“เจน 3” เปิดแนวรบ ฉีกกรอบ จาก “ลอนดอนสตรีท” ถึง “เอ็มเคไลฟ์”

อาณาจักรธุรกิจ “เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป” ใช้เวลามากกว่า 5 ทศวรรษ จากเจนเนอเรชั่นแรก ยุคคุณป้าทองคำ เมฆโต เข้ามาทำกิจการร้านอาหารไทยร่วมกับมาคอง คิงยี (Makong King Yee) ชาวฮ่องกง ซึ่งเป็นที่มาของ คำว่า “MK” แถวๆ สยามสแควร์ จนมาคอง คิงยี ต้องย้ายครอบครัวไปอยู่บอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา และตกลงขายกิจการให้ป้าทองคำ ซึ่งมีลูกสาว คือ ยุพิน ช่วยกันดำเนินกิจการและเป็นที่รู้จักชื่นชอบในหมู่นักกิน โดยมีอาหารขึ้นชื่อในยุคนั้น ได้แก่ ข้าวมันไก่ เนื้อตุ๋น ผัดไทย ผัดขี้เมา เนื้อย่างเกาหลีเตาถ่าน ยำแซ่บๆ และเค้ก

จาก “ป้าทองคำ” สู่การบุกเบิกของเจนเนอเรชั่น 2 ที่เหมือนพรหมลิขิตให้บรรดาหัวเรือใหญ่มาเจอกัน เมื่อฤทธิ์ ธีระโกเมน ซึ่งเรียนจบปริญญาตรีวิศวกรรมไฟฟ้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มต้นทำงานในสำนักพิมพ์นิตยสารคอมพิวเตอร์ก่อนมาจับมือกับเพื่อนคู่ใจ ทนง โชติสรยุทธ์ บุกเบิกธุรกิจร้านหนังสือซีเอ็ดหลายปี จนวันหนึ่งมารู้จักคบหาดูใจและแต่งงานกับยุพิน ลูกสาวของป้าทองคำ

ฤทธิ์ตัดสินใจเปลี่ยนวิถีชีวิต หันมาลุยธุรกิจอาหารของป้าทองคำ โดยมีสมชาย หาญจิตต์เกษม น้องชายของยุพินร่วมผลักดันร้านอาหารไทย “MK” รวมถึงทนง โชติสรยุทธ์

ปี 2529 สัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ เจ้าของเครือเซ็นทรัล กรุ๊ป ชวนป้าทองคำมาเปิดร้านอาหารไทยในเซ็นทรัล ลาดพร้าว ในชื่อร้านใหม่ “กรีน เอ็มเค” และอีก 2 ปีต่อมา เสนอพื้นที่ 1,000 ตารางเมตร เปิดร้านสุกี้เอ็มเค สาขาแรกในห้างเซ็นทรัล ลาดพร้าว ใช้เวลาไม่นาน “สุกี้เอ็มเค” กลายเป็นร้านอาหารหม้อไฟยอดฮิต สามารถขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง พร้อมๆ กับแตกไลน์ธุรกิจอาหารประเภทอื่นๆ

ปัจจุบันอาณาจักร เอ็มเคเรสโตรองต์ กรุ๊ป มีแบรนด์ร้านอาหารในเครือรวม 9 แบรนด์ ได้แก่ ร้านเอ็มเคสุกี้ ร้านเอ็มเคโกลด์ ร้านอาหารญี่ปุ่นยาโยอิ ร้านมิยาซากิ เทปปันยากิ ร้านฮาคาตะราเมน ร้านอาหารไทย ณ สยาม ร้านอาหารไทยเลอสยาม ร้านกาแฟ-เบเกอรี่ อาหารไทยสไตล์ตะวันตก เลอเพอทิท คาเฟ่ โดยมี “เอ็มเค ไลฟ์” เป็นแบรนด์ที่ 9 ที่เพิ่งเปิดตัวในฐานะแฟล็กชิปสโตร์แห่งแรกในประเทศไทยและแบรนด์ที่เจนเนอเรชั่น 3 เข้ามาจัดเต็ม ตั้งแต่การวางคอนเซ็ปต์ รูปแบบร้าน การตกแต่ง และเมนูอาหาร

ทั้งนี้ ช่วงเวลากว่า 5 ปีที่ผ่านมา เอ็มเค กรุ๊ป ปรับโครงสร้างองค์กรและทยอยดันทายาท “เจน 3” เข้ามาเสริมทีมผู้บริหารต่อเนื่อง ทั้งฝั่งตระกูล “ธีระโกเมน” และ “หาญจิตต์เกษม” รวม 6 คน เริ่มจากทานตะวัน ธีระโกเมน ซึ่งล่าสุดเข้ามารับตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ธีร์ ธีระโกเมน นั่งเก้าอี้ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายสาขา แคทลียา ธีระโกเมน เป็นผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ พิฑูรย์ มณีไพโรจน์ สามีของทานตะวัน ดำรงตำแหน่งผู้จัดการสถาบันฝึกอบรม เอ็มเค

ส่วนสมาชิก หาญจิตต์เกษม เข้ามาเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายสาขา และวรากร หาญจิตต์เกษม นั่งเก้าอี้ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่าย Research and Development

สำหรับทานตะวัน ในฐานะลูกสาวคนโตของฤทธิ์ และกำลังหลัก นำร่องการเรียนรู้งานในเอ็มเคกรุ๊ปทุกกระบวนการ ตั้งแต่บริการหน้าร้าน เสิร์ฟอาหาร จนถึงกระบวนการทำอาหารในครัว โดยฤทธิ์เปิดโอกาสให้ไปหาประสบการณ์ในแวดวงธุรกิจ หลังจบปริญญาตรีจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจจาก Imperial College London โดยเริ่มต้นงานแรกด้านการตลาดที่บริษัทยูนิลีเวอร์ กลุ่มสินค้าคนอร์และเบสท์ฟู้ด ก่อนกลับมาลุยธุรกิจของครอบครัวเต็มตัว ดูแลการตลาดธุรกิจกลุ่มเอ็มเคสุกี้และเอ็มเค โกลด์

เป้าหมายของทานตะวันและกลุ่มเจน 3 อยู่ที่การขยายฐานลูกค้าสู่กลุ่มคนรุ่นใหม่ วัยรุ่น คนหนุ่มสาว เพิ่มจากกลุ่มครอบครัวที่เป็นกลุ่มลูกค้าหลักของเอ็มเค ในฐานะแบรนด์เก่าแก่ เพื่อขยายอาณาจักรในฐานะผู้นำธุรกิจร้านอาหาร (Restaurant Food Chain Expert) และมีแบรนด์ร้านอาหารรองรับความต้องการของผู้บริโภคทุกกลุ่มในทุกช่วงเวลา

อย่างไรก็ตาม 3 หัวเรือใหญ่ ทั้งฤทธิ์ ยุพิน และสมชาย ต้องใช้เวลาถ่ายทอดประสบการณ์การทำธุรกิจที่สั่งสมมายาวนานผสมผสานแนวคิดของคนรุ่นใหม่ เพื่อขยายแบรนด์ร้านอาหารแนวไลฟ์สไตล์มากขึ้น ฉีกจากกรอบเดิมๆ ไม่ได้จำกัดเฉพาะร้านอาหารประเภทหม้อไฟและร้านอาหารญี่ปุ่น โดยเฉพาะการเผยโฉมร้านกาแฟและเบเกอรี่ สไตล์ตะวันตก “เลอ เพอทิท คาเฟ่ (Le Petit Cafe)” ประเดิมสาขาแรกที่โรงพยาบาลศิริราช ในปี 2555

จนกระทั่งปี 2558 เมื่อจังหวะและโอกาสพร้อม รวมทั้งเจน 3 เริ่มกล้าแกร่ง ฤทธิ์แถลงข่าวแนะนำ “เจน 3” ครั้งแรกพร้อมๆ กับการประกาศแตกไลน์ธุรกิจ “คอมมูนิตี้ฟู้ดมอลล์” ภายใต้ชื่อโครงการ “ลอนดอนสตรีท” ย่านถนนพัฒนาการ เพื่อโชว์สูตรธุรกิจใหม่ที่พลิกเกมจากการเปิดร้านอาหารและต้องช่วงชิงลูกค้ากับร้านอาหารคู่แข่งในคอมมูนิตี้มอลล์ 1 แห่ง มาเป็นการขยายช่องทางเจาะเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย โดยสร้างศูนย์รวมแบรนด์ร้านอาหารในเครือภายใต้บรรยากาศแปลกใหม่ เพื่อดึงดูดผู้บริโภคเข้ามาใช้บริการทุกช่วงเวลา ตั้งแต่มื้อเช้า มื้อกลางวัน มื้อเย็น และอาจมีมื้อชิลๆ ช่วงพลบค่ำตบท้ายอีกรอบ

“ลอนดอนสตรีท” จึงไม่ต่างกับสมรภูมิชิมลางและท้าพิสูจน์ฝีมือของกลุ่มเจน 3 โดยเฉพาะการงัดกลยุทธ์สร้างสรรค์รูปแบบร้านอาหาร เพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่และขยายตลาดใหม่ๆ

ใน “ลอนดอนสตรีท” สาขานำร่องแห่งแรกมีพื้นที่รวม 1.8 ไร่ ใช้งบลงทุนกว่า 300 ล้านบาท มีร้านอาหารดัง 5 แบรนด์ในเครือ ได้แก่ เอ็มเคสุกี้ ร้านอาหารญี่ปุ่นยาโยอิ มิยาซากิ เทปปันยากิ ร้านอาหารไทยเลอ สยาม และร้านเลอ เพอทิท คาเฟ่ ซึ่งปรับโฉมใหม่ทั้งหมด ทั้งรูปแบบ แบรนด์ และเมนูอาหารสุดเอ็กซ์คลูซีฟ โดยคาดการณ์จำนวนกลุ่มเป้าหมายเข้ามาใช้บริการไม่ต่ำกว่า 600-800 คนต่อวัน และกระจายทุกเซ็กเมนต์ตามระดับรายได้ โดยวัดจากยอดขายต่อหัวของแต่ละแบรนด์ เริ่มจากเอ็มเคสุกี้เฉลี่ย 300 บาทต่อคน ยาโยอิ 250 บาทต่อคน มิยาซากิ เทปปันยากิ 350 บาทต่อคน เลอ สยาม 300-500 บาทต่อคน และเลอ เพอทิท คาเฟ่ เฉลี่ย 120-200 บาทต่อคน

เวลานั้น เอ็มเคกรุ๊ปตั้งเป้าลอนดอนสตรีทจะคืนทุนภายใน 7-10 ปี และวางแผนลุยโครงการใหม่ในย่านบางนา ซึ่งเตรียมที่ดินรองรับไว้แล้ว 6 ไร่ รูปแบบมิกซ์ยูส ประกอบด้วยคอมมูนิตี้ฟู้ดมอลล์ ซูเปอร์มาร์เก็ต คอนโดมิเนียม และวางคอนเซ็ปต์การก่อสร้างเป็นเมืองสัญลักษณ์สำคัญ เพื่อสร้างแรงดึงดูดกลุ่มเป้าหมาย เช่น หอเอนปิซา เมืองปิซา ประเทศอิตาลี หอไอเฟล กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส หรือประเทศเยอรมนี เพื่อหาจุดแตกต่างจากคู่แข่งและสร้างบรรยากาศร้านอาหารที่ออกแบบเฉพาะในแต่ละโครงการ

ทานตะวันกล่าวกับ “ผู้จัดการ360” ว่า ลอนดอนสตรีทสามารถสร้างทราฟฟิกได้ดีในระดับหนึ่ง ทุกร้านสร้างยอดขายได้ แต่ยังอยู่ในช่วงการเรียนรู้และตอบโจทย์การตลาด ประกอบกับการแข่งขันในเซ็กเมนต์คอมมูนิตี้มอลล์ค่อนข้างรุนแรง ทำให้การขยายโครงการยังอยู่ระหว่างการศึกษา

จาก “ลอนดอนสตรีท” กับยุทธศาสตร์ใหม่ฉีกธุรกิจคอมมูนิตี้มอลล์ ล่าสุด กลุ่มเจน 3 เปิดแนวรบในตลาดธุรกิจร้านอาหารประเภทหม้อไฟ เผยโฉมแฟลกชิปสโตร์ “เอ็มเค ไลฟ์” โดยถือเป็นโปรเจกต์ที่ทานตะวันและทีมงานคิดค้นวางคอนเซ็ปต์ทั้งหมด เพื่อสร้างจุดขายและจุดแข็งชิ้นสำคัญตัวใหม่ในการรุกธุรกิจร้านอาหารที่มีมูลค่ามากกว่า 3.9 แสนล้านบาท และกำลังแข่งขันด้านกลยุทธ์ทุกรูปแบบ

ทานตะวันกล่าวว่า การขยายแบรนด์ MK Live เป็นความพยายามที่จะขยายฐานลูกค้าสู่กลุ่มวัยรุ่นและกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีกำลังซื้อสูง เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้ MK เป็นผู้นำธุรกิจร้านอาหารของลูกค้าทุกกลุ่มเป้าหมายและสร้าง Concept Store ได้ โดยวางคอนเซ็ปต์หลัก คือ “LIVE” ความสดใหม่ ความมีชีวิตชีวา การเข้าใกล้ธรรมชาติมากที่สุด เพื่อออกนอกกรอบ “สุกี้หม้อไฟ” ยุคเก่า

เช่น การออกแบบ (Live decoration ) ให้ผู้บริโภคเหมือนได้กลับไปทานอาหารจากแหล่งธรรมชาติ แหล่งเพาะปลูกจริงๆ, การบริการที่มีชีวิตชีวา (Live service), การสร้างครัวเปิดโชว์ให้เห็นเมนูทำสดๆ (Live Showcase), การคัดสรรวัตถุดิบจากแหล่งคุณภาพทั่วโลก (Live ingredients), การพัฒนาเมนูเอ็กซ์คลูซีฟที่สร้างประสบการณ์ใหม่ในการทานสุกี้ (Live experience at table) และ Live Action การโชว์เทคโนโลยีใหม่ นวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งทั้งหมดไม่เคยมีอยู่ในร้านสุกี้แบบเดิม

บรรยากาศและความสนุกสนาน วัตถุดิบจากทั่วโลกและการพัฒนาเมนูเป็นประสบการณ์ใหม่ที่เป็นหัวใจหลักของเอ็มเคไลฟ์ การสร้างไลฟ์สไตล์ในการทานอาหารแบบหม้อไฟ ไม่ใช่แค่ความอร่อย แต่สนุกและมีรายละเอียดมากขึ้น

แน่นอนว่า การออกนอกกรอบการตลาดครั้งนี้ ด้านหนึ่งหมายถึงการรุกสมรภูมิร้านอาหารช่วงชิงเม็ดเงินแสนล้าน แต่อีกด้านหมายถึงผลพิสูจน์ฝีมือเจนเนอเรชั่น 3 ซึ่งฤทธิ์กำลังนับถอยหลัง เพื่อส่งต่ออาณาจักรธุรกิจหมื่นล้านอย่างมั่นใจที่สุด

ที่มา : http://gotomanager.com/content/“เจน-3”-เปิดแนวรบ-ฉีกกรอบ-จาก-“ลอนดอนสตรีท”-ถึง-“เอ็มเคไลฟ์”