ร้านอาหารคนไทยอ่วมหนัก ปิดตัว 2 พันแห่ง เจอทั้งพิษเศรษฐกิจ-แฟรนไชส์ข้ามชาติ–แรงงานต่างด้าวอัดซ้ำ

ร้านอาหารคนไทย ครึ่งปีแรกปิดไปแล้วกว่า 1.3 ร้านค้า คาดทั้งปีอาจมี 2 พันร้านค้าที่ต้องเจ๊ง ชี้เหตุหลักกระทบ ทั้งเศรษฐกิจแย่-แฟรนไชส์ต่างชาติเพียบ-ต้นทุนพุ่ง-แรงงานต่างด้าวหาย

ในขณะที่ร้านอาหารยังคงเป็นธุรกิจหอมหวน ที่นำพาผู้ประกอบการรายใหม่ๆ  เข้าสู่ตลาดตลอดเวลา แต่ในอีกด้านหนึ่งธุรกิจร้านอาหารของไทย กำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายอย่างหนัก จากการที่ต้องปิดตัวลง

นางลัดดา สำเภาทอง นายกสมาคมการค้าธุรกิจร้านอาหาร

ลัดดา สำเภาทอง นายกสมาคมการค้าธุรกิจร้านอาหาร เปิดเผยว่า ในปี 2560 คาดว่าผู้ประกอบการร้านอาหารของคนไทยที่ต้องปิดกิจการลงทั่วประเทศไม่น้อยกว่า 2 พันร้านค้า จากครึ่งปีแรกที่ปิดตัวไปแล้วมากกว่า 1.3 พันร้านค้า

ขณะที่สิ้นปี 2559 ปิดตัวลงไปประมาณ 1 พันร้านค้า โดยเฉพาะที่ภาคอีสานปิดกิจการมากที่สุดประมาณ 700 กว่าร้านค้า รองลงมาคือภาคเหนือ 300 ร้านค้า ส่วนที่เหลือเป็นภาคอื่นๆ โดยปัจจุบันจำนวนร้านอาหารในไทยมีมากกว่า 2-3 แสนร้านค้า

สำหรับธุรกิจร้านอาหารที่ครอบคลุมถึงเชนร้านอาหารและร้านอาหารทั่วไป ปี 2559 มีมูลค่าประมาณ 3.82-3.85 แสนล้านบาท เติบโต 1.9-2.7% เมื่อเทียบกับปี 2558 มีมูลค่า 3.75 แสนล้านบาท นับเป็นการเติบโตที่ชะลอตัวอย่างเด่นชัดจากปี 2558 ที่มีการเติบโตถึง 4% แบ่งเป็นมูลค่าตลาดเชนร้านอาหาร 1.14-1.16 แสนล้านบาท เติบโต 3.6-5.5% จากปี 2558 ที่มีมูลค่า 1.1 แสนล้านบาท ส่วนมูลค่าตลาดร้านอาหารทั่วไปซึ่งส่วนใหญ่เป็นร้านอาหารขนาดกลางและเล็กประมาณ 2.68-2.69 แสนล้านบาท เติบโต 1.1-1.5% จากปี 2558 ที่มีมูลค่า 2.65 แสนล้านบาท

สาเหตุที่ร้านอาหารของคนไทยมีการปิดกิจการลงจำนวนมาก เนื่องจากหลายปัจจัยหลัก เช่น

  1. ภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดี กำลังซื้อลดลง คนรับประทานอาหารนอกบ้านน้อยลง ส่งผลกระทบร้านอาหารมีรายได้ลดลง แต่ต้นทุนสูงขึ้น
  2. การมีร้านอาหารต่างชาติในระบบแฟรนไชส์เข้ามาเปิดกิจการในไทยจำนวนมาก รวมไปถึงการบริการเดลิเวอรี่จากผู้ประกอบการจำนวนมากในระบบออนไลน์ ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น
  3. ต้นทุนการประกอบการที่สูงขึ้นเพราะวัตถุดิบอาหาร
  4. มาตรการเข้มงวดของภาครัฐเกี่ยวกับเวลาเปิด-ปิดบริการ และเรื่องการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  5. มาตรการเข้มงวดเกี่ยวกับแรงงานบุคคลต่างด้าวของรัฐบาล ที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนที่สูงขึ้น และปริมาณแรงงานต่างด้าวที่ขาดแคลน

ในส่วนของสมาคมฯ แม้เพิ่งจดทะเบียนจัดตั้งเมื่อต้นปี 2559 แต่มีแนวทางในการดำเนินการช่วยเหลือสมาชิกผู้ประกอบการหลายแนวทาง เช่น

1. การเจรจากับทางสถาบันการเงินคือไอแบงก์ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการช่วยเหลือด้านการเงิน โดยกำหนดวงเงินเบื้องต้นที่ 100 ล้านบาท เพื่อให้สมาชิกผู้ประกอบการที่ขาดสภาพคล่องสามารถกู้โดยมีเงื่อนไขพิเศษ เช่น ดอกเบี้ยต่ำ หรือผ่อนระยะยาว เป็นต้น โดยต้นทุนประกอบการหลักๆ คือ ค่าที่ดิน ก่อสร้าง ค่าเช่า โดยเฉพาะค่าแรงงานมีสัดส่วนต้นทุนประมาณ 20%

2. เป็นตัวกลางในการประสานงานหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และของประเทศแรงงานต่างด้าว เพื่อช่วยเหลือแก้ไขเรื่องปัญหาแรงงานต่างด้าวให้ผู้ประกอบการทำทุกอย่างให้ถูกต้อง เพราะปัจจุบันแรงงานต่างด้าวในระบบร้านอาหารของสมาคมฯ มีอยู่ประมาณเกือบ 70% ของแรงงานทั้งหมด

เพราะจากการที่รัฐบาลออกมาตรการเข้มงวดกับแรงงานต่างด้าว ส่งผลให้แรงงานต่างด้าวต้องหลบหนีหายกลับไปประเทศตัวเองไปแล้วกว่า 50% เพราะกลัวเรื่องผิดกฎหมาย โดยเป็นแรงงานจากเมียนมามากสุด คือ 70% จากทั้งหมด ส่วนลาวมีประมาณ 10%

3. เป็นตัวกลางในการจัดหาวัตถุดิบ เพื่อให้สมาชิกในแต่ละภาคหรือแต่ละชมรมทำการสั่งซื้อรวมกันกับซัปพลายเออร์เพื่อทำให้ต้นทุนต่ำลงกว่าการแยกกันจัดซื้อ 4. เสนอไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ผ่อนผันหรือผ่อนคลายความเข้มงวดเรื่องเวลาเปิด-ปิดบริการ และเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

สมาคมการค้าธุรกิจร้านอาหารมีสมาชิกทั่วประเทศประมาณ 5 หมื่นราย แบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ ร้านอาหารขนาดเล็ก พื้นที่ 50 ตร.ม., ขนาดกลางพื้นที่ 200 ตร.ม. และขนาดใหญ่พื้นที่ 200 ตร.ม.ขึ้นไป โดยตั้งเป้าหมายจะมีสมาชิกและเครือข่ายให้ครบ 2 แสนรายภายในปี 2560


ที่มา : http://www.manager.co.th/Business/ViewNews.aspx?NewsID=9600000071577