วอร์รูม – ต้องอึด คัมภีร์ “สหพัฒน์ฯ” ฝ่ามรสุม

ไม่ว่าบริษัทคุณจะบิ๊กแค่ไหนก็ไม่อาจนิ่งเฉยในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจที่ทรุดทั่วโลกขณะนี้ กรณีศึกษาจากการบอกเล่าของ “บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา” ประธานกรรมการของบริษัทสหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ย้ำให้เห็นชัดว่าทุกคนต้องตื่นตัวและรับมือ เพราะวันนี้ที่สหพัฒนฯ มีทั้ง “วอร์รูม Obeya” เพื่อติดตามภาวะเศรษฐกิจโลก และแกะทุกรายละเอียดของธุรกิจในเครือเพื่อป้องกันยอดขายหลุดร่วง และแก้ไขสถานการณ์ได้ทันท่วงที

ระดับบิ๊กของครอบครัว “โชควัฒนา” นัดหมายกันในห้องประชุมตอนเช้าทุกวัน พร้อมกับผู้บริหารในเครือสหพัฒนพิบูลเกือบ 40 คน เพื่อรับมือวิกฤตเศรษฐกิจ และแก้ปัญหาที่ยังเป็นอุปสรรคของธุรกิจ เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ “บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา” ประธานกรรมการ บริษัทสหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) บอกว่า “วอร์รูม” เป็นสิ่งสำคัญ เพราะวิกฤตกำลังรออยู่ข้างหน้า “เราจะอยู่เฉยๆ เหมือนเดิมไม่ได้”

ทำไมต้องวอร์รูม

“วอร์รูม” นี้เรียกว่า “โอเบย่า” (Obeya) ซึ่งในภาษาญี่ปุ่นหมายถึงห้องขนาดใหญ่ ที่ผู้บริหารเครือสหพัฒนฯเพิ่งได้รับแนวคิดมาจากการดูงานจากญี่ปุ่น นอกจากนี้ “บุณยสิทธิ์” บอกว่ายังมีอีกระบบหนึ่งคือ “กันบัง” (Kanban) ซึ่งหมายถึงเครื่องมือที่ช่วยส่งสัญญาณทำให้การตัดสินใจผลิตหรือยกผลิตสินค้าได้อย่างรวดเร็ว

แม้สหพัฒนฯจะเป็นผู้ผลิตสินค้าอุปโภค บริโภครายใหญ่ของไทย มียอดขายปีหนึ่งเกือบ 2 หมื่นล้านบาท และมีเงินสดอยู่ในเซฟจำนวนมาก แต่ก็ประมาทไม่ได้ เพราะยอดขายปี 2008 เติบโตเพียง 7% จากระดับปกติ หรือเป้าหมายแต่ละปีคือ 10% และปีหน้าอาจเหลือเพียง 5-6% เท่านั้น

“บุณยสิทธิ์” บอกว่าทั้งโอเบย่า และกันบัง เป็นระบบบริหารที่ช่วยให้การตัดสินใจผลิตสินค้า รับรู้ยอดขายได้เร็วขึ้น เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริหารมากขึ้น

ผลของโอเบย่า ทำให้เดือนตุลาคมที่ผ่านมาสหพัฒนฯสามารถปิดยอดขายได้ในวันที่ 25 ตุลาคม จากปกติต้องปิดยอดในเดือนถัดไป นั่นหมายถึงการรับรู้รายได้ และรู้ความต้องการของตลาดได้เร็วขึ้น

นี่เป็นเพียงการปฏิบัติการส่วนหนึ่งเท่านั้นของทีมผู้บริหารเครือสหพัฒนฯ นอกเหนือจากวิสัยทัศน์ และภาวะความเป็น “ผู้นำ” อย่าง “บุณยสิทธิ์” ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ

ยึดคติวิ่งมาราธอน”อย่าล้ม”ก่อน

ในความเห็นของ “บุณยสิทธิ์” เขาบอกว่าเศรษฐกิจต้องตกลงอย่างแน่นอน แต่การค้าขายมีทั้งขึ้นและลง ซึ่งช่วงนี้อยู่ในช่วงขาลง ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2549 โดยเฉพาะผู้ส่งออกสินค้าที่เจอภาวะค่าเงินบาทแข็งจนกระทบต่อรายได้จากส่งออก ปีนี้ไม่เหมือนปีที่แล้ว ต้องรัดเข็มขัด ต้องทำทุกอย่าง จะเอาปีที่เคยดีที่สุดมาเปรียบเทียบไม่ได้ เพราะวิกฤตครั้งนี้ร้ายแรง

“สำหรับวิกฤตการเงินในสหรัฐฯ ลุกลามจนถึงเศรษฐกิจสหรัฐฯ กระทบกับประเทศไทยเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ แต่เที่ยวนี้ไม่ล่มจม แต่ก็ยอมรับว่าประเทศไทยจะลำบากขึ้น แต่ลำบากเป็นเรื่องเล็ก เพราะการค้าขายก็เหมือนวิ่งมาราธอน ถ้าเราแข่งกับหลายประเทศ คนอื่นล้มก่อน เราก็ชนะ ถ้าเราไม่ล้มเราก็ชนะ เราต้องมีความพยายาม คนอื่นล้ม เราไม่ล้ม เราชนะ

ผมทำธุรกิจจากเล็กๆ ขึ้นมา ไม่ใช่ทำจากบริษัทใหญ่ วิธีสำหรับบริษัทเล็กคือทำในสิ่งที่เราถนัดก่อน ซึ่งทุกบริษัทที่ทำให้ผ่านการขาดทุนมา เป็นภูมิคุ้มกันที่มีอยู่ ซึ่งเวลาไม่ดี เราก็อดนิดนึง เพื่อให้ผ่านมรสุมไปได้ ยืนอยู่ให้ได้ อย่าล้ม”

ประสบการณ์สำคัญที่กลายเป็นบทเรียนสำหรับเครือสหพัฒนฯนั้น “บุณยสิทธิ์” บอกว่าจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ธุรกิจไทยที่กู้เงินต่างประเทศมาลงทุนต่างมีปัญหา เพราะฉะนั้นตั้งแต่ปี 2540 สหพัฒนฯเน้นไม่กู้เงินนอกมาลงทุน ใช้เงินบาทลงทุนให้มากที่สุด
ไม่ด่วนทุ่มลงทุน-รอช้อปของถูก

สำหรับทิศทางการลงทุนของสหพัฒนฯในช่วงวิกฤตนี้ “บุณยสิทธิ์” บอกว่า “ต้องติดตามโลกข้อมูลข่าวสาร ตลอดเวลา การลงทุนใหม่คงไม่มี แต่จะซื้อของถูก อันไหนที่มีโอกาสเกิดขึ้น ก็ลงทุน ถ้าไม่มีโอกาสอย่างไปเจาะจง ยังไม่สุกงอมอย่าผลีผลามลงทุน ถ้ามีของถูกมาเสนอก็โอเค”

การช้อปของถูกไม่ใช่เป็นเพียงแค่แผนงานเท่านั้น แต่เมื่อเดือนที่แล้วเพิ่งซื้อหุ้นจากบริษัทผลิตถุงเท้าที่สหพัฒนฯร่วมทุนกับญี่ปุ่น “บริษัทบางกอกโตเกียวซอคส์” เพราะญี่ปุ่นต้องการถอนเงินลงทุนกลับ เป็นการต่อรองที่ “บุณยสิทธิ์” บอกว่าคุ้มค่า เพราะซื้อได้ในราคาเพียง 50 ล้านบาท จากราคาเริ่มต้น 80 ล้านบาท แลกกับที่ไทยได้ถือหุ้น 100%

สิ่งที่สหพัฒนฯให้น้ำหนักมากขึ้นนับจากนี้คือสนใจตลาดในประเทศ เพราะพิสูจน์แล้วว่าหากเน้นตลาดต่างประเทศ เมื่อตลาดต่างประเทศมีปัญหาก็จะได้ผลกระทบทันที ประเทศไทยยังมีโอกาสอีกมาก เพราะอุดมสมบูรณ์ มีทรัพยากรมาก ถ้าบริหารประเทศได้ถูกทาง เมืองไทยจะรวยมาก

ภาคเอกชนอย่าง “บุณยสิทธิ์” มีความหวังนั้น ยังเป็นเรื่องเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนา กระตุ้นการลงทุนในประเทศ และมาตรการต่างๆ ซึ่งเขาเรียกร้องมาตรการ 3 อ่อน คือค่าเงินบาทอ่อน ที่ขอให้เฉลี่ยต่ำกว่าค่าเงินในประเทศภูมิภาคซึ่งเป็นคู่แข่งในการส่งออกของประเทศประมาณ 5-10% มาตรการดอกเบี้ยอ่อนหรือดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้เอกชนกู้เงินลงทุนด้วยต้นทุนดอกเบี้ยที่ถูก และการลดภาษีนิติบุคคล

หากรัฐบาลดำเนินนโยบายตรงกันข้ามกับ 3 อ่อนเอกชน “ก็ลงเหว”

Profile

ณ สิ้นปี 2550 บริษัทสหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) มีรายได้รวม 16,442 ล้านบาท ส่วนครึ่งแรกของปี 2551 มีรายได้รวม 8,192.36 ล้านบาท ยอดขายมาจากต่างประเทศประมาณ 30% และในประเทศ 70% ซึ่งยอดขายจากต่างจังหวัดมีประมาณ 60% และในกรุงเทพฯ 40% สำหรับผลิตภัณฑ์ของบริษัท มี 4 หมวดใหญ่ คือ

1. ผลิตภัณฑ์ในครัวเรือน (Household Products) ทั้งหมด 26 สินค้า เช่น ผงซักฟอก น้ำยาซักผ้า
น้ำยาปรับผ้านุ่ม สเปรย์รีดผ้า น้ำยาล้างจาน จนถึงกระดาษชำระ
2. ผลิตภัณฑ์อาหาร (Food Products) มีประมาณ 60 สินค้า เช่น มาม่า ชาเขียว ปลากระป๋อง ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม
3. ผลิตภัณฑ์ส่วนบุคคล (Personal Care Products) มีประมาณ 50 สินค้า เช่นยาสีฟัน ครีมอาบน้ำ โลชั่นบำรุงผิว
4. ผลิตภัณฑ์เด็ก (Baby Products) มีประมาณ 20 สินค้า ทั้งแป้ง ยาสีฟัน สบู่

สัดส่วนรายได้ (ปี 2550)
รายได้จากการขายประเภทของใช้ 47.29%
รายได้จากการขายประเภทอาหาร 52.71%

สัดส่วนรายได้ปี 2549
รายได้จากการขายประเภทของใช้ 48.85%
รายได้จากการขายประเภทอาหาร 50.95%