การพัฒนาตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า…สะท้อนปัญหาภาคการเกษตรของไทย

ตลาดสินค้าล่วงหน้า(Future Exchange) หมายถึง ตลาดสินค้าที่ผู้ซื้อและผู้ขายได้ทำข้อตกลงกันว่าจะมีการซื้อขายสินค้าชนิดหนึ่ง โดยมีการกำหนดราคาและปริมาณของสินค้าที่จะแลกเปลี่ยนไว้ ณ ปัจจุบัน แต่การรับและส่งมอบ ตลอดจนชำระเงินค่าสินค้าจะเกิดขึ้นในอนาคตในวันที่กำหนด โดยระหว่างที่ยังไม่ได้มีการส่งมอบนั้นก็สามารถที่จะนำข้อตกลงดังกล่าวมาซื้อขายเปลี่ยนมือกันในตลาดได้ ซึ่งตลาดจะเป็นผู้กำหนดระเบียบและเงื่อนไขต่างๆในการซื้อขาย ดูแลการซื้อขายและจัดให้มีการส่งมอบและรับสินค้าอย่างเป็นระบบ

ทั้งนี้ การซื้อขายในตลาดล่วงหน้านั้น จะแตกต่างกับตลาดซื้อขายสินค้าจริง (Cash Market) ตรงที่ในตลาดล่วงหน้าจะไม่มีการแลกเปลี่ยนสินค้ากันเกิดขึ้นในเวลานั้น โดยสิ่งที่แลกเปลี่ยนกันจะเป็นข้อตกลงหรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตลาดล่วงหน้าในต่างประเทศส่วนใหญ่จะมีการซื้อขายสินค้าหลายกลุ่มด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เช่น ดัชนีหุ้น อัตราดอกเบี้ย ราคาหลักทรัพย์รายตัว ในบรรดาสินค้าต่างๆที่มีการซื้อขายกัน ถือได้ว่าสินค้าเกษตรเป็นสินค้าที่เก่าแก่ที่สุด โดยตลาดซื้อขายล่วงหน้าที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาอย่างเป็นทางการแห่งแรกนั้น ได้แก่ ตลาดซื้อขายข้าวโดจิม่า (Dojima Rice Market) ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งก่อตั้งขึ้นในราวปี พ.ศ. 2143

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาตลาดล่วงหน้าที่ซื้อขายเฉพาะสินค้าเกษตรเท่านั้น ตลาดที่มีปริมาณซื้อขายมากที่สุดในปีที่ผ่านมา ได้แก่ Dalian Commodity Exchange ในประเทศจีน รองลงมา ได้แก่ Chicago Board Of Trade ของสหรัฐฯ อันดับสาม ได้แก่ Tokyo Grain Exchange ในประเทศญี่ปุ่น อันดับที่สี่ ได้แก่ New York Board Of Trade ในสหรัฐฯ

สำหรับประเทศไทยนั้น ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย(Agricultural Futures Exchange of Thailand หรือ AFET) ซึ่งเป็นตลาดซื้อขายล่วงหน้า (Futures Market) แห่งแรกของประเทศ ได้ถูกจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า พ.ศ. 2542 เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2547 เพื่อเป็นเครื่องมือในการช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับราคาสินค้าเกษตร เนื่องจากสินค้าเกษตรของไทยในปัจจุบันต้องเผชิญความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาสินค้าทั้งจากปัจจัยธรรมชาติ และจากการที่เกษตรกรไทยส่วนใหญ่ยังขาดการวางแผนทางด้านการผลิตที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งส่งผลให้อุปสงค์และอุปทานสินค้าเกษตรที่ออกสู่ตลาดในแต่ละช่วงมากหรือน้อยจนเกินไป โดยมีฐานะเป็นนิติบุคคลอิสระภายใต้การดูแลของคณะกรรมการตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ที่สำคัญของรัฐบาลในการจัดตั้งตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าขึ้นมานั้น มีหลายประการ ได้แก่

– การช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาสินค้าเกษตร (Hedging) ให้กับทั้งเกษตรกร ผู้ค้า และผู้ที่ต้องการซื้อสินค้าทั้งในและต่างประเทศเพราะสามารถรับรู้และตกลงราคาซื้อขายที่แน่นอนได้ในปัจจุบัน
– การทำให้ทราบถึงแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรในอนาคต เนื่องจากราคาสินค้าในตลาดล่วงหน้าจะสะท้อนให้เห็นถึงการคาดการณ์เกี่ยวกับอุปสงค์และอุปทานของสินค้านั้นๆในอนาคต ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรสามารถวางแผนการผลิตล่วงหน้าได้

– การสร้างความเสมอภาคในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารด้านสินค้าเกษตรให้กับเกษตรกรรายย่อย ทำให้เกษตรกรสามารถใช้ช่องทางดัง

– ในแง่ของนักลงทุนนั้น ทำให้เป็นอีกทางเลือกในการลงทุน นอกจากการลงทุนในวิธีการอื่นๆ

– ขั้นตอนในการซื้อขายในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า

สำหรับขั้นตอนในการซื้อขายนั้นจะต้องมีการเปิดบัญชีซื้อขายกับบริษัทนายหน้า ซึ่งได้รับ
อนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการ ก.ส.ล. และจากคณะกรรมการตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าให้เป็นสมาชิก ซึ่งจะทำหน้าที่ส่งคำสั่งซื้อขายให้กับตลาดเพื่อจับคู่คำสั่งด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ก่อนที่จะทำการซื้อขายนักลงทุนไม่ว่าจะซื้อหรือขายจะต้องวางเงินประกันเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนเงินประกันขั้นต้น (Initial Margin) ไว้กับบริษัทนายหน้า โดยหลังจากที่คำสั่งได้รับการจับคู่ตลาดฯจะทำการยืนยันผลให้บริษัทนายหน้าทราบเพื่อแจ้งให้กับนักลงทุน ซึ่งนักลงทุนจะต้องวางเงินประกันขั้นต้นให้ครบอย่างช้าก่อนเวลาที่ตลาดเปิดดำเนินการซื้อขายในวันทำการที่สองนับตั้งแต่เกิดรายการซื้อขาย ทั้งนี้ เมื่อสิ้นสุดการซื้อขายในแต่ละวัน สำนักหักบัญชีจะทำการปรับสถานะเงินประกันในแต่ละวันให้สอดคล้องกับราคาล่วงหน้าที่เปลี่ยนแปลงไป หากว่ามูลค่าของเงินประกันขั้นต้นลดต่ำลงไปมากกว่าเงินประกันรักษาสภาพที่กำหนดแล้ว (Maintenance Margin) นายหน้าซื้อขายล่วงหน้าจะทำการเรียกเก็บเงินเพิ่มจากนักลงทุน (Margin Call) เพื่อให้เงินประกันมีมูลค่าเท่ากับเงินประกันขั้นต้นอีกครั้ง ทั้งนี้ การวางเงินประกันมีขึ้นเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจไม่ปฏิบัติตามข้อสัญญา
นักลงทุนในตลาดล่วงหน้าแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ ผู้ป้องกันความเสี่ยง (Hedger) และนักเก็งกำไร (Speculator) ซึ่งต่างก็มีข้อผูกพัน คือ การรับหรือส่งมอบสินค้าในราคา ปริมาณ และคุณภาพสินค้าที่กำหนดไว้เมื่อครบกำหนด สำหรับนักลงทุนซึ่งไม่มีสินค้าอยู่จริงนั้นสามารถจะหักล้างสถานะ (Offset Position) โดยการทำสัญญาที่มีสถานะตรงกันข้าม เช่น ผู้ที่ซื้อล่วงหน้าจะขายล่วงหน้า ส่วนผู้ที่ขายล่วงหน้าจะทำสัญญาซื้อล่วงหน้าในปริมาณสัญญาที่เท่ากัน ส่วนกรณีของนักลงทุนซึ่งมีสินค้าอยู่จริงนั้น ในบางครั้งอาจจะตัดสินใจไม่ส่งหรือรับมอบสินค้าเนื่องจากการส่งมอบสินค้าจะก่อให้เกิดต้นทุน เช่น ค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาสินค้าและการขนส่งที่สูง ซึ่งอาจจะทำให้ผลกำไรที่ได้รับน้อยกว่าการซื้อขายโดยตรงในตลาดซื้อขายจริง อันจะส่งผลให้นักลงทุนตัดสินใจทำการหักล้างสถานะได้เช่นกัน ซึ่งตลาดจะแจ้งเตือนให้นักลงทุนทราบฐานะการถือครองสัญญาที่คงค้างและจะมีการเรียกวางเงินประกันเพิ่มเติมเพื่อป้องกันการผิดสัญญาเมื่อเข้าใกล้เดือนส่งมอบ
? ปริมาณ และมูลค่าการซื้อขายจนถึงในปัจจุบัน
นับตั้งแต่เริ่มมีการซื้อขายเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 พ.ค.2547 เป็นต้นมา จนถึง 27 พ.ค. 2548
เป็นเวลาหนึ่งปีนั้น ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้ามีปริมาณการซื้อขายรวมทั้งสิ้นกว่า 54,543 สัญญา มีปริมาณสถานะคงค้างเมื่อวันที่ 27 พ.ค.รวมกว่า 2,840 สัญญา โดยลักษณะของนักลงทุนในตลาดเป็นผู้ป้องกันความเสี่ยง (Hedger) มากกว่านักเก็งกำไร (Speculator) เนื่องจากนักลงทุนรายย่อยส่วนใหญ่ ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการซื้อขายในตลาดล่วงหน้า
ในปัจจุบันยังมีสินค้าที่เปิดให้ทำการซื้อขายเพียง 3 ชนิด เนื่องจากการทำสัญญาให้ได้มาตร
ฐานค่อนข้างยากและสินค้าบางชนิดตรวจสอบคุณภาพลำบาก สินค้าชนิดแรกที่มีการซื้อขาย ได้แก่ ยางแผ่นรมควันชั้น 3 มีปริมาณการซื้อขายจนถึง 27 พ.ค. ที่ผ่านมากว่า 27,382 สัญญา มีสถานะคงค้างในปัจจุบันกว่า 1,360 สัญญา สินค้าชนิดที่สองได้แก่ ข้าวขาว 5% เริ่มทำการซื้อขายเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2547 มีปริมาณการซื้อขายในช่วงที่ผ่านมาทั้งสิ้น 26,953 สัญญา มีสถานะคงค้างที่ 1,400 สัญญา และล่าสุดเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2548 ก็ได้มีการนำสินค้าชนิดที่สามเข้ามาทำการซื้อขาย ได้แก่ เเป้งมันสำปะหลัง ประเภทสตาร์ช ชั้นพิเศษ ซึ่งจนถึง 27 พ.ค.2548 มีปริมาณการซื้อขายทั้งสิ้น 208 สัญญา มีสถานะคงค้างที่ 80 สัญญา ส่วนสาเหตุที่ได้เลือกให้นำสินค้าทั้ง 3 ชนิดเข้ามาทำการซื้อขายในตลาดก่อนเนื่องจากประเทศไทยถือได้ว่าเป็นทั้งผู้ส่งออกข้าว ยางพารา และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยในอนาคตจะมีการเพิ่มจำนวนสินค้าตัวใหม่ๆเข้ามาอีกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสินค้าที่ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้ากำลังพิจารณาอยู่ ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ ข้าวนึ่ง น้ำยางข้นและมันเส้น เป็นต้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า เมื่อเปรียบเทียบกับตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าอื่นๆ ในภูมิภาคแล้ว
ตลาดล่วงหน้าของไทยจะยังมีขนาดเล็กกว่ามาก เนื่องจากเป็นตลาดใหม่ที่เพิ่งจะมีการก่อตั้งขึ้น เช่น การซื้อขายยางแผ่นรมควันชั้น 3 ในตลาด AFET ของไทยเมื่อเทียบกับตลาดค้ายางล่วงหน้าต่างประเทศขนาดใหญ่ที่สุด ได้แก่ ตลาด TOCOM (Tokyo Commodity Exchange) ในญี่ปุ่นแล้วพบว่า ยังมีปริมาณการซื้อขายที่น้อยกว่ามาก โดยการซื้อขายยางในตลาด AFET ตั้งแต่วันแรกจนถึงเดือน เม.ย.อยู่ที่ 2.47 หมื่นสัญญา คิดเป็นเพียงร้อยละ 1.07 ของปริมาณการซื้อขายในตลาด TOCOM ในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 2.32 ล้านสัญญา โดยในปัจจุบัน สัดส่วนของมูลค่าการซื้อขายสัญญาล่วงหน้ายางพาราของไทยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5 ของมูลค่าการค้า (รวมมูลค่าการนำเข้าและส่งออก)ยางธรรมชาติระหว่างประเทศของไทย ในขณะที่สัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสัญญาล่วงหน้ายางพาราในตลาด TOCOM นั้นสูงถึงร้อยละ 683 ของมูลค่าการค้ายางระหว่างประเทศของญี่ปุ่น ซึ่งการที่มีปริมาณและมูลค่าการซื้อขายในตลาดล่วงหน้าในระดับที่สูงมากเมื่อเทียบกับมูลค้าการค้าดังกล่าว เป็นเครื่องบ่งบอกถึงประสิทธิภาพของการใช้ตลาดล่วงหน้าในการเป็นเครื่องมือเพื่อบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาในญี่ปุ่นที่เหนือกว่าตลาดล่วงหน้าของไทย ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นประเทศที่ปลูกยางพาราด้วยตนเอง อย่างไรก็ตาม การที่ราคายางพาราในตลาดล่วงหน้าไทยกับราคาในตลาดล่วงหน้าอื่น เช่น TOCOM ในญี่ปุ่นและ SICOM ในสิงคโปร์ ภายในช่วงเวลาเดียวกันมีการเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้สามารถใช้ราคายางในตลาดล่วงหน้าของไทยเป็นราคาอ้างอิงการเคลื่อนไหวของราคาในตลาดโลกได้ โดยราคาของสัญญาล่วงหน้ายางแผ่นรมควันส่งมอบเดือน มิ.ย.ในตลาด AFET กับ TOCOM และ SICOM ช่วงที่ผ่านมานั้น มีค่าความสัมพันธ์สูงถึง 0.93 และ 0.9 นอกจากนั้น ราคายางพาราและข้าวขาวในตลาดล่วงหน้าเมื่อเปรียบเทียบกับราคาในท้องตลาด (Cash Market) มีการปรับตัวไปในทิศทางเดียวกันตามทฤษฎี ซึ่งเป็นเครื่องชี้บอกถึงความสามารถของการใช้ราคาในตลาดล่วงหน้าของไทยเพื่อช่วยคาดคะเนแนวโน้มของราคาในอนาคต ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับผู้ที่ต้องการประกันความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาสินค้า
สำหรับข้าวขาว 5 %และแป้งมันสำปะหลังนั้น ตลาดล่วงหน้าของไทยเป็นตลาดแห่ง
แรกที่มีการซื้อขายสินค้าชนิดดังกล่าว หากในอนาคตสามารถที่จะดึงดูดทั้งผู้ประกอบการและนักลงทุนให้เข้ามาซื้อขายได้มากขึ้นแล้วย่อมมีโอกาสที่ราคาในตลาดของไทยจะสามารถใช้เป็นราคาอ้างอิงสำหรับการค้าข้าวและมันสำปะหลังของโลกได้

สำนักงานคณะกรรมการ ก.ส.ล. ได้มีการกำหนดวิสัยทัศน์ในการดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่การเป็น
ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าของประเทศที่เติบโตอย่างยั่งยืน โดยวางยุทธศาสตร์ในการดำเนินการ 6 ปี (2548-2553) โดยมีเป้าหมายระยะยาวภายในปี 2553 ให้สินค้าเกษตรที่นำเข้ามาซื้อขายในตลาดมีไม่ต่ำกว่า 9 รายการ, จัดให้มีผู้เผยแพร่ความรู้ด้านการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าประจำอำเภอในทุกจังหวัดที่เป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรสำคัญทั่วประเทศและมีปริมาณการซื้อขายเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 650,000 สัญญา ซึ่งได้มีการวางแผนงานเพื่อดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายและออกเป็นมาตรการต่างๆอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงแรกจะเป็นการเพิ่มสภาพคล่อง ซึ่งมาตรการที่ได้ดำเนินการไปแล้ว เช่น การเพิ่มเวลาการซื้อขาย,การลดเงินประกันขั้นต้นและค่าธรรมเนียม เป็นต้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า การพัฒนาตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าของไทยยังอยู่
ในระยะเริ่มต้นและสามารถที่จะเติบโตได้อีกมาก โดยการเพิ่มขึ้นของปริมาณการซื้อขายคงจะต้องเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ถึงแม้ในช่วงระยะเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าของไทยจะมีการขยายตัวในระดับที่น่าพอใจในแง่ของปริมาณการซื้อขายและสถานะคงค้างที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น แต่การที่จะสามารถพัฒนาตลาดล่วงหน้าให้มีเสถียรภาพในระยะยาวอย่างแท้จริงนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการที่ตลาดจะต้องมีสินค้าหลายประเภท หรือปริมาณการซื้อขายที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเพียงเท่านั้น แต่ราคาซื้อขายจะต้องสามารถสะท้อนให้เห็นถึงอุปสงค์และอุปทานของสินค้าเกษตรอย่างแท้จริงซึ่งหมายถึง การให้น้ำหนักไปที่การเพิ่มจำนวนนักลงทุนประเภทผู้ป้องกันความเสี่ยง (Hedger) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตัวสินค้า และเป็นผู้มีความต้องการซื้อขายสินค้าเกษตรในตลาดจริงให้เข้ามาซื้อขายในตลาดล่วงหน้าในปริมาณที่มากขึ้น โดยนักลงทุนประเภทดังกล่าวที่เข้ามาทำการซื้อขายในตลาดล่วงหน้าปัจจุบัน ได้แก่ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง,เจ้าของโรงสี, ผู้ส่งออก, ผู้นำเข้าต่างประเทศ, พ่อค้าคนกลาง เป็นต้น ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้มีข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับ ข้อจำกัดของการพัฒนาตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าในปัจจุบันว่า ส่วนหนึ่งนั้นเกี่ยวข้องกับปัญหาพื้นฐานที่สำคัญในภาคการเกษตรของไทย อันได้แก่
? การที่เกษตรกรซึ่งเป็นบุคคลกลุ่มใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตรอย่างแท้จริง เนื่องจากเป็นผู้รับความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาสินค้าเกษตรโดยตรงและน่าจะได้รับประโยชน์จากการจัดตั้งตลาดล่วงหน้ามากที่สุด ยังคงไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการซื้อขายมากนัก ซึ่งมีสาเหตมาจาก
? เกษตรกรส่วนใหญ่ของไทยยังมีการศึกษาที่ค่อนข้างน้อย และไม่มีความรู้ความเข้าใจที่ถูก
ต้องเกี่ยวกับตลาดล่วงหน้าและการซื้อขายแบบวางเงินประกัน เนื่องจากเป็นรูปแบบใหม่และวิธีการซื้อขายมีความซับซ้อน ทำให้ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรในการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ทั้งในด้านของขั้นตอน, วิธีการในการซื้อขาย ประโยชน์และความเสี่ยงที่จะได้รับจากการลงทุน
? เกษตรกรส่วนใหญ่ยังมีฐานะยากจน ทั้งนี้ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่สำคัญของภาคการ
เกษตรไทยมาช้านาน เนื่องจากการลงทุนในตลาดล่วงหน้านั้น จะต้องมีการวางเงินประกันขั้นต้น เพื่อที่จะทำการซื้อขายซึ่งถึงแม้จะเป็นจำนวนเงินลงทุนไม่สูงเท่ากับการลงทุนในหลักทรัพย์ ซึ่งจะต้องจ่ายทั้งจำนวน แต่ก็เป็นจำนวนที่มากสำหรับเกษตรกรของไทยส่วนใหญ่ซึ่งมีฐานะยากจน อีกทั้ง ผู้ลงทุนยังมีความเสี่ยงจากการถูกเรียกให้วางเงินประกันเพิ่มหากเงินประกันขั้นต้นลดลงต่ำกว่าเงินประกันรักษาสภาพที่กำหนดไว้
? เกษตรกรส่วนใหญ่กระจายอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ทำให้ความพยายามในการเข้าถึงกลุ่ม
เกษตรกรเพื่อประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ความรู้ ตลอดจนชักชวนผู้ลงทุนรายใหม่ของทั้งตลาดและบริษัทนายหน้าต่างๆในปัจจุบันยังไม่ทั่วถึง นอกจากนั้น การซื้อขายในตลาดล่วงหน้านั้นจะต้องกระทำโดยผ่านทางบริษัทนายหน้าซึ่งในปัจจุบันยังคงไม่ได้มีการกระจายสาขาไปยังจังหวัดอื่นๆมากนัก
? เกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่มีบทบาทในการกำหนดราคาสินค้าด้วยตนเอง ทำให้ไม่เห็นความ
สำคัญในการวางแผนการผลิตโดยการใช้ตลาดล่วงหน้า เนื่องจากในปัจจุบัน ผู้ที่มีอำนาจต่อรองมากกว่ายังคงเป็นกลุ่มนายทุน โรงสี หรือพ่อค้าคนกลาง ที่แสวงหากำไรโดยการรับซื้อสินค้าจากเกษตรกรในราคาที่ถูก และนำไปขายอีกทอดหนึ่งในราคาที่สูงกว่า
? นโยบายการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรของรัฐบาล ที่ผ่านมานั้น รัฐบาลได้มีการออกมาตรการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรจากปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ทั้งในรูปของการประกันราคา หรือรับจำนำพืชผล โดยมีการออกมาเป็นนโยบายปีต่อปีและได้มีการกำหนดราคา ปริมาณ และระยะเวลาในการที่รัฐบาลจะรับจำนำจากเกษตรกร ซึ่งราคาที่รัฐบาลรับจำนำจะสูงกว่าราคาตลาดขณะนั้น อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลได้มีการปรับเพิ่มราคารับจำนำของสินค้าบางชนิดหลายครั้งด้วยกัน เช่น ข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพด ได้เป็นปัจจัยหนึ่งที่กดดันการพัฒนาตลาดล่วงหน้า เนื่องจากทำให้ผู้ลงทุนเกิดความไม่มั่นใจเกี่ยวกับราคาสินค้าในอนาคตจึงไม่กล้าเข้ามาลงทุนเพิ่มและทำให้ผู้ป้องกันความเสี่ยงไม่เห็นความสำคัญในการใช้ตลาดล่วงหน้า อีกทั้ง ยังส่งผลให้ราคาในตลาดล่วงหน้าไม่ได้สะท้อนให้เห็นถึงอุปสงค์และอุปทานของสินค้าเกษตรในท้องตลาดอย่างแท้จริง นอกจากนั้น การปล่อยสต็อกสินค้าเกษตรของภาครัฐในแต่ละครั้งยังส่งผลให้ราคาสินค้าในตลาดจริงปรับตัวลดลง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การพัฒนาตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าในปัจจุบัน ควรที่จะ
เพิ่มน้ำหนักความสำคัญไปที่การสนับสนุนให้เกษตรกรเข้ามามีบทบาทในการซื้อขายมากขึ้นโดย
? การเร่งสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มกันเพื่อทำการซื้อขาย โดยอาจจะทำผ่านตัวกลางในรูปของสหกรณ์ซึ่งมีเกษตรกรรายย่อยเป็นสมาชิก ให้เข้ามาทำการซื้อขายเป็นตัวแทน เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรที่มีความรู้ไม่มากนักและมีฐานะที่ยากจน มีโอกาสที่จะเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากกลไกของตลาดล่วงหน้าในการเป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงได้ อีกทั้ง ในช่วงแรกอาจจะสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรรายย่อยดังกล่าวด้วยการลดหย่อนค่าธรรมเนียม หรือ เงินประกันขั้นต้นให้เป็นกรณีพิเศษ
? การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า และประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรเห็นความสำคัญของการซื้อขายมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ตลาดล่วงหน้าได้เริ่มดำเนินการไปบ้างแล้วอย่างไรก็ตาม อาจจะเพิ่มบทบาทในเชิงรุกมากขึ้น เช่น การให้บริษัทนายหน้าต่างๆ เข้าไปตั้งสำนักงานตัวแทนในท้องที่ต่างๆซึ่งเป็นแหล่งผลิตหรือแหล่งรับซื้อขนาดใหญ่ หรือมีเกษตรกรเป้าหมายเป็นจำนวนมาก
? การเพิ่มช่องทางในการเผยแพร่ความรู้ผ่านทางหน่วยงานของรัฐที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเกษตรกรโดยตรง นอกเหนือจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ เช่น หน่วยงานอื่นๆ ทั้งที่สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เช่น สำนักงานส่งเสริมการเกษตรประจำภาคและสำนักงานเกษตรประจำจังหวัดต่างๆ, องค์การตลาดเพื่อการเกษตรและหน่วยงานที่สังกัดกระทรวงพาณิชย์ เช่น สำนักงานการค้าและสำนักงานพาณิชย์จังหวัด องค์การคลังสินค้า เป็นต้น ให้โดยการให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่รัฐบาลที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นผู้ติดต่อกับเกษตรกรโดยตรงเพื่อให้ช่วยในการเผยแพร่และให้คำแนะนำควบคู่กันไป
ในส่วนของรัฐบาลควรจะเพิ่มการสนับสนุนตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้ามากขึ้น โดย
? ปรับบทบาทในการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตร อาจทำได้โดยการทยอยลดการแทรกแซงสินค้าเกษตร
ให้น้อยลงและหันไปช่วยเหลือเกษตรกรด้วยวิธีอื่น เช่น การชดเชยรายได้ต่อไร่ ซึ่งจะทำให้ราคาสินค้าสะท้อนความเป็นจริงมากขึ้นและทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญของการวางแผนการผลิตเพื่อป้องกันความเสี่ยง หรือ โดยการออกเป็นกฎหมายหรือแนวปฎิบัติที่มีความชัดเจนและมีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน เนื่องจากการช่วยเหลือเกษตรกรของไทยจะออกมาในรูปของนโยบายซึ่งประกาศออกมาเป็นครั้งคราว ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่จะมีการประกาศออกมาในรูปของกฎหมายหรือมาตรการ เช่น Farm Act ของสหรัฐฯ หรือ CAP Reform ของกลุ่มยูโร ซึ่งมีแนวทางในการข่วยเหลือที่ชัดเจนมากกว่า
? การเข้ามามีส่วนร่วมในการซื้อขาย ก่อนหน้านั้น รัฐบาลได้ออกมาเปิดเผยแนวทางในการเพิ่มการซื้อขายโดยนำสต็อกสินค้าส่วนหนึ่งในคลังที่ได้จากโครงการรับจำนำออกขายผ่านตลาดล่วงหน้า ซึ่งในขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาถึงวิธีการและปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าแนวทางดังกล่าวน่าจะสามารถเพิ่มปริมาณการซื้อขายได้อย่างมากและเป็นสิ่งที่ควรพิจารณาให้มีการดำเนินการโดยเร็ว ซึ่งอาจจะเป็นในรูปของการจัดตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อเป็นตัวแทนในการซื้อขายของภาครัฐ

กล่าวโดยสรุปได้ว่า ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย(Agricultural Futures
Exchange of Thailand หรือ AFET) ซึ่งเป็นตลาดซื้อขายล่วงหน้าแห่งแรกของประเทศได้ถูกจัดตั้งขึ้น เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2547 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาสินค้าเกษตร (Hedging), การทำให้ทราบถึงแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรในอนาคต, การสร้างความเสมอภาคในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารด้านสินค้าเกษตรให้กับเกษตรกรรายย่อย และเพื่อเป็นอีกทางเลือกในการลงทุน นับตั้งแต่ที่ได้เริ่มมีการซื้อขายเป็นครั้งแรก จนถึง 27 พ.ค.ที่ผ่านมาเป็นเวลา 1 ปีนั้น ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้ามีปริมาณการซื้อขายรวมทั้งสิ้นกว่า 54,543สัญญา มีปริมาณสถานะคงค้างรวมกว่า 2,840 สัญญา ทั้งนี้ ลักษณะของนักลงทุนในตลาดจะเป็นผู้ป้องกันความเสี่ยงมากกว่านักเก็งกำไร โดยในปัจจุบันยังมีสินค้าที่เปิดให้ทำการซื้อขายเพียง 3 ชนิด ได้แก่ ยางแผ่นรมควันชั้น 3, ข้าวขาว 5% และแป้งมันสำปะหลังประเภทสตาร์ช ชั้นพิเศษ ซึ่งการที่ได้เลือกสินค้าทั้ง 3 ชนิดเข้ามาทำการซื้อขายก่อนเนื่องจากประเทศไทยถือเป็นทั้งผู้ส่งออกข้าว ยางพารา และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังรายใหญ่ที่สุดของโลก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า การพัฒนาตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าของไทยยังอยู่
ในระยะเริ่มต้นและสามารถที่จะเติบโตได้อีกมาก โดยการเพิ่มขึ้นของปริมาณการซื้อขายคงจะต้องเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ถึงแม้ในช่วงระยะเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าของไทยจะมีการขยายตัวในระดับที่น่าพอใจในแง่ของปริมาณการซื้อขายและสถานะคงค้างที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น แต่การที่จะสามารถพัฒนาตลาดล่วงหน้าให้มีเสถียรภาพในระยะยาวอย่างแท้จริงนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการที่ตลาดจะต้องมีสินค้าหลายประเภท หรือปริมาณการซื้อขายที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ราคาซื้อขายจะต้องสามารถสะท้อนถึงอุปสงค์และอุปทานของสินค้าเกษตรอย่างแท้จริงซึ่งหมายถึง การให้น้ำหนักไปที่การเพิ่มจำนวนนักลงทุนประเภทผู้ป้องกันความเสี่ยง (Hedger) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตัวสินค้า และเป็นผู้มีความต้องการซื้อขายสินค้าเกษตรในตลาดจริงให้เข้ามาซื้อขายในตลาดล่วงหน้าในปริมาณที่มากขึ้น ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับ ข้อจำกัดในการพัฒนาตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าในปัจจุบันว่า ส่วนหนึ่งนั้นเกี่ยวข้องกับปัญหาพื้นฐานที่สำคัญในภาคการเกษตรของไทย โดยการที่เกษตรกรซึ่งเป็นบุคคลกลุ่มใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตรอย่างแท้จริง ยังไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการซื้อขายมากนัก เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ของไทยยังมีการศึกษาที่ค่อนข้างน้อย และไม่มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับตลาดล่วงหน้า, มีฐานะยากจน, อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ทำให้การประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ความรู้ จากทั้งตลาดและบริษัทนายหน้าต่างๆในปัจจุบันยังไม่ทั่วถึง อีกทั้งเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีบทบาทในการกำหนดราคาสินค้าด้วยตนเอง นอกจากนั้น นโยบายแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรของรัฐบาล ได้ส่งผลกระทบในแง่ลบต่อการซื้อขายในตลาดล่วงหน้า เพราะทำให้ผู้ลงทุนเกิดความไม่มั่นใจเกี่ยวกับราคาสินค้าในอนาคตจึงไม่กล้าเข้ามาลงทุนเพิ่ม และทำให้ผู้ป้องกันความเสี่ยงไม่เห็นความสำคัญในการใช้ตลาด อีกทั้ง ยังทำให้ราคาในตลาดล่วงหน้าไม่ได้สะท้อนให้เห็นถึงอุปสงค์และอุปทานของสินค้าเกษตรในท้องตลาดอย่างแท้จริง
การพัฒนาตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าในปัจจุบันนั้น ควรที่จะให้ความสำคัญกับการ
สนับสนุนให้เกษตรกรเข้ามามีบทบาทในการซื้อขายมากขึ้น โดยการเร่งสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มกันเพื่อทำการซื้อขาย โดยอาจจะทำผ่านตัวกลางในรูปของสหกรณ์ซึ่งมีเกษตรกรรายย่อยเป็นสมาชิก อีกทั้ง ในช่วงแรกอาจจะสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรดังกล่าวด้วยการลดหย่อนค่าธรรมเนียม หรือ เงินประกันขั้นต้นให้เป็นกรณีพิเศษ, การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า และประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรเห็นความสำคัญของการซื้อขายมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ตลาดล่วงหน้าได้เริ่มดำเนินการไปบ้างแล้ว อย่างไรก็ตาม อาจจะเพิ่มบทบาทในเชิงรุกมากขึ้น เช่น การให้บริษัทนายหน้าต่างๆ เข้าไปตั้งสำนักงานตัวแทนในท้องที่ซึ่งเป็นแหล่งผลิตหรือแหล่งรับซื้อขนาดใหญ่ หรือมีเกษตรกรเป้าหมายเป็นจำนวนมาก, การเพิ่มช่องทางในการเผยแพร่ความรู้ผ่านทางหน่วยงานของรัฐที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเกษตรกรโดยตรง เช่น หน่วยงานอื่นๆ ทั้งที่สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงพาณิชย์ โดยการให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่รัฐบาลซึ่งเป็นผู้ติดต่อกับเกษตรกรโดยตรงเพื่อให้ช่วยในการเผยแพร่และให้คำแนะนำควบคู่กันไป ในส่วนของรัฐบาลควรจะเพิ่มการสนับสนุนตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้ามากขึ้น โดยปรับบทบาทในการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตร การทยอยลดการแทรกแซงสินค้าเกษตรให้น้อยลงและหันไปช่วยเหลือเกษตรกรด้วยวิธีอื่น เช่น การชดเชยรายได้ต่อไร่ ซึ่งจะทำให้ราคาสินค้าสะท้อนความเป็นจริงมากขึ้น หรือ โดยการออกเป็นกฎหมายหรือแนวปฎิบัติที่มีความชัดเจนและมีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน เนื่องจากการช่วยเหลือเกษตรกรของไทยจะออกมาในรูปของนโยบายซึ่งประกาศออกมาเป็นครั้งคราว ตลอดจนการเข้ามามีส่วนร่วมในการซื้อขาย ล่าสุดนั้นรัฐบาลได้ออกมาเปิดเผยแนวทางในการเพิ่มการซื้อขายโดยนำสต็อกสินค้าส่วนหนึ่งในคลังที่ได้จากโครงการรับจำนำออกขายผ่านตลาดล่วงหน้า ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าแนวทางดังกล่าวจะสามารถเพิ่มปริมาณการซื้อขายได้อย่างมากและควรพิจารณาให้มีการดำเนินการโดยเร็ว โดยอาจจะเป็นในรูปของการจัดตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อเป็นตัวแทนในการซื้อขายของภาครัฐ เป็นต้น