ทรัพย์สินทางปัญญา : อำนาจต่อรองสิทธิพิเศษ GSP ของสหรัฐฯ ผลกระทบต่อการส่งออกไทย

ในช่วงปลายเดือนเมษายน 2550 สหรัฐฯ จะออกรายงานประจำปี “Special 301” ระบุถึงความเพียงพอและความมีประสิทธิภาพในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property : IP) ของประเทศคู่ค้า และทบทวนบัญชีของระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศต่างๆ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญ ที่สหรัฐฯ ใช้ประกอบการพิจารณาการให้สิทธิพิเศษจีเอสพี (GSP) กับประเทศกำลังพัฒนา และประเทศด้อยพัฒนาต่างๆ รวม 145 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย โดยสหรัฐฯ กำหนดให้ประเทศที่ได้รับสิทธิจีเอสพีดำเนินการปกป้องลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร และเครื่องหมายการค้าให้กับสหรัฐฯ อย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพ โดยไทยถูกสหรัฐฯ จัดให้อยู่ในบัญชีประเทศที่ถูกจับตา (Watch List : WL) ตั้งแต่ปี 2537 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งหมายถึง การเป็นประเทศที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในระดับหนึ่ง

ในรายงานการประเมินปัญหาและอุปสรรคทางการค้าของประเทศคู่ค้าประจำปี 2550 (National Trade Estimate Report on Foreign Trade Barrier 2007) ที่สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) เสนอต่อสภาคองเกรส ในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2550 กล่าวถึงอุปสรรคของสหรัฐฯ ในการเข้าสู่ตลาดประเทศไทยในด้านต่างๆ ได้แก่ การเปิดตลาดสินค้า ภาคบริการ และการลงทุนของไทย รวมถึงประเด็นด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทย ในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา สหรัฐฯ ระบุว่า ไทยยังมีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลให้สหรัฐฯ สูญเสียรายได้ราว 308 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2548 โดยมีประเด็นสำคัญในปีนี้ คือ การที่กระทรวงสาธารณสุขของไทยประกาศการบังคับใช้สิทธิผลิตและนำเข้ายาที่มีสิทธิบัตรคุ้มครองอยู่แล้ว ได้แก่ ยารักษาโรค 3 รายการ คือ ยาต้านไวรัสเอชไอวี 2 รายการ และยารักษาโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน 1 รายการ ซึ่งสหรัฐฯ ยอมรับว่าไทยมีสิทธิในการบังคับใช้สิทธิผลิตยาและนำเข้ายาเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่สหรัฐฯ เห็นว่าการบังคับใช้สิทธิผลิตยาของไทยยังขาดความโปร่งใสในการหารือกับเจ้าของสิทธิ ซึ่งอาจมีความเสี่ยงที่จะทำให้สหรัฐฯ พิจารณาเลื่อนระดับบัญชีการคุ้มครอง IP ของไทยจากบัญชีจับตา (WL) เป็นจับตามองเป็นพิเศษ (Priority Watch List : PWL) ในช่วงปลายเดือนเมษายนนี้ ซึ่งถือเป็นระดับของการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่รุนแรงมากขึ้น

ความเสี่ยงของการถูกปรับลดระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทยในครั้งนี้ อาจส่งผลต่อการพิจารณาทบทวนการให้สิทธิพิเศษ GSP ของสหรัฐฯ กับสินค้าส่งออกของไทย เนื่องจากการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญที่สหรัฐฯ ใช้ประกอบการพิจารณาการให้สิทธิพิเศษจีเอสพี (GSP) โดยสหรัฐฯ มีกำหนดประกาศผลการทบทวนรายการสินค้าที่ให้สิทธิ GSP กับประเทศต่างๆ ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2550

ความสำคัญของสิทธิพิเศษ GSP ของสหรัฐฯ ต่อการส่งออกของไทย

สหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญต่อการค้าของไทย โดยเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับต้นๆ โดยเฉพาะด้านการส่งออก สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 2 ของไทย รองจากอาเซียน และการที่ไทยใช้สิทธิพิเศษ GSP ส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ รวมราว 1,200 รายการ ทำให้สินค้าส่งออกไทยดังกล่าวมีขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านราคามากขึ้น เพราะได้รับการยกเว้นภาษีศุลกากรจากสหรัฐฯ การส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐฯ โดยใช้สิทธิพิเศษ GSP มีสัดส่วนราว 1 ใน 5 ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปสหรัฐฯ ที่มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 19,454 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2549

ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ ภายใต้สิทธิพิเศษ GSP มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2519 ที่เริ่มใช้โครงการสิทธิพิเศษ GSP โดยในปี 2549 ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ โดยใช้สิทธิพิเศษ GSP มีมูลค่า 4,252 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ราว 19% จากมูลค่า 3,575 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2548 นับว่าไทยเป็นประเทศที่ใช้สิทธิพิเศษ GSP ส่งออกไปสหรัฐฯ มากเป็นอันดับ 3 ของบรรดาประเทศที่ได้รับสิทธิพิเศษนี้จากสหรัฐฯ ทั้งหมด คิดเป็นสัดส่วน 13.6% ของการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯภายใต้โครงการจีเอสพีทั้งหมด รองจากแองโกลา (สัดส่วน 20.7%) และอินเดีย (สัดส่วน 17.4%) ตามลำดับ (ไทยขยับขึ้นมาจากอันดับที่ 4 ของประเทศที่ส่งออกภายใต้สิทธิ GSP จากสหรัฐฯ ทั้งหมดในปี 2548 รองจากอินเดีย แองโกลา และบราซิล ตามลำดับ)

ในช่วงปลายปี 2549 สหรัฐฯ ต่ออายุโครงการสิทธิพิเศษ GSP ที่ให้กับประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนารวมทั้งหมด 145 ประเทศ เพิ่มขึ้นอีก 2 ปี จาก 1 มกราคม 2550 – 31 ธันวาคม 2551 หลังจากที่โครงการดังกล่าวหมดอายุลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2549 แต่สหรัฐฯ มีกำหนดที่จะประกาศผลการพิจารณาทบทวนการให้สิทธิพิเศษ GSP นี้ ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2550 (โดยปกติสหรัฐฯ จะประกาศผลการทบทวนการให้สิทธินี้เป็นประจำทุกๆ ปี) ทั้งนี้ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีอำนาจในการตัดสิทธิหรือคงการให้สิทธิพิเศษ GSP แก่สินค้าที่อยู่ในข่ายจะถูกตัดสิทธิพิเศษ GSP

ในปี 2550 สหรัฐฯ กำหนดเงื่อนไขในการทบทวนข้อยกเว้นการตัดสิทธิพิเศษ GSP เพิ่มเติม ดังนี้

เงื่อนไข 1 – สินค้าที่เคยได้รับยกเว้นเพดานการส่งออกมาแล้วเป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปีหรือนานกว่านี้ จะถูกตัดสิทธิจีเอสพี หากการส่งออกสินค้านั้นเข้าสหรัฐฯ เป็นไปตามเงื่อนไข 2 ดังนี้

เงื่อนไข 2 – (1) มูลค่านำเข้าของสหรัฐฯ เกิน 150% ของระดับเพดานการนำเข้าไปสหรัฐฯ สูงสุดที่สหรัฐฯกำหนดในปีนั้น (ปี 2549 = 125 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ) หรือมูลค่าเกิน 187.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2549 หรือ (2) มีส่วนแบ่งการนำเข้าเกิน 75% ของมูลค่าการนำเข้าสินค้ารายการนั้นของสหรัฐฯ

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ สามารถใช้ดุลพินิจในการผ่อนผันให้สินค้าที่ถูกตัดสิทธิตามเงื่อนไขข้างต้นได้รับสิทธิต่อไปอีกได้

 อัญมณีและเครื่องประดับทำจากโลหะมีค่า : แนวโน้มอาจถูกตัดสิทธิพิเศษ GSP
พิจารณาจากเงื่อนไขการถูกตัดสิทธิ GSP ข้างต้นพบว่า สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับทำจากโลหะมีค่า เป็นสินค้าส่งออกของไทยที่มีแนวโน้มถูกตัดสิทธิ GSP เนื่องจากเป็นสินค้าที่ได้รับการผ่อนผันเพดานการนำเข้าสูงสุดของสหรัฐฯ มาแล้วมากกว่า 5 ปี โดยอัญมณีและเครื่องประดับทำจากโลหะมีค่าของไทยได้รับการผ่อนผันเพดานการนำเข้าดังกล่าวจากสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2538 นอกจากนี้มูลค่าการนำเข้าของสหรัฐฯ ในสินค้ารายการนี้จากไทยมีมูลค่าเกิน 187.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2549 โดยไทยส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับทำจากโลหะมีค่าไปสหรัฐฯ มีมูลค่า 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2549 นับว่าเป็นสินค้าส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ภายใต้สิทธิพิเศษ GSP ที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุดในบรรดาสินค้าที่ได้สิทธิพิเศษ GSP ทั้งหมดของไทย ปัจจุบัน สหรัฐฯ นำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับทำจากโลหะมีค่าจากไทย คิดเป็นสัดส่วนราว 10% ของการนำเข้าสินค้ารายการนี้ทั้งหมดของสหรัฐฯ ถือว่าสหรัฐฯ นำเข้าสินค้านี้จากไทยมากเป็นอันดับ 3 รองจากอินเดีย (สัดส่วน 37.8%) และจีน (11%)

เป็นที่น่าจับตาว่า อัญมณีและเครื่องประดับทำจากโลหะมีค่าส่งออกของไทยอาจถูกพิจารณาตัดสิทธิพิเศษ GSP จากสหรัฐฯ ในเดือนกรกฎาคม 2550 ส่งผลให้สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับทำจากโลหะมีค่าส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ จะต้องถูกเรียกเก็บภาษีขาเข้าในอัตรา 5.5% (Most-Favored Nation Rate : MFN Rate) จากเดิมที่ไม่ต้องเสียภาษีขาเข้าเลย นับเป็นประเด็นที่ผู้ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับทำจากโลหะมีค่าของไทยควรระวัง เนื่องจากสหรัฐฯ ถือเป็นตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยที่สำคัญอันดับ 1 คิดเป็นสัดส่วนราว 25% ของการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับทั้งหมดของไทย รองลงมา ได้แก่ ฮ่องกง อิสราเอล และออสเตรเลีย ตามลำดับ

อินเดีย & จีน : คู่แข่งสำคัญของอัญมณีและเครื่องประดับส่งออก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าผลกระทบในกรณีที่ไทยถูกตัดสิทธิ GSP สำหรับสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับมีค่าจะไม่รุนแรงมากนัก หากอินเดียซึ่งเป็นประเทศคู่แข่งส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับทำจากโลหะมีค่าไปสหรัฐฯ (การส่งออกอัญมณีของอินเดียไปสหรัฐฯ มีมูลค่าเป็นอันดับ 1) ถูกตัดสิทธิพิเศษ GSP จากสหรัฐฯ เช่นกัน เพราะสินค้าส่งออกอัญมณีของอินเดียจะต้องถูกเรียกเก็บภาษีเช่นเดียวกับไทย ทำให้สินค้าอัญมณีส่งออกของไทยไม่เสียเปรียบประเทศคู่แข่งมากนัก ซึ่งมีแนวโน้มว่า หากไทยถูกตัดสิทธิ GSP สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับทำจากโลหะมีค่า ในเดือนกรกฎาคม 2550 อินเดียน่าจะถูกสหรัฐฯ ตัดสิทธิพิเศษ GSP ในสินค้ารายการนี้ด้วยเช่นกัน เพราะสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับทำจากโลหะมีค่าของอินเดียเข้าหลักเกณฑ์ถูกตัดสิทธิ GSP ตามเงื่อนไขที่สหรัฐฯ กำหนดในปีนี้ คือสินค้ารายการนี้ของอินเดีย ได้รับสิทธิยกเว้นเพดานนำเข้าสหรัฐฯ มานานมากกว่า 5 ปี และมูลค่าส่งออกสินค้านี้ไปสหรัฐฯ มีมูลค่าสูงถึง 2,211 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2549 ซึ่งเกินมูลค่าส่งออก 187.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่สหรัฐฯ กำหนดเงื่อนไขไว้ ทั้งนี้ อินเดียถือเป็นประเทศที่ส่งออกสินค้ารายการนี้ไปสหรัฐฯ โดยครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุด คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 30% ของการนำเข้าสินค้ารายการนี้ทั้งหมดของสหรัฐฯ นอกจากนี้ อินเดียยังถูกสหรัฐฯ จัดให้อยู่ในบัญชีประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ (Priority Watch List : PWL) ด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาตั้งแต่ปี 2537 จนถึงปัจจุบัน และคาดว่าอินเดียจะยังคงถูกจัดให้อยู่ในบัญชีนี้ต่อไป ในปี 2550 เนื่องจากสหรัฐฯ เห็นว่าการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในอินเดียยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่สร้างความเสียหายให้กับภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ

นอกจากอินเดียซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญในการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ คู่แข่งที่น่าจับตามองอีกประเทศ ได้แก่ จีน แม้ว่าขณะนี้จีนไม่ได้เป็นประเทศที่ได้รับสิทธิพิเศษ GSP ของสหรัฐฯ สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของจีนยังครองส่วนแบ่งตลาดสหรัฐฯ เป็นอันดับ 2 รองจากอินเดีย จีนจึงเป็นประเทศที่จะได้รับประโยชน์ หากสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับมีค่าส่งออกของไทยและอินเดียถูกสหรัฐฯ ตัดสิทธิพิเศษ GSP ในปีนี้ นอกจากนี้ ประเทศคู่แข่งอื่นๆ ของไทยในการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับทำจากโลหะมีค่าไปสหรัฐฯ ได้แก่ ฮ่องกง และอิตาลี

กระจายตลาดส่งออก & พัฒนาคุณภาพสินค้า/กระบวนการผลิต & เน้นการวิจัยพัฒนา

ทางการไทยตั้งเป้าหมายให้การส่งออกทั้งหมดของไทยในปีนี้เติบโต 12.5% ชะลอตัวลงจากที่ขยายตัว 17% ในปี 2549 เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู๋ค้าของไทย โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย (ไม่นับกลุ่มอาเซียน) ซึ่งไทยตั้งเป้าหมายการส่งออกไปสหรัฐฯ ขยายตัว 12% เทียบกับปี 2549 ที่การส่งออกไทยไปสหรัฐฯ ขยายตัว 14.4% จากแนวโน้มที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะมีอัตราการเติบโตที่อ่อนแรงลงในปีนี้ ทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าจากประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยชะลอตัวลงด้วย ถือเป็นปัจจัยประการหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของการส่งออกของไทยในปีนี้

ข้อควรระวังในการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ อีกประการ ได้แก่ ค่าเงินบาทที่ยังอยู่ในทิศทางที่เข้มแข็งและแข็งค่ามากกว่าสกุลเงินเอเชียอื่นๆ ส่งผลให้สินค้าส่งออกของไทยสูญเสียขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาในตลาดสหรัฐฯ นอกจากนี้ ความเสี่ยงที่ไทยอาจถูกตัดสิทธิพิเศษ GSP สินค้าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับทำจากโลหะมีค่าของไทยไปสหรัฐฯ เป็นอุปสรรคสำคัญอีกประการหนึ่งต่อผู้ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยไปสหรัฐฯ เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับอันดับ 1 ของไทย คิดเป็นสัดส่วนราว 25% ของการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับทั้งหมดของไทย อย่างไรก็ตาม หากพิจารณามูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทยไปสหรัฐฯ ที่มีมูลค่ารวมราว 19,450 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2549 พบว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยไปสหรัฐฯ ที่มีมูลค่ารวมราว 925 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถือว่าเป็นสัดส่วนไม่สูงนัก ราว 4.7% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดของไทยไปสหรัฐฯ และคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1% ของการส่งออกรวมทั้งหมดของไทย จึงคาดว่า แนวโน้มที่สินค้าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับทำจากโลหะมีค่าส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ จะถูกตัดสิทธิพิเศษ GSP ของสหรัฐฯ ไม่น่าจะส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อภาพรวมการส่งออกทั้งหมดของไทยในปีนี้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า สิทธิพิเศษ GSP ของสหรัฐฯ เป็นสิทธิพิเศษสำหรับการส่งออกของไทยเพียงชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งสหรัฐฯ สามารถยกเลิกหรือระงับการให้สิทธิพิเศษ GSP แก่ไทยในระยะต่อไป เนื่องจากการให้สิทธิพิเศษจีเอสพีเป็นการให้ฝ่ายเดียวของสหรัฐฯ ในอนาคตไทยอาจถูกตัดสิทธิพิเศษ GSP ทุกรายการสินค้า หากเศรษฐกิจไทยมีระดับการพัฒนาสูงขึ้น รายได้ประชาชาติต่อหัวสูงเกินกว่าระดับที่สหรัฐฯ กำหนดหลักเกณฑ์การตัดสิทธิพิเศษ GSP ไว้ ส่งผลให้สหรัฐฯ ตัดการให้สิทธิพิเศษจีเอสพีกับสินค้าส่งออกของไทยทุกรายการ ปัจจุบันรายได้ประชาชาติต่อหัว (GNP per capita) ของไทยราว 9,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ซึ่งใกล้เคียงกับระดับการพัฒนาประเทศที่สหรัฐฯ ใช้กำหนดการตัดสิทธิ GSP กับประเทศที่มี GNP per capita ราว 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2548 ดังเช่นที่สหรัฐฯ ตัดสิทธิพิเศษจีเอสพีทุกรายการที่ให้กับมาเลเซียในปี 2540 เนื่องจากสหรัฐฯ เห็นว่ามาเลเซียมีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจสูง และมีความสามารถทางการแข่งขันทางการค้าแล้ว

ภาครัฐและเอกชนไทยควรร่วมมือกันโดยเร่งทำวิจัยและพัฒนา (R&D) พัฒนาคุณภาพสินค้าและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อให้มีขีดความสามารถทางการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น และลดผลกระทบ หากถูกสหรัฐฯ ตัดสิทธิพิเศษจีเอสพี รวมทั้งกระจายการส่งออกไปตลาดอื่นๆ เช่น ตลาดใหม่ๆ ที่มีแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจสดใส เช่น รัสเซีย ยุโรปตะวันออก และประเทศในตะวันออกกลางที่มีรายได้เพิ่มขึ้นจากส่งออกน้ำมัน ซึ่งได้รับอานิสงค์จากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง รวมทั้งใช้ประโยชน์จากการส่งออกไปประเทศที่ไทยจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี FTA ด้วย ซึ่งสินค้าส่งออกไทยจะได้รับผลดีจากการลด/ยกเว้นภาษีศุลกากรไปตลาดดังกล่าว ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน อินเดีย และญี่ปุ่น