“ฟาสต์เเฟชั่น” พลิกเกมบุก “ออนไลน์” ดันยอดขาย Zara พุ่ง กลับมามีกำไรในไตรมาส 2

วิกฤต COVID-19 ทำให้วงการฟาสต์เเฟชั่นต้องปรับปรับกลยุทธ์ขนานใหญ่ จากที่เคยบุกขยายสาขา ต้องเปลี่ยนมามุ่งออนไลน์เต็มสูบ เเละในที่สุดก็เริ่มเห็นผล เมื่อ Inditex บริษัทแม่ของเเบรนด์ดังอย่าง Zara พลิกกลับมาทำกำไรอีกครั้งในไตรมาส 2 โดยมียอดขายออนไลน์เป็นพระเอก

ย้อนกลับไปในช่วงที่มีการระบาดรุนเเรง ทำให้ผลประกอบการของ Inditex ขาดทุนรายไตรมาสเป็นครั้งแรกในช่วงต้นปีนี้ เนื่องจากต้องปิดร้านค้าชั่วคราวตั้งเเต่เดือน ก.. ถึง เม.. เกือบ 90% ของสาขาทั่วโลกมาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศ

หนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา Zara มีการเติบโตอย่างรวดเร็วเเละมีสาขากว่า 7,500 แห่งทั่วโลกใน 96 ประเทศ แต่การเเพร่ระบาดของไวรัส ทำให้มีเพียง 965 สาขาเท่านั้นที่สามารถเปิดได้ในไตรมาสแรกของปีนี้

ในไตรมาส 1/2020 Inditex มียอดขายลดลง 44% คิดเป็นมูลค่าราว 3.3 พันล้านยูโร (ราว 1.1 แสนล้านบาท) นับตั้งเเต่ 1 ก.พ. ถึง 30 เม.ย. ส่งผลให้มีผลขาดทุนสุทธิ 409 ล้านยูโร (ราว 1.4 หมื่นล้านบาท)

แม้ยอดขายจะลดลง 31% ในช่วงไตรมาส 2 ระหว่างเดือนพ... เพราะผู้คนยังหลีกเลี่ยงการอยู่ในย่านช้อปปิ้ง เเต่ผลกำไรของ Inditex ในไตรมาสนี้ กลับสามารถทำกำไรได้ที่ 214 ล้านยูโร (ราว 7.9 พันล้านบาท) สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ถึง 96 ล้านยูโร

ปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้ Inditex ฟื้นมามีกำไรได้อีกครั้ง คือยอดขายออนไลน์ที่พุ่งกระฉุดกว่า 74% บ่งชี้ว่าการปรับกลยุทธ์ของธุรกิจฟาสต์เเฟชั่น ที่ผสมทั้งออนไลน์เเละสาขาเข้าด้วยกันนั้นประสบความสำเร็จ

โดยบริษัทเพิ่งมียอดสั่งซื้อทะลุ 1 ล้านรายการในวันเดียวเป็นครั้งแรก เเละนอกจากเเบรนด์ชูโรงอย่าง Zara เเล้ว เเบรนด์อื่นๆ ในเครืออย่าง Massimo Dutti, Bershka และ Stradivarius ก็มีผู้เข้าชมออนไลน์เกือบ 3,000 ล้านครั้ง เเละล่าสุดมีผู้ติดตามรวมกว่า 190 ล้านคนบนโซเชียลมีเดีย

Photo : Shutterstock

ก่อนหน้านี้ Inditex ประกาศว่า ในช่วง 3 ปีนี้บริษัทวางเเผนจะทุ่มงบ 1 พันล้านยูโร (ราว 3.5 หมื่นล้านบาท) ในการพัฒนาด้านการขายออนไลน์ และอีก 1.7 พันล้านยูโร (ราว 6 หมื่นล้านบาท) พัฒนาร้านค้าเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ในการช้อปปิ้ง เเละเพิ่มเทคโนโลยีเชื่อมต่อกันทั้งออฟไลน์เเละออนไลน์ โดยจะให้สาขาใหญ่เป็นศูนย์จัดส่งสินค้าเพื่อสนับสนุนการขายออนไลน์

Inditex ตั้งเป้าว่าจะทำยอดขายออนไลน์ให้เพิ่มขึ้นมากกว่า 25% ของยอดรวมภายในปี 2022 เมื่อเทียบกับ 14% ที่สามารถทำได้ในปี 2019

ด้านสถานการณ์ของสาขาในเครือ Inditex ตอนนี้กว่า 98% ได้กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งโดยยอดขายในร้านเริ่มฟื้นตัวขึ้น โดยเฉพาะร้านค้าในเอเชีย เช่น จีนและเกาหลีใต้ ที่กลับมาเกือบเท่าช่วงก่อน COVID-19 แล้ว

นอกจากนี้ การลดต้นทุนของบริษัทในช่วงที่ผ่านมา ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้บริษัทฟื้นกลับมาทำกำไรอีกครั้งได้เร็วขึ้น โดยครึ่งปีนี้บริษัทปรับลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้ถึง 21% รวมถึงการจัดการสินค้าคงคลัง เน้นการผลิตในสเปนเเละประเทศใกล้เคียง อีกทั้งยังตั้งเป้าจะปิดร้านค้าขนาดเล็กประมาณ 1,000-1,200 สาขาทั่วโลก ภายในช่วง 2 ปีนี้ เพื่อโฟกัสเฉพาะสาขาใหญ่เท่านั้น

เหล่านักช้อปเริ่มกลับมาซื้อสินค้าแฟชั่นอีกครั้งหลังร้านต่างๆ กลับมาเปิดอีกครั้งตามปกติ โดย JP Morgan ระบุว่ายอดขายเสื้อผ้าแฟชั่นในยุโรปลดลงราว 15% ในเดือนก.. ฟื้นตัวขึ้นจากเดือนพ.. ที่ลดลงถึง 42%

ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคก็มีการเลือกซื้อเสื้อผ้าที่เปลี่ยนไปเช่นกัน เช่นมีการสั่งซื้อเสื้อผ้าที่สวมใส่สบายและไม่เป็นทางการมากขึ้น เมื่อต้องทำงาน Work from Home เเละงานสังสรรค์ปาร์ตี้ต่างๆถูกยกเลิกไปในช่วงที่ผ่านมา

 

ที่มา : Reuters , Business Insider