Instagram ผ่านมุมกล้อง Trend Setter

คนกลุ่มหนึ่งที่เล่น Instagram กันเยอะแยะและมีแต่รูปสวยๆ ออกมาให้เห็น คือกลุ่มคนที่ทำงานในวงการโฆษณา ดีไซเนอร์ สถาปนิก ไม่เว้นแม้แต่ช่างภาพมืออาชีพ ด้วยเครื่องมือของ Instagram ที่ทำให้พวกเขามีพื้นที่โชว์ผลงาน แตกยอดความคิดจากงานประจำให้กลายเป็นเรื่องสนุกเพื่อความบันเทิง อีกทั้งยังอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีของสวยงามให้เก็บภาพ จึงเป็นเรื่องง่ายและมันส์ที่จะถ่ายรูปแล้วแชร์ความคิดเหล่านั้นออกมา  

จากภาพที่สวยงามมีมุมมองทางศิลปะ ทำให้คนกลุ่มนี้กลายเป็น Trend Setter ถ้าหากไม่นับดารารูปภาพของคนเหล่านี้ยอด Follower อันดับรองๆ ลงมา และเป็นตัวอย่างกับแรงบันดาลใจให้ผู้เล่นคนอื่นครีเอตแนวทางการถ่ายภาพขึ้นมาเอง ที่สำคัญยิ่งกว่าคือคนกลุ่มนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมกำหนดทิศทางโฆษณา ดังนั้นไลฟ์สไตล์ที่คนกลุ่มนี้ “อิน” จึงมีโอกาสที่จะถูกนำเข้ามาสอดแทรกในเนื้อหาของโฆษณา

 

สุทธิศักดิ์ สุจริตนานนท์ หัวหน้าแก๊ง Thaistagram

ถึงแม้ว่าปัจจุบัน สุทธิศักดิ์ สุจริตนานนท์ ซีอีโอ บีบีดีโอ จะได้รับการยกย่องว่าเป็นครีเอทีฟมือหนึ่งคนหนึ่งของประเทศไทย แต่เมื่อย้อนกลับไปที่อาชีพเริ่มแรกของเขาคือช่างภาพตั้งแต่สมัยเรียน และยึดเป็นอาชีพหลังเรียนจบอยู่พักหนึ่ง จนกระทั่งชะตาชีวิตพลิกผันให้มาทำงานในสายโฆษณาและทำงานยุ่งจนไม่มีเวลากดชัตเตอร์ จนกลับมาถ่ายรูปอีกครั้งก็ตอนที่กล้องดิจิตอลได้รับความนิยมและมีคุณภาพดีแล้ว แต่อุปกรณ์ที่เขาเลือกใช้ถ่ายรูปอย่างจริงจังก็เมื่อใช้โทรศัพท์มือถือ iPhone เพราะอยู่ใกล้ตัวหยิบมาใช้ถ่ายรูปและแต่งรูปได้สะดวก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีแอพพลิเคชั่น Instagram 

 

มนต์เสน่ห์โบราณในของโมเดิร์น 

สุทธิศักดิ์ มองว่า สาเหตุที่ช่างภาพและครีเอทีฟมืออาชีพชื่นชอบแอพพลิเคชั่นนี้ก็เพราะ “ความง่าย” ทั้งเรื่องการถ่ายและการแชร์รูป อีกทั้งภาพถ่ายที่ผ่านแอพพลิเคชั่นนี้ก็ทำให้ได้ภาพสไตล์กล้องโบราณที่สัดส่วนจะเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส สัดส่วน 3 ต่อ 3 ซึ่งแปลกกว่าภาพถ่ายด้วยแอพพลิเคชั่นแต่งภาพอื่นๆ ส่วนอินไซท์ของคนใกล้ตัวที่ถ่ายรูปไม่เก่งนัก แต่เมื่อการถ่ายภาพให้สวยเป็นเรื่องง่าย ก็ทำให้หลายคนชอบถ่ายรูปมากขึ้น และยิ่งถ่ายรูปแล้วมีคนชมแรงผลักดันก็เพิ่มมากขึ้น   

นั่นเป็นเพราะระบบการแชร์ภาพของ Instagram ที่ทำให้การอัพโหลดภาพจากแอพพลิเคชั่นนี้ไปแชร์ผ่านโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คกิ้งอื่นที่ฮิตติดลมบนอยู่แล้วนี่เองที่ทำให้ Instagram ขยายตัวได้เร็วและถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือการตลาด โดยแบรนด์ที่น่าจะให้ Instagram ได้เกิดประโยชน์มากที่สุด สุทธิศักดิ์มองว่า น่าจะเป็นแบรนด์ที่เกี่ยวกับแฟชั่น ที่สามารถสะท้อนคุณภาพของโปรดักต์ทำได้ด้วยภาพ เช่น ร้านอาหาร เสื้อผ้า หรือแม้แต่ร้านแต่งรถ 

“คนไทยถ่ายรูปมากขึ้นตั้งแต่มีสมาร์ทโฟน เพราะว่าถ่ายแล้วก็อัพโหลดได้เลยผ่านโซเชี่ยลมีเดีย ความจริงแล้วการแชร์ภาพมันก็คือการโชว์ออฟนั่นแหละ ว่าเราไปที่ไหน กินอะไร หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงของเราเป็นยังไง สินค้าบางประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าวัยรุ่นที่ดูพฤติกรรมเหล่านี้แล้วปรับตัวได้ ก็จะได้ประโยชน์ นักการตลาดก็ต้องเข้าใจเพราะวัยรุ่นสมัยนี้ออนไลน์ตลอดเวลา ขาดเพื่อนไม่ได้” 

 

Joy In Flood : 1st Instagram Event  

ความหลงใหลของสุทธิศักดิ์ที่มีต่อ Instagram ทำให้เขาก่อตั้งแฟนเพจ Thaistagram เป็นสังคมออนไลน์แชร์ภาพ โดยเครือข่ายส่วนใหญ่มาจากคนทำงานในวงการโฆษณา และสื่อ เช่น อนุชัย ศรีจรูญพู่ทอง เจ้าของบริษัท รีมิกซ์ สตูดิโอ, ชำนิ ทิพย์มณี ช่างภาพชื่อดังจาก ชำนิอายส์ สตูดิโอ นั่นยิ่งยอกย้ำให้เห็นว่าอาร์ตทิสหรือว่าช่างภาพระดับประเทศก็ใช้ Instagram เช่นกัน 

คอมมูนิตี้ที่สุทธิศักดิ์วางแผนเอาไว้ไม่ใช่จำกัดเฉพาะโลกออนไลน์เท่านั้น เพราะเมื่อถึงจุดหนึ่งเขาตั้งใจว่าจะจัดมีทติ้งสำหรับคนเล่น Instagram

“ผมชอบเจอหน้ากันตัวจริงๆ มากกว่าที่จะอยู่แค่ในออนไลน์ ตั้งใจไว้ว่าถ้ามีแฟนเพจถึง 2 พันคนเมื่อไหร่ก็จะจัดงานให้คนเล่น Instagram มาเจอกันสักครั้ง แล้วก็จะเชิญคนในวงการที่ถ่ายภาพเก่งๆ มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้คนอื่นๆ ได้ประโยชน์” 

การรวมกลุ่มคนในวงการโฆษณาซึ่งมีความสามารถด้านการถ่ายภาพอยู่แล้ว ไปสู่คนอื่นๆ ที่มีความสนใจเดียวกัน กลายเป็นเป้าหมายใหม่ที่น่าสนใจอย่างยิ่งของซีอีโอบริษัทโฆษณา เพราะนอกจากงานประจำแล้ว สุทธิศักดิ์ยังเป็นตัวตั้งตัวตีในการรวบรวมผลงาน Instagram จากเครือข่าย Thaistagram ที่เขาจัดตั้งขึ้น นำมาสู่กิจกรรม Joy iin Flood ระดมภาพจากช่างภาพชื่อดัง และคนที่เล่น Instagram ในประเทศไทยมาจัดเป็นงานอีเวนต์ประมูลภาพ และซื้อรูปเพื่อระดมทุนบริจาคให้กับสภากาชาดไทย เพื่อช่วยเหลือน้ำท่วม

“ไอเดียมันก็คือ ตอนน้ำท่วมเรามีรูปเยอะ แล้วแต่ละรูปก็สะท้อนคาแร็กเตอร์ของคนไทย คือ ต่อให้ทุกข์ขขนาดไหนเราก็ไม่ซีเรียส สนุกสนาน สู้อยู่ตลอด คนที่อยากบริจาคก็แค่บริจาครูป ใส่ #joyinflood เข้ามา โปรเจกต์นี้เหมือนจะยาก แต่ง่ายมาก แค่นี้ก็ใช้ Social Network ทำ Fund Raising ผ่าน Instagram ได้แล้ว ทั้งหมดก็ได้รูปมา 1,500 รูป”

 

ภาพสร้างกำลังใจ

ส่วนตัวของสุทธิศักดิ์เอง ชอบถ่ายภาพ Street Photo แต่ที่เป็นธีมถ่ายรูปส่วนตัวของเขา คือ แก้วกาแฟในยามเช้า และถ้าหากว่ามีเวลาก็จะใส่คำพูดดีๆ ลงไป เพราะว่าอยากให้กำลังใจคนทำงานในยามเช้า เหมือนเสิร์ฟกำลังใจหลังจากตื่นนอนให้กับผู้ชมและน้องๆ ที่ทำงาน 

 

 

อนุชัย ศรีจรูญพู่ทอง คนถ่ายรูปไม่เป็นจะพัฒนา

ในฐานะช่างภาพมืออาชีพ อนุชัย ศรีจรูญพู่ทอง เจ้าของบริษัท รีมิกซ์ สตูดิโอ ก็เป็นคนหนึ่งที่เล่น Instagram เช่นกัน ถึงแม้ว่าเขาจะมีฝีมือถ่ายรูปและแต่งรูปขั้นเทพ แต่สำหรับ Instagram เขาบอกว่า ไม่เคยแต่งรูปเกินกว่าแอพพลิเคชั่นในโทรศัพท์ ไม่เคยใช้รูปจากกล้องถ่ายรูปจริงโพสต์ลงใน Instagram เพราะเป็นเรื่องที่เขาต้องซื่อสัตย์กับตัวเอง 

“Instagram เป็นโซเชี่ยลมีเดียที่ไม่ต้องเสียเวลามาก แค่ดูรูปอย่างเดียว เพราะบางทีก็เหนื่อยที่จะอ่าน จะพิมพ์ instagram เวลาเล่นไม่ต้งไปวุ่นวายกับใครมาก แต่ถ้าบางทีอยากเสนอความคิดออกไป Instagram เป็นสื่อที่ทำให้เราสื่อสารความคิดได้โดยที่ไม่ต้องพูด และมันจะเห็นเลยว่า สำหรับคนที่ไม่แข็งแกร่งทางความคิดจะพ่ายแพ้ใน Instagram บางคนแค่เล่นสนุกๆ ก็ไม่ผิด ผมไม่ได้ว่าเขานะ แต่โซเชี่ยลจะบีบให้เขาพัฒนาฝีมือขึ้นมาเอง Instagram เอาไว้โชว์กึ๋น ไม่ใช่แค่ Life Style หากจะโพสต์แค่รูปตัวเอง รูปแฟน หรือรูปอาหารที่ไม่มีมุมมองเลย เขาก็จะรู้ตัวเอง เพราะจะไม่มีคนกด Like ไม่มีคนคอมเมนต์อะไรทั้งสิ้น และถ้าหากว่าคนเล่นเป็นพวกแคร์สังคมก้องพัฒนาการถายรูปออกมา” ในส่วนตัวอนุชัยเองจึงไม่ค่อยได้อัพรูปขึ้นไปเท่าไหร่ เพราะสำหรับเขาการถ่ายรูปใน Instagram ก็ต้องใช้เวลาคิดเช่นเดียวกัน และถ้าไม่มีเวลาก็จะไม่ถ่ายรูป ใช้แค่ดูรูปคนอื่น

สำหรับการประยุกต์ใช้ Instgram ในงานโฆษณา อนุชัยมองว่าน่าจะใช้เป็นเครื่องมือ Testing, Demonstration สินค้าว่าลูกค้าเห็นรูปลักษณ์แล้วถูกใจหรือไม่ 

 

“เหงา” Prime time ของ Instagram

“มนุษย์ไม่ได้ต้องการอะไรหรอกนอกจากแสดงตัวตน” นี่คือมุมมองที่อนุชัยมีต่อพฤติกรรมการแชะและแชร์ของผู้บริโภคปัจจุบัน และจากการสังเกตกับทดลองด้วยตัวเอง ทำให้อนุชัยเชื่อว่า Instagram ก็มีช่วงเวลาไพรม์ไทม์เช่นเดียวกัน นั่นคือ ช่วงที่คนเหงา เบื่อ รถติดไม่รู้จะทำอะไร โดยอนุชัยทดลองกับ Instagram ของตัวเองแล้วว่า โพสต์รูปช่วงเย็นหลังเลิกงานที่รถติด กับเวลาอาหารเย็นเป็นต้นไปจะได้รับฟีดแบ็กดีกว่าโพสต์ในช่วงเวลาอื่น  

 

อรัทยา เทิดวงส์ ใช้ Instagram ปล่อยของ

อรัทยา เทิดวงส์ Graphic Design Director, BBDO หรือ @Instapam เป็นอีกคนที่ติด Instagram งอมแงม ในเวลาที่งานไม่ยุ่งเธอจะโพสต์ภาพใน Instagram โดยเฉลี่ยวันละ 4 ภาพ แต่ถ้าวันไหนยุ่งก็จะต้องส่งภาพขึ้นไปแค่รูปเดียว ถ้าหากไม่นับศิลปิน-ดารา @Instapam น้องสาวแท้ๆ ปี๊บ-รวิชญ์ เทิดวงส์ คือคนที่มีผู้เล่น Follow อยู่ในอันดับต้นๆ ที่ตัวเลข 3 หมื่นกว่ารายมากกว่าเจ้านาย สุทธิศักดิ์ สุจริตนานนท์ ซีอีโอของบริษัทซะอีก  

เหตุผลที่สไตล์การถ่ายของเธอเอกลักษณ์ จุดเด่นที่การวาง Compose และ Space แล้วถ่ายด้วยฟีเจอร์ Early Bird เป็นหลัก แล้วถ่ายภาพสิ่งของที่ตัวเองสะสมออกมาในมุมตรงๆ สิ่งที่แตกต่างคือ การถ่ายภาพของ อรัทยา จะถ่ายตามธีมที่เธอกำหนดขึ้นมาเอง เช่น ธีมภาพสี ก็จะมีแค่สีที่ถูกกำหนดไว้แล้วเท่านั้น หรือของสะสมสไตล์เรสโทร วินเทจมาวางเรียงกัน และสมุดสเก็ตช์ภาพส่วนตัวน

“Instagram เป็นการใช้เวลาว่างที่สนุกดี เพราะเวลาทำงานส่วนมากต้องคิดแบบ Commercial Art แต่ใน Instagram เราถ่ายรูปอะไรก็ได้ ของที่ชอบถ่ายส่วนมากก็เป็นของสะสมในบ้าน อย่างเรามีกล้องอยู่ 100 กว่าตัว เราก็เอามาวาง พูดง่ายๆ ว่าเอาของใกล้ตัว เอาของโง่ๆ มาวาง อย่างกบเหลาดินสอ ยางลบมาวางเรียงกันเยอะๆ มันจะดูมีคุณค่าขึ้นมาเอง” 

แต่จากการถ่ายภาพเป็นธีมแบบนี้ ก็ทำให้งานอดิเรกก็กลายเป็นรายได้แบบขำๆ ขึ้นมา เมื่อมีคนขอซื้อลิขสิทธิ์ภาพถ่ายเซต “ดอกไม้” ของเธอไปตีพิมพ์เป็นรูปประกอบหนังสือแนวจิตวิทยาให้กำลังใจ 

ในต่างประเทศ Instagram ถูกใช้เป็นพื้นที่ “ปล่อยของ” ของเหล่าช่างภาพมืออาชีพ ที่จะโชว์มุมมองการถ่ายภาพด้วยกล้องโทรศัพท์มือถือ ในประเทศไทย อรัทยายังมองว่าการเล่น Instagram สำหรับเธอยังเป็นแค่งานอดิเรกอยู่ แต่สำหรับนักการตลาดที่จะใช้ Instagram เพื่อประโยชน์ทางการค้า อรัทยาคิดว่า “ก็น่าจะทำได้ เพราะสมัยนี้สื่อไม่ได้จำกัดอยู่แค่สื่อสิ่งพิมพ์ แต่มาอยู่ในดิจิตอล และคนที่ Follow ใครใน Instagram แปลว่าเขาชื่นชอบหรือเชื่อในไลฟ์สไตล์แบบนั้นอยู่แล้ว ไม่อย่างงั้นเขาก็คงไม่มาตามดูภาพ ดังนั้นถ้าเอาสินค้าที่คนใช้มานำเสนอก็น่าจะเป็นช่องทางให้คนอีกมากได้เห็นสินค้า อาจจะมีคนเข้ามาถามว่าซื้อที่ไหน ถ้าบอกไปก็มีคนตามไปซื้อ”