วิธีทำงานร่วมกับพนักงาน Gen Y จากบทสัมภาษณ์ของสุดยอดนายจ้างดีเด่นประจำปี 2016

“เอไอเอส” นั้นอยู่อันดับต้นๆ ในลิสต์ของบริษัทที่คนอยากทำงานด้วยมากที่สุดมาโดยตลอด เมื่อรวมกับรางวัล สุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทย ประจำปี 2016” ที่ทางเอไอเอสเพิ่งได้รับมาหมาดๆ ทำให้ยิ่งดึงดูดคนรุ่นใหม่ๆ เข้ามาร่วมงานอยู่อย่างไม่ขาดสาย

รางวัลสุดยอดนายจ้างดีเด่นที่เอไอเอสได้รับในครั้งนี้ มาจากการสำรวจและรวบรวมข้อมูลของเอออน ฮิววิท ที่ร่วมมือกับสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผ่านการตอบแบบสอบถามจากพนักงานถึง 184,033 คน ในกว่า 80 องค์กร

โดยคัดเลือกจากหลักเกณฑ์ 4 ด้าน คือ

1.มีการผสมผสานการสร้างศักยภาพของบุคลากรให้เข้ากับกระบวนการจัดการบุคลากรที่มีประสิทธิภาพ, 2.ผู้นำมีประสิทธิภาพ และมีอิทธิพลต่อทีมงาน, 3.มีการผสมผสานเป้าหมายในการเติบโตในสายอาชีพเข้ากับกระบวนการจัดการผลงาน และ 4.มีการประเมินผล และให้รางวัลแก่พนักงานระดับผู้จัดการในด้านคุณภาพ และการบริหารจัดการบุคลากรของตนเอง

การสำรวจในครั้งนี้ยังพบว่าผู้บริหารองค์กรในประเทศไทยจำนวนกว่า 54% ได้ประเมินประเด็นด้านบุคลากร เป็นความท้าทายทางธุรกิจอันดับหนึ่ง โดย 3 อันดับแรกในความท้าทายเรื่องคน ประกอบไปด้วย การปรับตัวขึ้นของเงินเดือน, การขาดแคลนผู้สืบทอดตำแหน่งที่จะขึ้นมาเป็นผู้บริหารองค์กร และขาดแคลนผู้ที่มีความสามารถจากตลาดแรงงานภายนอก

งานในฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource) จึงถือเป็นหน่วยงานที่สำคัญในการบริหารจัดการพนักงานในองค์กรที่มีความแตกต่างหลากหลาย ทำให้เอชอาร์ต้องปรับตัวเข้ากับเทรนด์ของการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ เพื่อให้การทำงานร่วมกันของคนแต่ละเจนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

คุณกานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) และ ประธานคณะกรรมการกลุ่มงานทรัพยากรบุคคล กลุ่มอินทัช ผู้ที่ผ่านประสบการด้านทรัพยากรบุคคลจากหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรมตั้งแต่ด้านไอทีที่ Microsoft, ด้านการเงินการธนาคารที่ Exim Bank และ AIG, ด้านธุรกิจประกันภัยที่ Prudential ไปจนถึงด้านค้าปลีกอย่าง Watson การเปลี่ยนงานโดยย้ายอุตสาหกรรมในทุกๆ ครั้ง เหตุผลเพราะไม่ต้องการย้ายไปทำงานกับคู่แข่งของบริษัทเดิม และชอบมองหาความท้าทายใหม่ๆ ที่จะช่วยให้พัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา

1_ais_new

“ทุกย่างก้าวทุกการเปลี่ยนแปลงนั้นคือเรื่องสนุก คือความท้าทาย ทำให้ตัวเองฉลาดขึ้น รู้เยอะขึ้น คุณภาพในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ นั้นพัฒนา แม้บางครั้งจะรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงบางอย่างนั้นจะทำให้ตัวเองต้องลำบาก ต้องเหนื่อยกว่าเดิม แต่ในท้ายที่สุดการเปลี่ยนแปลงนั้นมันจะเกิดผลดีต่อตัวเอง เราก็เต็มใจยอมรับความยากลำบากอันนั้น ซึ่งในการย้ายงานแต่ละครั้งเราต้องไปเรียนรู้กระบวนการทำงานในแต่ละภาคธุรกิจ ทำให้เราเห็นนิสัยการทำงานที่แตกต่าง แล้วค่อยๆ ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานไปในทิศทางที่เราวางไว้

โจทย์แรกของการเข้ามารับงานที่เอไอเอสก็คือการ “ปรับโฉม” การทำงานภายในองค์กรจากเดิมที่เป็นโอเปอเรเตอร์ให้บริการด้านการสื่อสาร ไปสู่ Digital Service Provider ที่ส่งมอบเนื้อหาอันครอบคลุมตามพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป การปรับโฉมในครั้งนี้ “พนักงาน” ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จขององค์กร งานด้านทรัพยากรบุคคลจึงต้องเตรียมและพัฒนาศักยภาพพนักงานให้พร้อมรับต่อทุกการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

“Positioning ของเราที่อยู่ในตลาดนั้นคืออันดับ 1 แต่เราไม่อยากหลงไปยึดติดกับคำว่าผู้นำจนหยุดพัฒนาตัวเอง เราต้องการให้พนักงานตื่นรู้ ว่า Positioning ของเราอยู่ตรงไหน และเราต้องทำอะไร พยายามวิ่งหนีความสำเร็จของตัวเองในอดีต เพื่อพัฒนาตัวเองไปสู่ความท้าทายใหม่ๆ

ซึ่งจุดแข็งที่ทำให้เราแข่งขันได้ในตลาดก็คือการมีทีมงานที่แข็งแกร่งบวกกับการ ดึงคนที่มีความสามารถในด้านต่างๆ เข้ามาเติมเต็มในส่วนที่องค์กรขาด พร้อมทั้งโฟกัสคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพในด้านดิจิตอลเข้ามาร่วมงาน”

2_ais_new

ในจำนวนพนักงานกว่าหมื่นคนของเอไอเอสนั้น เมื่อแบ่งตามเจนเนอเรชั่นแล้ว มีพนักงานที่เป็นคนรุ่นใหม่อย่าง Gen Y อยู่ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ตามมาด้วยรุ่นพี่อย่าง Gen X อีก 27 เปอร์เซ็นต์ และ Baby Boomer อีก 3 เปอร์เซ็นต์

“การทำงานกับคนรุ่นใหม่ที่มีจำนวนถึง 70 เปอร์เซ็นต์ในองค์กร มีความท้าทายเป็นอย่างมาก สิ่งสำคัญคือต้องเปิดใจยอมรับในสิ่งที่พวกเขาเป็น ตัวของพี่เองในช่วงแรกก็ยังไม่เข้าใจพฤติกรรมของคนเจนนี้ ที่มีความคิดที่แตกต่างจากเรา ความอดทนต่ำ เบื่องานง่าย ย้ายงานบ่อย แต่พอเราเริ่มเปิดใจทำความรู้จักพวกเขามากขึ้น เราก็เริ่มเรียนรู้ เริ่มเข้าใจ และสามารถปรับตัวของเราให้เข้าหากัน และเพิ่มศักยภาพในการทำงานร่วมกันได้มากขึ้น

ที่นี่เราไม่ได้เอาอายุการงานมาเป็นตัววัดความสำเร็จ เราเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้เติบโต เรามีงบประมาณในการพัฒนาตนเองให้แก่พนักงานทุกคน เราดูเรื่องความเป็นอยู่ของพนักงาน สวัสดิการต่างๆ

5_new

เดี๋ยวนี้พนักงานหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพของตัวเองมากขึ้น ไม่อยากป่วย มากกว่าจะสนใจสิทธิการรักษาพยาบาลที่ทางบริษัทมีให้ เน้นกิจกรรมการดูแลตัวเอง ออกกำลังกาย วิ่ง จ้างครูมาสอนเต้นแอโรบิค จัดทำบุฟเฟต์อาหารคลีน แผนกต่างๆ วางแผนทำกันเองในหน่วยงาน รวมตัวกันโดยไม่ต้องรอองค์กรมาทำให้  HR จึงมีหน้าที่ Support ความต้องการของพวกเขาในส่วนต่างๆ”

บทบาทหน้าที่ของทุกคนในองค์กรล้วนมีความสำคัญ โดยเฉพาะหัวหน้างานนั้นต้องตื่นรู้ว่าบทบาทของตัวเองมีความสำคัญอย่างไร ต้องรับผิดชอบต่อคนรุ่นใหม่อย่างไร ทำตัวเป็นรุ่นพี่ที่ดีช่วยแนะนำถ่ายทอดประสบการณ์ในการทำงาน เพื่อให้คนเจนวายได้แสดงศักยภาพ ดึงความสามารถที่มีออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่

6_new

สำหรับคนที่สนใจอยากร่วมงานกับทางเอไอเอสนั้นควรต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้างในมุมมองของเอชอาร์ที่ผ่านการคัดเลือกพนักงานมาอย่างมากมายก็คือ ตอนตอบคำถามขณะสัมภาษณ์ต้องเป็นตัวของตัวเอง เพราะเราตัดสินใจรับคนเข้าทำงานจากภาพที่เราเห็นและพูดคุยในขณะนั้น  เมื่อเข้ามาเป็นพนักงานแล้วก็ต้องมีทักษะในการแก้ปัญหา อดทนต่อการทำงาน มี Passion ที่จะสร้างผลงานให้ออกมาเกินกว่าที่คาดหมาย นี่คือคุณสมบัติและทัศนคติในการทำงานที่องค์กรต้องการ

นอกจากการสรรหาคนเข้ามาทำงานแล้ว การรักษาพนักงานที่มีความสามารถให้อยู่กับองค์กรก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน อย่างไรก็ตามที่เรารู้ว่าคนคนนี้มีศักยภาพ แต่ทำจนสุดความสามารถแล้ว คนเหล่านั้นมีโอกาสเลือกที่จะไปเติบโตในองค์กรอื่น เราควรจะภูมิใจว่าเราเป็นสถาบันที่พัฒนา หล่อหลอมพัฒนาให้คนมีความสามารถ ถือเป็นองค์กรที่ประสบความสำเร็จ เป็นที่ต้องการของบริษัทอื่น เมื่อเราเป็นสถาบันที่พัฒนาคนได้ดี ก็ทำให้คนที่ต้องการที่จะมีศักยภาพในแบบเดียวกันนั้นแข่งขันกันเข้ามาในองค์กรอย่างต่อเนื่อง

7_new

ที่เอไอเอสเปิดโอกาสให้พนักงานพัฒนาความสามารถตามความสนใจของแต่ละคน เปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมในการนำเสนอไอเดียใหม่ๆ ที่ช่วยสร้างความสุขในการทำงาน เพราะเชื่อว่าการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้และเติบโต จะสร้าง “Passion” ในการทำงาน ที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความสำเร็จได้อย่างมั่นคง