Salad Factory – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 26 Aug 2024 10:59:45 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 “สลัดแฟคทอรี่” ไม่ได้มีแค่สลัด! คอลแลป “S-Pure” จัดเมนูเจาะ Gen Z – แผนปีนี้บุกเปิดใน “โรงพยาบาล” https://positioningmag.com/1487440 Mon, 26 Aug 2024 09:16:23 +0000 https://positioningmag.com/?p=1487440 สลัดแฟคทอรี่วางเป้าการตลาดสื่อสารว่าร้านนี้ ไม่ได้มีแค่สลัดทำแคมเปญคอลแลป ”S-Pure” พัฒนาเมนูจาก อกไก่กรุยทางเจาะกลุ่มลูกค้า “Gen Z” ปี‘67 วางเป้าเปิดรวม 9 สาขา ลุยพื้นที่ใหม่กลุ่ม โรงพยาบาล”

“ปิยะ ดั่นคุ้ม” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กรีนฟู้ด แฟคทอรี่ จำกัด ผู้ก่อตั้งร้านอาหารสุขภาพ “สลัดแฟคทอรี่” (Salad Factory) (*ปัจจุบันอยู่ในเครือ CRG ซึ่งถือหุ้น 51%) เปิดเผยกลยุทธ์การทำตลาดหลังจากนี้ต้องการดึงดูดลูกค้ากลุ่มใหม่เข้ามาให้มากขึ้น โดยมุ่งเน้นไปที่กลุ่ม “Gen Z” ซึ่งยังไม่รู้จักร้านมากนัก

“ปกติลูกค้าหลักเรามักจะเป็นกลุ่มครอบครัว กลุ่มวัยทำงาน 25 ปีขึ้นไป แต่จริงๆ ยุคนี้แม้แต่วัยรุ่น Gen Z ก็รักสุขภาพมากขึ้น อาหารสุขภาพไม่ได้เป็นเรื่องของผู้ใหญ่เท่านั้น ทำให้ต้องการจะทำตลาดคนรุ่นใหม่” ปิยะกล่าว “แต่จากการสำรวจตลาดพบว่า Gen Z ยังไม่รู้จักร้านเรา หรือมีมุมมองว่าร้านชื่อสลัดก็น่าจะมีแต่ผักซึ่งทำให้คน Gen Z อาจจะไม่อยากเข้าร้าน”

โจทย์นี้ทำให้สลัดแฟคทอรี่จะมีการทำการตลาดที่สื่อสารตรงกับ Gen Z มากกว่าเดิมทั้งเชิงช่องทางโซเชียลมีเดียและลักษณะคอนเทนต์ เพื่อสื่อสารว่าร้านนี้ “ไม่ได้มีแค่สลัด” เพราะมีเมนูอื่นๆ ที่เพื่อนๆ ทั้งกลุ่มมาทานด้วยกันได้

ดร.โอลิเวอร์ ก็อตชัลล์” ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจอาหาร บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) และ “ปิยะ ดั่นคุ้ม” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กรีนฟู้ด แฟคทอรี่ จำกัด

 

คอลแลป “S-Pure” ชูเมนูจากอกไก่

ปีนี้ร้านยังพัฒนาเมนูใหม่กลุ่มเนื้อสัตว์มากขึ้นด้วย โดยมีแคมเปญพิเศษ “สุข ฉ่ำ เต็มอก” ซึ่งใช้ผลิตภัณฑ์อกไก่ “S-Pure” จากเบทาโกรมาพัฒนาเมนู 5 เมนูใหม่ ได้แก่ สเต๊กอกไก่บาร์บีคิวเอสเพียวสับปะรดและพริกหวาน, พิซซ่าอกไก่กรอบเอสเพียวฮาวายเอียน, สลัดอกไก่กรอบเอสเพียวยูสุผลไม้รวม, สเต๊กอกไก่ย่างเอสเพียวซอสทรัฟเฟิลพาร์มีซานชีสและผักโขม และสเต๊กอกไก่ย่างเอสเพียวและซัลซาอโวคาโดผลไม้ เปิดจำหน่ายระหว่างวันที่ 8 ส.ค. – 30 ก.ย. 67 เท่านั้น

ปิยะชี้ให้เห็นว่าเมนูใหม่แคมเปญนี้มี 2 เมนูที่ใช้ “ไก่ทอดกรอบ” และมีเมนูที่ลักษณะเป็น “พิซซ่า” ด้วย เพื่อดึงดูดใจคนรุ่นใหม่มากขึ้น

สลัดอกไก่กรอบเอสเพียวยูสุผลไม้รวม ใช้ของทอดเข้ามาช่วยดึงดูดกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น

ด้าน “ดร.โอลิเวอร์ ก็อตชัลล์” ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจอาหาร บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงแบรนด์ S-Pure ว่าเป็นโปรดักส์ระดับพรีเมียมสูงสุดของบริษัท มีจุดเด่นที่การทำฟาร์มแบบพิเศษ เลี้ยงสัตว์ด้วยอาหารซินไบโอติกส์ ปราศจากฮอร์โมนและยาปฏิชีวนะ ทำให้ดีต่อสุขภาพของผู้รับประทาน

ส่วนการคอลแลปกับร้านอาหาร นำผลิตภัณฑ์ S-Pure มาคิดค้นเมนูและโปรโมตร่วมกันก็เป็นช่องทางหนึ่งที่จะทำให้ลูกค้ารู้จักคุณสมบัติของ S-Pure มากขึ้น และช่วยสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าร้านอาหารด้วย

 

ขยายเข้า “โรงพยาบาล”

สำหรับการขยายสาขาของ “สลัดแฟคทอรี่” ปิยะระบุว่าเมื่อสิ้นปี 2566 ร้านมีทั้งหมด 39 สาขา ปี 2567 วางเป้าขยายเพิ่ม 9 สาขา ซึ่งจะทำให้สิ้นปีนี้มีสลัดแฟคทอรี่ทั้งหมด 48 สาขา ถือเป็นร้านอาหารสุขภาพที่มีจำนวนสาขามากที่สุดในไทย

ทั้งนี้ ปีนี้มีพื้นที่ตั้งร้านใหม่ๆ ที่บุกเข้าไปมากขึ้นคือ “โรงพยาบาล” เพราะสอดคล้องกับโปรดักส์ มีกลุ่มคนรักสุขภาพและกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่น่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมาย

สลัดแฟคทอรี่
สลัดแฟคทอรี่ สาขาโรงพยาบาลเมดพาร์ค

โดยสลัดแฟคทอรี่เคยเปิดสาขาแรกใน “โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์” เมื่อปี 2564 ก่อนที่ปีนี้จะขยายไปอีก 4 สาขาคือ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์, โรงพยาบาลเมดพาร์ค, โรงพยาบาลพระราม 9 และโรงพยาบาลวิภาวดี

ลักษณะร้านในโรงพยาบาลจะเน้นเป็นโมเดล ‘Compact Store’ เป็นร้านขนาดกลาง 100-120 ตารางเมตร 40-50 ที่นั่ง เสิร์ฟอาหาร 70-80% ของจำนวนเมนูปกติที่มีในร้านสเกล ‘Full Restaurant’

ปิยะกล่าวว่า ถ้าเป็นไปได้ก็ต้องการขยายสาขาในโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง แต่เป็นกลุ่มธุรกิจที่หาที่เช่าไม่ง่ายนัก เพราะพื้นที่เชิงพาณิชย์ในโรงพยาบาลมักจะมีจำกัด

สลัดแฟคทอรี่
สลัดแฟคทอรี่ สาขาอารีย์ซอย 2 เป็นร้านแบบ Full Restaurant จุได้มากกว่า 60 ที่นั่ง และมีที่จอดรถ

ตลาดร้านอาหารสุขภาพในเมืองไทยเป็นเทรนด์ที่มาแรงมากในระยะหลัง ปิยะมองว่ามูลค่าตลาดเมื่อปี 2566 น่าจะแตะ 4,500 ล้านบาท และยังโตต่อเนื่องทุกปี

ในส่วนของบริษัท กรีนฟู้ด แฟคทอรี่ จำกัด เมื่อปี 2566 ทำรายได้ไป 593 ล้านบาท ขณะที่ปี 2567 ตั้งเป้ารายได้แตะ 750 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้น 18% จากปีก่อนหน้า

“ปัจจุบันตลาดร้านอาหารสุขภาพมีประมาณ 3 เจ้าใหญ่ที่นำตลาด แต่จำนวนผู้เล่นก็เพิ่มขึ้นสูงมาก จากยุคสิบปีก่อนมีเพียง 3-4 แบรนด์ ขณะนี้มีคู่แข่งมากกว่า 20 แบรนด์ แต่คิดว่าตลาดยังมีพื้นที่ให้เล่นให้โตได้อีก เพียงแต่ว่าผู้เล่นใหม่เข้ามาก็จะต้องวางคอนเซ็ปต์ให้ชัดเจนว่าขายอะไรเป็นหลักและขายใคร” ปิยะกล่าวปิดท้าย

]]>
1487440
เจาะแผน ‘Salad Factory’ กับเป้าหมายเป็นแบรนด์ร้านอาหารเพื่อสุขภาพที่ “ทานได้ทุกวัน” https://positioningmag.com/1440135 Tue, 08 Aug 2023 03:06:48 +0000 https://positioningmag.com/?p=1440135 นับตั้งแต่เกิดการระบาดของ COVID-19 ตลาดร้านสลัดและเฮลท์ตี้ฟู้ดก็คึกคักนับตั้งแต่นั้นมา โดยในปี 2022 มีมูลค่าสูงถึง 4,000 ล้านบาท เติบโตกว่า 50% ทั้งด้านมูลค่าและร้านอาหาร โดยหนึ่งในแบรนด์ที่บุกเบิกตลาดก็คือ ‘Salad Factory (สลัดแฟคทอรี่)’ ร้านสลัดเพื่อสุขภาพที่เปิดมาตั้งแต่ปี 2013 ก็ต้องเร่งเครื่องในยุคที่การแข่งขันสูงขึ้นแบบนี้

ผู้เล่นมากขึ้นกว่า 20 แบรนด์

ปิยะ ดั่นคุ้ม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กรีนฟู้ด แฟคทอรี่ เจ้าของร้าน สลัด แฟคทอรี่ เล่าว่า หากย้อนไปช่วง 10 ปีก่อนที่ร้าน Salad Factory เกิดขึ้นมา เชนแบรนด์ร้านอาหารเพื่อสุขภาพมีไม่ถึง 5 แบรนด์ แต่ปัจจุบันมีกว่า 20 แบรนด์ รวมกันหลายร้อยสาขาทั่วไทย เนื่องจากเทรนด์ดูแลสุขภาพมาแรงตั้งแต่โควิดระบาด

“เมื่อก่อนตลาดร้านอาหารกลุ่มร้านสลัดหรือร้านอาหารเพื่อสุขภาพยังไม่ถูกนับแยกออกมาด้วยซ้ำ แต่ตอนนี้คนหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น เพราะเขามองว่าอาหารเป็นเหมือนด่านแรกในการดูแลสุขภาพ ตอนนี้ลูกค้ารู้ข้อมูลด้านอาหารการกินพอ ๆ กับเราที่เป็นเจ้าของร้านเลย”

อย่างไรก็ตาม ปิยะ มองว่า แม้ปัจจุบันคู่แข่งจะเพิ่มมากขึ้น แต่ด้วยความที่ร้านอาหารสุขภาพไม่ได้มีความ ตายตัว เหมือนกับกลุ่มอื่น ๆ เช่น อาหารจีน หรือ อาหารไทย ที่มีเมนูคลาสสิกที่เหมือน ๆ กัน แต่อาหารสุขภาพมีมูฟเมนต์ มีเทรนด์ใหม่ ๆ เช่น แพลนท์เบส ทำให้สามารถรังสรรค์เมนูใหม่ ๆ เพื่อดึงดูดลูกค้าได้ ทำให้กลยุทธ์ของ Salad Factory จะเน้นไปที่ ประสบการณ์ของลูกค้า

เป็นร้านที่ทานได้ทุกวัน

ปิยะ เล่าว่า แม้ปัจจุบันลูกค้า Member ของ Salad Factory จะมีความถี่ในการรับประทานอาหารที่ร้านสูงถึงสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง มีการใช้จ่ายต่อคนเฉลี่ยที่ 200 บาท แต่ Salad Factory ต้องการจะเป็นร้านอาหารเพื่อสุขภาพที่ ทานได้ทุกวัน ดังนั้น ความหลากหลายจึงเป็นสิ่งสำคัญ

ทำให้ปัจจุบัน Salad Factory มีเมนูกว่า 200 เมนู และมีการจัดแคมเปญใหญ่ประมาณ 3-4 ครั้ง ตามฤดูกาล โดยจะเป็นการร่วมกับพันธมิตรในการนำวัตถุดิบใหม่ ๆ มาปรุงเป็นเมนูใหม่เพื่อสร้างสีสัน อีกทั้งสามารถสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับลูกค้าผ่าน Story Telling และกิจกรรม Workshop ต่าง ๆ เพื่อให้ลูกค้าสามารถมีประสบการณ์ร่วมกับแบรนด์ได้อีกด้วย

ล่าสุด Salad Factory จับมือกับ ธรรมชาติซีฟู้ด บริษัทผู้นำเข้าอาหารทะเล ในการจัดแคมเปญ Taste of New Zealand โดยนำเสนอเมนูอาหารสุขภาพที่นำเข้าวัตถุดิบจากนิวซีแลนด์ เช่น ปลาคิงคลิป ปลาโฮกิ มาผสมกับวัตถุดิบที่ดีของไทย ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าและความพิเศษของเมนู ช่วยเพิ่มความหลากหลายและประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับลูกค้า

“ลูกค้ามาทานเฉลี่ยสัปดาห์ละ 1-2 ครั้งก็ถือว่าสูงมากแล้ว แต่ความตั้งใจเราคือ อยากให้ลูกค้าทานได้ทุกวัน ดังนั้น ถ้ามีแต่เมนูเดิม ๆ เขาอาจจะเบื่อ เราเลยตั้งใจจะมีการทำแคมเปญใหญ่ตามฤดูกาล โดยจะเน้นนำวัตถุดิบเด่น ๆ จากท้องถิ่นไทยและจากต่างประเทศมารังสรรค์เมนูใหม่ ๆ”

เน้นขยายสาขาใหญ่ เพราะคนกลับมาทานที่ร้าน

ปัจจุบัน Salad Factory มีทั้งหมด 34 สาขา โดยปีที่ผ่านมาเปิดใหม่ประมาณ 12 สาขา ซึ่งมีการเปิด สาขาเล็ก ขนาดประมาณ 40 ตร.ม. ที่เน้นเดลิเวอรี่ แต่ปีนี้จะเปิดสาขาใหม่ประมาณ 8-9 สาขา จะเน้นไปที่ สาขาใหญ่ ขนาด 150 ตร.ม. เป็นหลัก เพราะลูกค้ากลับมาทานที่ร้านเหมือนเดิม 100% แล้ว

“เดลิเวอรี่ลดลงไปครึ่งหนึ่ง จากช่วงโควิดคิดเป็น 40% ของรายได้ ตอนนี้เหลือ 20% ส่วนการทานที่ร้านกลับมา 100% ตั้งแต่ Q2/2022 แล้ว”

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้จะยังโฟกัสพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลก่อน ส่วนตลาดต่างจังหวัดกำลังศึกษาเพราะเป็นตลาด Blue Ocean ยังสามารถเติบโตได้อีกมาก โดยอาจจะได้เห็นสาขาใหม่ ๆ ในต่างจังหวัดช่วงต้นปีหน้า ปัจจุบัน Salad Factory ในต่างจังหวัดมีเพียงสาขาเดียวที่พัทยา

“แม้มีคู่แข่งมากขึ้นแต่เราพยายามเดินตามแผนที่วางไว้ ไม่จำเป็นต้องเร่งขยายให้เยอะ อย่างตลาดต่างจังหวัดก็มีความท้าทายเรื่องการขนส่ง การบริหารจัดการ เราเลยไม่รีบเพราะต้องการคุมคุณภาพ และถ้าจะเปิดก็จะเน้นในห้างฯ เครือเซ็นทรัลเป็นหลักก่อน”

วางเป้ารายได้ New S-Curve เป็น 10% ใน 3-5 ปี

ในส่วนของกลุ่มลูก Salad Factory ในปัจจุบัน ปิยะ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ครอบครัว โดยกลุ่มนี้จะมองหาความอร่อย เข้าถึงง่าย เมนูหลากหลาย คุณภาพอาหารที่ดี ฟังก์ชันนอล กลุ่มลูกค้าที่มีเป้าหมายชัดเจนว่าต้องการทานเพื่อ ลดน้ำหนัก เพิ่มกล้ามเนื้อ สุดท้าย คนเมืองที่ชีวิตเร่งรีบ ต้องเดินทาง เวลาน้อยลงแต่อยากได้อาหารที่ดี ที่ผ่านมา หน้าร้านก็สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ทุกกลุ่ม

แต่ ปิยะ มองเห็นโอกาสของกลุ่มธุรกิจที่จะเป็น New S-Curve ใหม่ ก็คือ สลัดพร้อมทาน และ น้ำสลัด ที่วางขายในท็อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้จะยิ่งตอบโจทย์ชีวิตคนเมืองและสร้างการเติบโตให้กับ Salad Factory โดยปัจจุบันรายได้จากกลุ่ม New S-Curve คิดเป็นประมาณ 6% ของรายได้ทั้งหมด โดยภายใน 3-5 ปีต้องเพิ่มเป็น 10% และสำหรับรายได้ในปีนี้ ปิยะ คาดว่าจะอยู่ที่ 600 ล้านบาท เติบโต 50-60%

]]>
1440135
‘สลัดแฟคทอรี่’ ขอโตด้วยโมเดล ‘ไซซ์มินิ’ เข้าถึงง่าย ลิสต์ Plant-based ขึ้นเป็น ‘เมนูประจำ’  https://positioningmag.com/1371499 Wed, 02 Feb 2022 23:54:31 +0000 https://positioningmag.com/?p=1371499 ธุรกิจร้านอาหารต้องปรับตัวให้ยืดหยุ่นทั้งวิธีคิด เเนวทาง การจัดการเเละเมนูต่างๆ เมื่อโควิด-19 ยังไม่หายไปในเร็ววันเเถมยังต้องเเบกรับภาระต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นเรื่อยๆ

สลัดแฟคทอรี่’ (Salad Factory) ก็เป็นอีกหนึ่งร้านอาหารที่มีการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งการปรับร้านให้มีขนาดเล็กลง เพื่อให้ง่ายต่อการกระจายสาขา ขยายช่องทางเดลิเวอรี่ เพิ่มความสะดวกในการซื้อกลับบ้าน เเละล่าสุดกับการรุกตลาดเมนู Plant-based ที่กำลังเป็นเทรนด์อาหารเเห่งอนาคต

ปิยะ ดั่นคุ้ม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กรีนฟู้ด แฟคทอรี่ (สลัดแฟคทอรี่) บอกกับ Positioning ว่า ภาพรวมตลาดอาหารสุขภาพมีการเติบต่ออย่างต่อเนื่อง และไม่ใช่เป็นเพียงเทรนด์ที่มาแล้วไป แต่กลายเป็นตลาดที่ยั่งยืนเพราะคนหันมาใส่ใจดูเเลสุขภาพตัวเองมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยอาหารสุขภาพยังมีราคาที่ค่อนข้างสูงและเข้าถึงกลุ่มคนบางกลุ่มเท่านั้น เเนวทางของสลัดแฟคทอรี่จึงจะมุ่งไปที่การทำให้อาหารสุขภาพมีคุณภาพในราคาที่เหมาะสม ให้เข้าถึงง่ายยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มฐานลูกค้ารายใหม่ ๆ

ขยับขยายด้วย ‘ไซซ์มินิ’ 

ปัจจุบันสลัดแฟคทอรี่ มีสาขาอยู่ทั้งหมด 20 สาขา เน้นเจาะกลุ่มวัยทำงาน ชาวออฟฟิศเเละผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ ปีนี้ตั้งเป้าจะขยายให้ได้อีกราว 10-15 สาขาหลังสถานการณ์โรคระบาดเริ่มคลี่คลาย ประชาชนเริ่มออกมาทานอาหารนอกบ้านกันปกติ

โดยรูปเเบบการขยายสาขาจะเเตกต่างออกไป ซึ่งจะมุ่งเน้นไปที่โมเดล ‘Mini store’ ในสถานีบริการน้ำมันหรือไฮเปอร์มาร์เก็ตหรือตามโรงพยาบาลมากกว่าการเปิดสาขาสเเตนด์อะโลนเเบบเดิม

ก่อนโควิดเรามีโมเดลเดียวคือเปิด Full-Shop ไปเลย เเต่ตลอดช่วงวิกฤตที่ผ่านมา เราได้เรียนรู้เเละปรับวิธีคิดใหม่ ว่าไม่ควรมีช่องทางการขายเเค่ช่องทางเดียว การจัดการเเต่ละสาขาต้องมีความยืดหยุ่น เมื่อลงเล็กก็คล่องตัวขึ้น ลดความเสี่ยงไปได้หลายทาง การทำงานก็มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เข้าถึงลูกค้าได้หลากหลายกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น

ทั้งนี้ สัดส่วนการขายเเบบเดลิเวอรี่เเละหน้าร้านของสลัดแฟคทอรี่ เมื่อกลางปีที่เเล้วอยู่ที่ 50 : 50 จากนั้นลดลงเหลือราว 40% เมื่อรัฐผ่อนคลายมาตรการให้นั่งทานที่ร้านได้ เเต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับสูงมาก เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด

สำหรับโมเดลร้านขนาดเล็ก เขามองว่า เป็นประโยชน์กับทั้งทางร้านเเละอำนวยความสะดวกให้ลูกค้ามากขึ้น เพราะสั่งซื้อกลับบ้านได้ง่าย นั่งทานที่เคาน์เตอร์บาร์ได้ เเละจัดส่งเดลิเวอรี่ได้รวดเร็ว โดยจะมีการดีไซน์เมนูใหม่ให้กับกับร้านมินิเรื่อยๆ เเม้จะมีจำนวนเมนูน้อยกว่าที่ร้านใหญ่เเต่ก็จะมีความผสมผสานหลากหลาย เเละสามารถทานคนเดียวได้ง่าย

ยกตัวอย่างเช่น โมเดล ‘Fresh and easy’ ซึ่งเปิดตัวไปเมื่อช่วงปลายปีที่เเล้ว ที่นำร่องเปิดที่ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ตเเละเซ็นทรัลเฟสติวัล อีสต์วิลล์

โดยได้ทดลองวางจำหน่ายสลัดพร้อมทานแบรนด์สลัดแฟคทอรี่ในท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต 5 สาขา ปรากฏว่าผลตอบรับค่อนข้างดี ซึ่งต่อไปจะมีการปรับปรุงเเพ็กเกจจิ้งเเละโปรดักส์ใหม่ คาดว่าจะเปิดตัวแคมเปญได้ในช่วงครึ่งปีหลังนี้

นอกจากนี้ ยังมีการขยายสาขาไปในโรงพยาบาลมากขึ้น เพื่อจับลูกค้ากลุ่มผู้รักสุขภาพเเละบุคลากรทางการเเพทย์ อย่างสาขาในรพ.จุฬาลงกรณ์ โดยวางเเผนจะมีการรังสรรค์เมนูใหม่ๆ เพื่อผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยโรคไต หรือผู้ป่วยที่ต้องมีการดูเเลเรื่องอาหารการกินเป็นพิเศษ

เมื่อถามว่า ส่วนใหญ่สาขาของสลัดแฟคทอรี่ มักจะอยู่ย่านชานเมืองนั้น มีเเผนจะเข้ามาเปิดในพื้นที่กลางใจเมืองบ้างหรือไม่ ผู้บริหารสลัดแฟคทอรี่ตอบว่ากำลังอยู่ในระหว่างพิจารณา เนื่องจากค่าเช่าที่ในเมืองค่อนข้างสูง เเละมีความเสี่ยงหากสถานการณ์โควิดกลับมารุนเเรงอีกครั้ง จึงต้องระวังเป็นพิเศษเเละพยายามกระจายความเสี่ยงให้อยู่ในโซนที่จัดการได้ง่าย ยืดหยุ่นได้เมื่อเกิดวิกฤต

ลิสต์ Plant-based ขึ้นเป็น ‘เมนูประจำ’ 

ด้านการรุกตลาดเมนู Plant-based ก็เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่สลัดแฟคทอรี่ ให้ความสำคัญในปีนี้ เพราะกำลังเป็นเทรนด์ที่น่าจับตามอง พร้อมมีการเติบโตต่อเนื่อง เเละยิ่งเริ่มต้นเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งได้เป็นการสร้างฐานกลุ่มลูกค้าให้เเข็งเเกร่งมากขึ้นเท่านั้น

ก่อนหน้านี้ ทางสลัดแฟคทอรี่ได้ทดลองตลาด โดยการเพิ่มเมนู Plant-based เป็นเมนูพิเศษในช่วงเทศกาลกินเจ ซึ่งก็มีเสียงตอบรับที่ดี ทั้งจากลูกค้าที่เป็นวีเเกนอยู่เเล้ว เเละลูกค้าใหม่ที่อยากลิ้มลอง

ในปีนี้ บริษัทจึงจะต่อยอดด้วยการเพิ่มเมนู Plant-based 10 เมนู เข้ามาในลิสต์เมนูประจำโดยจะทยอยเพิ่มทีละสาขาจนครบ 20 สาขา ภายในช่วงต้นเดือนก..นี้ หลังกระเเสความนิยมเพิ่มขึ้น หลังคนไทยทานเมนู Plant-based ได้ตลอดทั้งปี ไม่ใช่เเค่ช่วงเทศกาลเท่านั้น บางคนทานสัปดาห์ละ 2-3 มื้อ เป็นต้น

ล่าสุด สลัดแฟคทอรี่ มองเห็นโอกาสธุรกิจใหม่ในตลาดนี้ จึงจับมือกับมีท อวตารหนึ่งในซัพพลายเออร์ Plant-based ชื่อดังของไทย พัฒนาโปรดักต์ใหม่มาเจาะตลาดกลุ่มลูกค้าตลาดเเมส อย่าง น้ำสลัด Plant-based “มาทาน x สลัดแฟคทอรี่” 5 รสชาติ ได้แก่ น้ำสลัดซีซ่าร์, เทาซันไอร์แลนด์, ครีมส้มยูซู, งาญี่ปุ่นและมายองเนสเบส วางโพสิชั่นด้วยราคาที่เข้าถึงได้ เเละรสชาติไม่แตกต่างจากน้ำสลัดสูตรปกติมากนัก ซึ่งตอนนี้มีการวางขายในสาขาของสลัดแฟคทอรี่เเล้ว สเต็ปต่อไปจะมีการวางขายในโมเดิร์นเทรดในเร็วๆ นี้

สำหรับมูลค่าตลาดอาหารกลุ่ม Plant Base ปัจจุบันอยู่ที่ราว 2.8 หมื่นล้านบาท เติบโตเฉลี่ยประมาณ 10% ต่อปี ถือเป็นตัวเลขการเติบโตน่าจับตามอง โดยมีทั้งผู้ประกอบการรายเล็กรายใหญ่ลงมาเล่นในสนามนี้กันคึกคัก

 

 

]]>
1371499
เบื้องหลัง CRG ร่วมทุน “Salad Factory” ต่อจิ๊กซอว์กลุ่มอาหารเพื่อสุขภาพ https://positioningmag.com/1265835 Wed, 26 Feb 2020 15:57:20 +0000 https://positioningmag.com/?p=1265835 CRG ร่วมทุนกับ Salad Factory กลายเป็นร้านอาหารน้องใหม่ในเครือ เติมพอร์ตร้านอาหารเพื่อสุขภาพ ตั้งเป้าขยายสาขา 50 แห่งใน 5 ปี ปั้นรายได้ 1,000 ล้าน

ไม่ใช่เข้าซื้อ แต่เป็นร่วมทุน

กลายเป็นทิศทางใหม่ของเหล่าบรรดาเชนธุรกิจร้านอาหารต่างมีการเสริมพอร์ตตัวเองด้วยแบรนด์ใหม่ๆ จะมีรูปแบบทั้งสร้างแบรนด์ใหม่เอง และการซื้อกิจการ หรือนำเข้าแบรนด์จากต่างประเทศ เพื่อเป็นทางลัดในการทำตลาด

โดยที่เมื่อเดือนธันวาคม 2562 ทางบริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) หนึ่งในธุรกิจในเครือ “กลุ่มเซ็นทรัล” ได้เดินเกมนี้ด้วยเช่นกัน ด้วยการจับมือกับร้าน “Salad Factory (สลัดแฟคทอรี่)” แต่เป็นโมเดลในลักษณะร่วมทุน ไม่ใช่การซื้อกิจการเหมือนอย่างกรณีที่เครือใหญ่ซื้อร้านอาหารก่อนหน้านี้

โดยที่มีการเปิดบรัทใหม่ “บริษัท กรีนฟู้ดแฟคทอรี่ จำกัด” CRG เข้าร่วมทุนในสัดส่วน 51% ด้วยเงินลงทุนราว 140 ล้านบาท ส่วนอีก 49% เป็นกลุ่มครอบครัวของเจ้าของร้าน Salad Factory

ปิยะพงศ์ จิตต์จำนงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโสฝ่ายการตลาด บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยว่า

“การสร้างความเติบโตคือหนึ่งในกลยุทธ์หลักในการดำเนินธุรกิจของ CRG ที่เน้นการเพิ่มแบรนด์ร้านอาหารใหม่ๆ ทั้งการซื้อแบรนด์ธุรกิจซื้อลิขสิทธิ์แฟรนไชส์ และร่วมทุน ตลอดจนการพัฒนาแบรนด์ใหม่ๆ ขึ้นมาเอง เพื่อเข้าถึง และขยายฐานกลุ่มผู้บริโภคเนื่องจากยังมีธุรกิจอาหารอีกหลายตัวที่มีช่องว่างที่จะสามารถช่วยขยายฐานลูกค้าให้กว้างมากขึ้น จึงเปิดโอกาสให้กลุ่มนักลงทุนใหม่กลุ่มผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่เข้ามาลงทุนร่วมกัน”

โดยทาง CRG ช่วยนำเงินทุน โนว์ฮาว บุคลากร และประสบการณ์ในวงการร้านอาหารมาช่วยต่อยอดให้ร้านอาหารใหม่ๆ ให้เติบโตได้

สำหรับร้าน Salad Factory เป็นร้านสลัดเพื่อสุขภาพ เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2556 สาขาแรกอยู่ที่เมืองทองธานี ตอนแรกเป็นอาคารพาณิชย์เล็กๆ เปิดได้ 2 ปี ก็ย้ายไปที่โครงการบีไฮฟ์ที่อยู่ในเมืองทองธานีเหมือนเดิม มีคอนเซ็ปต์ความใส่ใจตั้งแต่การคัดเลือกคัดสรรวัตถุดิบจากฟาร์มออแกนิกที่เจ้าของฟาร์มเป็นผู้ปลูก และส่งขายเองไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ที่เสิร์ฟมาพร้อมกับน้ำสลัดหรือซอสต่างๆ แบบ homemade ที่ทางร้านทำเองทั้งหมดกว่า 20 ชนิด ให้ลูกค้าได้เลือกทานตามชอบ

ปัจจุบันมีเมนูมากกว่า 200 รายการ ที่ไม่ได้มีแค่สลัด ได้แก่ เมนูข้าว, สเต็ก, สปาเก็ตตี้ ฯลฯ สามารถเข้าถึงได้ทุกเจนเนอเรชั่น ทานได้ทั้งครอบครัว ในคุณภาพกับราคาที่เข้าถึงได้

ทางด้าน ปิยะ ดั่นคุ้ม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กรีนฟู้ด แฟคทอรี่ จำกัด กล่าวว่า

“ได้พูดคุยกับทาง CRG ได้ปีกว่าๆ ก็ตกลงร่วมทุนกัน มีการเปลี่ยนแปลงเยอะมาก จากเป็นเจ้าของ แต่ต้องมาอยู่ภายในเชนร้านอาหาร แต่สิ่งที่ต้องการ และบอกกับ CRG เพียงแค่อย่างเดียวคือ ต้องการทำให้ร้านยั่งยืน ทาง CRG ก็ช่วยวิเคราะห์จุดอ่อน และจุดแข็ง โดยการจับมือร่วมธุรกิจกับ CRG จะช่วยซัพพอร์ตเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดได้หลายๆ ด้าน และจะสามารถช่วยให้ Salad Factory สามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด และขึ้นเป็น Top of mind ของผู้บริโภคได้”

เติมพอร์ตเซ็กเมนต์เพื่อสุขภาพแบรนด์แรก

ถ้าถามว่าทำไม CRG ถึงเลือก Salad Factory เข้ามาอยู่ในครอบครัว ต้องบอกว่าตลาดสินค้าเพื่อสุขภาพเป็นอะไรที่หอมหวานมาในยุคนี้ ไม่ได้จำกัดแค่อาหาร แต่รวมไปถึงบริการ สินค้าต่างๆ ที่เข้ามาตอบโจทย์การดูแลสุขภาพ เป็นสินค้าที่ผู้บริโภคยอมจ่าย

เมื่อมาดูภาพรวมตลาดอาหาร และเครื่องดื่มสุขภาพปี 2562 มีมูลค่าประมาณ 88,731 ล้านบาท เติบโต 2.4% โดยที่เทรนด์อาหารปี 2563 ผู้บริโภคจะเน้นอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้นจึงมีแนวโน้มเติบโตได้อีกมาก

ทาง CRG เองมีร้านอาหารในหลายเซ็กเมนต์ ได้แก่ QSR, เบเกอรี่, อาหารไทย และอาหารญี่ปุ่น แต่ยังไม่มีเซ็กเมนต์อาหารเพื่อสุขภาพอย่างจริงจัง จึงเป็นการเดินเกมเพื่อหาแบรนด์เข้าเติมพอร์ตร้านอาหารให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ปิยะพงศ์ เล่าถึงเหตุผลที่เลือกร้าน Salad Factory ว่า หลักการเลือกของ CRG จะดูพาร์ทเนอร์ ดู Passion ของเจ้าของแบรนด์เป็นหลัก ตอนนี้กลุ่มอาหารเพื่อสุขภาพมีการเติบโตตลอด มีผู้เล่นไม่เยอะ อย่าง Sizzler จะเป็นคอนเซ็ปต์ต่างชาติ แต่ในตลาดยังไม่มีร้านสลัดแบบไทยๆ มากเท่าไหร่ มีออีก 2 แบรนด์เท่านั้น กลุ่มอาหารเพื่อสุขภาพนี้ CRG ยังไม่เคยมี เป็นการเปิดเซ็กเมนต์ใหม่เป็นครั้งแรก สามารถสร้างการเติบโตในอนาคตได้

สอดคล้องกับเทรนด์ของผู้บริโภคที่ให้ความนิยมกับอาหารเพื่อสุขภาพ อาหารคลีน ใส่ใจดูแลสุขภาพมากขึ้น ทำให้อาหารสุขภาพจัดอยู่ใน Top 5 ของอาหารยอดนิยมของผู้บริโภคในช่วงปีที่ผ่านมา ขึ้นจาก Top 10 เมื่อ 4-5 ปีก่อน

ถ้าถามว่าทำไม CRG ไม่เลือกสร้างแบรนด์เอง แต่เลือกที่จะลงทุนกับ Salad Factory ปิยะพงศ์บอกว่า

“กลุ่มอาหารสุขภาพทำเองยาก วัตถุดิบเป็นผัก ขึ้นอยู่กับเกษตรกรรม เรื่องนี้ควบคุมฟ้าฝนยาก ถ้าถามว่าปั้นเองได้หรือไม ต้องบอกว่าการหาคนมี Passion มาปั้นแบรนด์ กับการที่มีคนที่พร้อมอยู่แล้ว มีคนที่วิ่งเก่งอยู่แล้ว เพียงแค่หารองเท้าดีๆ ให้เขาใส่มันดีกว่า”

โดยที่ Salad Factory เป็นแบรนด์ที่ 16 ของ CRG ถือว่าอยู่ในทำเนียบของแบรนด์ที่ปั้นเอง ไม่ได้ซื้อเชนจากต่างประเทศ ก่อนหน้านี้ได้ทำมาแล้ว 5 แบรนด์ ได้แก่ อร่อยดี, เดอะ เทอเรช, ซอฟต์แอร์, เกาลูน และสุกี้เฮาส์ 

โตไปด้วยกัน ธุรกิจ-ชุมชน

ปิยะบอกว่า จุดเด่นของ Salad Factory คือ การทำธุรกิจที่เน้นชุมชน มีการทำ Contract Farming กับเกษตรกรโดยตรง ตัดปัญหาพ่อค้าคนกลาง ปัจจุบันมีการทำ Contract Farming จำนวน 7-8 ไร่ มีกระจายในหลายพื้นที่ ตั้งแต่ กรุงเทพฯ, ปทุมธานี, เชียงใหม่, วังน้ำเขียว, พะเยา และเพชรบูรณ์ เพื่อกระจายความเสี่ยงในการรับผลผลิต เพราะมีเรื่องลมฟ้าอากาศที่ไม่แน่นอน ถ้าภาคไหนเจอแดดเจอฝน มีปัญหาเรื่องผลผลิต จะได้ไม่กระทบเรื่องการส่งสินค้า

ทุกวันนี้ทางร้านได้รับซื้อผักจากไร่เดือนละ 6 ตัน และคาดว่าจะเพิ่มไปถึงเดือนละ 8-9 ตัน ถ้ามีการขยายสาขาเพิ่มในอนาคต

“ความท้าทายในตอนี้คือการทำให้ทุกคนโตไปด้วยกันทั้งธุรกิจ และฟาร์มเจ้าของวัตถุดิบ ถ้าไปคุยกับฟาร์มเจ้าใหญ่ๆ มันง่าย มีกำลังการผลิตเยอะอยู่แล้ว แต่เราเลือกจากฟาร์มรายเล็กๆ เพื่อให้โตไปด้วยกัน ได้สัมผัสกับผู้คน ถ้าร้านโต ฟาร์มก็โต มีบางฟาร์มที่ขยายพื้นที่ไปข้างๆ ชาวบ้านก็มีพื้นที่ทำกินมากขึ้น กลายเป็นธรกิจชุมชน ซึ่งโมเดลมันสวยมาก ทำด้วย Passion คนไทย ใช้ทรัพยากรคนไทย ให้ชุมชนโตไปด้วยกัน”

เตรียมขยาย 50 สาขาใน 5 ปี ต้องมีรายได้พันล้าน

หลังจาก CRG เข้าร่วมลงทุนใน Salad Factory แล้ว มีแผนที่จะขยายร้าน 50 สาขา ภายใน 5 ปี และต้องมีรายได้ 1,000 ล้านบาท

โดยเน้น 4 กลยุทธ์ด้วยกัน ได้แก่ 1. เน้นสร้างสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก 2. ขยายสาขาเข้าศูนย์การค้าและแหล่งชุมชน 3. ขยายครัวกลางเพื่อเตรียมการขยายสาขา และ 4. พัฒนาร้านรูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภครุ่นใหม่นอกจากนี้ ยังพร้อมขายช่องทางการจำหน่าย รวมถึงพัฒนาสินค้าพร้อมทาน (Ready To Eat)

ปัจจุบัน Salad Factory มีทั้งหมด 7 สาขา ได้แก่ Bee Hive เมืองทองธานี, โรบินสัน ศรีสมาน, Crystal Park เลียบทางด่วนรามอินทรา,   The Crystal ราชพฤกษ์, Mega Bangna,  Sena Fest เจริญนคร และ The Mall งามวงศ์วาน

ในปี 2562  Salad Factory มีรายได้รวม 167 ล้านบาท ตั้งเป้าปีนี้เติบโต 10% โดยที่ปีก่อนๆ เติบโต 7% และในปีนี้จะขยาย 4 สาขา เน้นทำเลศูนย์การค้า และคอมมูนิตี้มอลล์ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

กลุ่มลูกค้าหลักของร้านส่วนใหญ่อายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป เป็นกลุ่มครอบครัว โดยมีการใช้จ่ายต่อบิลเฉลี่ย 200-300 บาท

]]>
1265835