“กองทัพ เป็นกลาง… ไม่ปฏิบัติอย่างเลือกสี แบ่งขั้ว เลือกข้าง… การเมืองต้องแก้ไขปัญหาด้วยการเมือง… เลิกพูดได้แล้วเรื่องปฏิวัติ เพราะทหารจะไม่ปฏิวัติ…” คำพูดของพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ที่ได้ชื่อว่าทรงอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งของยุคนี้ เขาคือตัวแปรสำคัญของการจับขั้วทางการเมืองขึ้นใหม่ โดยไม่จำเป็นต้องปฏิวัติ แต่เลือกใช้ปฏิบัติการซ่อนรูป สร้างขั้วอำนาจขึ้นใหม่ระหว่างทหารและการเมือง จนเป็นที่มาของ “สีน้ำเงิน” ที่โด่งดังที่สุดในเวลานี้
แม้ว่า พล.อ. อนุพงษ์จะพยายามแสดงออกในฐานะ “ผู้นำทางทหาร” ในยุคนี้ ที่ไม่มีใครยอมรับการปฏิวัติอีกต่อไป
แต่การหาทางออกในวิกฤตการเมืองที่ผ่านมา เขากลับมีบทบาทอย่างสูงยิ่งในการแปลงรูป “อำนาจ สีเขียว” แปรภาวะให้เหนือกว่าการ “ปฏิวัติ” ด้วยปฏิบัติการอำนาจซ่อนรูปทหารกับการเมือง และในสถานการณ์ความขัดแย้งที่มีหลายกลุ่มอำนาจ เขากำลังถูกจับตามองว่าจะยืนอยู่ ณ จุดใด แต่ที่แน่ๆ ภาพที่ปรากฏคือความเป็นทหารรุ่นน้องที่เป็นหนึ่งเดียวกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” ทหารรุ่นพี่ที่กำลังจับขั้วแน่นกับนักการเมืองอย่างเนวิน ชิดชอบ
ความเบาบางของอำนาจ “ผู้นำทางทหาร” มีมากขึ้น หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ทำให้ผู้นำทางทหารต่อจากยุคนั้น ผูกติดตัวเองไว้กับคำว่า “ทหารอาชีพ” ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เช่นเดียวกับบทบาทที่พล.อ.อนุพงษ์พยายามพรีเซนต์ตั้งแต่ขึ้นเป็น ผบ.ทบ.
เมื่อเทียบกับ ผบ.ทบ. ยุคก่อนหน้า ไล่ตั้งแต่ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ต่างมีภาวะผู้นำทางการเมืองอยู่ในตัว และกล้าที่จะ “ด่า” รัฐบาลแม้กระทั่งในเรื่องเศรษฐกิจ โดยไม่กลัวถูกปลด อีกทั้งยังปูทางให้ตัวเองในอนาคตเพื่อไปสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรี
กรณีของ พล.อ.อาทิตย์ ที่วิพากษ์วิจารณ์นโยบายลดค่าเงินบาทในสมัยรัฐบาล พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ในช่วง พฤศจิกายน 2527 แต่ ปรากฏว่า พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ซึ่งขณะนั้นควบตำแหน่ง ผบ.ทบ. และ ผบ.สส. ถูก พล.อ.เปรม ยึดเก้าอี้ ผบ.ทบ.
จากพฤษภาทมิฬ ในปี 2535 ทหารก็กลับเข้าสู่กรมกอง มีคำว่า “ทหารอาชีพ” หรือ “ทหารประชาธิปไตย” ค้ำคอมาตลอด ไล่ตั้งแต่ พล.อ.วิมล วงศ์วานิช พล.อ.ประมณฑ์ ผลาสินธุ์ พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ พล.อ.สมทัต อัตตะนันท์ พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
จนยุค พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นผบ.ทบ. ภาวะอำนาจทางการเมือง ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เริ่มเบ็ดเสร็จเด็ดขาด กระแส “ปลด” ผบ.ทบ.กระหึ่มมาขึ้นตลอดช่วง ส.ค.-ก.ย. ปี 2549 ควบคู่ไปกับกระแส “การรัฐประหาร” เพื่อล้ม “ระบอบทักษิณ”
มีการส่งสัญญาณแบบให้รู้ตัว ว่า ถ้าไม่ตัดสินใจแก้ไขปัญหาทางการเมืองด้วยการเมือง กองทัพจะ “ปฏิวัติ” แต่ “ทักษิณ” ไม่เชื่อหู เพราะในศตวรรษนี้คงไม่มีใครกล้าทำ
แต่ในที่สุด “รัฐประหาร” เกิดขึ้นแบบม้วนเดียวจบ !!!
คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ที่มาจากการรัฐประหาร 19 ก.ย. อยู่ในอำนาจ 1 ปีกว่า จนได้ ผบ.ทบ.ชื่อ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ภายใต้แบรนด์ “ทหารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”
ภาพที่ปรากฏต่อสาธารณชน ทำให้คนเชื่อในความเป็น “ทหารอาชีพ” “ทหารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” และ ภาพลักษณ์ของทหาร ที่เข้าใจความเป็นไปของการเมืองโลก
ประตู “ปฏิวัติ” ถูกปิดตาย !!!!
หลายต่อหลายครั้งที่สถานการณ์ทางการเมืองตกอยู่ในภาวะล่อแหลม และเกือบถึงทางตัน แต่ พล.อ.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ปฏิเสธการ “ปฏิวัติ” มาโดยตลอด เพื่อต้องการรักษาภาพลักษณ์ของเขา ว่าทำให้ประเทศถอยหลังเข้าคลอง
อาจเป็นเพราะ พล.อ.อนุพงษ์เข้าใจว่า “กองทัพ” ไม่ได้เป็นศูนย์รวมอำนาจ เพื่อจัดระเบียบให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อยเหมือนเมื่อก่อน เพราะมีกลุ่มการเมืองเกิดขึ้นมากมาย ที่กดดัน ต่อรอง ให้เลือกข้าง แบ่งขั้ว ภายใต้สภาวการณ์ ที่ “ทักษิณ” จำแลงกาย มาในร่างของ “สมัคร สุนทรเวช – สมชาย วงศ์สวัสดิ์”
หลายครั้งที่ พล.อ.อนุพงษ์เลือกปล่อยเกียร์ว่าง ทั้งๆ ที่เหตุการณ์เข้าขึ้นวิกฤต ไม่ใช่เรื่องแปลกที่อาการปล่อยเกียร์ว่างของเขามีเบื้องหน้าเบื้องหลังที่ต้องจับตาตลอด
ตั้งแต่การปล่อยให้ “สีแดง” ในนามกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. “ก่นด่า” อย่างสาดเสียเทเสีย เมื่อปรากฏงบฯ ละลายเสื้อแดง 2 พันล้านบาท หลังจากพรรคประชาธิปัตย์ได้ขึ้นมาบริหารประเทศ อีกทั้งกระหน่ำไปถึงความไม่เหมาะสมของพล.อ.อนุพงษ์ ในการทำตัวเป็นผู้ร่วมแผนจัดตั้งรัฐบาล “อภิสิทธิ์” ในหน่วยทหารย่านวิภาวดีรังสิต
“สีเขียว” ในนามของกองทัพบก ที่แม้จะคุมอำนาจได้เบ็ดเสร็จในหน่วยกำลังรบ และ หน่วยปฏิวัติ แต่ทว่าไม่สามารถคุมหัวใจคนในกองทัพได้ทุกคน เนื่องจากข่าวสารที่ไหล่บ่าเข้ามาในกองทัพอย่างต่อเนื่อง ยิ่งทหารเมืองกรุงที่ได้รับฟังข่าวสารจากทุกทิศทุกทาง เริ่มมีอาการ “ไม่มีใจ” และปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่ง แต่จิตใจแข็งขืน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในผู้บังคับหน่วยที่ “ไม่มีอนาคต” เพราะการยึดกุมของขั้วอำนาจที่มาจากกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ ที่เติบโตขึ้นมาเป็นแผง มีการวางตัว สืบทอดอำนาจกันต่อไปอีกหลายปี สภาพอำนาจของ พล.อ.อนุพงษ์ ในกองทัพจึงอยู่ในสภาพ “คุมคน”ได้ แต่ “คุมหัวใจ” ไม่ได้แบบเบ็ดเสร็จ
เขายังถูกเพิ่มแรงกดดันในความเป็น “สามเหลี่ยมอำนาจ” ที่ตีกรอบให้เขาอยู่ตรงกลาง ย่อมทำให้เกิดอาการอึดอัดอยู่ไม่น้อย ??
เหตุการณ์สลายการชุมนุมของ “กลุ่มเสื้อแดง” ก็ถูกก่นด่ากันขรม เพราะสังคมต้องเจอกับความรุนแรงจนถึงขีดสุด จากการที่กลุ่มผู้ชุมนุมล้มประชุมผู้นำอาเซียน ที่พัทยา และรวมถึงเหตุการณ์ม็อบเสื้อแดงบุกทุบทำร้ายรถยนต์ประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมถึงทำร้ายนายนิพนธ์ พร้อมพันธ์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่กระทรวงมหาดไทย และรถแก๊สที่ออกมาเขย่าขวัญถึง 3 จุดในกลางกรุง
“อนุพงษ์” กลับเลือกที่จะปล่อยเกียร์ว่าง จนได้รับฉายา “ทหารเกียร์ว่าง” และ “พวกสร้างภาพ” รวมถึง “กั๊ก” !!! ถูกตราหน้าว่า มีเป้าหมาย ไม่ใช่แค่การรักษาเก้าอี้ตัวเองให้มั่น ไม่ว่า “สี” ใดประสบชัยชนะในการทำสงครามและเข้ามามีอำนาจ แต่ยังมองไกลไปถึงการจับมือกับ “เนวิน” ผลักดันพรรคภูมิใจไทย ให้ก้าวขึ้นมากุมอำนาจบริหารประเทศ หากนั่นคือโอกาสที่เนวินและ พลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ รุ่นพี่ของเขาจะได้ขึ้นนั่งเก้าอี้นายกฯ
หากรัฐบาลอภิสิทธิ์เป็นอะไรไป โอกาสที่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นย่อมเป็นไปได้
แม้ว่าเขาจะเคยได้ชื่อว่า อุ้มสม หรือเป็นกระดูกสันหลังในการจัดขั้วรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ก็เพื่อเลี่ยงการ ใช้กลไกกองทัพออกมากระทำการรัฐประหาร ตามสูตรสำเร็จในประวัติศาสตร์การเมือง ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาเพื่อไม่ให้ “เปลืองตัว”
นำมาซึ่งโต๊ะเจรจา ที่มีชื่อ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รมว.กลาโหม ที่มีชื่อในทำเนียบ “หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย” มาตั้งแต่ต้น “สุเทพ เทือกสุบรรณ” เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ผู้จัดการรัฐบาล “เนวิน ชิดชอบ” กับสมาชิก “กลุ่มเพื่อนเนวิน” บรรณาการในการสวิงขั้ว…ในกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ถนนวิภาวดีรังสิต
จนกลายเป็นที่มาของขั้วอำนาจใหม่ ที่ใช้ “สีน้ำเงิน” เป็นตัวแสดง ภายใต้ทฤษฎีศรีธนญชัย “การเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง” ที่มุ่งหวังจับขั้วนี้ไว้อย่างแนบแน่น
ถือเป็นภาวะที่พล.อ.อนุพงษ์ และสีน้ำเงินอยู่ในสภาพ “น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า” …
หาก “สีน้ำเงิน” อยู่ในภาวะ “ตัวแปร” ต่อไป ในอนาคต รมว.กลาโหมตลอดกาลที่ ชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะเป็นหลักประกันให้เก้าอี้ ผบ.ทบ. และ “ทายาท” ในสายเดียวกันมีความมั่นคง !!!
อย่างไรก็ตาม สภาพของ “อนุพงษ์” ที่ต้องนั่งในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกต่อไปจนถึงปี 2553 อาจต้องเจอกับการท้าทายของ “สี” ในสามเหลี่ยมอำนาจต่อไปในรูปแบบต่างๆ จนถึงวันที่เขาเกษียณอายุชีวิตราชการ
ที่กว่าจะถึงวันนั้น สถานการณ์การเมืองอาจก้าวไปไกลกว่าที่คิด สามเหลี่ยมของยอดพีระมิดจะเป็น “สี” อะไร ยังไม่มีหมอสำนักไหนกล้า “ฟันธง” …
Profile
Name : พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา
Birth Date : 10 ตุลาคม 2492
Education :
– มัธยมศึกษา โรงเรียนพันธะศึกษา, โรงเรียนอำนวยศิลป์
– ปริญญาโท รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต นิด้า
– การศึกษาด้านการทหาร โรงเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 10 โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 21
Career Highlights
-ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์
-เสนาธิการกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์
-รองผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์
-ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์
-เสนาธิการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์
-รองผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์
-ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์
-ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์
-รองแม่ทัพภาคที่ 1
-แม่ทัพภาคที่ 1
-ผู้ช่วย ผบ.ทบ.
-ผบ.ทบ.
Favorite : ชอบตีกลอง