ทรูวิชั่นส์ : Content ปั้นแบรนด์

อนาคตที่สดใสของทรูวิชั่นส์ เพิ่งจะฉายแววชัดขึ้น หลังรวมเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มทรูคอร์ป ภายใต้สโลแกนบริษัทแม่ Better Together ทรูวิชั่นส์เป็นองค์กรหนึ่งของไทยที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมานับครั้งไม่ถ้วน ทั้งการฟันฝ่ากับวิกฤตเศรษฐกิจ ที่ทำให้ผู้ประกอบการต้องหันมารวมตัวกันเพื่อความอยู่รอด และไม่ได้เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว แต่ทรูวิชั่นส์ผ่านสถานการณ์เปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง ก่อนจะกลายมาเป็นบริษัทในเครือทรูคอร์ปอเรชั่นอย่างเต็มตัวเมื่อกลางปี 2006 พร้อมกับมีนโยบายการดำเนินงานที่ชัดเจนภายใต้การนำคอนเทนท์ที่มีอยู่มาเป็นตัวขับเคลื่อนแบรนด์วิชั่น ในการเปิดมุมมองใหม่สู่สังคม รวมทั้งเป็นคอนเทนท์คอนเวอร์เจนซ์หัวใจสำคัญของกลยุทธ์คอนเวอร์เจนซ์ของทรูคอร์ป ซึ่งกลายเป็นแนวทางการพัฒนาธุรกิจของทรูวิชั่นส์ที่จะเติบโตไปอย่างมั่นคงและชัดเจน

ทรูวิชั่นส์ หรือหากจะนิยามกันง่ายๆ ก็คือ ผู้ให้บริการ Pay TV รายเดียวในเมืองไทยที่เด่นชัดที่สุด บริษัทนี้เปิดให้บริการมานานกว่า 16 ปี แต่เพิ่งเริ่มมีกำไรเมื่อ 4 ปี ที่ผ่านมา นับตั้งแต่การรวมตัวกันระหว่างบริษัทไอบีซี และบริษัทยูทีวี จนกลายมาเป็นชื่อ UBC ที่แทบจะกลายเป็น Generic Name สำหรับเรียกบริการเคเบิ้ลทีวีที่มีให้บริการในเมืองไทย

แต่การรวมตัวที่กล่าวถึงนี้ก็ดูเหมือนจะไม่ได้แสดงวิสัยทัศน์ในการขยายธุรกิจได้มากเท่ากับการที่ UBC กลายเป็นบริษัทในเครือทรู 100% พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็นทรูวิชั่นส์

“ช่วงรวมกิจกรรมระหว่างไอบีซีและยูทีวี ถือเป็นช่วงที่พนักงานของทรูวิชั่นส์ต้องปรับตัวมากที่สุด ทั้งเรื่องวัฒนธรรมการทำงานที่มาจากต่างองค์กร สถานะของบริษัทที่ขาดทุน แถม Positioning ในตลาดก็ยังไม่ได้เป็นผู้นำโดดเด่น ผู้บริโภคก็รู้สึกเหมือนมีการรวมตัวเพื่อผูกขาด บวกกับสภาพตลาดที่ทำให้เราต้องปรับราคาเพราะถ้าไม่ปรับ เราก็อยู่ไม่ได้” องอาจ ประภากมล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสาย Commercial บริษัท ทรูวิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) เล่าถึงความหลังของบริษัทก่อนจะมาเป็นทรูวิชั่นส์ในวันนี้

ภาพการเป็นผู้ให้บริการรายเดียว แถมมีค่าบริการที่สูง จึงกลายเป็นการรับรู้ที่ผู้บริโภคส่วนหนึ่งมีต่อผู้ให้บริการเคเบิ้ลทีวีรายนี้

แม้ว่าภาพเหล่านี้ ว่าไปแล้วจะมาจากความบังเอิญทางเศรษฐกิจที่ต้องเป็นไป เพราะเป็นช่วงที่เกิดปัญหาเศรษฐกิจ ไทยประสบปัญหาค่าเงินบาทอ่อนตัว ขณะที่ต้นทุนทุกด้านของการให้บริการเคเบิ้ล ตั้งแต่จานสัญญาณดาวเทียม กล่องรับสัญญาณ หรือแม้กระทั่งเนื้อหาว่า 80% ล้วนต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และเป็นต้นเหตุที่ทำให้บริษัทจำเป็นต้องปรับราคา มากกว่าเหตุผลที่ขึ้นราคาเพราะเป็นผู้ให้บริการที่เหลือเพียงรายเดียว จนถูกมองเป็นการให้บริการแบบผูกขาด

แต่อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าแผนการดำเนินการตลาดที่ผ่านมา ภายใต้แบรนด์ “ยูบีซี” ที่ถึงแม้ราคาของสินค้าจะจับกลุ่มลูกระค้าระดับกลางถึงบน แต่ก็สามารถสร้างกลยุทธ์ Value for money เน้นการวางโพสิชันนิ่งเรื่องความคุ้มค่าของคอนเทนท์ ซึ่งเป็นเทนท์ที่คนอื่นไม่มี ขณะเดียวกันก็ปรับมุมมองกลุ่มลูกค้าตลาดบนให้เชื่อมั่นว่า ต้องมียูบีซีเป็นเหมือนเฟอร์นิเจอร์ที่จำเป็นของบ้าน เพราะมีคอนเทนท์ที่ตอบโจทย์ได้ทั้งพ่อ แม่ ลูก

“คนจ่ายค่าบริการคือคุณพ่อบ้าน เวลาดูกีฬาเท่าไรก็คุ้ม พอไม่ได้ดูก็รู้สึกไม่คุ้ม แต่ลืมนึกไปว่า แม่บ้าน ลูก หรือพ่อแม่ที่บ้านได้ดูอะไร จุดเปลี่ยนที่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าทรูวิชั่นส์คุ้มค่าสัมผัสได้ คือโฆษณาชุดเด็กที่มีจานดาวเทียมบนศีรษะ เป็นจุดที่ทำให้แบรนด์ทรูวิชั่นส์พุ่งขึ้นและเปลี่ยนความคิดของสมาชิก ให้หันมาเห็นความคุ้มค่าที่จะให้ทรูวิชั่นเป็นส่วนเติมเต็มสาระให้กับคนอื่นๆ หรือคนในครอบครัว”

ที่ผ่านมา การทำตลาดของยูบีซี ถือว่าประสบความสำเร็จมากในการเจาะกลุ่มตลาดบนแล้ว เมื่อมาอยู่ภายใต้กลุ่มทรู ก็ได้ปรับนโยบายการตลาดให้สอดคล้องกับนโยบายบริษัทแม่ ทำกลยุทธ์คอนเวอร์เจนซ์ นำโปรดักส์และบริการในเครือมาผสมผสานกันให้เกิดความคุ้มค่า อีกทั้งกลยุทธ์ในการเพิ่ม Local content ให้มากขึ้น เพื่อเจาะกลุ่มตลาดแมสเป็นกลุ่มหลัก

ในขณะเดียวกัน ก็ยังคงเน้นกลยุทธ์ที่จะรักษากลุ่มค้าระดับบนที่เป็นสมาชิกอยู่แล้ว ให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นไปพร้อมกันด้วย

แม้เพียงแค่ปีครึ่งภายใต้แบรนด์ทรูวิชั่นส์ ฐานสมาชิกทรูวิชั่นส์ขยายเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว จากสมาชิกเพียง 5 แสนกว่าราย เพิ่มเป็นเกือบ 1 ล้านราย

การขยายตลาดได้อย่างรวดเร็วนี้ องอาจเล่าว่า มาจากหลายกลยุทธ์ นอกเหนือจากกลยุทธ์คอนเวอร์เจนซ์ และการใช้คอนเทนท์เป็นตัวนำในการทำตลาด (Content Lead) แล้ว ส่วนหนึ่งมาจากแบรนด์โพสิชันนิ่งที่เปลี่ยนไป จากเดิมที่ใช้สโลแกน “เปิดโลกการเรียนรู้ เปิดยูบีซีให้ชีวิต” มาเป็น “เปิดชีวิตมุมมองใหม่ เปิดทรูวิชั่นส์” ซึ่งทำให้ทรูวิชั่นส์ มีทิศทางการทำตลาดที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

หลังการสร้างความรู้สึกคุ้มค่าให้กับฐานลูกค้าเดิมซึ่งเป็นระดับไฮเอนด์ไปแล้ว ในส่วนของการขยายตลาดระดับแมส ทรูวิชั่นส์ใช้วิธีเปิดโอกาสให้คนจำนวนมากที่ไม่เคยสัมผัสกับบริการเคเบิ้ลทีวี มีโอกาสเข้าถึงการใช้บริการมากขึ้น โดยมีแพ็คเกจทรูไลฟ์พรีวิลเป็นเครื่องมือหลัก

“การให้ดูทรูวิชั่นส์ฟรี แล้วโทรทรูมูฟได้ 300 บาทต่อเดือน เป็นการคืนให้กับสังคมที่ยังไม่มีโอกาสในการบริโภคเคเบิ้ลทีวี ที่มีสาระดีๆ และเป็นการคอนเวอร์เจนซ์ที่เห็นได้ชัด”

แต่เหนือสิ่งอื่นได้คือการที่คอนเวอร์เจนซ์ทำให้ทรูวิชั่นส์ได้ประโยชน์ทั้งการขยายฐานตลาดแมสและกลุ่มไฮเอนด์ตามที่คาดหวังไว้แต่ต้น โดยมีคอนเทนท์เป็นตัวนำในการกระจายธุรกิจไปในรูปแบบต่างๆ

เรียกว่าทรูวิชั่นส์สามารถนำคอนเทนท์ที่อดีตเคยสร้างประโยชน์ได้เพียงผ่านการส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมและเคเบิ้ล มาเป็นการเจเนอเรทคอนเทนท์ให้ทรูคอร์ปสามารถคอนเวอร์เจนซ์เทคโนโลยีแพลตฟอร์มที่มีอยู่ได้บนทุกๆ อุปกรณ์ ทั้งธุรกิจบรอดคาสท์ อินเทอร์เน็ต มือถือ โทรศัพท์บ้าน

เพราะเป็นที่รู้กันดีว่าไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอินเทอร์เน็ตและมือถือ สิ่งที่จะทำให้ตลาดเติบโตได้มากน้อยเพียงไรก็ขึ้นอยู่กับว่าอุปกรณ์นั้นมีคอนเทนท์ให้ผู้บริโภคได้เสพได้โดนใจและมากน้อยแค่ไหน

“การนำทรูวิชั่นส์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทรูคอร์ปอย่างเต็มตัวจึงเป็นตัวเชื่อมในแง่คอนเทนท์ของทรูคอร์ปที่ดีที่สุด”

ในทางกลับกันประโยชน์โดยตรงที่ทรูวิชั่นส์ได้รับจากการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของทรูคอร์ป ก็คือรูปแบบและช่องทางการจำน่ายที่เข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น เพราะนับจากนี้ไม่ว่าผู้บริโภคจะเห็นหน่วยรถเคลื่อนที่ของทรูมูฟที่ไหนก็สามารถสมัครสมาชิกและขอติดตั้งทรูวิชั่นส์ได้ทุกที่เช่นกัน

“สำหรับลูกค้าแค่รู้ว่า บริการอะไรก็ตามที่ทำให้ชีวิตเขาสะดวกขึ้น หรือได้รับความบันเทิงข่าวสารได้ง่าย แค่ปลายนิ้ว และรับรู้ว่าทรูวิชั่นส์คือหนึ่งในบริษัทที่สามารถเสนอบริการแบบ Bundling ที่ให้ลูกค้าใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับการตีโจทย์ของทีมงานแต่ละฝ่ายว่าจะทำประโยชน์ตรงนี้ได้ดีขึ้นกว่าเดิมยิ่งขึ้นอย่างไร”

ในแง่ของผลประกอบการสิ่งที่วัดผลได้ชัดเจนที่สุดคือปรากฏการณ์บันเดิ้ลแพ็คเกจที่ทำให้ทรูวิชั่นส์เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น จากฐานสมาชิกที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ทรูมูฟก็ได้รับผลโหวตมากขึ้นเพราะทุกอย่างถูกลิงค์เข้าหากัน

“ตัวอย่างทรูไลฟ์ฟรีวิว จะเป็นบริการที่เห็นได้ชัดเจน คนดูคอนเทนท์เรามากขึ้น ซึ่งเปรียบเหมือนกับเราได้แจกสินค้าตัวอย่างให้คนได้ลองใช้ผ่านฟรีทีวี ใช้ดีก็มาซื้อสินค้า เราสามารถทำการอัพเซล จากคนที่ไม่มีความสามารถดู เอื้อมไม่ถึง ก็มีโอกาสได้ทดลองจากแพ็คเกจเริ่มต้น เช่น Knowledge Package”

ทั้งนี้ สินค้าตัวอย่างต้องมีแรงดึงดูดมากพอ ที่ผ่านมาองอาจยกให้เอเอฟเป็นตัวโชว์ในเรื่องคอนเวอร์เจนซ์ แต่ก็มีความพยายามพัฒนานำคอนเทนท์อื่นๆ ทั้งพรีเมียร์ลีก มวยปล้ำ ซึ่งมีแฟนรายการเหนียวแน่น มานำเสนอผ่านช่องทางอื่นมากขึ้น เช่น ผ่านเว็บ มือถือ รวมทั้งสร้างคอมมูนิตี้ของแต่ละกลุ่มคนดูขึ้นมา ในลักษณะการขยายตลาดด้วยการใช้คอนเทนท์เป็นตัวนำเข้าหาความต้องการของผู้บริโภค หรือ Content Wrap (อ่านล้อมกรอบ)

“การทำคอนเวอร์เจนซ์ เรื่องบุคลากรไม่ใช่เรื่องยาก ในการที่จะสร้างความเข้าใจในเรื่องของการทำคอนเวอร์เจนซ์ แต่ส่วนที่ยากคงเป็นเรื่องเทคโนโลยี เนื่องจากต้อง Set ระบบหลังบ้านที่จะทำให้ระบบทุกอย่างมาเชื่อมกัน และถูกพัฒนาไปตามการตลาดที่วางไว้ แต่อย่างไรก็ตาม การปรับเทคโนโลยีให้ระบบแต่ละตัวที่ไม่เหมือนกัน ให้สามารถเชื่อมเข้ามาเป็นฐานเดียวกันได้นั้น เป็นอะไรที่ไม่ง่ายเลย”

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง คน เทคโนโลยี และแบรนด์ ณ วันนี้ ไม่ใช่เรื่องน่าหนักใจของทรูวิชั่นส์ที่จะต้องก้าวไป เพราะมีแบรนด์คอนเซ็ปต์ที่วางไว้ ในฐานะผู้เปิดโลกมุมมองใหม่ เปิดทรูวิชั่นส์ เป็นธงนำที่ชัดเจน ผสมกับการมีกลยุทธ์คอนเวอร์เจนซ์ที่ซัพพอร์ทการทำตลาด สามารถเพิ่มแขนขาให้กับการทำตลาดของทรูวิชั่นส์ได้อย่างไม่สิ้นสุด

TrueAF : แม่แบบของ Content Wrap

สำหรับทรูวิชั่นส์ซึ่งมีสมาชิกเป็นกลุ่มคนที่หลากหลายทั้งเพศและวัยเพราะในแต่ละครอบครัวประกอบด้วยคนหลายช่วงอายุ รูปแบบคอนเวอร์เจนซ์ที่นำเสนอจึงต้องอาศัยเนื้อหารายการหรือคอนเทนท์เป็นตัวนำ โดยการผสมผสานผลิตภัณฑ์หรือบริการในกลุ่มเพื่อนำเสนอให้ผู้บริโภคได้รับผลประโยชน์สูงสุด ซึ่งในทรูวิชั่นส์เรียกกลยุทธ์นี้ว่า การ Wrap โดยแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ 1-Content Wrap คือการนำ Content และบริการต่างๆ ผ่านสื่อและช่องทางมีอยู่ 2-Product Wrap คือการนำสินค้าหรือบริการ ผ่านเนื้อหารายการ หรือบริการเสริมอื่นๆ ในเครือ

True AF คือกรณีตัวอย่างของการทำ Content Wrap ที่ประสบความสำเร็จของทรูวิชั่นส์ และมีความชัดเจนในการสื่อคอนเวอร์เจนซ์ผ่านทุกเทคโนโลยีที่มีอยู่ในมือ รวมทั้งสะท้อนภาพการใช้คอนเทนท์เป็นตัวขับเคลื่อนและสะท้อนการทำงานที่ต้องคอนเวอร์เจนซ์กันระหว่างหน่วยงานภายในหลายฝ่ายไปพร้อมกัน ที่สำคัญหากเข้าไม่ถึงความต้องการของแฟนรายการอย่างแท้จริงคงยากมากที่จะคิดรูปแบบบริการและเนื้อหาการให้บริการที่หลากหลายได้เท่านี้

นี่คือองค์ประกอบการของ Content Wrap ที่มีความหลากหลายไม่ต่างจากการวางแผนสื่อโฆษณาของแบรนด์ๆ หนึ่งเลยทีเดียว

หนึ่ง-ดูเอเอฟผ่าน TV ได้แก่ การดูรายการสดผ่านทรูวิชั่นส์ช่อง 20 ถ่ายทอดคอนเสิร์ตผ่านทรูมิวสิค ช่อง 56 ตัดตอนเป็นไฮไลท์และความเคลื่อนไหวให้ชมในรายการ True moment daily / True moment weekly / Secret of Academy ผ่านทรูอินไซด์ช่อง 21 สำหรับคนดูทีวีผ่านอินเทอร์เน็ต ก็มีรายการสดถ่ายทอดตลอด 24 ชั่วโมงให้ดูและการชมคอนเสิร์ตประจำสัปดาห์ด้วยการใช้บริการจากเมนู Video on Demand ทูไอพีทีวี (TrueIPTV)

ขณะเดียวกันกลุ่มผู้ชมฟรีทีวีก็สามารถรับชมเอเอฟได้ใน 3 รูปแบบรายการ ได้แก่ Live Concert / Daily Hi-light / Weekly highlight ผ่านทางช่อง 9 อสมท

สอง-ฟังเอเอฟทางวิทยุ ผ่านการถ่ายทอดสดเสียงคอนเสิร์ตทุกคืนวันเสาร์ตลอดทั้ง 12 สัปดาห์ ทางTrue Music 93.5 MHz

สาม- ติดตามและทำกิจกรรมร่วมกับเอเอฟผ่านโทรศัพท์มือถือ

เอเอฟ 4 ที่จบไปเป็นปีล่าสุด เป็นครั้งแรกที่ผู้ชมสามารถติดตามชีวิตนักล่าฝันได้ตลอด 24 ชั่วโมงผ่านมือถือ ด้วยการโหลดฟีเจอร์ True AF Cool ไว้บนมือถือผ่านระบบทรูมูฟด้วยการพิมพ์ Cool ส่งมาที่ SMS เบอร์ 3434 รวมทั้งมีบริการให้แฟนนักล่าฝันสามารถโหลด โหวต แชท และโหลดภาพ เสียง และวิดีโอคลิป ผ่านทาง http://trueaf.truelife.com

บริการที่คิดขึ้นผ่าน Content Wrap ของเอเอฟ จึงมีหลายรูปแบบที่แตกต่างกัน ดังนี้
-การโหวตเสียค่าบริกาครั้งละ 3 บาท แต่ใช้วิธีคืนเงินกลับเป็นค่าโทรเท่ากับจำนวนเงินที่ใช้โหวตเมื่อสิ้นสุด
-การแชทผ่านหน้าจอทรูวิชั่นส์ 20 เปิดให้บริการตั้งแต่ 6 โมงเย็นถึงเที่ยงคืนครั้งละ 3 บาท
-บริการ Avatar Chat ส่งภาพการ์ตูนน่ารักๆ ของเหล่านักล่าฝันและเพื่อนๆ พร้อมกับข้อความของผู้ส่งบนหน้าจอโดย ครั้งละ 5 บาท
-True AF Download โหลดภาพเหล่านักล่าฝัน Ring tone, Wallpaper และ Screensaver ครั้งละ 20- 35 บาท
-TrueAF Score เช็คการจัดลำดับและรายงานผลคะแนนโหวตของเหล่านักล่าฝัน ให้ผู้ใช้มือสมัครรับ SMS รายงานผลคะแนนเป็นเปอร์เซ็นต์ รายงานทุกวัน จันทร์ถึงศุกร์ อัพเดทวันละ 4 ครั้ง เวลา 10.00, 15.00, 21.00 และ 24.00 ค่าบริการ 3 บาทต่อครั้ง
-TrueAF Update รายงานผลคะแนนโหวตแบบครั้งต่อครั้ง สำหรับผลคะแนนเป็นเปอร์เซ็นต์ครั้งล่าสุดพร้อมจัดลำดับ ครั้งละ 6 บาท โดยไม่ต้องสมัครรับบริการ
-TrueAF News รับข่าวความเคลื่อนไหวในบ้านเอเอฟทุกวันจันทร์-ศุกร์ วันละ 3 ครั้ง ค่าบริการ 3 บาทต่อครั้ง
-TrueAF INFO PACK (Weekly, Monthly) บริการข้อมูลสำหรับแฟนพันธุ์แท้ True AF ให้ติดตามทั้งรายงานผลคะแนนโหวต และข่าวคราวจากบ้านเอเอฟ ผ่าน SMS ทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ อัพเดทผลคะแนนเป็นเปอร์เซ็นต์พร้อมการจัดลำดับ วันละ 2 ครั้ง เวลา 10.00, 24.00 และข่าวประจำวัน10.00น

สี่-การให้บริการบรอดแบนด์ ทางคอมพิวเตอร์ผ่านเว็บไซต์ www.truelife.com ได้แก่ การรับชมความเคลื่อนไหวของนักล่าฝันตลอด 24 ชั่วโมง ติดตาม Live Concert พร้อมแชทสดผ่านโปรแกรม On Truelife และร่วมกิจกรรมต่างๆ เช่น การประกวดสร้าง Fanclub ประกวด Clip VDO และประกวด Avatar V โปรด และชมการถ่ายทอดสดตลอด 24 ชั่วโมง / 5 กล้องพิเศษ / Live concert /ชม รายการ AF Concert, True moment, Secret of Academy

ห้า-Website ผ่าน http//trueaf.truelife.com เป็นอีกช่องทางเพื่อจัดขึ้นให้กลุ่มแฟนเอเอฟติดตามรายการและข่าวได้อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การให้บริการภาพ Exclusive ใน Photo Gallery พิเศษปีนี้จะมีบทสัมภาษณ์เทรนเนอร์ประจำซีซั่นพร้อม VDO Clip อัพเดทข่าวผ่าน News Clip ทุกวันจากเมนู Updates เช็คคะแนนล่าสุดกับ Score Update และ Score Board กราฟวิเคราะห์ผลคะแนนโหวต ติดตามคะแนนโหวต วิเคราะห์คาดเดาแนวโน้มลำดับ ตั้งแต่จันทร์-ศุกร์

รวมทั้งพัฒนาเวบไซต์ให้เป็นชุมชนของผู้ชื่นชอบเอเอฟและเป็นช่องทางในการสื่อสารและทำกิจกรรมระหว่างนักล่าฝันกับแฟนคลับในรูปแบบต่างๆ ได้แก่
– AF Fan Club ให้บรรดาแฟนนักล่าฝันทำความรู้จัก แลกเปลี่ยนความชื่นชอบ และแรงบันดาลใจที่ได้รับจากนักล่าฝันคนโปรดของตน
– miniHOME เปิดหน้าเว็บเฉพาะให้แฟนคลับนักล่าฝัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและความชื่นชม พร้อมแชทกับเพื่อนซี้ และตั้งแฟนคลับได้ฟรีภายในเวบ
– Blog ไดอารี่ส่วนตัวไว้เก็บเรื่องราวและบอกเล่าประสบการณ์
– V-Diary สมุดบันทึกของนักล่าฝันคนโปรด ซึ่งจะอัพเดททุกวัน
– Sneak Peak การถ่ายทอดสด True AF4 แบบออนไลน์ ทุกเย็น 19.00-22.00 น.
– Juke Box และ Net Radio รวมเพลงทุกเพลงที่ทำให้คุณคิดถึงพวกเขา ไม่ว่าจะเป็น เพลง ธีม ซอง (Theme Song) ทุกเวอร์ชั่น, เพลงโจทย์ประจำสัปดาห์, หรือเพลงของรุ่นพี่ AF1-2-3
– On TrueLife ให้แฟนรายการแชทบนออนไลน์ผ่านโปรแกรมของทรู ฟังเพลง และชมรายการแบบออนไลน์จากสถานีที่ได้ตลอดเวลา
– ดูกระทู้ล่าสุดผ่าน AF Webboard ที่ http//trueaf.truelife.com
– ดูรายละเอียดสำหรับ True AF Mobile ซึ่งมีรายละเอียดของการใช้งาน Vote /Chat / Mobile Service/ Wap Service / AF info Pack Service

พรีเมียร์ลีก : คอนเทนท์กีฬาก็ Wrap ได้

พรีเมียร์ลีกเป็นคอนเทนท์ไฮไลท์อีกตัวของทรูวิชั่นส์ ซึ่งทำคอนเวอร์เจนซ์ได้หลายรูปแบบ การทำ Content Wrap ของพรีเมียร์ลีกจึงมีกิจกรรมที่ทรูวิชั่นส์ขึ้นผ่านสื่อทุกช่องทางในเครือไม่แพ้เอเอฟเช่นกัน

หนึ่ง-บนหน้าจอทีวี มีการเปิดตัวแคมเปญ The King of Soccer ตามด้วยกิจกรรม Commentator Hunt, Watch & Win, The Battle of Big 4 พร้อมกับการรีแบรนด์ช่องกีฬา รวมทั้งการเปิดตัวแพ็คเกจรายการถ่ายทอดสดจำนวน 380 แมทช์สำหรับแพ็คเกจแพลตินัม

สอง-ผ่านไฮสปีด มีการเปิดตัวด้วยการบริการผ่านบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตในราคา 199/299 บาท ซึ่งมีจำนวนผู้สมัครสมาชิกจำนวน 1,188 ราย รวมทั้งเปิดตัวการให้บริการผ่านไอพีทีวีครั้งแรกในราคา 399 บาท มีผู้สมัครจำนวน 15 ราย

สาม- Pay per view ที่ให้ดูพรีเมียร์ลีกผ่านบริการเพย์เพอร์วิว ในราคา 299 บาท และมีผู้สมัครสมาชิกถึง 30,000 ราย

สี่-บนทรูไลฟ์ ด้วยการเปิดตัวเว็บพอร์ทัลของพรีเมียร์ลีกครั้งแรก เพื่อใช้เป็นแหล่งรวมรายการสดและข้อมูลอื่น เช่น อัพเดทผลคะแนนล่าสุด ข่าว การวิเคราะห์ เวบบอร์ด วิดีโอคลิป

ห้า-มีการเปิดตัวบริการให้ดูพรีเมียร์ได้บนมือถือผ่านซิมทรูมูฟ ในราคา 299 บาท เพิ่มจากการเติมเงินทรูมูฟปกติ 300 บาท

องอาจสรุปผลการทำ Content Warp ผ่านเอเอฟและพรีเมียร์ลีกว่า เป็นการแสดงให้เห็นคอนเวอร์เจนซ์ในกลุ่มทรู ซึ่งทำให้ทรูวิชั่นส์เปลี่ยนมุมมองในการทำธุรกิจขยายออกไปโดยไม่จำกัดว่า เพราะคอนเทนท์ที่ทรูวิชั่นส์มีอยู่สามารถพัฒนาคอนเทนท์ให้ดูผ่านบนมือถือ ผ่านอินเทอร์เน็ต หรือแม้กระทั่งเข้าไปในตลาดแมสอย่างฟรีทีวี ทั้งยังเป็นการย้ำว่าคอนเทนท์ที่ทรูวิชั่นส์มีอยู่นี้ คือหัวใจและส่วนเติมเต็มที่ทรูคอร์ปอเรชั่นขาดไม่ได้ หากต้องการเติมเต็มคอนเวอร์เจนซ์ให้มีความสมบูรณ์และชัดเจนยิ่งขึ้น

ทรูไลฟ์พรีวิล : ขยายตลาดด้วย Product Wrap

Product Wrap คือการนำสินค้าหรือบริการ ผ่าน เนื้อรายการ หรือบริการเสริมอื่นๆ ในเครือทรู ตัวอย่างความสำเร็จในการใช้ Product Wrap ได้แก่ ทรูไลฟ์พรีวิล ซึ่งเริ่มต้นด้วยการผูกบริการระหว่างทรูมูฟและทรูวิชั่นส์ ติดทรูวิชั่นส์ได้โทรทรูมูฟฟรี 300 บาท ทำให้ตอบสนองความต้องการลูกค้าที่มีความต้องการดูทรูวิชั่นส์และต้องการการใช้งานโทรศัพท์ ซึ่งเป็นการนำเสนอบริการด้วยการใช้ Product Wrap ที่ทำให้ทรูวิชั่นส์มีฐานสมาชิกใหม่ในแพ็คเกจนี้เพิ่มขึ้นกว่า 3 แสนราย

ปัจจัยสำคัญในการนำเสนอบริการรูปแบบนี้ องอาจสรุปว่า จะต้องพร้อมด้วยองค์ประกอบหลายส่วน ได้แก่ หนึ่ง-ต้องมีความเข้าใจในเรื่องของคอนซูเมอร์ สอง-ต้องมีความพร้อมที่จะเปิดกว้างรับแนวคิดใหม่ๆ ที่จะเชื่อมโยงของสองสิ่งขึ้นมา เพราะการคอนเวอร์เจนซ์ต้องทำให้แต่ละฝ่ายต้องทำงานร่วมกันมากขึ้น สาม-เปิดมุมมองใหม่ ทำความเข้าใจกับคนในองค์กร ในการยอมรับการเปลี่ยนแปลงของแนวคิดเพื่อนำเสนอแนวทางของคอนเวอร์เจนซ์โดยมุ่งหวังผลประโยชน์ของเครือสูงสุด และการอินทิเกรดเทคนิคหลังบ้านต้องเป็นรูปแบบเดียวกัน เพื่อความสะดวกในการนำเสนอข้อมูลและโปรโมชั่นต่างๆ

ยอดสมาชิกทรูวิชั่นส์
สมาชิกทรูวิชั่นส์ ทั้งหมด 864,000 ราย
โดยเป็นสมาชิกแพ็คเกจ ทรูไฟล์พรีวิล 318,000 ราย