สตูดิโอเสมือน เฉือนคมข่าว

สงครามข่าวรอบนี้ ไม่เพียงแต่ทีวีทุกช่องต้องเฉือนคมกัน ด้วยการนำเสนอข่าวแบบ “เรียลลิตี้ข่าว” และทีมพิธีกรข่าวแบบแน่นแผง สถานีโทรทัศน์เกือบทุกช่องยังทุ่มเม็ดเงินหลายสิบล้านเพื่อเป็นเจ้าของเทคโนโลยีใหม่ ให้คนดูสนุก มีสีสัน จนกลายเป็นอีก 1 ในปรากฏการณ์ข่าวทีวีของไทยในขณะนี้

สกู๊ปการหายไปของเครื่องบิน A380 ที่มีกราฟิกมาประกอบการเล่าข่าว หรือสกู๊ปโรงงานยาบ้า ที่มีกราฟิกกลไก หรือภาพแผนที่เส้นทางการขนแรงงานเถื่อนบริเวณรอยตะเข็บของจังหวัดชายแดนติดกับพม่า ในสกู๊ปแรงงานเถื่อน ในรายการประเด็นเด็ดเจ็ดสี เป็นส่วนหนึ่งของการรายข่าวที่เกิดขึ้นจากการทุ่มลงทุนสตูดิโอเสมือนจริง

“เราลงทุนเพื่อให้หน้าจอออกมาดูดี ดูเหมือนกับสถานีโทรทัศน์ข่าวชั้นนำ ให้ผู้ชมสนุกและตื่นตาตื่นใจไปกับหน้าจอ เวลานี้ถ้าใครไม่ลงทุน ยังเป็นสตูดิโอแห้งๆ ความน่าสนจะน้อยลง ราคาสปอตโฆษณาก็จะเป็นก็อีกแบบหนึ่ง” ชาลอต โทณวณิก ซีอีโอ บริษัทมีเดีย ออฟ มีเดียส์ จำกัด บอกถึงเหตุผลที่มีเดียฯ ยอมควักเงินลงทุน ในการลงทุนติดตั้งวิดีโอวอลล์เพิ่มขึ้น หลังจากที่ติดตั้งเวอร์ช่วลสตูดิโอ มาแล้ว

ด้วยความที่เป็นผู้จัดรายใหญ่ ที่ต้องผลิตรายการข่าวป้อนให้กับช่อง 7 ทุกวันๆ ละ 3 รายการ และทุกรายการล้วนต้องแข่งกับคู่แข่งตลอดกาลอย่างช่อง 3 และยังมีรายการรูปแบบอื่นๆ การติดตั้งระบบเวอร์ช่วล สตูดิโอ จึงเป็นทางเลือกของการที่มีเดียฯ มองแล้วว่าคุ้มค่าและจำเป็น เพราะตอบโจทย์คนดูรายการข่าวยุคนี้ ที่ต้องมีฉากที่มีสีสัน ดึงดูดความใจ สามารถนำเสนอข้อมูล มีกราฟิกประกอบการรับชมข่าว

“เวอร์ช่วล สตูดิโอ จริงๆ แล้วมาช่วยในเรื่องของความเร็ว พอมีรายการใหม่มาก็เปลี่ยนฉากได้ทันที ไม่ต้องทำฉากใหม่ ไม่สิ้นเปลืองพื้นที่ และยังช่วยในเรื่องการนำเสนอข้อมูลที่เป็นตาราง หรือกราฟิกที่ยุ่งยาก นำเสนอให้ผู้ชมดูง่าย เมืองไทยจะเริ่มจากรายการพยากรณ์อากาศก่อน” วศิน บูรณเหตุ รองกรรมการผู้จัดการสายงานปฏิบัติการ บริษัท มีเดีย ออฟ มีเดียส์ บอก

หลังจากควักเงินไป 80 ล้านบาท สำหรับระบบเวอร์ช่วลสตูดิโอ นำมาใช้ในรายการข่าว เจาะ เกาะติด และบันเทิง 360 องศา มีเดียฯ ก็ใส่เงินไปอีก 50 ล้านบาท ซื้อระบบ“วิดีโอวอลล์”มาเสริม เพื่อจะช่วยให้การภาพดูสมจริงมากยิ่งขึ้น และการนำเสนอข้อมูลได้ลุ่มลึกยิ่งขึ้น โดยนำมาใช้กับรายการประเด็นเด็ด 7 สี ที่ถือเป็นรายการตัวแม่ ที่ต้องท้ารบกับข่าว 3 มิติ

“ระบบวิดีโอวอลล์ จะช่วยให้ตัวพิธีกรข่าว Interact กับข้อมูลได้ดีขึ้น สามารถเลือกข้อมูลที่จะนำเสนอได้ด้วยตัวเอง แตะบนหน้าจอข้อมูลบนจอ ให้คนดูได้เห็นข้อมูลได้ลึกขึ้นเรื่อย ๆ จุดสำคัญก็อยู่ที่ตัวพิธีกร ต้องเรียนรู้รูปแบบการนำเสนอให้ดูเป็นธรรมชาติ” วศิน สะท้อนความเห็น

แม้เทคโนโลยีเหล่านี้ วิดีโอวอลล์ และเวอร์ช่วล สตูดิโอจะมีข้อดี แต่มีข้อจำกัดอยู่ไม่น้อย ทั้งเงื่อนไขเทคนิค โดยเฉพาะการที่เรียนรู้นำมาใช้อย่างเหมาะสม พิธีกรข่าวต้องปรับตัวในการปฏิสัมพันธ์กับตัวข้อมูลบนหน้าจอได้อย่างแนบเนียน จึงทำให้ระบบเหล่านี้นำเสนอออกมาน่าสนใจ

ใช่แต่มีเดีย ออฟ มีเดียส์ เท่านั้นที่ให้ความสำคัญลงทุนกับสตูดิโอเสมือนจริง สถานีโทรทัศน์ช่องอื่นก็ใช้ Virtual Studio เกือบทุกช่อง ช่อง 5 ช่อง 11 และไทยพีบีเอส เพียงแต่รูปแบบการใช้แตกต่างกัน ช่อง 5 ใช้ฉากหลังรายการข่าวช่วงเช้า ส่วนช่อง NBT และ TPBS หรือแม้แต่เจ้าของรายการไอทีของจอห์น รัตนเวโรจน์ ก็ใช้สตูดิโอเสมือนจริง ให้เข้ากับรายการที่ต้องดูไฮเทค

ส่วนระบบวิดีโอวอลล์ มี 2 ช่อง คือ มีเดีย ออฟ มีเดียส์ และช่อง 3 นั้น เลือกที่ลงทุนกับวิดีโอวอลล์ โดยนำมาใช้กับทุกรายการของครอบครัวข่าว
TNN เลือกค่ายญี่ปุ่น

ในขณะทีบรรดาฟรีทีวีเลือกใช้เวอร์ช่วลสตูดิโอจากผู้ผลิตสหรัฐอเมริกา สถานีข่าวน้องใหม่ แต่ Virtual Studio ของ TNN ก็ลงทุนไปกว่า 20 ล้านบาท โดยนำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งผลิตโดยบริษัท eStudio

“แม้จะมี Template มาให้ใช้ แต่การใช้ความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการที่แตกต่างจะช่วยสะท้อนคาแร็กเตอร์ของ TNN ผ่านทางดีไซน์ของ Virtual Studio ได้ เครื่องไม้เครื่องมืออาจจะเหมือนกัน แต่ทักษะเป็นสิ่งที่ต้องฝึกฝนเพื่อสร้างความแตกต่าง”

ในเบื้องแรก Virtual Studio จะถูกใช้ในการรายงานข่าวพยากรณ์อากาศทั้งของเมืองไทยและในแต่ละภูมิภาคของโลกก่อน ซึ่งรายการนี้มักจะเป็นเวทีโชว์ฝีมือในการนำเสนอผ่าน Virtual Studio เนื่องจากมีกิมมิกให้เล่นเยอะทั้งกราฟิก สัญลักษณ์แสดงสภาพอากาศต่างๆ และแผนที่

“Virtual Studio ช่วยทำให้การนำเสนอข่าวมีสีสันมากขึ้น ทำให้สตูดิโอดูมีมิติมากขึ้น การเคลื่อนไหวของผู้ประกาศที่สัมพันธ์กับสิ่งเสมือนจริงที่ปรากฏขึ้นจะทำให้ข่าวสนุก น่าติดตาม ไม่น่าเบื่อ”