น้ำยาบ้วนปากปี’49 : ตลาดในเติบโตต่อเนื่อง…ตลาดส่งออกส่อแววรุ่ง

พฤติกรรมของผู้บริโภคในเมืองไทยปัจจุบันหันมาให้ความสำคัญกับบุคลิกภาพ และหันมาสร้างเสริมความมั่นใจด้วยเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย และการดูแลสุขภาพของตนเองตั้งแต่หัวจรดเท้ากันมากขึ้น ทำให้สินค้าที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า เครื่องประดับ และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางแทบทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ทั้งกลุ่มน้ำหอม ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว หรือเครื่องตกแต่งใบหน้ากลายมาเป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันสำหรับผู้บริโภคยุคใหม่ตามมา ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ดูแลสุขภาพภายในช่องปากและฟันด้วย ไม่ว่าจะเป็นยาสีฟัน แปรงสีฟัน ไหมขัดฟัน หรือน้ำยาบ้วนปาก เป็นต้น ที่มักจะสื่อสารเพื่อตอกย้ำให้ผู้บริโภครับรู้ได้ถึงผลดีของสินค้าดังกล่าวต่อสุขภาพของผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยผู้บริโภคแทบทุกรายในประเทศต่างทำความสะอาดฟันด้วยแปรงสีฟันและยาสีฟันกันเป็นประจำอยู่แล้ว ประกอบกับผู้ประกอบการสินค้ากลุ่มดังกล่าวเปิดสงครามราคากันค่อนข้างหนัก ทำให้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโตของสินค้าประเภทยาสีฟัน และแปรงสีฟันจึงอยู่ในภาวะที่ค่อนข้างทรงตัว ส่วนผลิตภัณฑ์เพื่ออนามัยในช่องปากและฟันอย่างน้ำยาบ้วนปาก ซึ่งเป็นสินค้าทางเลือกตัวใหม่กลับมีอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างสูงอย่างต่อเนื่อง ด้วยระดับการเติบโตเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 10-15 ต่อปีนับตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา และมีความเป็นไปได้ว่าในปี 2549 น้ำยาบ้วนปากน่าจะมีมูลค่าการตลาดรวมภายในประเทศประมาณ 900-1,000 ล้านบาท หรือเติบโตไม่ต่ำกว่าร้อยละ 11 ขณะที่ตลาดส่งออกน้ำยาบ้วนปากนั้นก็มีแนวโน้มที่ค่อนข้างสดใสไม่น้อยด้วยมูลค่าประมาณ 400 ล้านบาท หรือเติบโตเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 60

ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้สินค้าน้ำยาบ้วนปากภายในประเทศมีการขยายตัวค่อนข้างสูงในช่วงที่ผ่านมา ก็คืออุปสงค์หรือความต้องการของผู้บริโภคภายในประเทศมีการขยายตัวในวงกว้างมากขึ้น จากเดิมที่เป็นตลาดเฉพาะของผู้ที่มีปัญหาภายในช่องปากเท่านั้น ก็ได้ขยายตัวก้าวเข้าไปมีบทบาทเพิ่มขึ้นในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคทุกเพศทุกวัยนับตั้งแต่กลุ่มวัยรุ่น นักศึกษา ไปจนถึงวัยทำงาน ประกอบกับจำนวนผู้ประกอบการที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะบรรดากลุ่มผู้ประกอบการยาสีฟันที่ตลาดค่อนข้างอิ่มตัว และมีการแข่งขันที่รุนแรงก็ต้องการขยายไลน์สินค้าให้ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ภายในช่องปากเพิ่มขึ้น ทำให้กลุ่มผู้ประกอบการจึงต่างต้องงัดกลยุทธ์ต่างๆเพื่อกระตุ้นความต้องการใช้น้ำยาบ้วนปากให้มากขึ้น ส่งผลให้ตลาดน้ำยาบ้วนปากภายในประเทศคึกคักและขยายตัวอย่างชัดเจนในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้อุตสาหกรรมน้ำยาบ้วนปากในเมืองไทยนับเป็นอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก ขณะที่มีการนำเข้าและส่งออกน้อย ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ประกอบการที่ผลิตน้ำยาบ้วนปากจำหน่ายในตลาดภายใต้ยี่ห้อต่างๆรวมกันไม่เกิน 20 ยี่ห้อ โดยบางรายที่เป็นบริษัทร่วมทุนในระดับโลก หรือบริษัทข้ามชาติที่มาลงทุนในไทยได้ถูกวางตัวให้เป็นศูนย์กลางการผลิตน้ำยาบ้วนปากในส่วนภูมิภาคเอเชียด้วย และเนื่องจากผลิตภัณฑ์น้ำยาบ้วนปากเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย อีกทั้งยังต้องใช้เวลาในการสร้างภาพลักษณ์ และแบรนด์ของทั้งสินค้าและบริษัทในระยะเวลาที่ค่อนข้างนานหลายปี จึงก่อให้เกิดอุปสรรคพอสมควรต่อการเข้าสู่ตลาดน้ำยาบ้วนปากของผู้ประกอบการรายใหม่ๆ และส่งผลให้โครงสร้างตลาดน้ำยาบ้วนปากภายในเมืองไทยจวบจนปัจจุบันเป็นลักษณะของตลาดผู้ขายน้อยรายที่มีการแข่งขันทวีความเข้มข้นเพิ่มขึ้นทุกขณะ เพื่อช่วงชิงการถือครองส่วนแบ่งการตลาด

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์น้ำยาบ้วนปากที่วางจำหน่ายในตลาดภายในประเทศมีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเฉพาะการใช้สารต่างๆมาใช้เป็นส่วนผสมมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภค ซึ่งสามารถจำแนกประเภทออกได้เป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ดังนี้

– น้ำยาบ้วนปากที่ช่วยให้ลมหายใจหอมสดชื่น เป็นน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมที่สำคัญคือ ยาฆ่าเชื้อโรคและสารที่ทำให้มีกลิ่นหอม ช่วยให้ลมหายใจหอมสดชื่น แต่จะมีผลแค่ชั่วคราว เพราะเชื้อโรคในช่องปากมีหลายชนิดและยาฆ่าเชื้อที่ใส่ลงไปก็มีฤทธิ์ในการทำลายเชื้ออย่างอ่อนๆ เท่านั้น

– น้ำยาบ้วนปากที่ผสมฟลูออไรด์ช่วยป้องกันการเกิดฟันผุ โดย ฟลูออไรด์ที่นิยมมักจะอยู่ในรูปของ Sodium fluoride เพราะเตรียมในรูปแบบของน้ำยาบ้วนปากได้ง่าย และมีประสิทธิภาพดีในการป้องกันฟันผุได้ระดับหนึ่ง แต่ถ้าจะให้ป้องกันต้านฟันผุได้ดี และลดจำนวนแบคทีเรียบนผิวเคลือบฟันมักจะผสมในรูป Standnus fluoride

– น้ำยาบ้วนปากที่ผสมสารต้านจุลินทรีย์( Antimicrobial agents) เป็นน้ำยาบ้วนปากที่มีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ยับยั้งการเกิดคราบจุลินทรีย์ และหินน้ำลายหรือคราบหินปูน อีกทั้งยังช่วยลดการเกิดแผลในช่องปาก ช่วยลดการเกิดฟันผุ และบรรเทาอาการเจ็บคอได้ ซึ่งหากเรียงลำดับสารในกลุ่มนี้ที่สามารถต้านจุลินทรีย์ได้จากมากไปน้อยก็จะได้เป็น Chorhexidine, Phenolic compound, Alkaloid sanguinarine อย่างไรก็ตาม พบว่าน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของ Chorhexidine มักจะเป็นน้ำยาบ้วนปากที่มีรสขมมาก

– น้ำยาบ้วนปากที่มีสารสกัดจากพืชหรือสมุนไพร สารสกัดจากพืชหรือสมุนไพรมักจะช่วยให้น้ำยาบ้วนปากมีกลิ่นหอมและรสชาติดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยระงับกลิ่นปาก และช่วยลดการอักเสบในช่องปากได้ เนื่องจากมีคุณสมบัติเป็นยาฆ่าเชื้อโรค และช่วยลดการเกิดคราบจุลินทรีย์ได้บ้างเช่นกัน นอกจากนี้ส่วนผสมสมุนไพรบางชนิดยังสามารถแก้ไขปัญหาเลือดออกตามไรฟัน รำมะนาด หรือรักษาเหงือกและฟันได้บ้างด้วย

– น้ำยาบ้วนปากที่ช่วยลดเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก เป็นน้ำยาบ้วนปากที่มียาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย หรือยาปฏิชีวนะในการฆ่าเชื้อโรคในช่องปาก ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีเหงือกอักเสบลุกลาม หรือผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาโรคเหงือกโดยวิธีผ่าตัด ทั้งนี้เพื่อให้แผลผ่าตัดหรือเหงือกอักเสบหายเร็วยิ่งขึ้น ทั้งนี้การใช้น้ำยาบ้วนปากประเภทนี้ควรใช้เมื่อทันตแพทย์แนะนำเท่านั้น

– น้ำยาบ้วนปากที่ระบุใช้ก่อนแปรงฟัน น้ำยาบ้วนปากชนิดนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้คราบจุลินทรีย์อ่อนตัวและหลุดออกง่าย โดยใช้อมก่อนการแปรงฟันเพื่อช่วยให้การแปรงฟันมีประสิทธิภาพดีขึ้น

สำหรับสถานการณ์ภาพรวมของตลาดผลิตภัณฑ์น้ำยาบ้วนปากภายในประเทศในปี 2549 พบว่าน่าจะสามารถขยายตัวอย่างต่อเนื่องด้วยระดับการเติบโตร้อยละ 11-15 ทั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพภายในช่องปากและให้ความสำคัญกับลมหายใจที่หอมสดชื่น ตลอดจนมีความเข้าใจในตัวสินค้าน้ำยาบ้วนปากกันมากขึ้นตามลำดับ แต่ก็นับเป็นระดับอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวลงจากปีก่อนหน้าที่เติบโตประมาณร้อยละ 26 ทั้งนี้ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลสืบเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศในปี 2549 ที่ไม่สดใสเท่าที่ควร โดยยังไม่มีปัจจัยใดส่งผลกระทบในด้านบวกต่อเศรษฐกิจอย่างชัดเจนมากนัก ในขณะที่ปัจจัยลบกลับส่งผลกระทบอย่างชัดเจนกว่า ไม่ว่าจะเป็นความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ ระดับราคาบริการสาธารณูปโภคโดยรวมที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และความผันผวนของระดับราคาน้ำมันทั้งภายในประเทศ และตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวในระดับสูงเช่นกัน ส่งผลต่อเนื่องให้ผู้บริโภคมีแนวโน้มชะลอตัวด้านการจับจ่ายใช้สอย โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้ระดับปานกลางถึงรากหญ้าที่เป็นกลุ่มผู้บริโภคในตลาดที่มีความยืดหยุ่นต่อราคาสินค้าค่อนข้างสูง รวมถึงยังมีต้นทุนในการเปลี่ยนตราสินค้า และมีความภักดีต่อตราสินค้าไม่มากนัก จึงมีความเป็นไปได้ว่าบรรดาผู้ประกอบการน้ำยาบ้วนปากต่างต้องเร่งปรับกลยุทธ์เพื่อกระตุ้นยอดขายในปี 2549 กันอย่างเข้มข้นมากยิ่งขึ้น และมีผลต่อเนื่องให้สถานการณ์การแข่งขันของตลาดน้ำยาบ้วนปากภายในประเทศมีสีสันเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน ทั้งจากบรรดาผู้ผลิตสินค้าน้ำยาบ้วนปากด้วยกันเอง หรือบรรดาผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปากและฟันที่ต่างก็ให้ความสำคัญต่อการขยายไลน์ของผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปากให้ครบวงจรและครอบคลุมกลุ่มผู้บริโภคอย่างทั่วถึงมากขึ้นนอกเหนือจากยาสีฟัน แปรงสีฟัน หรือไหมขัดฟัน เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อเพิ่มโอกาสในการช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดโดยรวม และบรรดาผู้ค้าปลีกรายใหญ่หรือดิสเคานท์สโตร์ที่หันมาผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์ของตัวเองหรือสินค้าเฮ้าส์แบรนด์(House Brand) กันมากขึ้นและมักจะจำหน่ายสินค้าในราคาที่ต่ำกว่าตลาดอยู่แล้ว รวมถึงสินค้าทดแทนอย่างเม็ดอมแก้กลิ่นปาก สเปรย์ขจัดกลิ่นปาก หรือแผ่นฟิล์มที่ผสมน้ำยาบ้วนปาก เป็นต้นด้วย

ทั้งนี้ในขณะที่สถานการณ์ตลาดน้ำยาบ้วนปากภายในประเทศในปี 2549 มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในระดับไม่ต่ำกว่าร้อยละ 11 สถานการณ์การส่งออกสินค้าน้ำยาบ้วนปากในปี 2549 ที่แม้ว่าปัจจุบันจะมีมูลค่าส่งออกไม่สูงมากนัก แต่ก็มีทิศทางการเติบโตที่สดใสไม่แพ้กันหรืออาจจะมากกว่าตลาดในประเทศด้วย โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในปี 2549 ไทยน่าจะสามารถส่งออกน้ำยาบ้วนปากคิดเป็นมูลค่าใกล้เคียง 400 ล้านบาท หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงกว่าร้อยละ 60 (ขณะที่ปี 2548 การส่งออกน้ำยาบ้วนปากของไทยเติบโตร้อยละ 21.9) ซึ่งตามรายงานของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ พบว่าในช่วง 6 เดือนแรกปี 2549 ไทยสามารถส่งออกน้ำยาบ้วนปากคิดเป็นมูลค่า 175.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 136.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยตลาดส่งออกหลักคือตลาดประเทศเพื่อนบ้านอย่างอาเซียนที่คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 79.23 ของมูลค่าการส่งออกน้ำยาบ้วนปากของไทยโดยรวมในช่วงเวลาดังกล่าว ด้วยระดับการขยายตัวที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 213.86 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และเวียดนามนับเป็นประเทศในอาเซียนที่ไทยส่งออกน้ำยาบ้วนปากไปมากที่สุดคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 63.25 ของมูลค่าการส่งออกน้ำยาบ้วนปากของไทยโดยรวมในช่วงเวลาดังกล่าว ตามมาด้วยกัมพูชา(สัดส่วนร้อยละ3.59) ฟิลิปปินส์(สัดส่วนร้อยละ 3.43) และสิงคโปร์(สัดส่วนร้อยละ 3.24) ส่วนตลาดส่งออกรองลงมาคือตลาดเอเชียตะวันออกในสัดส่วนร้อยละ 17.59 ของมูลค่าการส่งออกน้ำยาบ้วนปากของไทยโดยรวมในช่วง 6 เดือนแรกปี 2549 ด้วยระดับการขยายตัวที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.72 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และตลาดหลักในเอเชียตะวันออกคือฮ่องกง ตามมาด้วยจีน ไต้หวัน และญี่ปุ่น ทั้งนี้จากแนวโน้มความต้องการของตลาดในต่างประเทศที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง ประกอบกับความต้องการของตลาดภายในประเทศที่แม้ว่าจะมีอัตราการเติบโตต่อเนื่องแต่ยังมีมูลค่าการตลาดไม่มากนัก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่าบรรดาผู้ผลิตน้ำยาบ้วนปากหลายรายในเมืองไทยน่าจะหันไปส่งออกเพิ่มกันมากขึ้นอย่างชัดเจนนับจากนี้ เพราะการที่ผู้ผลิตมีการใช้กำลังการผลิตที่สูงขึ้น ย่อมก่อให้เกิดความได้เปรียบต่อขนาด และคุ้มค่าต่อการลงทุนในเครื่องจักรและแรงงานยิ่งขึ้น อันจะนำไปสู่กำไรต่อหน่วยที่เพิ่มมากขึ้นตามมา

ดังนั้น สถานการณ์การส่งออกน้ำยาบ้วนปากของไทยในปี 2549 จึงน่าจะมีแนวโน้มที่ค่อนข้างสดใสอย่างชัดเจน โดยตลาดอาเซียนน่าจะยังเป็นตลาดที่สำคัญของไทยเช่นเดิม โดยเฉพาะเวียดนาม ลาว ฟิลิปปินส์ และกัมพูชาที่น่าจะก้าวขึ้นมามีบทบาทเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ เนื่องจากน้ำยาบ้วนปากนับเป็นผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปากที่ก้าวขึ้นมามีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในชีวิตประจำวันตามลำดับ นอกจากนี้การเร่งพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในแถบนี้จะส่งผลให้ประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น ทำให้ความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคซึ่งรวมทั้งผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปากอย่างน้ำยาบ้วนปากมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามไปด้วย สำหรับการเปิดเกมบุกในตลาดต่างประเทศนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่าผู้ประกอบการแต่ละรายจะต้องพยายามมองหาจุดอ่อนและจุดแข็งที่แท้จริงของกิจการเพื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งอย่างจริงจัง ควบคู่กับกระตุ้นการดำเนินกลยุทธ์การตลาดอย่างต่อเนื่องและเข้มข้นยิ่งขึ้น โดยอาศัยส่วนผสมทางการตลาดหลายๆรูปแบบเข้าด้วยกัน อีกทั้งผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญต่อการพัฒนาการผลิตวัตถุดิบเพื่อป้อนแก่อุตสาหกรรมน้ำยาบ้วนปากภายในประเทศอย่างจริงจังและต่อเนื่องมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของวัตถุดิบสมุนไพรที่มีเป็นจำนวนมากภายในประเทศ ทั้งในด้านคุณภาพการผลิต หรือการควบคุมมาตรฐานสินค้า ทั้งนี้เพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าน้ำยาบ้วนปากที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และคุณภาพที่ดียิ่งขึ้นควบคู่กัน พร้อมทั้งเร่งศึกษาและวิจัยความต้องการและพฤติกรรมผู้บริโภคในตลาดกลุ่มเป้าหมายอย่างละเอียดและต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเลือกใช้กลยุทธ์ได้อย่างเหมาะสมท่ามกลางภาวะการแข่งขันที่คาดว่าจะทวีความเข้มข้นเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอนในยุคที่ตัวแปรที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคมีทั้งที่สามารถคาดการณ์ได้ และไม่สามารถคาดการณ์ได้เพิ่มมากขึ้นตามลำดับในตลาดโลก

บทสรุป
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่าตลาดน้ำยาบ้วนปากภายในประเทศยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ขณะเดียวกันดีกรีความรุนแรงของการแข่งขันก็น่าจะมีแนวโน้มทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นด้วย อันเนื่องมาจากปัจจัยด้านต้นทุนการผลิตโดยรวมที่เพิ่มขึ้น ผู้บริโภคมีความรู้และความต้องการมากขึ้น อีกทั้งพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคภายในประเทศในปี 2549 ก็เป็นไปในลักษณะของการประหยัดค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น รวมถึงคู่แข่งแต่ละรายต่างก็มีการวางแผนการตลาดกันอย่างเข้มข้นมากขึ้น เพื่อให้ผู้บริโภคที่ไม่มีความภักดีต่อตราสินค้าหรือยี่ห้อ (Brand Loyalty) สามารถเปลี่ยนไปซื้อยี่ห้อสินค้าอื่นที่ผู้บริโภคเห็นว่าคุ้มค่ากว่าได้เสมอ (Switching Brand) จึงมีความเป็นไปได้ว่าตลาดน้ำยาบ้วนปากภายในประเทศน่าจะมีการเจาะกลุ่มลูกค้าเฉพาะกลุ่มอย่างชัดเจนยิ่งขึ้นในปี 2549 ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์ให้มีความหลากหลายเพื่อให้ตรงใจกับผู้บริโภคแต่ละกลุ่ม การเพิ่มความหลากหลายของสินค้าเพื่อเจาะกลุ่มผู้บริโภคแต่ละช่วงวัย และมีการนำเสนอส่วนผสมของน้ำยาบ้วนปากในการรักษา-ป้องกันฟันและเหงือกอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น อาทิเช่น การรักษาและป้องกันสุขภาพเหงือก การลดอาการเสียวฟัน การขจัดคราบหินปูน การขจัดหรือป้องกันคราบบุหรี่-กาแฟ เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคและเป็นการขยายกลุ่มลูกค้าเป้าหมายให้กว้างขวางยิ่งขึ้นด้วย แต่ทั้งนี้ก็ต้องผ่านการศึกษาวิจัยอย่างละเอียดถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นของสารส่วนผสมต่างๆต่อระบบช่องปาก เหงือก หรือเยื่อบุในช่องปากของผู้บริโภคเป็นอย่างดีด้วย ขณะที่แผนการตลาดที่จะช่วยส่งเสริมการรับรู้ข้อมูล กระตุ้นความต้องการใช้หรือเพิ่มความถี่ในการใช้น้ำยาบ้วนปากสำหรับผู้บริโภคที่ใช้เป็นครั้งคราว และดึงดูดผู้ที่ไม่เคยใช้ให้หันมาทดลองใช้มากขึ้นนั้นควรให้ความสำคัญทั้งกลยุทธ์ในเชิงรุกและเชิงรับควบคู่กันไป ไม่ว่าจะเป็นการวางตำแหน่งสินค้าที่ชัดเจน การโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ควรเป็นไปอย่างครบวงจรและต่อเนื่อง ทั้งการนำเสนอภาพยนตร์โฆษณาผ่านสื่อโดยอาศัยผู้สื่อสารทางการตลาดที่น่าเชื่อถืออย่างทันตแพทย์ หรือผู้ที่มีชื่อเสียงอย่างดารา-นักร้อง ขณะเดียวกันในส่วนของการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ผู้ประกอบการควรแสดงให้ผู้บริโภคเห็นถึงความจริงใจด้วยการนำเสนอคุณสมบัติที่ดีของผลิตภัณฑ์อย่างแท้จริง มิใช่เป็นการโฆษณาที่เกินจริง พร้อมทั้งพยายามเน้นกลยุทธ์ Below the line ให้มากขึ้นด้วยการจัดกิจกรรมการตลาด ณ จุดขายรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ลูกค้าเข้ามาส่วนร่วมในการรับรู้ถึงสรรพคุณของผลิตภัณฑ์มากขึ้น รวมถึงการแจกสินค้าทดลองใช้ในย่านชุมชนเพื่อเพิ่มฐานผู้บริโภคที่ใช้น้ำยาบ้วนปากและเพื่อก่อให้เกิดการรับรู้ถึงแบรนด์ในวงกว้างยิ่งขึ้น นอกจากนี้กลยุทธ์การบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า (Customer Relationship Management : CRM) ซึ่งเป็นการสร้างความพอใจให้แก่ลูกค้าจากการศึกษาพฤติกรรมในการใช้จ่าย และความต้องการของลูกค้าแล้วนำมาวิเคราะห์และใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ลูกค้าเกิดความภักดีต่อสินค้านั้นก็ไม่ควรมองข้าม

ขณะที่ในส่วนของภาวะตลาดต่างประเทศนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่าสถานการณ์ส่งออกน้ำยาบ้วนปากโดยภาพรวมในปี 2549 ที่แม้ว่ามูลค่าการส่งออกจะไม่สูงมากนัก แต่ก็น่าจะมีแนวโน้มการเติบโตที่สดใสไม่น้อย เพราะนอกจากความต้องการโดยเฉพาะในตลาดเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม ลาว ฟิลิปปินส์ และกัมพูชารวมถึงประเทศในแถบเอเชียตะวันออกด้วยที่ยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกแล้ว ผู้ประกอบการตลาดน้ำยาบ้วนปากในไทยหลายรายมีนโยบายบุกตลาดต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงภาวการณ์แข่งขันภายในประเทศ อีกทั้งผู้ประกอบการบางรายที่เป็นบริษัทร่วมทุนในระดับโลกยังได้ถูกวางตัวให้เป็นศูนย์กลางการผลิตน้ำยาบ้วนปากในส่วนภูมิภาคเอเชียด้วย จึงมีความเป็นไปได้ว่าในอนาคตอันใกล้ตลาดส่งออกน้ำยาบ้วนปากของไทยน่าจะก้าวขึ้นมามีบทบาทเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องแน่นอนสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตน้ำยาบ้วนปากโดยรวมของไทย แต่ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่าผู้ประกอบการไทยควรจะต้องเอาใจใส่ต่อการพัฒนาการผลิตในด้านต่างๆมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีการผลิตที่เกี่ยวกับนวัตกรรมในการสร้างสรรค์สูตรผสมใหม่ๆ ด้านการวิจัยและพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติในประเทศ โดยเฉพาะสมุนไพรที่สามารถพัฒนาเป็นวัตถุดิบได้อีกเป็นจำนวนมาก เพื่อนำมาผลิตเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตน้ำยาบ้วนปากอย่างเป็นระบบมากขึ้น ส่วนในด้านบรรจุภัณฑ์ก็ควรพัฒนาอย่างต่อเนื่องทางด้านการออกแบบรูปแบบให้สวยงาม ทันสมัย และมีสีสันที่ดึงดูดใจ รวมทั้งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว หรือมีรูปแบบที่สะดวกต่อใช้งาน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อสร้างโอกาสให้อุตสาหกรรมน้ำยาบ้วนของผู้ประกอบการไทยเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากในระยะยาว