รูปที่มีทุกบ้าน ความหมายของความภักดีทุกที่ทั่วไทย

นอกจากแคมเปญที่หน่วยงาน องค์กร และบริษัทต่างๆ นำเสนอเพื่อการมีส่วนร่วมในปีมหามงคล และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมอีกต่อหนึ่ง ยังมีโครงการที่ทำกันอีกมากมายในระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น เกินกว่าจะรวบรวมได้ครบ แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ ทุกคนร่วมใจกันโดยมีจุดศูนย์รวมเดียวกัน ที่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ความจงรักภักดีที่ฝังอยู่ในใจไทยทุกคน ส่วนหนึ่งได้รับการสร้างสรรค์ออกมาเป็นรูปประทับ และนี่คือบางกิจกรรมที่ก่อเกิดเป็นรูปธรรมให้คนไทยได้มีส่วนร่วม อย่างเช่น แคมเปญ รูปที่มีทุกบ้าน ที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ร่วมมือกับบริษัทจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ร่วมกันจัดขึ้น ที่มีทั้งภาพยนตร์โฆษณาทางทีวี บทเพลง และเว็บไซต์ ที่เน้นความมีส่วนร่วม

Behind the scene

หาดูยากยิ่งที่มิวสิกวิดีโอเพลงหนึ่งๆ จะมีชาวบ้านจริงๆ มา “แสดงเป็นตัวเอง” ด้วยบทบาทที่หลากหลายเหมือนสังคมไทยที่ประกอบด้วยคนหลายอาชีพ ผสานกับความจริงคือทุกคนรักในหลวงและมีรูปของพระองค์ที่บ้าน นี่จึงเป็นมิวสิกวิดีโอแห่งคนไทยที่แทบไม่ต้องใช้ Acting อะไร แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะผลิตขึ้นมาให้ดีพอกับปีมหามงคลนี้

“เวลาคิด เวลาถ่ายทำ จะตื้นตันมาก เพราะไม่น่าเชื่อว่าอาชีพอย่างเราจะทำเพื่อท่านได้ ที่ผ่านมาเราทำงานก็เชิงพาณิชย์มาตลอด เคยทำโปรเจกต์ในลักษณะแบบนี้ เช่น มิวสิกวิดีโอเพลงฝากส่งใจไป ตอนนั้นทำให้พี่น้องใน 3 จังหวัดภาคใต้ แต่ว่าครั้งนี้เป็นครั้งที่ใหญ่มาก” ณัฐพล มุขขันธ์ ผู้กำกับมิวสิกวิดีโอเล่าย้อนถึงความรู้สึกเมื่อรู้ว่าได้ทั้งโอกาสและความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ในการถ่ายทอดบทเพลงออกมาผ่านภาพเคลื่อนไหว
ณัฐพลต้องมาตั้งใจฟังเพลงอย่างละเอียดอีกครั้ง …

“ตอนแรกที่ฟัง มีความรู้สึกว่าเรามองข้ามไป เพราะจริงๆ แล้วภาพก็มีอยู่กับทุกบ้าน เราเห็นมาตั้งแต่เด็ก พอได้ฟังเพลงนี้แล้วมีความรู้สึกว่าต้องกลับไปดูรูปที่ติดอยู่ที่บ้าน รู้สึกว่าท่านก็ดูแลเราทุกคน ทั้งชีวิตจริงของท่านและทั้งพระบรมฉายาลักษณ์ของท่าน”

“ถ้าทำขาดนิดเดียวหรือเกินไปนิดหนึ่ง หนังเรื่องนี้อาจจะไม่ได้ออนแอร์เลย มันต้องมีความพอดี ทั้งแอคติ้ง และองค์ประกอบอื่นๆ” ณัฐพลเผยความไม่ธรรมดาของภาระแห่งประวัติศาสตร์ครั้งนี้

“เรามีเวลาเตรียมงานแค่นิดเดียวเอง มันก็เลยยากเป็นทวีคูณ ไม่ใช่แค่พี่เบิร์ดมาร้องเพลง ไม่ใช่แค่ทำมิวสิกวิดีโอทั่วๆ ไป งานนี้เป็นงานใหญ่ ไม่รู้ว่าชาตินี้เราจะได้ทำแบบนี้อีกไหม”

ด้วยเซ้นส์ของผู้กำกับมิวสิกวิดีโอมือเก๋า เขารู้ดีว่าการจะทำอะไรให้คนไทยส่วนใหญ่ทั้งประเทศดู ก็ควรจะมีเรื่องราว Story ที่คนจะได้สัมผัสเข้าถึงได้ง่ายๆ จึงเกิดเป็น Plot ของนิสิตจบใหม่จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กลับมาที่บ้าน เพื่อจะมาทำตามที่ได้สัญญาไว้กับในหลวงคือช่วยเหลือชาวบ้าน

“เลือกถ่ายทำที่จันทบุรีเพราะเป็นจังหวัดที่สมบูรณ์มาก มีทั้งทะเล ข้าว ป่ายาง ภูเขา มีครบแทนได้ทั่วทั้งประเทศ เป็นเรื่องของเด็กหญิงอำไพ คิดจากชีวิตจริง จากหนังสือบ้าง จากข้อมูลบ้าง อย่างที่เราไปที่จันทบุรี ก็มีนักศึกษาที่จบมาแล้วก็มาเป็นอาสาสมัคร เราก็เห็นว่าคนกลุ่มนี้ชัดเจน เขาทำจริง ไม่เหมือนกับแค่ใส่เสื้อเหลืองแล้วเราไม่รู้ว่าเขาจะทำหรือไม่ทำ”

นอกจากทีมงานตัวแสดงหลักๆ จากกรุงเทพฯ แล้ว ก็เป็นคนในพื้นที่ ชาวบ้านจริงๆ อย่างที่ณัฐพลย้ำว่า “ชาวนาก็เล่นเป็นชาวนา”

“ยากกว่าที่เราเดินเข้ามาโมเดลลิ่ง เราเดินไปควานหาชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งเขาต้องเป็นตาแทนเรา ต้องรู้ว่าคุณยายคนนี้แหละใช่ เด็กคนนี้จะกระโดดจับปลาได้ พวกนี้ยากกว่าที่เราไปหานางเอกเทรนด์เกาหลี ญี่ปุ่น”

“อย่างคุณยายคนที่มาเข้าฉาก หน้าจะเห็นเทคเจอร์ มีริ้วรอยย่น คุณยายบางคนเดินไม่ไหวแล้วต้องไปเอารถเข็นมาเข้าฉาก เขาก็ยอมมาเพื่อในหลวง ทุกคนอยากเป็นส่วนหนึ่งของงานชิ้นนี้ ทุกคนเต็มที่ เราก็แอบถ่ายไปเรื่อยๆ ก็ได้บรรยากาศของวิถีชีวิตแบบชาวบ้านจริงๆ”

ณัฐพลบอกชาวบ้านทุกคนที่มาร่วมแสดงว่านี่เป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ ไม่ใช่แค่มิวสิกวิดีโอ ทำให้บางคนลางานมาหรือรับจ้างอยู่ครึ่งวันเพื่อจะมาให้ความร่วมมือทำเพื่อในหลวง

“พยายามสะท้อนให้เห็นว่า อย่างตำรวจ เขาก็ทำงานปกติของเขาไปแต่เขาตั้งใจทำงานนะ ซึ่งการตั้งใจทำงานไม่โกงกิน แค่นี้ก็พอแล้ว เด็กๆ เก็บขยะ นี่ก็คือหนึ่งในความดีที่จะทำให้ท่าน ประเทศก็จะดีขึ้น”

“หนังก็เลยออกมาด้วยความรู้สึกจริงๆ” ณัฐพลและทีมงานยังต้องใช้เวลาอยู่ 1-2 สัปดาห์นั่งตัดต่อหาจังหวะภาพ

“ชาวบ้านส่วนใหญ่เขาจะมีเสี้ยวหนึ่งที่เขาแสดงได้แค่นั้น สมมติว่าเขากำลังยกมือไหว้ 20 เทค เราก็ต้องมาเลือกแล้วว่าตรงไหนที่พอดีที่สุด เป็น Realistic หมด เราพยายามจะให้มีหลากหลายอาชีพ”

ณัฐพลเปิดใจต่อไปอย่างเปรียบเทียบกับกระแสเสื้อเหลืองที่อาจจะมีบางคนใส่โดยลืมตระหนักถึงหน้าที่ความเป็นคนไทยที่ดีของในหลวง

“ผมคุยกับทีมงานเสมอ ถ้ามองจากความเป็นจริง วันหนึ่งผมเห็นคนลุกขึ้นมาใส่เสื้อสีเหลือง ใส่ริสแบน เห็นคนติดสติกเกอร์ “เรารักในหลวง” ที่หลังรถ เขาก็ยังขับปาดกันเลย ใส่เสื้อเหลืองทำไม่ดีก็มี แต่เราอยากให้ความรู้สึกจงรักภักดีเกิดขึ้นจากจิตใจจริงๆ อย่าแสดงแค่ว่าฉันจะทำ หรือทำแค่นี้ก็บอกว่าฉันทำแล้ว มันไม่ใช่ มันต้องทำด้วยการปฏิบัติจริงๆ”

“อยากให้เมื่อคนดูจบแล้วอยากให้ปฏิบัติ อยากทำดีเพื่อท่าน มันถึงมีช่วงท้ายที่เป็นการเขียนสัญญาต่างๆ ใครอยากทำความดีวันไหนเราไม่รู้ เราพยายามจะให้เขาทำเลย แค่นั้นแหละคือสิ่งที่คิด”

Profile
ณัฐพล มุขขันธ์
Film Director (ผู้กำกับ) บริษัท Uppercut ในเครือ GMM Grammy
ผลงานบางส่วน
มิวสิกวิดีโอเพลง “ฝากส่งใจไป” ขับร้องโดย เบิร์ด – ธงไชย แมคอินไตย
ที่สื่อให้เห็นถึงกำลังใจจากคนไทยไปยังพี่น้องใน 3 จังหวัดชายแดน
รางวัลผู้กำกับมิวสิกวิดีโอยอดเยี่ยม เพลงคิดถึงฉันไหมเวลาที่เธอ… ของ วงแท็กซี่ จากแชแนล วี ไทยแลนด์
รางวัลมิวสิกวิดีโอยอดเยี่ยมสุดซี้ด (Seed Music Video of the Year) ในเพลงไฟรัก ของวงแคลช เป็นต้น

นิติพงษ์ ห่อนาค
ผู้เรียงร้อยเพลงเพื่อพ่อ

อีกครั้งที่แกรมมี่ผลิตเพลงเทิดพระเกียรติในหลวง จากที่เคยนำ “ต้นไม้ของพ่อ” และ “ของขวัญจากก้อนดิน” ติดหูและเข้าสู่ใจของคนไทยมาแล้วในอดีต แต่ครั้งนี้ไม่ใช่การอุปมาเปรียบเปรย เป็นเพลงจากภาพจริงที่เห็นได้ทั่วไปในบ้านของคนไทยแทบทุกคน ซึ่งหากลองนึกถึงแล้วก็สะท้อนและสอนใจให้คนไทยที่หลายครั้งต้องการแรงบันดาลใจที่จะทำความดีและทำงานหนักตามรอยในหลวง

“ดี้” นิติพงษ์ ห่อนาค หรือ อดีตนักดนตรีวงเฉลียง และนักแต่งเพลงสังกัดจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ปัจจุบันมีผลงานเพลงกว่า 300 เพลง แต่ความภาคภูมิใจให้ที่สุดคือการได้แต่งเพลงอย่าง “ต้นไม้ของพ่อ” เนื่องในโอกาสงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พ.ศ. 2539 ต่อด้วยเพลง “ของขวัญจากก้อนดิน” เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2542 และล่าสุดกับเพลง “รูปที่มีทุกบ้าน” เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550

“ต้นไม้ของพ่อ”…
ย้อนกลับไปเมื่อเขาแต่งเพลงแนวนี้เป็นครั้งแรกคือ “ต้นไม้ของพ่อ” นิติพงษ์หนักใจที่ยังไม่เคยเขียนเพลงที่เกี่ยวเนื่องกับพระองค์ท่าน เริ่มโดยที่กลัวว่าเพลงที่เกี่ยวเนื่องกับเบื้องสูงจะต้องเป็นภาษาสูงๆ ใช้คำราชาศัพท์หรือภาษากวีซึ่งไม่ถนัด

“เพลงต้นไม้ของพ่อ เป็นเพลงแรกที่เขียนจากนักแต่งเพลงคนหนึ่ง แล้วพูดถึงเบื้องสูงสุดเลย ก็เป็นความตื่นเต้น ปกติเป็นคนเขียนเพลงที่ใช้ภาษาชาวบ้านธรรมดา ภาษาตลาด เพื่อสื่อสารให้คนรู้เรื่องเข้าใจง่าย” นิติพงษ์บอกถึงสไตล์ของตัวเองก่อนจะย้อนเล่าต่อไปถึงทางออกที่เลือกว่า

“ขอทำด้วยเจตนาที่ดีด้วยความบริสุทธิ์ใจ ก็เหมือนชาวบ้านซื่อๆ คนหนึ่งที่แต่งเพลงนี้ขึ้นมา เราตั้งใจไว้ว่าไม่ได้เขียนเพื่อที่จะพูดถึงพระองค์ท่านโดยตรงในแบบบุรุษที่หนึ่งพูดถึงบุรุษที่สอง แต่เป็นในลักษณะของการเล่าเรื่องให้ประชาชนคนไทยฟังว่า พระองค์ท่านเป็นอย่างไร พระองค์ทรงทำอะไร ก็เลยเบาใจไปได้”

แล้วเขาก็ต้องหนักใจอีกครั้งเมื่อตระหนักว่าสิ่งที่พระเจ้าอยู่หัวได้สร้างได้ทำไว้มีมากมายไปหมดเกินจะบอกเล่าในเพลงเดียวได้ จึงเลือกใช้สัญลักษณ์และก็คิดตกว่าไม่มีอะไรแทนได้ดีไปกว่าต้นไม้ใหญ่สักต้นหนึ่ง

“ของขวัญจากก้อนดิน”…
3 ปีต่อมา นิติพงษ์รับความท้าทายเดิมอีกครั้ง และแต่งเพลงใหม่ออกมาอย่างแตกต่างจากเดิม

“ตอนนั้นพระองค์ท่านมีพระชนมพรรษา 72 พรรษา ก็เกิดความคิดว่าทำไมพี่น้องคนไทยชอบทะเลาะกัน มีปัญหากันอยู่เรื่อยๆ จะมีสามัคคีกันทีก็ตอนจุดเทียน 19 นาฬิกา 19 นาที ของวันที่ 5 ธันวาคม แล้วก็คิดแบบง่ายๆ ว่า ในวันเกิด สิ่งที่น่าจะนึกถึงเป็นสิ่งแรกก็คือของขวัญ แล้วของขวัญที่คนไทยน่าจะถวายพระองค์ท่านมันน่าจะเป็นอะไร?”

แล้วคำตอบที่นิติพงษ์และคนไทยส่วนใหญ่น่าจะคิดได้ก็คือความรักสามัคคีของคนในชาติ

นิติพงษ์ยังเล่าถึงการต่อยอดความคิดไป เพื่อหาวิธีถ่ายทอดให้เข้าใจง่ายที่สุด “แล้วก็นึกถึงพระปรมาภิไธยของพระองค์ท่านว่า “ภูมิพล” ที่มีความหมายว่า พลังของแผ่นดิน ซึ่งมาเกี่ยวข้องกันพอดี”

และนี่เองคือที่มาของวรรคจบในความทรงจำที่ว่า “ร่วมกันเป็นดินเดียว ให้พ่อได้อุ่นใจ ไม่ต้องเหนื่อยเกินไปอย่างที่เป็นมา”

นิติพงษ์ยังมีความทรงจำดีดีที่ภูมิใจเกี่ยวกับเสียงตอบรับจากเพลงนี้เป็นพิเศษ “คนอื่นบอกกับพี่ว่า “คิดได้อย่างไร” คือทำเสร็จแล้วมานั่งฟังเพลง ก็รู้สึกอย่างนี้เหมือนกัน อึม…คิดได้อย่างไรนะนี่ พระเจ้าบนฟ้าคงมีส่วนช่วยมากเลย ที่ทำให้คิดออก เอาของขวัญ เอาก้อนดิน มาร้อยเรียงเข้าด้วยกัน”

เพลงล่าสุด “รูปที่มีทุกบ้าน”

มาถึงในปีนี้ที่เป็นวาระสำคัญอีกครั้ง นิติพงษ์เลือกการถ่ายทอดที่แตกต่างยิ่งกว่าเดิม คือใช้ความเป็นจริงที่พบเห็นมาบอกเล่า

“จะไปที่ไหนก็จะเห็นบ้านนี้ก็มี บ้านนั้นก็มีพระบรมฉายาลักษณ์ บางบ้านปฏิทินเก่ามากแล้วแต่ก็ยังเก็บไว้อยู่ ไม่ว่าจะเป็นบ้านแบบไหน ขอให้เป็นบ้านคนไทยเถอะต้องมีแน่นนอน ก็เลยรู้สึกว่าเราทุกคนรักพระองค์ท่านนะ เวลาจะทำอะไรก็มองไปที่พระบรมฉายาลักษณ์สักหน่อย จะได้รู้ว่าควรจะทำตัวอย่างไร จะได้มีกำลังใจ จะได้มีการยับยั้งชั่งใจบ้าง ก็เลยได้ความคิดว่าจะแต่งเพลงที่ชื่อว่ารูปที่มีทุกบ้าน”

การจะเล่าเรื่องอย่างไรต่อไป ก็ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับนักแต่งเพลงมืออาชีพมากประสบการณ์อย่างเขา

“จะพูดขึ้นมาลอยๆ นั้นจะเล่าเรื่องลำบาก ต้องมีตัวละคร เชื่อว่าทุกคนตอนเด็กๆ ต้องเคยถามพ่อถามแม่ว่ารูปนี้รูปใคร ลูกพี่ก็ถามว่ารูปใคร ทีนี้ในภาษาเพลงจะบอกว่ารูปในหลวง ก็จะมีคำถามตามมาอีกว่าในหลวงแปลว่าอะไรอีกสำหรับเด็กๆ”

“เราก็เลยคิดว่า อ๋อ เด็กๆ ต้องรู้จักเทวดา อะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเด็กในนิทาน เทวดาไง เทวดาคือตัวแทนของความดี เวลามีปัญหาอะไรเทวดามาช่วย ก่อนนอนเทวดามาคุ้มครอง ก็เลยให้แม่ตอบลูกว่าเป็นเทวดาที่มีลมหายใจ คือเทวดาที่เป็นคน และตรงกับความเชื่อของคนไทยที่ว่า เราถือว่าพระเจ้าอยู่หัวเป็นสมมติเทพหรือเป็นเทวดา”

แม้นิติพงษ์จะชำนาญแค่ไหน แต่ก่อนจะได้เนื้อเพลงขั้นสุดท้ายมาไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ดังที่เขาเล่าถึงขั้นตอนทำงานบางส่วนว่า “คิดเยอะ โดยเฉพาะเพลงสำคัญๆ อย่างนี้ จะคิดไว้ร้อย แล้วมาคัดเอาสิบ และจากสิบ จะมาเรียงอย่างไรให้ลงตัว ก็มาปรับแต่งกันดู จะคิดว่าอะไรควรมิควรแค่ไหนด้วย เพราะเกี่ยวเนื่องกับพระเจ้าอยู่หัว ก็ต้องระวังมาก”

เมื่อถามถึงเป้าหมายว่าอยากให้ผู้ฟังรู้สึกอย่างไร นิติพงษ์มองมุมต่างออกไปว่า “ไม่ได้ ต้องให้เขารู้สึกเอง คือถ้าเขาไม่รู้สึกก็บังคับให้เขารู้สึกไม่ได้” ก่อนจะสรุปว่า

“อย่างน้อยถ้าเพลงทำให้เขาสะเทือนใจได้ในสิ่งที่เราพูดถึงพระองค์ท่าน ก็เชื่อว่าเขาคงอยากทำอะไรขึ้นมาดีๆ สักอย่าง ไม่ว่ามันจะเป็นเรื่องเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม”

Web 2.0
ช่องทางแสดงความภักดีบนโลกออนไลน์

เพื่อให้สอดรับกับแคมเปญ “รูปที่มีทุกบ้าน” GMM Grammy เปิดเว็บไซต์ใหม่ ourking.net ให้ปวงชนชาวไทยส่ง “รูปในหลวง” ที่มี ณ บ้านของตัวเองมาเป็นส่วนหนึ่งของแกลเลอรี่ภาพล้ำค่า เฉพาะภาคกลางก็มีถึงราว 3 พันรูปไปแล้ว

จุดเด่นของเว็บ ourking.net อยู่ที่การใช้เทคโนโลยี web 2.0 มาแรง เพื่อสอดรับกับกระแสของการให้ข้อมูลมาจากผู้ใช้ เช่นอัลบั้มรูปออนไลน์ไปจนถึง Social Community อย่าง Hi5, Facebook

คนไทยทุกคนสามารถส่งภาพในหลวงที่มีอยู่ประจำบ้าน ถ่ายเองมาจากบรรยากาศจริง พร้อมข้อความถวายพระพร หรือแรงบันดาลใจในชีวิตที่เกิดจากภาพของพระองค์ไม่เกิน 4 บรรทัด กับชื่อ ที่อยู่ เลขบัตรประจำตัวประชาชน ปีเกิด ไปเก็บรวมกันไว้ในฐานข้อมูลคนไทยที่ต้องการแสดงความจงรักภักดีทางเว็บ ourking.net

ตั้งแต่เปิดโครงการ ศิลปินและนักแสดงแกรมมี่ก็ทำเป็นตัวอย่างไว้ก่อนแล้วที่ ourking.net/artist.php ด้วย

หลังจากหมดเขต 15 พฤศจิกายนแล้ว เมื่อใกล้ถึงวันที่ 5 ธันวาคม 2550 นี้ ทางแกรมมี่จะรวบรวมทุกรูปไม่ว่าจะกี่แสนรูป ประกอบกันขึ้นด้วยเทคนิคคอมพิวเตอร์กราฟิกแบบโมเสก (Mosaic) ขึ้นเป็นภาพพระบรมฉายาลักษณ์ ขนาด 10 x 15 เมตร ที่ตึก GMM Grammy และที่ ourking.net ไว้เป็นสัญลักษณ์แห่งแรงบันดาลใจและการร่วมแรงร่วมใจของนักท่องเน็ตไทยทุกคน