตาม การหันมาขายออนไลน์ของกลุ่มสินค้าเสื้อผ้าโดยเฉพาะกลุ่ม “ฟาสต์แฟชั่น” อาจไม่ง่ายขนาดนั้น เพราะเสื้อผ้าแฟชั่นกลายเป็นสิ่งที่ “ไม่จำเป็น” ในช่วงนี้ ด้วยกำลังซื้อที่ลดลงและผู้คนมีเเนวโน้มจะประหยัดค่าใช้จ่ายและอดออมมากขึ้น

 

ที่มา : businessinsider , reuters , theguardian

 

]]>
1283141