อัญชลี ไพรีรัก พิธีกรสาวห้าว…แกร่ง…จากเวทีพันธมิตรฯ

ทุกๆ เช้าสำหรับพันธมิตรคอการเมือง กิจวัตรที่ต้องทำหลังจากตื่นนอน คือ การเปิดช่อง ASTV เพื่อดูรายการข่าวยามเช้า เพราะไม่เพียงอัพเดตเหตุการณ์ข่าวสำคัญจากหน้าหนังสือพิมพ์หัวสีใหญ่แทบทุกฉบับ แต่ยังได้เสพอรรถรสหลากอารมณ์ สนุกสนาน จริงจัง สะใจจากการเล่าข่าวแบบวิเคราะห์มีสีสันสอดแทรกสาระและบันเทิงเข้าไปอย่างกลมกลืน จากพิธีกรสาวคู่ต่างวัย “พี่ปอง-น้องเก๋” โดยเฉพาะพี่ปอง หรือ อัญชลี ไพรีรัก พิธีกรสาวห้าว แกร่ง ขวัญใจพันธมิตรสาวน้อย-สาวใหญ่ คนนี้ จัดเป็นแม่เหล็กคนสำคัญทีเดียว เพราะสามารถเรียกเรตติ้งข่าวเช้าให้กับเวทีพันธมิตรฯ ได้อย่างล้นหลาม

อัญชลี เป็นที่รู้จักและประสบความสำเร็จอย่างสูง ในฐานะนักจัดรายการวิทยุของคลื่นข่าว 96.5 และ 92.25 มาก่อน อีกทั้งเธอยังคร่ำหวอดบ่มเพาะประสบการณ์ทำงานสายสื่อสารมวลชนตลอด 20 ปี เริ่มต้นจากการเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์ ทำข่าวประกวด ตั้งแต่นางงาม สุนัข และต้นไม้ ต่อมาก็มาทำข่าวเศรษฐกิจ การเมือง ตลาดหุ้น การตลาด มาเป็นผู้ประกาศข่าวทีวี (ช่อง 7) แต่เส้นทางอาชีพเธอใช่โรยด้วยกลีบกุหลาบ กลับต้องเผชิญอุปสรรคขวากหนามอย่างท้าทาย

“ตอนเป็นนักจัดรายการวิทยุที่ประสบความสำเร็จมากทางคลื่น 96.5 แต่ต้องถูกปิดรายการลง เพราะไปวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล (ทักษิณ) สมัยนั้น รวมถึงกล้านำบุคคลที่รู้เบื้องลึกด้านลบของคนในรัฐบาล คือ อย่างเอกยุทธ อัญชันบุตร มาสัมภาษณ์ออกรายการอย่างท้าทาย ทั้งยังถูกคุกคาม ข่มขู่” อัญชลี เล่าจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในอาชีพครั้งแรกให้ทีมงาน POSITIONING ฟัง

เหตุการณ์ครั้งนี้ ไม่ได้ทำให้เธอย่อท้อและหวั่นเกรง ตรงกันข้าม เป็นแรงผลักให้เธอต่อสู้ เพียงเพื่อต้องการทียืนหยัด และอาชีพกลับคืนมา แต่เมื่อทำไปแล้ว เธอจึงพบว่า ไม่ได้ต้องการแค่นั้น แต่ต้องการประเทศกลับมาคืนมา ส่งผลให้เธอหวนคืนมาต่อสู้ ด้วยการมาจัดรายการข่าวอีกครั้ง ทางคลื่นวิทยุชุมชน เอฟเอ็ม 92.25 ของนักธุรกิจการเมืองของอาณาจักรค่ายปูนฯ “ประชัย เลี่ยวไพรัตน์” ซึ่งในช่วงนั้นเป็นพันธมิตรคนสำคัญที่มีแนวคิดต่อต้านกับระบอบทักษิณเช่นกัน

เมื่อปรากฏการณ์สนธิได้ไหลมาบรรจบรวมกัน จากธรรมศาสตร์ มาสู่สวนลุมพินี ส่งผลให้อัญชลีเข้ามาช่วยงานกับกลุ่มพันธมิตรฯ โดยปริยาย เนื่องจาก รายการคลื่นวิทยุได้ถ่ายทอดสดให้คนฟัง ควบคู่กับการไปช่วยงานจัดรายการสถานีข่าวบนเวทีพันธมิตรฯ คู่ขนานกันไป

โดยการจัดรายการคราวนั้นได้รับการตอบรับดีและถูกพูดถึงกันอย่างกว้างขวางสื่อมวลชนแทบทุกสำนักติดตาม กระทั่งเกิดเหตุการณ์ปฏิวัติ 19 ก.ย. 2549 ของ คมช. ส่งผลให้รายการในเวทีชุมนุมพันธมิตรฯ ครั้งนั้น ต้องยุติโดยปริยาย

กระทั่งเมื่อเกิดการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย วันที่ 25 พฤษภาคม 2551 อัญชลีก็ถูกชักชวนกลับมาอีกครั้ง คราวนี้ ทำให้เธอมีส่วนร่วมทำงานอย่างเต็มตัวกว่าครั้งก่อน

อัญชลี บอกด้วยว่า หลังเกิดปฏิวัติ 19 ก.ย. เธอตั้งใจหยุดงานทุกอย่างเพื่อไปเรียนต่อที่ออสเตรเลีย พอดีผู้ใหญ่ที่เคารพตั้งพรรคการเมือง “พรรคเพื่อแผ่นดิน” และผู้ใหญ่คนนั้นป่วยหนักมาก เลยต้องลงเลือกตั้งแทนวันสุดท้ายในที่สุด แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ “สอบตก” หลังจากนั้นเธอจึงคิดกลับซิดนีย์ เพื่อไปเรียนหนังสือต่อ ด้านการสื่อสาร Communication

ระหว่างนั้นได้เกิดชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อ พ.ค.ที่ผ่านมา ผู้ใหญ่บอกให้อยู่ต่อเพื่อช่วยงาน โดยให้ข้อคิดว่า แม้ว่าจะยืนกันคนละฝั่งกำแพง เพราะพรรคเพื่อแผ่นดินเป็นพรรคร่วมรัฐบาลก็ตาม แต่เธอก็เป็น “ผู้ตรวจสอบ” ได้ เพราะในสังคมประชาธิปไตยเราต้องมีความนับถือและเคารพกัน เธอจึงตัดสินใจโอนเรียนมาเป็นเรียนทางไกล ออนไลน์

“ตอนแรกตั้งใจมาช่วยงานเท่าที่จะช่วยได้ วันที่ 25 พ.ค. ขึ้นเวทีนิดเดียวตอนช่วงเวลาบ่ายสาม โดยไม่เดินด้วยซ้ำไป เลือกขึ้นบนรถคันหลังเพราะขี้เกียจไปแย่งกับคนอื่น ซึ่งคืนนั้นก็มีการตะลุมบอนรถคันหลัง ซึ่งเจอหนักสุดเลย”…

ความรู้สึกตอนนั้นของเธอถึงกับเบรกแตก “พี่โกรธมากที่ถูกตะลุมบอน และกลัวมาก นี่มันบ้านป่าเมืองเถื่อน นึกว่าตายแล้วและเอาชีวิตมาทิ้งไว้ทีนี่หรือๆ ไม่ได้แล้วอัญชลีต้องทำอะไรสักอย่าง” เธอจึงตัดสินใจบอกเล่าความจริงให้ประชาชนได้รู้ทันที โดยขึ้นเวทีรถเคลื่อนทีเล่าเหตุการณ์ เท่านั้นยังไม่พอช่วง 6 โมงเช้าของวันที่ 26 พ.ค. เห็นคนปักหลักพักค้าง เธอจึงปลุกให้ผู้ชุมนุมตื่นด้วยข่าวสาร ซึ่งเป็นที่มาของการกำเนิดรายการสถานีข่าวมัฆวาน

“เราไม่อยากให้ชุมชนถูกตัดจากข่าวสาร รูปแบบที่ทำเหมือนเราทำหนังสือพิมพ์ ทีวี รายการวิทยุ เพียงแต่รายการนี้เกิดขึ้นที่ชุมชุนและบนเวที และด้วยความที่เราเป็นคนข่าว ช่างซักถาม และมีประเด็นใหม่ๆ การถ่ายทอดก็เพียงแต่มีกล้องมาถ่ายทอดเท่านั้นเอง มันเหมือนเรียลลิตี้โชว์มั้ย” อัญชลี ย้อนถาม

ผลตอบรับช่วงแรกที่ได้รับ เธอยอมรับว่า “ตอนแรกๆ ที่จัดรายการ คนดูน้อยมากเหมือนเล่าให้ถนนฟัง แต่ปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะช่วงเสาร์-อาทิตย์คนออกจากบ้านมาฟังแน่นค่อนครึ่งถนน ยิ่งตอนเวทีอยู่สะพานชมัยมรุเชษฐ แม่ค้าแถวเทเวศร์ก็มาฟังกันเต็ม เอาเก้าอี้มากางนั่งฟังพร้อมกินกาแฟไป หัวเราะคิกๆ ชอบใจเวลาเราพูดถูกใจ และก็จะเถียงกัน คนดูชอบมากขึ้นเรื่อยๆ มีคนมาเล่าให้ฟังว่า ถ้ารายการยังไม่จบจะออกจากบ้านไม่ได้”

เมื่อถามว่าอะไรทำให้รายการประสบความสำเร็จอย่างมาก อัญชลีตอบอย่างมั่นใจว่า “เราจะอ่านข่าวและเล่นกับคนดูในที่ชุมนุม ทำมาเรื่อยๆ แบบปังๆ ๆ ๆ ๆ มันเลยเป็นรายการที่มีคนดูติดตามและมีอิมแพ็ค เราใส่แบล็กกาวด์ ความคิดเห็นในแต่ละข่าว และวิเคราะห์ข่าวเพิ่มเติมไปด้วยว่า มันน่าจะเป็นอย่างไร และเรื่องที่ไม่ถูกตีพิมพ์เขาว่ากันอย่างไรบ้าง”

แต่เมื่อจัดรายการไปได้ระยะหนึ่งก็เกิดวิกฤต ข่าวการสลายการชุมนุมในครั้งนั้นได้สร้างโอกาสให้เธอเกิดไอเดียใหม่ ช่วยพันธมิตรฯ เรียกแนวร่วมผู้ชุมนุม โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิง ซึ่งเป็นกลุ่มที่เธออยากสื่อสารมากที่สุด

“ตอนนั้นคิดว่าสิ่งที่ทำให้การชุมนุมยาวนานที่สุด และเกิดความเสียหายน้อยที่สุด ต้องมีผู้หญิงมากที่สุดจึงเริ่มกระตุ้นให้ทุกคนออกมากู้ชาติ ออกมาต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ผู้ชาย โดยจะพูดให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้หญิงสมัยใหม่ค่อนข้างมาก…ตัวเองก็เป็นนักเขียน คอลัมนิสต์ และมีประสบการณ์ชีวิตทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวมากว่า 20 ปี ทั้งขวากหนาม ความรัก และการเยียวยา สิ่งเหล่านี้เรานำมาถ่ายทอดในรูปแบบผู้หญิงคุยกับผู้หญิง เพียงแต่เป็นเพื่อนผู้หญิงที่คิดเรื่องการเมืองแนวฮาร์ดคอร์”

จึงไม่แปลกที่รายการนี้เต็มไปด้วยเสน่ห์ดึงดูดคนดูทั้งที่ชุมนุมและทางบ้าน ทั้งนี้ด้วยสไตล์เล่าข่าวไม่เหมือนใคร เต็มไปด้วยเนื้อหาข่าวและคติสอนใจ ส่งผลตอบรับในฐานะพิธีกรขวัญใจเวทีพันธมิตรฯ จากคนดูผู้หญิงจึงดีเกินคาด

“แล้วสีสัน ลีลาในการเล่าข่าวให้สนุกสนาน น่าติดตาม มีเทคนิคฝึกฝนมาจากไหนนั้น” ทีมงานถาม เธอเล่าอย่างสนุกสนานว่า “พี่เป็นเด็กที่เติบโตมากับสิ่งแวดล้อมที่หลากหลาย และชอบไปงานปาร์ตี้ในกลุ่มคนที่ชอบ โดยเฉพาะอาร์ตติส ศิลปิน เพราะพวกนี้มุกเค้าเยอะ เลยจำมาใช้บนเวที และอีกส่วนก็จำมาจากตลกคาเฟ่ เพราะความที่เราไม่ใช่คนสวย พอทำมุกแบบนี้ก็จะดูน่ารัก (ยิ้มพลางหัวเราะ)”

ผสมผสานกับประสบการณ์ในเส้นทางนักพูด นักเขียน ทำให้อัญชลีเป็นนักเล่าข่าวที่น่าติดตาม “คำพูดต่างๆ มาใช้บนเวที มันมาจากการที่เราเป็นนักเขียน ดังนั้นเวลาคิด พูด เขียน เป็นคำเดียวกัน และมีตรรกะกระชับของเรา พออ่านหนังสือพิมพ์ปุ๊บก็จะมีคำของเราตัดต่อออกมา”

จึงไม่ประหลาดใจที่รายการของอัญชลีกลายเป็นรายการข่าวที่มีสาระแบบสนุกสนาน และยังได้สร้างเทรนด์ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในการชุมนุมอีกด้วย โดยเฉพาะ “มือพลาสติก” หรือมือที่มองเห็น หลากสีสันต่างๆ ที่ผู้ชุมนุมนิยมนำมาใช้กันแพร่หลายแทนเสียงปรบมือ จน “มือที่มองเห็น” ได้กลายเป็นอุปกรณ์สำคัญประจำตัวของผู้มาชุมนุมไปแล้ว

แต่การทำงานครั้งนี้ถึงแม้ประสบความสำเร็จอย่างสูง จนกลายเป็นพิธีกรสาวขวัญใจเวทีพันธมิตรฯ ไปแล้ว แต่ก็ใช่ราบรื่นโรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป ตรงกันข้ามเธอต้องแบกความเสี่ยง-ความปลอดภัยไม่น้อยเช่นกัน จนต้องมีบอดี้การ์ดคุ้มกัน “พี่มีทหารติดตาม 2 คน เลยไม่กลัวอะไร (หัวเราะเสียงใส)” และก็ไม่เคยท้อเรื่องความปลอดภัย

การทำงานของเธอ นอกจากยึดหลักตัวตนแล้ว เบ้าหลอมทางความคิดในเรื่องสถาบัน ประชาธิปไตย และการเมือง บุคคลยังได้มาจากบุคคลที่เธอได้พบมาตลอดชีวิตการทำงาน โดย โกศล ไกรฤกษ์ เป็นผู้ที่ปลูกฝังเรื่องของอุดมการณ์ เรื่องการเมือง ชาติ และถือสถาบันเป็นเรื่องใหญ่

ขณะที่บุคคลอีกท่านหนึ่งที่สำคัญไม่น้อยกว่ากัน เพราะเป็นแรงบันดาลใจให้เธอกลายเป็น “นักสู้” นั่นคือ วัฒนา อัศวเหม ซึ่งสอนในเรื่อง สัจจะ เพราะครอบครัวพี่เป็นคนปากน้ำและบ้านอยู่ติดกันจึงใกล้ชิด อีกอย่างคุณพ่อกับคุณวัฒนาเป็นนักเรียนรุ่นเดียวทีเรียนมาด้วยกัน จึงสนิทสนมกัน”

ทำให้เธอเติบโตมากับสิ่งแวดล้อมครอบครัวแบบ 2 เวอร์ชั่น โดยแบบแรกเป็นครอบครัวผู้ดีมีสกุล และแบบสอง คือ ครอบครัวเจ้าพ่อ จึงทำให้บุคลิกผสมผสาน

ส่วนบุคคลที่เป็นจัด Role Model ของเธอ “ต้องเป็นพี่เปลว สีเงิน เพราะเติบโตมากับป๋า เป็นคนปรู๊ฟงานเขียนครั้งแรกให้พี่ และได้พิมพ์หนังสือของตัวเองครั้งแรกก็เพราะป๋า เล่มนี้ชื่อว่า ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก โฮมคัมมิ่ง เพราะสมัยก่อนพี่เคยทำข่าวประกวดนางงาม ประกวดสุนัข ต้นไม้ให้ นสพ.เดลินิวส์”

ด้วยประสบการณ์ทำงานใกล้ชิดกับบุคคล แหล่งข่าว และอินการเมืองขนาดหนัก เราจึงถามเธอว่า “เคยคิดจะเปลี่ยนไปทำอาชีพการเมืองหรือไม่” เธอเฉลยว่า “เคยคิดเลิกทำข่าวแล้วไปเรียนต่อต่างประเทศ เพื่อไปทำงานด้านเอ็นจีโอ” แต่ในที่สุดเธอตัดสินใจกลับมายึดอาชีพผู้สื่อข่าว ตามคำแนะนำของผู้ใหญ่ที่เคารพ

เธอก็ยังวาดวางแผนชีวิตไว้เช่นกัน “ถ้าภารกิจจบ มีการเลือกตั้งใหม่ ถ้าเลือกได้ก็จะกลับไปเรียนหนังสือ ไม่อยากจบเสร็จแล้วกระโดดลงเลือกตั้ง เพราะรู้สึกว่าเป็นการฉกฉวยโอกาสจากพันธมิตรฯ ไปเป็นคะแนนเสียงเลือกตั้งมากเกินไป… พี่อาย… แต่ถ้าหากการเลือกตั้ง มันอยู่ห่างจากวันชัยชนะของพันธมิตรฯ สักระยะหนึ่ง พี่จะสมัครลงเลือกตั้งล้างตา ซึ่งพรรคการเมืองที่เลือกไว้ เป็นขนาดย่อม ในระดับผู้บริหารพรรคกับคนรุ่นใหม่ๆ ด้วยกันที่มีจริยธรรม มีการศึกษาที่ดี เอาความรู้-ความสามารถไปรับใช้บ้านเมือง” เธอบอก

คงอีกไม่นานเกินรอ คงได้เห็นบทบาทใหม่ของเธอผู้นี้ ในฐานะนักการเมืองสาว ฝีปากกล้า ผลผลิตจากเวทีพันธมิตรฯ กู้ชาติอีกครั้ง!!!