บทความโดย : สโรจ เลาหศิริ – Rabbit’s Tale/ Moonshot Digital
ทุกองค์กรต่างก็ตื่นตัวในการปรับตัวเองให้เข้าสู่ยุคดิจิทัลมากขึ้น แน่นอนว่านอกจากเรื่องของคนและบุคลากรที่จำเป็นจะต้องเข้าใจและรับรู้ในวิธีคิดแบบดิจิทัล และเข้าใจในเทคโนโลยีแล้ว สิ่งจำเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่แพ้กันคือ โครงสร้างขององค์กรที่ถูกปรับเปลี่ยนและออกแบบให้ดึงศักยภาพของพนักงานและการทำงานในยุคดิจิทัลออกมาให้มากที่สุด
วันนี้ผมได้นำตัวอย่างของโครงสร้างองค์กรที่เหมาะสมกับรูปแบบการทำงานขององค์กรไทย พร้อมทั้งข้อดีและข้อเสียโดยนำแนวคิดมาจาก e-consultancy ว่ารูปแบบการจัดโครงสร้างองค์กรที่เริ่มวางเพื่อรับคนที่มีความสามารถด้านดิจิทัลนั้นเป็นอย่างไร
1. Dispersed Structure <พนักงานดิจิทัลกระจายอยู่ตามแผนกต่างๆ>
เป็นสิ่งที่เราพบเห็นมากที่สุดในองค์กรขนาดเล็กหรือขนาดกลางทั่วไปเมื่อหัวหน้าแผนกเริ่มเห็นความสำคัญของดิจิทัลมากขึ้น จึงจ้างพนักงานที่มีความรู้ความสามารถด้านดิจิทัลเข้ามานั่งทำงานประกบด้วยเลย และมีอะไรภายในแผนกก็จะปรึกษาด้านนี้
ข้อดี
- แต่ละแผนกสามารถกำหนด Job Description ที่เหมาะสมและต้องการจากพนักงานที่มีความสามารถด้านดิจิทัลคนนี้ได้
- ยืดหยุ่นและใช้งานได้ ไม่ต้องผ่านส่วนกลาง ทำให้สามารถ Execute ได้ทันที
ข้อเสีย
- พนักงานที่เข้ามามักจะถูกให้ทำเกือบทุกอย่างและแบกรับความคาดหวังของทีม อีกทั้งต้องสอนให้ทั้งแผนกเปลี่ยน Mindset ให้เข้าใจ อันจะนำมาซึ่งขวัญและกำลังใจที่อาจจะหมดไป และมีสิทธิ์ที่จะลาออกสูง
- การเติบโตทาง Career Path ของพนักงานดิจิทัลในแต่ละแผนกจำกัด จึงมีสิทธิ์ที่จะโดนดึงตัวหรือลาออกสูง
- บริษัทไม่เห็นการพัฒนาองค์กรให้เข้าสู่ดิจิทัลในภาพรวมทำให้ขาดภาพใหญ่ในการดึงศักยภาพของความสามารถด้านดิจิทัลมาใช้
Dispersed Structure
2. The Digital Center of Excellence (COE) <การสร้างทีมดิจิทัลเฉพาะโดยมีตำแหน่งหัวหน้างานเช่น Chief Digital Officer คอยดูแล>
หรือก็คือการสร้างทีมดิจิทัลขึ้นมาในองค์กรเลย ซึ่งจะเริ่มต้นจากการดึงเอาผู้บริหารที่เป็นระดับหัวหน้าเข้ามาวางกลยุทธ์และนโยบายองค์กรก่อน จากนั้นจึงค่อยๆ สร้างทีมขึ้นมา โดยทีมนี้จะเป็นเหมือน Center ของดิจิทัลที่ทุกทีมจะเข้ามาปรึกษาหรือช่วยแบ่งงานบางส่วนมาให้ดูเลย เป็นโครงสร้างที่องค์กรใหญ่ๆ หลายๆ องค์กรเริ่มฮิตใช้กัน
ข้อดี
- สร้างทีมที่เชี่ยวชาญโดยเฉพาะขึ้นมาซึ่งสามารถขับเคลื่อนองค์กรทั้งในภาพรวมขององค์กร และส่วนปฏิบัติการณ์อื่นๆ
- พนักงานที่ทำงานในแผนกมีการต่อยอดความรู้และทำงานอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีคนมีทักษะความสามารถใกล้เคียงกันส่งผลดีต่อขวัญกำลังใจและการเรียนรู้ในการทำงาน
ข้อเสีย
- เนื่องจากเป็นศูนย์กลางจึงทำให้มีความซับซ้อนเพิ่มขึ้นในการทำงาน ซึ่งจะต้องนำแผนจากทีมดิจิทัลมาผนวกกับแผนของทีมก่อนนำเสนอหรือปฏิบัติจริง
- อาจจะขาดความเข้าใจในหน้าที่และขั้นตอนการทำงานของแต่ละแผนกซึ่งอาจจะเกิดการวางแผนที่ไม่ตรงกับขอบเขตงานที่เป็นไปได้
Digital COE
3. Hub and spoke <สร้างทีมใหญ่ที่ส่วนกลางและแบ่งหน่วยย่อยๆ ออกไปแต่ละแผนก หรือแต่ละสถานที่>
เหมาะสำหรับองค์กรที่แต่ละหน่วยงานมีสาขาหรือแผนกกระจายอยู่ทั่วประเทศหรือมีอยู่ต่างประเทศ โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่สำนักงานใหญ่คอยวางกลยุทธ์และโครงสร้าง โดยสามารถแบ่ง Hub ย่อยๆ ได้ทั้งสาขา หรือ แผนกต่างๆ โดยทุก Hub ย่อยขึ้นตรงกับแผนกดิจิทัลโดยตรง
ข้อดี
- โครงสร้างในฝันของใครหลายๆ คน มีส่วนกลางที่ขึ้นตรงกับผู้บริหารและส่วนย่อยที่อยู่กับฝั่งปฏิบัติการ
- มีขอบเขตการทำงานชัดเจน และสะดวกต่อการบริหารงานในจุดต่างๆ
ข้อเสีย
- ใช้เงินลงทุนและใช้เวลาการปรับโครงสร้างสูงมาก เพราะต้องสร้างทีมกลางให้แข็งแรงและแบ่งทีมย่อยออกไป
Hub and Spoke
4. HoneyComb <ทุกคนในองค์กรเข้าใจดิจิทัลทั้งหมด>
โครงสร้างแบบรังผึ้งเป็นโครงสร้างในอุดมคติของทุกองค์กร แน่นอนว่าดิจิทัลกลายเป็นทักษะพื้นฐานที่ทุกคนขาดไม่ได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นความเข้าใจทางพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคยุคดิจิทัล ความเทคนิคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้สื่อ โซเชียล Search Marketing ต่างๆ และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ทันที ซึ่งองค์กรที่เกิดขึ้นใหม่เช่น Tech Startup ก็เกิดมาพร้อมกับโครงสร้างนี้เลย
ข้อดี
- โครงสร้างในฝัน เพราะทุกคนสามารถเข้าใจและทำงานดิจิทัลได้และนำไปประยุกต์ใช้ในขอบเขตงานตัวเองได้อย่างดีที่สุด
ข้อเสีย
- Transform ยากที่สุด สำหรับองค์กรขนาดใหญ๋ หรือองค์กรที่มีมานานเพราะต้องอาศัยการพัฒนาคน การปรับวัฒนธรรมองค์กร การวัดผล ขั้นตอนการทำงานต่างๆ
HoneyComb
ทีนี้เราก็ลองดูครับว่า เราจะปรับโครงสร้างองค์กรอย่างไร และอย่าลืมว่าโครงสร้างนี้ต้องเหมาะกับบริษัทเราหรือเปล่า และควรจะทำ Change Management ดีๆ ก่อนจะปรับโครงสร้างองค์กรทุกครั้งครับ
Profile
สโรจ เลาหศิริ
นักการตลาดไฟแรง ที่ปัจจุบันสวมหมวกเป็นผู้อำนวยการด้านกลยุทธ์และความคิดสร้างสรรค์แห่ง แรบบิทส์ ดิจิทัล กรุ๊ป (Rabbit’s Tale & Moonshot)
เติบโตมาในยุคดิจิทัล และหลงใหลในการตลาดตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ ตั้งเป้าจะยกระดับการทำการตลาดในเมืองไทยให้ทัดเทียมสู่เวทีระดับโลกให้ได้
Digital Marketing by Saroj Laohasiri
สงวนลิขสิทธิ์ทางบทความให้ใช้เผยแพร่ที่นิตยสาร Positioning เท่านั้น