ทำความรู้จัก “Startup” เทรนด์แรงที่ชาวออนไลน์ควรรู้

ทำความรู้จัก “Startup” เทรนด์แรงที่ชาวออนไลน์ควรรู้

เมื่อไม่นานมานี้เพิ่งมีรายงานออกมาว่ากรุงเทพมหานครถูกจัดเป็นเมืองที่มีคนใช้ Facebook มากที่สุดในโลก (ราว 8.6 ล้านคน) ทำให้ต้องมานั่งคิดกันนะคะว่าบริการ Social Network อย่าง Facebook นี่คนคิดเขาทำอย่างไรนะถึงได้สร้างบริการที่โด่งดังอย่างนี้ออกมาได้ ว่าแล้วก็เลยเปิดเข้าไปดูในประวัติของคุณ Mark Zuckerberg ผู้ก่อตั้ง Facebook ว่าเขาต่อสู้มาได้อย่างไร ก็พบว่าเรื่องราวสมัยที่เขายังเป็นเพียง “ธุรกิจเกิดใหม่” หรือที่หลายคนเรียกทับศัพท์ตามฝรั่งว่า “Startup” นั้นเข้มข้นน่าสนใจมากเลยค่ะ เกริ่นมาเสียยาว แต่เรื่องที่ผู้เขียนจะมาเล่าให้คุณผู้อ่าน Positioning ไม่ใช่เรื่อง Facebook นะคะ แต่มันคือเทรนด์ใหม่มาแรงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เรียกกันว่า “Startup” นั่นเองค่ะ

Startup คืออะไร
Startup หรือถ้าพูดเป็นภาษาไทยให้เข้าใจง่ายๆ นั่นคือบริษัทเกิดใหม่ และเป็นคำที่นิยมใช้เรียกบริษัททางด้านเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใน Silicon Valley สหรัฐอเมริกา และปัจจุบันก็นิยมใช้เรียกกันทั่วโลก

โดยกว่าจะมาเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็น Facebook Google ก็ต้องผ่านการเป็น Startup มาก่อนแล้วทั้งนั้น

หลายคนอาจจะสงสัยว่าต้องมีทุนมากมายหรือไม่ถึงจะมาเป็น Startup ได้ อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นค่ะ ด้วยเทคโนโลยีบนโลกอินเทอร์เน็ตช่วยลดต้นทุนไปได้มาก มีเครื่องมือที่ช่วยในการพัฒนาและนำบริการของเราขึ้นไปฝากไว้บนเซิร์ฟเวอร์ของผู้ให้บริการได้(ยกตัวอย่างผู้ให้บริการ อาทิเช่น Amazon)ลูกค้าจากทั่วโลกขอเพียงแค่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตก็สามารถเข้าถึงบริการของคุณได้ผ่านทาง เว็บไซต์หรือ แอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน

อย่างไรก็ตามอาศัยเงินทุนของตัวเองอย่างเดียวย่อมไม่เพียงพอ โชคดีที่ปัจจุบันมีนักลงทุนที่มีความสนใจในการสนับสนุน Startup มากขึ้น และเป็นตัวแปรสำคัญที่จะผลักดันและขับเคลื่อนให้ธุรกิจนั้นเติบโตไปได้ ซึ่งรูปแบบของนักลงทุนก็มีทั้งแบบ นักลงทุนในรูปแบบขององค์กร(Venture Capital หรือเรียกสั้นๆ ว่าVC) และนักลงทุนอิสระ (Angel Investor) ซึ่งจะพิจารณาตตั้งแต่ไอเดีย นวัตกรรม, ประวัติการทำงาน, โอกาสทางธุรกิจและการเติบโตว่าจะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด, ผลตอบแทนจะคุ้มกับการลงทุนหรือไม่ โดยที่ Startup นอกจากจะได้เงินทุนแล้ว เราจะได้คำปรึกษาและพันธมิตรควบคู่ด้วยเช่นเดียวกัน

ส่องดูเพื่อนบ้านเราไปถึงไหนกันแล้ว?
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านประเทศเพื่อนบ้านเราอย่าง สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย หรือแม้กระทั่งเวียดนามก็มี Startup เกิดใหม่มากมาย มีการจัดงานที่สนับสนุนให้ Startup ได้พบนักลงทุน และพันธมิตรอยู่หลายงาน ยกตัวอย่างเช่น งาน Echelon 2012 ที่จัดขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์ช่วงระหว่างวันที่ 11-12 มิถุนายน 2555 จัดโดยทีมงาน e27.sg ซึ่งทางทีมงาน thumbsup จากไทยก็ร่วมเป็น Official Media Partner สนับสนุนให้คนไทยไปร่วมงานนี้ด้วย

ภายในงาน Echelon จะเปิดให้ Startup จากประเทศต่างๆ สมัครเข้ามานำเสนอผลงาน หลังจากนั้น Startup จะถูกคัดเลือกให้ไปนำเสนองานรอบแรกให้แก่คณะกรรมที่ฝรั่งเรียกว่า Pitch โดยรอบแรกจะจัดที่ประเทศต่างๆ อันได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม ไต้หวัน ญี่ปุ่น และ Startup ที่ผ่านรอบคัดเลือกจะสามารถร่วมออกบูธในงาน Echelon ได้ โดยStartup 10 รายสุดท้ายที่ผ่านเข้ารอบจะมีโอกาสได้นำเสนอผลงานเพื่อชิงรางวัลและแน่นอนมีโอกาสได้พบกับนักลงทุนต่างๆ ที่จะผลักดันให้ธุรกิจของ Startup รายนั้นเติบโตมากยิ่งขึ้น

ซึ่งในงานนี้เป็นที่น่ายินดีว่า Startup ชาวไทย “Builk.com”ไปคว้ารางวัลชนะเลิศมาได้อย่างงดงาม Builk เป็นผู้ให้บริการซอฟแวร์สำหรับธุรกิจก่อสร้าง โดยมีรูปแบบธุรกิจคือเปิดให้ลูกค้าใช้งานซอฟแวร์ฟรีและอาศัยการหารายได้จากโฆษณาสินค้าและบริการในวงการก่อสร้างแทน

นอกจากนี้ยังมี Startup จากไทยรายอื่นที่ไปร่วมงานด้วยอาทิเช่น บริษัท Proteus Agility นำเสนอซอฟแวร์ที่มีชื่อว่า Eidosเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ทีมงานพัฒนาซอฟต์แวร์ของบริษัทต่างๆ สามารถพัฒนาให้ได้ตรงตามความต้องการลูกค้าและประหยัดเวลาได้มาก และยังมีผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นอย่าง ShopSpotแหล่งศูนย์กลางของคนที่ต้องการซื้อขายของผ่านทางสมาร์ทโฟนและเว็บไซต์ shopspotapp.com

นอกจากงาน Echelon แล้วในแถบเอเชียยังมีงานอื่นๆ อีกมากมายอาทิเช่น งาน Startup Asia 2012 จัดขึ้นที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย, งาน Demo Asia 2012 จัดขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์ หรือไกลหน่อยอย่างงาน beLaunch 2012 ที่กำลังจะจัดขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศเกาหลี เป็นต้น ซึ่งงานเหล่านี้ยังมีชาวไทยไปร่วมงานน้อยมากค่ะ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

หันกลับมามองไทยเรา

แม้จะมี Startup สัญชาติไทยไปแจ้งเกิดในเวทีระดับนานาชาติแล้วก็ตาม แต่ถ้าจะว่าไปแล้วเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านเรายังมีนวัตกรรมและ Startup เกิดขึ้นน้อยมาก อันเนื่องมาจากยังขาดซึ่งการสนับสนุนจากหลายๆ ทาง โดยในปีนี้เราได้เริ่มเห็นกลุ่มนักลงทุนในรูปแบบของ Venture Capital ในไทยชัดเจนขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็อยากเห็นความร่วมมือและการสนับสนุนจากองค์กรต่างๆ ในการผลักดันให้ Startup ไทยที่มีแนวคิดดีๆ นวัตกรรมใหม่ๆ

ก้าวสู่เวทีโลกไม่ว่าจะเป็นเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (Software Park) หรือ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ? (SIPA) ด้วยเช่นกัน

ในฟากของ Startup สิ่งที่สำคัญและอยากฝากทิ้งท้ายไว้นอกเหนือจากแรงบันดาลใจได้ทำในสิ่งที่คุณรักแล้วเท่านั้นยังไม่พอค่ะ Startup ที่จะเติบโตได้ในยุคนี้ต้องคิด,วางแผนธุรกิจและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เจาะตลาดระดับเอเชียได้ ไม่ใช่แค่เพียงตลาดไทยเพราะมีโอกาสในการเติบโตที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงจะต้องหมั่นเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อเชื่อมโยงและสร้างสรรค์นวัตกรรมขึ้นมา และที่สำคัญกุญแจแรกที่จะไขประตูสู่เวทีโลกต้องไม่ลืมเรื่องการพัฒนาทักษะทางด้านภาษาอังกฤษด้วยเช่นเดียวกันนะคะ ผู้เขียนเชื่อว่าคนไทยมีศักยภาพ ถ้าได้ฝึกฝนและได้รับแรงผลักดันที่ดีเชื่อว่าคนไทยสามารถก้าวไปได้ไกลไม่แพ้ชาติใดค่ะ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคน

อรนุช เลิศสุวรรณกิจ
หนึ่งในบรรณาธิการเว็บไซต์ thumbsup.in.th เว็บไซต์ข่าวและบทความธุรกิจดิจิตอลหนึ่งในเว็บไซต์ที่ร่วมผลักดันTech Startupของไทยคลุกคลีในแวดวงธุรกิจสื่อสารกว่า 10 ปี ร่วมพูดคุยกันได้ทาง Twitter : @mimee