บีบให้หน้าเขียว กสทช. เรียกองค์กรขนาดใหญ่จาก 7 ธุรกิจหลัก เจ้าของเม็ดเงินโฆษณาจำนวนมาก รับฟังมาตรการลงโฆษณาบนแพลตฟอร์ม OTT ย้ำ 22 ก.ค. หาก “เฟซบุ๊ก-ยูทูป” ไม่ลงทะเบียนเป็นผู้ให้บริการ OTT ต้องห้ามลงโฆษณา ไม่เช่นนั้นจะส่งหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์ ประณามเป็น”บริษัทไร้ธรรมาภิบาล สนับสนุนของเถื่อน” พร้อมส่งจดหมายแจ้งไปยังสถานทูตสหรัฐอเมริกา แจ้งว่า เป็น 2 แพลตฟอร์มเถื่อน ไม่ปฎิบัติตามกฎหมายของประเทศไทย แนะหาช่องทางโฆษณาผ่านแพลตฟอร์มช่องทางอื่น
ยังคงเดินหน้าผลักดันให้แพลตฟอร์มยักษ์ “เฟซบุ๊ก-ยูทูป” เข้ามาลงทะเบียน เป็นผู้ให้บริการ OTT (over the top) ต่อเนื่อง
คราวนี้เป็นคิวขององค์กรใหญ่จาก 7 ธุรกิจหลัก เจ้าของเม็ดเงินโฆษณาจำนวนมาก ห้ามลงโฆษณา หาก “เฟซบุ๊ก-ยูทูป” ไม่ลงทะเบียนภายในวันที่ 22 กรกฎาคมนี้
พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ Over The Top หรือ OTT กล่าวว่า คณะอนุกรรมการโอทีที ได้เชิญบริษัทที่มีการโฆษณาบนบริการ OTT เข้าร่วมประชุมชี้แจงแนวทางการกำกับดูแลการให้บริการกระจายเสียง หรือโทรทัศน์ หรือให้บริการโครงข่ายในรูปแบบ OTT เนื่องจากกลุ่มบริษัทเหล่านี้ มีการกระจายเม็ดเงินโฆษณาไปยังธุรกิจ OTT ค่อนข้างสูง ซึ่งได้ช่วยสนับสนุนการเติบโต และพัฒนาการให้บริการ OTT ในประเทศไทย
การประชุมของคณะอนุกรรมการโอทีทีในครั้งนี้มีกลุ่มบริษัทจาก 7 ธุรกิจหลัก รวมทั้งสิ้น 47 รายเข้าร่วมประชุม แบ่งเป็น 1. ธุรกิจยานยนต์ ได้แก่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด, บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด, บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด และบริษัท บี-ควิก จำกัด
2. ธุรกิจการเงินและการธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารไทยพาณิชย์ 3. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) 4. ธุรกิจประกันภัย ได้แก่ บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) 5.ธุรกิจโทรคมนาคม ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด มหาชน, บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทริปเปิลที อินเทอร์เน็ต จำกัด
6. ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ บริษัท ยูนิลีเวอร์ไทยโฮลดิ้ง จำกัด และบริษัท คอลเกต-ปาล์มโอลีฟ (ประเทศไทย) จำกัด และ 7. ธุรกิจพลังงาน ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
การประชุมครั้งนี้ผู้แทนจากกลุ่มบริษัทข้างต้นเข้าใจขั้นตอน และการดำเนินงานของสำนักงาน กสทช. ในการกำหนดให้ผู้ให้บริการโครงข่าย และผู้ให้บริการ OTT มาลงทะเบียน และดำเนินการภายใต้กรอบของกฎหมายไทย รวมทั้งรับทราบผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากผู้ให้บริการ OTT ละเลยไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมยืนยันที่จะให้ความร่วมมือกับสำนักงาน กสทช. ในการส่งเสริมและสนับสนุนเฉพาะบริการ OTT ที่ปฏิบัติตามกรอบของกฎหมายไทย เพราะถือว่าเป็นหลักบรรษัทภิบาล และธรรมาภิบาลที่ดีที่บริษัทต้องยึดถือ
“กลุ่มบริษัทที่เชิญมาในวันนี้เป็นกลุ่มบริษัทที่เป็นผู้สนับสนุนสำคัญของบริการ OTT ในประเทศไทย กลุ่มบริษัทเหล่านี้ล้วนเป็นบริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม และมีบรรษัทภิบาลที่ดี ดังนั้น จึงเชื่อมั่นว่าจะให้ความร่วมมือกับสำนักงาน กสทช. ในการสนับสนุนและส่งเสริมผู้ให้บริการ OTT ที่ปฏิบัติตามขั้นตอน และกระบวนการภายใต้กรอบของกฎหมายไทย”
หากพ้นวันที่ 22 ก.ค. แล้วพบว่า เฟซบุ๊ก ยูทูป ยังไม่มาแจ้งลงเป็นผู้ให้บริการ OTT กับ กสทช. และบริษัทที่มีการโฆษณาบนบริการ OTT ดังกล่าวยังลงโฆษณากับแพลตฟอร์มทั้ง 2 กสทช. จะดำเนินการดังนี้
1.ส่งจดหมายแจ้งไปยังสถานทูตสหรัฐอเมริกา เพื่อแจ้งว่า ผู้ให้บริการทั้ง 2 เป็นแพลตฟอร์มเถื่อน ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศไทย
2. กสทช. จะส่งจดหมายแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำหรับบริษัทมหาชนที่ยังคงลงโฆษณาอยู่ว่า เป็นบริษัทที่ไม่มีธรรมาภิบาล และหากบริษัทไหนเป็นรัฐวิสาหกิจ กสทช.ก็จะส่งจดหมายรูปแบบเดียวกันแจ้งไปยังหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจนั้นๆ ส่วนมาตรการทางกฎหมาย กสทช.จะเลือกใช้เป็นมาตรการสุดท้าย
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าทั้ง เฟซบุ๊ก ยูทูป และบริษัทผู้ลงโฆษณาล้วนเป็นบริษัทที่มีธรรมาภิบาล จึงคาดว่าไม่น่าจะมีปัญหา ส่วนทางออกของผู้ลงโฆษณา หากมีการวางแผนโฆษณาไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ก็ควรจะไปคุยกับมีเดียเอเจนซี ในการวางแผนโฆษณาใหม่ เพราะยังมีช่องทางอีกจำนวนมากในการลงโฆษณา ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ของตนเอง ทีวีดิจิทัล หรือแม้กระทั่งไลน์ทีวี ก็ได้ เพราะเข้าสู่ระบบ OTT แล้ว
ที่มา : http://www.manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9600000066310