“อาหาร” VS “เน็ต” อันไหนสำคัญกว่ากัน ไขรหัสความต้องการของคนหนุ่มสาวในยุคบิ๊กดาต้า

ระหว่าง “อาหาร” กับ “อินเทอร์เน็ต” ถ้าต้องให้เลือก จะเลือกอย่างไหนดี ถ้าเอาคำถามแบบนี้ ไปถามกับบรรดาเด็กรุ่นใหม่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก คำตอบที่ได้อาจหงายเงิบ

“ยังต้องถามอีกเหรอ ฉันอยู่ไม่ได้หรอกหากไม่มีโทรศัพท์มือถือ” หรือ “ไม่มีเน็ต ฉันก็ทำงานไม่ได้ แล้วจะทำมาหากินได้ยังไง”

เราต่างอยู่ในยุคสมัยที่การเดาใจคนรุ่นใหม่วัยดิจิทัลเป็นเรื่องยาก เรื่องเดียวที่เดาได้คือ ทุกวันนี้อินเทอร์เน็ตได้ครอบงำโลกของเด็กรุ่นใหม่ไปหมดแล้ว

ดังนั้น ถ้าผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมและบรรดาคนทำคอนเทนต์ ยังอยากทำธุรกิจต่อไป ยิ่งต้องเพ่งความสนใจไปที่พฤติกรรมของคนรุ่นใหม่แบบไม่ให้คลาดสายตา

“ตลาดเกิดใหม่ด้านไอซีทีในเอเชียแปซิฟิกนั้น มีทั้งโอกาสและความท้าทายอยู่มากมายจากความนิยมอันหลากหลายของคนรุ่นใหม่” หลากหลายเสียงของโอเปอเรเตอร์และซัพพลายเออร์ด้านคอนเทนต์จากทั่วโลก ต่างพูดทิศทางเดียวกันในงาน Huawei Asia Pacific Emerging Market Summit ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้

แน่นอนว่า การเกาะกระแสความนิยมของคนรุ่นใหม่ ทั้งวิดีโอ อี-คอมเมิร์ซ รวมไปถึงโมบายเพย์เมนต์ เป็นทางเลือกที่ถูกต้อง และโอกาสก็ขึ้นอยู่กับการนำนโยบายด้านอุตสาหกรรมมาต่อยอดให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ในการสร้างระบบนิเวศร่วมกัน และช่วยกันสร้างสรรค์ธุรกิจรูปแบบใหม่

ผู้บริโภคกลุ่มไหนเป็นสายเปย์ “อินเทอร์เน็ต”

จากข้อมูลล่าสุดของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) แสดงให้เห็นว่า มีหนุ่มสาว 830 ล้านคน อายุระหว่าง 15 – 24 ปี สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต คิดเป็นกว่า 80% ของประชากรวัยหนุ่มสาวใน 104 ประเทศ และตัวเลขนี้ก็เพิ่มสูงขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ในแต่ละวัน เราสามารถพบเจอชาวเน็ตทั้งวัยใสและวัยหนุ่มสาว จากบรรดา 830 ล้านคนได้ทั่วไป ทั้งบนรถไฟฟ้า และตามท้องถนน เขาและเธออาจกำลังกินอาหารง่ายๆ ในมือ แต่ความสนใจของพวกเขากลับไปอยู่กับสมาร์ทโฟนที่มีราคาสูงถึง 25,000 บาท

คนเจนเน็ตในเมืองไทยชอบใช้ชีวิตออนไลน์ผ่าน Face Dance แชตผ่านแอพ ไลน์หรือแมสเซนเจอร์ โพสต์รูปบน เฟซบุ๊ก ดูวิดีโอบนยูทูป และฟังเพลงผ่าน Joox

ขณะที่บังกลาเทศ คนรุ่นใหม่ชอบที่จะแชร์ชีวิตของตนผ่านเฟซบุ๊กบราวซ์ เว็บผ่าน UC Browser ส่งไฟล์ด้วย SHAREit คุยโทรศัพท์แบบเห็นหน้าผ่าน Uni Messenger หรือ WhatsApp

“67% ของหนุ่มสาวชาวไทยที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี จ่ายเงิน 300 – 700 บาทเป็นค่าอินเทอร์เน็ต ซึ่งเงินจำนวนนี้สามารถซื้อขนมปังได้มากกว่า 20 ชิ้น หรือแฮมเบอร์เกอร์ 5 – 7 ชิ้น” ไมเคิล แมคโดนัลด์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ด้านเทคนิคของหัวเว่ย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชี้ให้เห็นอิทธิพลของอินเทอร์เน็ต

คนกลุ่มนี้มีรายได้ไม่สูงแต่กลับยินดีจ่ายเงินค่าบริการอินเทอร์เน็ตมากที่สุด และ 34.4% ของพวกเขาก็เป็นเจ้าของโทรศัพท์มือถือรุ่นไฮเอนด์ด้วย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ารายได้ 2.4% ของคนที่อายุระหว่าง 16 – 25 ปี จ่ายเป็นค่าอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดของทุกกลุ่มช่วงอายุ

นักวิเคราะห์ของ Forrester “หวัง เสี่ยวเฟิง” ชี้ว่า ผู้บริโภควัยหนุ่มสาวเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการเร่งให้เกิดการพัฒนาด้านโทรคมนาคมและโมบายอินเทอร์เน็ต เพราะพวกเขาเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากที่สุด ใช้เวลาออนไลน์มากที่สุด และมีสัดส่วนการใช้งานสูงสุด

โดยกิจกรรมที่ทำบนเน็ตมากที่สุดคือ เล่นเกมออนไลน์ โซเชียลมีเดีย และรับ-ส่งข้อความ ตามด้วยบริการอื่นๆ เช่น วิดีโอ ช้อปปิ้งออนไลน์ และแอปโมบิลิตี้อัจฉริยะ

79% ของผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยบอกว่า ชีวิตของพวกเขาผูกติดอยู่กับโทรศัพท์มือถือ คนรุ่นใหม่เต็มใจที่จะเปิดรับและสนุกกับชีวิตแบบดิจิทัลผ่านอินเทอร์เน็ต โดยไม่สนใจว่าจะหาเงินได้เท่าไร และยิ่งเห็นได้ชัดว่า เด็กวัยดิจิทัลนี้เตรียมพร้อมที่จะเปิดรับทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ต

ความต้องการด้านไอซีทีกำลังมา

ตลาดเกิดใหม่กำลังจะกลายเป็นตลาดที่มีศักยภาพไม่สิ้นสุด จากพฤติกรรมการบริโภคของคนรุ่นใหม่และการสนับสนุนนโยบายของชาติ

หลายประเทศเริ่มตระหนักว่า อินเทอร์เน็ตได้ช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ จึงได้เข็นนโยบายหรือแผนระดับชาติหลายฉบับเพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านไอซีทีและเศรษฐกิจดิจิทัล

จากรายงานดัชนีชี้วัดการเชื่อมโยงสื่อสารทั่วโลก (GCI) ของหัวเว่ย ประเทศเกิดใหม่ 7 ใน 50 ประเทศได้มีการดำเนินยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านไอซีที จนทำให้อันดับ GCI ดีขึ้น โดยประเทศมาเลเซียประสบผลสำเร็จมากที่สุดจากการดำเนินนโยบาย “ดิจิทัล มาเลเซีย” โดยมาเลเซียสามารถก้าวแซงหน้าขึ้นไปได้ถึง 4 อันดับ ในขณะที่อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และโคลัมเบียขยับขึ้นเพียง 2 อันดับ

ยังห่างไกลจากคำว่า “พึงพอใจ”

ผู้บริหารกลุ่มธุรกิจโทรคมนาคมของหัวเว่ย ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า มีประชากรราว 3.9 พันล้านคนทั่วโลกที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ตใช้ และจำนวน 3 พันล้านคนนี้อยู่ในประเทศตลาดเกิดใหม่ ในขณะที่คน 1.1 พันล้านครอบครัวไม่มีอินเทอร์เน็ตที่บ้าน และ 800 ล้านครัวเรือนอยู่ในตลาดเกิดใหม่ เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว การดูวิดีโอแบบจ่ายเงิน อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ บริการคลาวด์เอ็นเตอร์ไพรส์ในตลาดเกิดใหม่เพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น

ตลาดเกิดใหม่ที่มีศักยภาพเช่นนี้ ดึงดูดความสนใจของโอเปอเรเตอร์ และกลุ่มผู้สร้างคอนเทนต์เกม อยู่ไม่น้อย แต่ใช่ว่าหนทางจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ ท่ามกลางโอกาสก็ยังมีสารพัดความท้าทายรออยู่ ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์การใช้งานที่ไม่ดีพอ กำไรอาจเพิ่มขึ้นช้า ต้นทุนค่าคลื่นความถี่สูง และความไม่มีประสิทธิภาพ

ต้องยอมรับว่าในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนาของโอเปอเรเตอร์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นสื่อกลางเชื่อมโยงระหว่างโลกทางกายภาพและโลกดิจิทัล จะมีส่วนสำคัญอย่างมากในการพัฒนาประเทศให้ก้าวเข้าสู่ความเป็นดิจิทัล

อย่างไรก็ดี คนหนุ่มสาวที่ชื่นชอบความสะดวกสบายจากอินเทอร์เน็ตอาจไม่รู้ว่าโอเปอเรเตอร์ต้องเผชิญกับความท้าทายมากเพียงใดเพื่อทำให้ทุกอย่างเกิดขึ้น

ในตลาดเกิดใหม่หลายประเทศ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ โอเปอเรเตอร์ต้องเผชิญกับปัญหาการหาพื้นที่ติดตั้งสถานีฐานแห่งใหม่เพื่อขยายสัญญาณ เมื่อหาพื้นที่ติดตั้งเหมาะๆ ไม่ได้ ก็ยิ่งทำให้สัญญาณมีไม่เพียงพอต่อการใช้งาน

คลื่นความถี่ 4G ของหน่วยงานในกำกับรัฐบาล ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้โอเปอเรเตอร์มีต้นทุนมหาศาล และส่งผลโดยตรงต่อการกำหนดราคาค่าโทรศัพท์ให้ต่ำ นอกจากนี้ การมีไฟเบอร์ออพติกไม่เพียงพอ และขั้นตอนการขอติดตั้งที่ใช้เวลานาน ส่งผลกระทบต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่ เช่น เมื่อสัญญาณอินเทอร์เน็ตครอบคลุมพื้นที่น้อย ก็ทำให้ต้นทุนค่าบริการยิ่งสูงขึ้น

ส่วนบางประเทศที่พัฒนาอินเทอร์เน็ตเป็นอย่างดีแล้วก็จะเจอกับปัญหาการเชื่อมต่อที่ไม่เท่าเทียมกัน ความเร็วในการค้นหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตในเมืองหลวงจะเร็วกว่าในเมือง ตำบลหรือหมู่บ้านที่มีการพัฒนาด้อยกว่า ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ทั้งบรอดแบนด์ในครัวเรือนและโมบายบรอดแบนด์ยังเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาอีกมาก

สรุปปัจจัยหลักๆ ในการเร่งให้เกิดการพัฒนาตลาดเกิดใหม่คือ นโยบายด้านไอซีที ความร่วมมือในอุตสาหกรรม และโซลูชั่นด้านธุรกิจ จำเป็นต้องเรียกร้องให้หน่วยงานในกำกับดูแลแห่งชาติออกนโยบายที่จำเป็น อาทิ การจัดสรรคลื่นความถี่ให้เป็นไปตามเกณฑ์ และใช้นโยบายเปิดเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี

ทุกฝ่ายต้องร่วมกันสร้างระบบนิเวศ ส่งเสริมให้เกิดแนวทางการประสานงาน และสนับสนุนการสร้างโครงข่ายและการพัฒนาอย่างรวดเร็วในตลาดเกิดใหม่ เพื่อให้มีเครือข่ายครอบคลุมทุกแห่ง ขณะที่ในภาคธุรกิจเองก็จะต้องเดินหน้า ผลักดันให้เกิดการพัฒนาธุรกิจดิจิทัลและสร้างบรอดแบนด์ในครัวเรือนอย่างเต็มรูปแบบ

ระหว่าง “อาหาร” กับ “อินเทอร์เน็ต” คนรุ่นใหม่จะเลือกอย่างไหน
“ยังต้องถามอีกเหรอ ฉันอยู่ไม่ได้หรอกหากไม่มีโทรศัพท์มือถือ”