สึนามิมือถือจีนบุกไทย ปรากฏการณ์ 2 ซิม 2 สาย ดูทีวีได้ แบรนด์ใหญ่สะท้าน!!!!!!

กลายเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของตลาดมือถือไทย หลังการบุกตลาดของมือถือจีนที่เข้ามาสร้างความร้อนแรงในตลาด ด้วยกลยุทธ์ราคาต่ำ แต่ฟังก์ชันเพียบ ใช้ได้ 2 ซิม แถมดูทีวีได้

ตามด้วยกลยุทธ์แบบป่าล้อมเมือง ที่มือถือจากจีนใช้ราคาเป็นอาวุธ สร้างความนิยมในลูกค้ารากหญ้าในต่างจังหวัดก่อนแพร่สะพัดเข้าสู่ลูกค้าในเมือง กลายเป็นสึนามิมือถือจากจีน บุกถล่มตลาดแย่งชิงแชร์ยอดขายแบบเร็วและแรง ชนิดที่บัลลังก์แบรนด์อินเตอร์และเฮาส์แบรนด์รายใหญ่ยังสะท้าน

ถ้าใครที่โดยสารรถเมล์เวลานี้ได้เห็นเพื่อนร่วมทาง หยิบโทรศัพท์มือถือออกมานั่งดูรายการทีวีโปรดอย่างสบายใจ ไม่ต้องหงุดหงิดกับรถติด ก็ไม่ต้องแปลกใจ เพราะนี่คือพฤติกรรมใหม่ของผู้ใช้มือถือชาวไทย ที่กำลังหันมานิยมโทรศัพท์มือถือจากจีนที่มีฟังก์ชันการใช้งานเพียบ แต่ราคาแสนถูกเข้ามาแย่งแชร์ในตลาด

ความแรงของบรรดามือถือจากจีน ทำเอายักษ์ใหญ่ “ไอ-โมบาย” และอินเตอร์แบรนด์ หลายยี่ห้อยังต้องสะดุด เพราะดูจากส่วนแบ่งตลาดยอดขายโทรศัพท์มือถือ ณ สิ้นปี 2008 โนเกียหลุดเหลือ 50% จากเดิมเคยมีถึง 70% ของตลาด ส่วนไอ-โมบายหลุดไปเหลือ 10% จากก่อนหน้านี้เคยไต่ถึง 30% ตามมาด้วย ซัมซุง และแอลจี ที่สัดส่วนลดหลั่นกันไป โดยมีมือถือจากจีนเข้ามาแย่งแชร์ (ดูตารางประกอบ)

อันที่จริงแล้วมือถือจีนบุกเข้ามาทำตลาดในไทยได้พักใหญ่แล้ว ผ่านทางเฮาส์แบรนด์ของหลายยี่ห้อ ที่นิยมบินไปเลือกซื้อมือถือจากโรงงานในจีน ซึ่งมีทั้งผลิตและดีไซน์เฮาส์ให้เลือกซื้อมากมาย

โรงงานในจีนได้ชื่อว่าทั้งความชำนาญ เพราะผลิตมือถือให้กับแบรนด์ใหญ่ๆ ระดับโลกอยู่แล้ว ค่าแรงก็ถูก จึงเป็นที่นิยมของเฮาส์แบรนด์ของไทยนำเข้ามาทำตลาด และปะยี่ห้อเป็นของตัวเอง โดยตลาดที่นิยมจะเป็นต่างจังหวัด

“ศักดิ์ชัย เลิศเวชกุล” ผู้จัดการฝ่ายการตลาดโทรศัพท์มือถือ “โฟนวัน” ค่ายเอไอเอส บอกถึงความสำเร็จของเฮาส์แบรนด์ว่า มาจากการเจาะตลาดได้ถูกที่ โดยตลาดที่เฮาส์แบรนด์เจาะได้ง่ายจะอยู่ในต่างจังหวัด เพราะตลาดในกรุงเทพฯ จะยังติดกับอินเตอร์แบรนด์มากกว่า

ปัจจัยต่อมาคือเรื่องราคา การผลิตจากโรงงานในจีนทำให้ต้นทุนและการจำหน่ายถูกลง โดยมีฟังก์ชันให้เลือกไม่ต่างจากอินเตอร์แบรนด์ ตั้งแต่กล้องถ่ายรูป MP3 ยิ่งช่วงหลังได้เพิ่มฟังก์ชันดูทีวี และใช้ได้พร้อมกัน 2 ซิม เรียกว่าโดนใจผู้บริโภคชาวไทย สร้างความแรงให้กับมือถือจีน ที่สามารถหักเหลี่ยมเฉือนคมอินเตอร์แบรนด์ และเฮาส์แบรนด์รายใหญ่อย่างที่ใครก็คาดไม่ถึง มายืนในตลาดในเวลาไม่ถึง 6 เดือน

“มือถือเฮาส์แบรนด์เข้ามาไทยตั้งแต่ต้นปี 2551 แต่มาแรงมากขึ้นเมื่อกลางปี 2551 จากการใช้ได้ 2 ซิม และดูทีวีได้ เข้ามาจำหน่าย นอกเหนือฟังก์ชันพื้นๆ อย่างกล้องถ่ายรูปและฟังเพลงผ่านเอ็มพี 3” ศักดิ์ชัย บอก

แต่ความสำเร็จของเฮาส์แบรนด์แต่ละรายนั้นต่างกัน ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจเลือกนำเข้ามาจำหน่ายในไทย

“โฟนวัน” นั้นเป็นที่รู้จักในตลาดต่างจังหวัด เพราะเน้นโทรศัพท์มือถือ 2 ซิม และทีวีโมบาย โดยยอดขายส่วนใหญ่มาจากมือถือ 2 ซิม ขายได้แล้วเป็นหลักแสนเครื่อง ส่วนทีวีโมบายมียอดขายประมาณ 4 หมื่นเครื่อง แต่ก็มีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะราคาเครื่องถูกลง จากเดือนกรกฎาคม 2008 ราคาอยู่ที่เครื่องละประมาณ 6,000-7,000 บาท ช่วงปลายเดือนธันวาคม ลดเหลือ 3,000-4,000 บาท”

“มือถือ 2 ซิม โฟนวันอาจยังเสียเปรียบอยู่บ้าง เนื่องจากเอไอเอสให้บริการในระบบจีเอสเอ็ม เพราะฉะนั้น 2 ซิมในเครื่องโฟนวันจึงใส่ได้เฉพาะระบบจีเอสเอ็มเท่านั้น ขณะที่แบรนด์อื่นสามารถใส่ได้ทั้งในระบบจีเอสเอ็ม (GSM) และซีดีเอ็มเอ (CDMA) จะได้รับความนิยมมากกว่า”

ศักดิ์ชัย พบว่า ปัจจัยแรกที่ลูกค้าพิจารณาคือ “ราคา” หากแต่ละแบรนด์อยู่ในระดับเดียวกัน ก็จะพิจารณา “ฟังก์ชัน” โดยฟังก์ชันที่ลูกค้าพิจารณาอันดับต้นๆ คือ 1.ทีวี 2.ใส่ได้ 2 ซิม และ 3.ทัชสกรีน ใครให้ได้ครบกว่า โอกาสยอดขายได้

จีเน็ทเร็วแรง

แม้จะมีมือถือจากจีน ปะยี่ห้อเฮาส์แบรนด์มากมายในตลาด แต่ค่ายที่มาเร็วและแรงที่สุดในเวลานี้ คือ “จีเน็ท” แบรนด์จากเกาหลี สั่งผลิตและนำเข้าจากจีน เริ่มทำตลาดในไทยตั้งแต่ปี 2549 โดยวางเป้าหมายอยู่ที่กลุ่มวัยรุ่นที่ต้องการเปลี่ยนมือถือบ่อยๆ ด้วยดีไซน์ขนาดเล็กราคาถูก ไม่เกิน 5,000 บาท กรุยทางให้จีเน็ทเริ่มเป็นที่รู้จัก ตอบโจทย์ลูกค้าระดับรากหญ้าในต่างจังหวัดที่ต้องการเทคโนโลยีใหม่ แต่กำลังซื้อต่ำเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนมีเครื่องวางขายต่อเนื่อง 50 รุ่น และมาแรงเปรี้ยงปร้าง เมื่อนำมือถือรุ่นทีวีโฟน และ 2 ซิมเข้ามาทำตลาด

“ผู้บริโภคคนไทยส่วนใหญ่ ก็อยากได้ฟังก์ชันดีๆ กันทั้งนั้น แต่ว่าไม่สามารถเป็นเจ้าของได้เพราะราคา จึงเกิดเป็นช่องว่างที่ทำให้มือถือจีน ซึ่งมีราคาถูกแต่ฟังก์ชันหลากหลายแทรกตัวในตลาดได้” “ฑัศ เชาวนเสถียร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไวร์เลส แอ๊ดวานส์ ซิสเต็ม บอก

แม้ราคาถูก แต่ดีไซน์ของจีเน็ท ก็ดูดี ตอบโจทย์การใช้งานของผู้ใช้ ซึ่งเป็นที่มาของ “ทีวีโฟนที่โดนใจลูกค้า ทำยอดขายคิดเป็นสัดส่วนถึง 30%

“โรงงานที่ผลิตในจีนนั้น เป็นเพียง Product Line ที่ทางบริษัทฯ ว่าจ้าง โดยรูปแบบหรือดีไซน์ของตัวเครื่องนั้น มีทีมออกแบบเรียกว่า Image Design เป็นกลุ่มดีไซเนอร์จากเกาหลี ซึ่งคุ้นเคยกับลูกค้าเอเชีย ทำให้รูปร่างหน้าตาของเครื่องนั้นโดนใจคนไทยและคนเอเชีย อย่างทีวีโฟน ที่ทำขึ้นมาเพราะเราพบว่าคนไทยชอบดูทีวีเฉลี่ยวันละ 2 ชั่วโมงต่อคน “ฑัศ เล่า

กระแสของทีวีโฟน และ 2 ซิม ฑัศ บอกว่า เป็นเทรนด์ที่มาจากประเทศเกาหลี ที่ผู้บริโภคมีพฤติกรรมคล้ายคลึงกับคนไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการดูทีวีผ่านมือถือบนรถเมล์ หรือบนรถไฟฟ้า เป็นพฤติกรรมที่จีเน็ทศึกษามาก่อนอย่างดี แต่มาเปลี่ยนแปลงในขั้นตอนการผลิต เนื่องจากทีวีโฟนของเกาหลีต้องรับสัญญาณดิจิตอลหรือสัญญาณดาวเทียม ส่วนในบ้านเราเครื่องรับทีวีโฟนต้องเปลี่ยนเป็นสัญญาณอนาล็อก

ปรากฏว่าจีเน็ทมาถูกทาง นอกจากดีไซน์สวยราคาถูก ตอบสนองความต้องการ ยังได้ตัวแทนขายรายใหญ่ในตลาด เช่น ยูดี ซึ่งเป็นบริษัทในเครือยูคอม และไออีซี ทำให้มีเครือข่ายตัวแทนขาย 300 จุดกระจายอยู่ทั่วประเทศ

จุดได้เปรียบอีกข้อของจีเน็ท คือ การที่บริษัทในเครือทำนิตยสารโทรศัพท์มือถือ “เฟิสท์โมบาย” แจกจ่ายไปยังตัวแทนขายทั่วประเทศ ทำให้แบรนด์ถูกจดจำได้มากขึ้น และเป็นข้อได้เปรียบของจีเน็ทเหนือกว่าเฮาส์แบรนด์อื่นๆ ซึ่งมักจะเน้นการทำกิจกรรม ณ จุดขายมากกว่า หรือ Below the line ไม่เน้นโฆษณา

แบรนด์ของจีเน็ทไม่ได้เป็นที่นิยมแค่ลูกค้าในต่างจังหวัด แต่ยังแผ่ขยายเข้ามาในกรุงเทพฯ แบบ “ป่าล้อมเมือง” เมื่อฟังก์ชัน 2 ซิม ดูทีวีได้ ราคาถูก ตอบโจทย์โดนใจลูกค้าในเมืองระดับรากหญ้าที่ต้องคำนึงถึงเงินในกระเป๋า ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจหดตัวเช่นนี้ด้วยแล้ว

“คนใช้จีเน็ทเป็นคนรากหญ้า คือคนบ้านๆ คนจนต้องขึ้นรถเมล์ รับรองคนขับรถเก๋งไม่ใช้จีเน็ทหรอก เขาใช้แบรนด์หลักๆ” ฑัศ ให้รายละเอียด

เมื่อ Positioning และกลุ่มเป้าหมายระดับคนเดินถนน สื่อโฆษณาที่จีเน็ทเลือกใช้จึงมาแนวใหม่ ปูพรมอัดโฆษณาบนรถเมล์ และต้องเป็นรถ ขสมก. สีแดง หรือรถร้อนเท่านั้น ต้องไม่ใช่รถปรับอากาศ โดยมีโปสเตอร์แนะนำพร้อมคุณสมบัติต่างๆ ของแต่ละรุ่นติดอยู่ทั้งข้างหลังเบาะนั่ง และข้างนอกของตัวรถอยู่ประมาณ 50 กว่าคัน

แม้จะลงทุนโฆษณาในสื่อทีวี แต่ก็เป็นการแทรกในรายการ โดยการค้นหาผู้ใช้โทรศัพท์มือถือของจีเน็ทในตลาดสดตามจังหวัดต่างๆ ที่มีทั้งหมด 70 กว่าเทป ออกอากาศในรายการโทรทัศน์ช่อง 5

ฑัศบอกว่า งบทำตลาด 30 ล้านบาท ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับการมีมือถือวางขายเกือบ 50 รุ่นแล้ว ด้วยความที่สินค้าขายได้ด้วยตัวเอง การทำโฆษณาจึงทำเพื่อผลักดันรุ่นที่ขายยาก หน้าตาไม่สวยเท่านั้น เพื่อกระตุ้นให้ยอดขายเท่ากับรุ่นสวยๆ

ส่วนปีหน้า จีเน็ทขยายการรับรู้ของแบรนด์ไปพร้อมๆ กับการสร้างแบรนด์ให้กว้างมากขึ้น โดยใช้ TVC และมีวงคาราบาวเป็นพรีเซ็นเตอร์ ภายใต้แนวคิด “จีเน็ท มือถือของคาราบาว” เพื่อให้ภาพลักษณ์ดูน่าเชื่อถือมากขึ้น และยังได้สาวกคอเพลงเพื่อชีวิตของคาราบาวที่มีอยู่ไม่น้อยในเมืองไทยมาเป็นลูกค้า

เริ่มขยับสู่ไฮเอนด์

หลังจากแบรนด์จีเน็ทติดในตลาดรากหญ้าแล้ว ภาพลักษณ์ของแบรนด์เป็นเรื่องที่สำคัญ ฑัศไม่ได้หวังให้แบรนด์อยู่ในกลุ่มระดับล่างเท่านั้น แต่ยังต้องการให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์ดูพรีเมียมขึ้นจากเดิมด้วย ล่าสุด ส่งตัวมือถือรุ่น “Platinum Series” 3 รุ่น เพื่อหวังจับกลุ่ม Premium Mass โดยมีราคาอยู่ที่ 8,990 บาท ซึ่งยังอยู่ในกลุ่มของทีวีโฟน และ 2 ซิม แต่เน้นดีไซน์หรู

เพื่อให้งานนี้ดูไฮโซตามคอนเซ็ปต์ที่วางไว้ จีเน็ทลงทุนเชิญ เซเลบริตี้ในแวดวงสังคมชั้นสูงมาร่วมงาน ไม่ว่าจะเป็น ชูชัย ชัยฤทธิเลิศ พรรทิภา สกุลชัย เพื่อ Positioning ใหม่ของจีเน็ท ที่พยายามบอกว่าไม่ได้ขายแต่โทรศัพท์มือถือราคาถูก

ก้าวต่อไปคือ กลุ่มที่อยู่ในเมืองซึ่งเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ สนใจเทคโนโลยีและเน้นเรื่องความคุ้มค่าของเงิน แต่ภาพลักษณ์และดีไซต์ต้องเข้ากับไลฟ์สไตล์ของเขาด้วย ซึ่งรุ่น “Platinum” จะสามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายนี้ได้ ด้วยภาพลักษณ์ที่ดูดี ถือว่าเป็นโจทย์ที่ท้าทายของจีเน็ทหลังจากนี้

ไอ-โมบายเบนเข็ม

บริษัทสามารถไอ-โมบาย จำกัด ที่เคยทำให้เฮาส์แบรนด์ตีตลาดสำเร็จมาแล้ว ด้วยเครื่องราคาถูก ดีไซน์โดนโดยเฉพาะฟังก์ชัน MP3 กล้อง เป็นที่ชื่นชอบในกลุ่มวัยรุ่น และกลุ่ม Mass ที่นิยมเปลี่ยนเครื่องบ่อย

แต่ทุกวันนี้ฟังก์ชันยอดนิยม กลายเป็นเรื่องเบสิกไปแล้ว เมื่อต้องมาเจอกับฟังก์ชัน 2 ซิม ดูทีวีได้ ในราคาไม่ถึง 5,000 บาทของเฮาสแบรนด์ค่ายอื่นๆ ทำเอาไอ-โมบาย ซึ่งปรับตัวได้ช้ากว่า แม้จะมีรุ่นที่รับทีวีได้เหมือนกัน แต่ต้องมีอุปกรณ์ต่อพ่วง จอไม่กว้างพอ เสียงไม่ดี ราคาก็สูงกว่า ต้องปรับทิศทางอย่างหนัก โดยเบนเข็มสู่ตลาดทีวีโฟน

ปีนี้ออกรุ่นที่ดูทีวีได้ถึง 3 รุ่น นำเอาฟังก์ชัน ออโต้ จูนเนอร์ รับชมทีวีได้ทันทีมาใส่ในตัวเครื่อง อัดฉีดงบการตลาดกว่า 30 ล้านบาท อาศัยพลังของพรีเซ็นเตอร์ สองพี่น้อง กอล์ฟ-ไมค์ ยังคงเจาะกลุ่มวัยรุ่น ชอบเรื่องของแฟชั่น เปลี่ยนแปลงเร็ว เข้าถึงได้ง่ายก่อน

“ทิศทางการตลาดของไอ-โมบายหลังจากนี้ จะมุ่งเน้นไปที่ทีวีโฟนถึง 80% เพราะตอนนี้นับว่าเป็นกระแสหลักของมือถือ ที่ต่อเนื่องมาจากมิวสิก และเป็นฟีเจอร์ที่ทุกคนใช้ได้ และขายได้” ธนานันท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สามารถ ไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) บอกถึงแนวโน้มของไอ-โมบาย

การพลิกเกมกับศึกครั้งนี้ของไอ-โมบายจะสำเร็จหรือไม่ ไม่นานคงรู้ผล แต่สะท้อนได้ว่า อะไรก็เกิดขึ้นได้ในตลาดมือถือ โอกาสเพลี่ยงพล้ำมีอยู่ตลอดเวลา หากเจอคู่แข่งตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ดีกว่า

อย่างน้อยๆ ในยุคข้าวยากหมากแพง การจ่ายจับใช้สอยแต่ละครั้งต้องคิดหน้าคิดหลัง ใครจะถอยมือถือยุคนี้ต้องคิดให้ดีก่อน มือถือจากจีนจึงกลายเป็นทางเลือกใหม่ ส่วนจะยืนยาวในตลาดนี้ได้นานแค่ไหน เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์กันต่อไป… เพราะศึกครั้งนี้ยังอีกยาวไกล

ปัจจัยที่ทำให้ยอดขาย “ทีวีโมบาย” และ “โทรศัพท์ 2 ซิม” ของเฮาส์แบรนด์เติบโตรวดเร็ว

1. กลุ่มเป้าหมาย
สามารถจับกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการ 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่ต้องการให้ความบันเทิงกับตัวเอง และ 2.กลุ่มที่ต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย

กลุ่มที่ต้องการให้ความบันเทิงกับตัวเองด้วยทีวีส่วนใหญ่จะเป็นตลาดในต่างจังหวัด เพราะช่อง 3 และช่อง 7 ออนแอร์ทั้งรายการเพลงลูกทุ่ง รายการตลก และละครตลอดทั้งวัน เป็นกลุ่มที่นิยมดูทีวีมากกว่าฟังวิทยุ ไม่ยึดติดกับอินเตอร์แบรนด์ หากเชื่อถือตัวแทนจำหน่าย ก็ตัดสินใจซื้อได้ง่าย ขณะที่คนกรุงเทพฯ ยังยึดติดกับอินเตอร์แบรนด์มากกว่า

กลุ่มที่ต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย นิยม 2 ซิม แบบเรียลไทม์ อีกฟังก์ชันที่โดนใจ คือ 2 ซิม แบบ Real Time นั้น เริ่มมีพลังและแรงมากยิ่งขึ้นในช่วงที่/ผ่านมา เนื่องจากผู้ให้บริการหรือโอเปอเรเตอร์ทั้งหลาย ต่างประชันกันด้วยแคมเปญที่โทรถูกแต่ละช่วงเวลาเช้าบ้าง เย็นบ้าง โดยเฉพาะระบบ CDMA ของฮัทช์ และCAT CDMA ทำให้กลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย แต่ยังต้องใช้เบอร์เดิมอยู่ มือถือที่ใช้ได้ 2 ซิม จึงตอบโจทย์ความต้องการเหล่านี้ได้

2. กลยุทธ์ด้านการตลาด

ตัวผลิตภัณฑ์
-ความง่ายในการรับสัญญาณทีวี เพราะเป็นระบบอนาล็อก ทำให้ผู้ชมไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม หากเปรียบเทียบกับอินเตอร์แบรนด์ ที่ต้องชมผ่านระบบ 3 จี และต้องเพิ่มบริการ จีพีอาร์เอส ซึ่งต้องเสียจ่ายค่าใช้บริการ
-ความง่ายในการเปลี่ยนโหมดการโทร หรือรับสายของแต่ละซิมที่ใช้
-ดีไซน์รูปลักษณ์ของเครื่องไม่ต่างจากอินเตอร์แบรนด์มากนัก เพราะทั้งหมดมาจากดีไซน์ เฮาส์ และโรงงานผลิตจากจีน

ด้านราคา
ราคาถูกลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มเฮาส์แบรนด์จาก 6,000-7,000 บาท เหลือเพียง 3,000-4,000 บาทภายใน 5-6 เดือน ขณะที่อินเตอร์แบรนด์ยังเน้นเทคโนโลยี และราคาสูงกว่ามาก

ช่องทางการจัดจำหน่าย
ความคุ้นเคยของเฮาส์แบรนด์กับผู้จำหน่ายในต่างจังหวัด และมาร์จิ้นที่สูงกว่าอินเตอร์แบรนด์

สื่อที่ใช้
การเน้น Below the line หรือการทำกิจกรรม ณ จุดขาย มากกว่าใช้สื่อ Above the line ซึ่งใช้งบประมาณสูงกว่า

สรุปปัจจัยที่ทำให้ “จีเน็ท” รุ่นทีวีโมบาย และ 2 ซิมยอดขายเติบโต
1.ราคาถูก
2.ดีไซน์ดูดี
3.เจ้าของ “จีเน็ท” มีสื่อในมือ เพราะเป็นเจ้าของผู้ผลิตนิตยสารโทรศัพท์มือถือ ซึ่งมีการแจกจ่ายไปยังตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ โปรโมตผ่านตัวแทนขายจนมีการจดจำ
4.มีช่องทางการจำหน่ายที่ดี ทั้งยูดี ไออีซี รวมตัวแทนกว่า 300 จุดทั่วประเทศ
5.พฤติกรรมของผู้บริโภคต้องการดูทีวี โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าต่างจังหวัดที่ชอบดูละคร โดยเฉพาะช่อง 3 และช่อง 7 ที่นำละครมาออกอากาศในช่วงบ่าย
6.พฤติกรรมของผู้บริโภคต้องการใช้มือถือโทรออกในราคาที่ถูกลง โดยเลือกโปรโมชั่นสำหรับโทรออก
7.สำหรับตลาดกรุงเทพฯ เน้นสื่อใช้สื่อที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายระดับ Mass คือสื่อในรถเมล์ เน้นสื่อสารฟังก์ชันครบของมือถือด้วยภาษาง่ายๆ เช่น ดูทีวี 2 ซิม 2 สาย
8.การเน้นทำตลาดของเฮาส์แบรนด์ ยักษ์ใหญ่อย่าง “ไอโมบาย” ไปที่ฟังก์ชันเพลง เอ็มพี 3 ซึ่งกลายเป็นฟังก์ชันเบสิกไปแล้ว ทำให้ปรับตัว นำเข้าทีวีโมบาย และ 2 ซิมไม่ทันกับความต้องการตลาด

ส่วนแบ่งตลาดรวม ณ ธันวาคม 2008
โนเกีย 50%
ซัมซุง 13-15%
ไอ-โมบาย 10%
แอลจี 6-8%
โฟนวัน 3%
จีเน็ท 3%
เวลคอม 3%
อื่นๆ ที่เหลือ

ส่วนแบ่งตลาด ณ ไตรมาสแรก ปี 2008
โนเกีย 65%
ไอ-โมบาย 25%
ซัมซุง 3%
โซนี่อีริคสัน 2%
โฟนวัน 2%
เวลคอม+เฮาส์แบรนด์อื่นๆ 3%

ส่วนแบ่งยอดขายโทรศัพท์มือถือเฉลี่ยแต่ละเดือนในช่วงไตรมาส 4/2008
อินเตอร์แบรนด์ 70% (7 แสนเครื่อง)
เฮาส์แบรนด์ 30% (3 แสนเครื่อง)

เฮาส์แบรนด์
-ไอ-โมบาย 9 หมื่นเครื่อง
-เวลคอม 6 หมื่นเครื่อง
-จีเน็ท 6 หมื่นเครื่อง
-โฟนวัน 6 หมื่นเครื่อง
-อื่นๆ ที่เหลือ