-
3 เซเลบ “เต้ ภูริต – เบียร์ ใบหยก – ฉาย บุนนาค” ร่วมทุนตั้ง FAB ร่วมร้านอาหารในเครือของฟู้ด แฟคเตอร์ และธุรกิจของเบียร์ ใบหยกเข้าด้วยกัน เพื่อทำการตลาดในอนาคต
-
งานนี้ อควา คอร์เปอเรชั่นของฉาย บุนนาคเป็นพ่องาน เนื่องจากอยากลุยธุรกิจร้านอาหาร จึงชวน พาร์ทเนอร์ทั้ง 2 ที่มีธุรกิจร้านอาหารมาจอยกัน
-
เมื่อรวมกันจะมีทั้งหมด 8 แบรนด์ 204 สาขา ตั้งเป้าในปีหน้าจะขยายเพิ่มอีก 1 แบรนด์
ถือว่าเป็นอีกหนึ่งการเคลื่อนไหวสำคัญในวงการร้านอาหาร เมื่อ 3 เซเลบแห่งวงการ “เต้ ภูริต – สิงห์” “เบียร์ ใบหยก” และ “ฉาย บุนนาค” ได้ทำการคอลแลปกันครั้งใหญ่ ร่วมทุนจัดตั้งบริษัท เอฟเอบี ฟู้ดโฮดิ้ง จำกัด หรือ FAB ย่อมาจากการรวมตัวของ ฟู้ดแฟคเตอร์ (Food Factor) ธุรกิจอาหารในเครือสิงห์ คอร์เปอเรชั่น, อควา คอร์เปอเรชั่น (AQUA) บริษัทด้านการลงทุนของฉาย บุนนาค และปิยะเลิศ ใบหยก หรือเบียร์ ใบหยก
รวมกันมันส์กว่า
จุดเริ่มต้นของดีลนี้มาจาก “ฉาย บุนนาค” แม่ทัพเนชั่น กรุ๊ป ที่มีหมวกอีกใบกับบริษัท อควา คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AQUA ที่ก่อนหน้านี้เป็นหนึ่งในยักษ์ใหญ่ของบริษัทสื่อโฆษณา ก่อนที่จะขายธุรกิจนี้ให้กับทาง Plan B ไป ทำให้อควาต้องมาหาธุรกิจที่จะเป็นน่านน้ำใหม่ในการสร้างการเติบโตในระยะยาว ซึ่งอควาเองมีธุรกิจร้านอาหารอยู่ 1 ร้านก็คือ ราเมงเดส
ฉายเริ่มมองหาพาร์ทเนอร์ ซึ่งส่วนตัวรู้จักกับ เต้ ภูริต แห่งสิงห์ คอร์เปอรเชั่น และเบียร์ ใบหยกอยู่แล้ว และทั้งคู่ก็มีธุรกิจอาหาร จึงเกิดเป็นความร่วมมือในการรวมธุรกิจอาหารของทั้ง 3 เจ้าไว้ด้วยกัน ภายใต้บริษัท เอฟเอบี ฟู้ดโฮดิ้ง จำกัด หรือ FAB มาจากอักษรตัวเแรกของทั้ง 3 ก็คือ Food Factor, AQUA และ Beer ใบหยก
ซึ่งงานนี้อควาเป็นพ่องาน มีสัดส่วนการถือหุ้น 51% Food Factor ของสิงห์ 40% และเบียร์ ใบหยก 9% โดยเแต่งตั้งให้เบียร์ ใบหยกเป็น CEO ของบริษัทนี้ เพราะมีความเชี่ยวชาญในธุรกิจอาหารมากที่สุด
ทำให้ FAB มีร้านอาหารในเครือรวม 8 แบรนด์ ได้แก่ขาของ Food Factor 3 แบรนด์ ได้แก่ ซานตาเฟ่, ซานตาเฟ่ อีซี่ และเหม็ง แซ็ปนัว ทางด้านขาของเบียร์ใบหยกมี 4 แบรนด์ด้วยกัน ได้แก่ ร้านส้มตำเจ๊แดง สามย่าน, ร้านเซไคโนะ ยามะจัง, ร้านอุชิดายะ ราเมน และร้านอิคโคฉะ ราเมน ส่วนของอความี 1 แบรนด์ ได้แก่ ราเมงเดส รวมทั้งหมด 204 สาขา
การร่วมมือกันครั้งนี้เป็นเหมือนการดึงจุดแข็งของแต่ละคนออกมา ทางสิงห์เองก็เชี่ยวชาญด้านเครื่องดื่ม และมีระบบโลจิสติกส์ ทางด้านเบียร์ ใบหยกถนัดในธุรกิจอาหาร ส่วนอควาก็มีเงินทุนในการช่วยสยายปีกการเติบโตได้
ทำให้ปัจจุบันอความีโครงสร้างธุรกิจ 5 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ นวัตกรรมด้านการเงิน (Fintech), ธุรกิจขนส่งและโลจิส ติกส์, ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน, ธุรกิจบรรจุภัณฑ์และพลังงาน และธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม
ลดค่าใช้จ่ายได้ 2-3%
การรวมแบรนด์ร้านอาหารของทั้ง 3 เจ้าเข้าด้วยกัน ไม่ใช่เพียงแค่ตัดคู่แข่งทางธุรกิจออกไปได้เพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถลดต้นทุนในการทำธุรกิจไปได้ 2-3% เพราะมีการสั่งวัตถุดิบเหมือนกันในปริมาณมากๆ และมีการขนส่งพร้อมกัน
ปิยะเลิศ ใบหยก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอฟเอบี ฟู้ดโฮลดิ้ง จำกัด เล่าว่า
“การรวมร้านอาหารทั้ง 3 รายเข้าด้วยกัน มีการใช้หลังบ้านร่วมกัน ซื้อของเหมือนกัน ทำให้ต้นทุนลดลงได้ 2-3% เรียกว่าประหยัดต้นทุนไปได้เยอะ ในส่วนของกลุ่มราเมงมีการใช้ครัวกลางของทางอควา”
ปิยะเลิศ หรือเบียร์ ใบหยก ผู้มีแพชชั่น และคลุกคลีกับธุรกิจร้านอาหารมายาวนาน 15 ปีแล้ว นอกจากจะมีธุรกิจใบหยกที่เป็นธุรกิจของครอบครัวแล้ว ยังมีบริษัท บีเอ็นเอฟ โฮลดิ้ง จำกัด ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับร้านอาหารโดยเฉพาะ
ปิยะเลิศได้เริ่มธุรกิจนี้ด้วยการซื้อแฟรนไชส์ Gyu-Kaku จากประเทศญี่ปุ่น เป็นร้านเนื้อย่างสไตล์ยากินิกุ หลังจากเปิดได้เพียง 2 สาขาก็ขายดีมาก จนทางบริษัทแม่ขอซื้อคืน พร้อมกับผลกำไรล่วงหน้า 5 ปี ทำให้ปิยะเลิศนำเงินก้อนนั้นมาต่อยอดธุรกิจต่อด้วยการซื้อแฟรนไชส์ร้านเซไค โนะ ยามะจัง (Sekai no Yamachan) หรือคุ้นเคยกันในชื่อร้านปีกไก่ทอดยามะจัง
หลังจากนั้นก็ได้ซื้อแฟรนไชส์ร้านราเมง รวมไปถึงร้านขนมหวานต่างๆ อย่างเช่น แกรม คาเฟ่ แอนด์ แพนเค้ก และพาโบล ชีส ทาร์ต แต่ด้วยความที่เป็นขนมตามกระแส จึงอยู่ได้แค่พักเดียวเท่านั้น
เป็นบทเรียนที่ทำให้ปิยะเลิศมองหาแบรนด์ที่ยั่งยืน ไม่ใช่แบรนด์ที่เป็นกระแสเพียงอย่างเดียว
“เป้าหมายของบริษัทคือ อยากทำให้ร้านอาหารมีสีสัน จะเลือกขยายในแบรนด์ที่สตรอง ก่อนหน้านี้เคยทำแบรนด์ที่เป็นกระแสมันไม่ยั่งยืน แต่ตอนนี้อยากทำแบรนด์ที่เติบโตได้อย่างยั่งยืน เน้นที่ร้านอาหาร เพราะมองว่าคนต้องทานอาหารทุกวัน ยิ่งช่วงเศรษฐกิจไม่ดี ผู้บริโภคจะไม่ทานสินค้าฟุ่มเฟือยอย่างขนมหวาน”
ตอนนี้อควาเตรียมพัฒนาแบรนด์ร้านอาหารใหม่อีก 1 แบรนด์ เป็นกลุ่มปิ้งย่าง เป็นการพัฒนาเองโดยพัฒนาร่วมกับชาวญี่ปุ่น คาดว่าน่าจะเริ่มเปิดตัวในปี 2568
ปัจจุบันทั้ง 8 แบรนด์มียอดขายรวมกัน 1,700 ล้านบาท ในปีนี้คาดว่าน่าจะมีการเติบโต 2 หลัก เน้นขยายสาขาที่แบรนด์ซานตาเฟ่ และเจ๊แดง สามย่านเป็นหลัก เนื่องจากมีความแมส และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้กว้าง
ทั้ง 8 แบรนด์ มีสาขารวม 204 สาขา แบ่งเป็นบริษัท ฟู้ด แฟคเตอร์ จำกัด 3 แบรนด์ คือ
ซานตาเฟ่ 127 สาขา, ซานตาเฟ่ อีซี่ 5 สาขา, เหม็ง แซ็ปนัว 2 สาขา, ราเมงเดส 5 สาขา, ส้มตำเจ๊แดง สามย่าน 42 สาขา, ร้านเซไค โนะ ยามะจัง 10 สาขา, ร้านอุชิดายะ ราเมน และร้านอิคโคฉะ ราเมน รวมกัน 13 สาขา