พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงินฉบับใหม่: เสริมสร้างความมั่นคงแก่สถาบันการเงินไทย

ในที่สุด เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2551 ที่ผ่านมา พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 125 ตอนที่ 27 ก หลังจากที่ สนช.ได้ผ่านการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวในทุกขั้นตอนไปเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2550 ทั้งนี้ กฎหมายฉบับนี้ จะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการภายใน 180 วันนับตั้งแต่วันที่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือภายในช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2551

การตรากฎหมายฉบับนี้ มีจุดประสงค์เพื่อปรับปรุงมาตรการในการกำกับดูแลสถาบันการเงินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สอดคล้องกับสถานการณ์แวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนั้น เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้ ได้รวมกฎหมายการเงินสองฉบับเข้าด้วยกัน ได้แก่ พ.ร.บ. การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 และ พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 ดังนั้น จึงทำให้คำว่า “ธุรกิจสถาบันการเงิน” ตามกฎหมายใหม่ จะมีความครอบคลุมทั้งธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเงินทุน ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ตลอดจนการประกอบธุรกิจของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ขณะที่ พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงินนี้ แบ่งเป็น 8 หมวด และบทเฉพาะกาล ทำให้รวมแล้ว มีจำนวนมาตรามากถึง 163 มาตรา

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สรุปสาระสำคัญของกฎหมาย พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงินฉบับใหม่ ซึ่งแตกต่างจาก พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์เดิม รวมทั้ง ผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้องหลักๆ ดังนี้

นิยามสถาบันการเงินขยายขอบเขตกว้างขึ้น โดยนอกจากจะรวมถึงบริษัทเงินทุน และเครดิตฟองซิเอร์ที่รับเงินฝากจากประชาชนแล้ว คำว่า ‘ธนาคารพาณิชย์’ ยังครอบคลุมทั้งธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ ธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย ธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ (Subsidiary) และสาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ ซึ่งแตกต่างจากเดิมที่จะต้องอ้างอิง พ.ร.บ.สองฉบับ สำหรับการดูแลธุรกิจธนาคารพาณิชย์ และสำหรับดูแลบริษัทเงินทุนและเครดิตฟองซิเอร์ อีกทั้ง นิยามสถาบันการเงินในกฎหมายสองฉบับดังกล่าว ยังกำหนดไว้ค่อนข้างกว้างอีกด้วย นอกจากนี้ ภายใต้กฎหมายใหม่ บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ จะต้องรับฝากเงินด้วย จากเดิมที่ไม่ได้มีการระบุถึงเงื่อนไขดังกล่าวชัดเจน ดังนั้น กฎหมายใหม่นี้ จึงครอบคลุมสถาบันการเงินทุกประเภทที่ ธปท.มีอำนาจในการกำกับดูแลในปัจจุบัน ขณะที่ สำหรับบริษัทเงินทุนและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ที่แผนการปรับสถานะธุรกิจให้เป็นธนาคารพาณิชย์ตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินฉบับแรกไม่ผ่านการพิจารณาของธปท.นั้น ยังคงสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ยกเว้นในกรณีของธุรกิจบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ที่เลือกจะไม่รับเงินฝากจากประชาชน หรือแปลงสภาพเป็นบริษัทเครดิต (Credit Company) จะไม่อยู่ภายใต้การดูแลของ ธปท.ทางตรง

ธปท.มีอำนาจในการกำกับดูแลธุรกิจนอนแบงก์มากขึ้น แม้ว่าสถาบันการเงินที่แผนการปรับสถานะธุรกิจฯ ไม่ผ่านการพิจารณาจาก ธปท.ข้างต้น จะเลือกผันตนเองไปเป็นบริษัทเครดิต แต่เนื่องจากธุรกิจดังกล่าว เกี่ยวข้องกับการให้บริการสินเชื่อ หรือทำธุรกิจทางการเงิน ทำให้ ธปท.สามารถเสนอตราพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เพื่อกำหนดให้การประกอบกิจการดังกล่าว อยู่ภายใต้การบังคับของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้ เช่นเดียวกับธุรกิจที่ระดมเงินจากประชาชน หรือมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น ธปท.จึงมีอำนาจในการกำกับดูแลธุรกิจการเงินลักษณะดังกล่าวมากขึ้น ผ่านการเสนอตรา พ.ร.ฎ. โดยไม่ต้องอาศัยอำนาจทางอ้อมผ่าน ปว.58 เหมือนแต่ก่อน ซึ่งอำนาจที่เพิ่มขึ้นนี้ อาจนำมาสู่การกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่มีรายละเอียดมากกว่าปัจจุบัน หาก ธปท.เห็นสมควร นอกจากนี้ ธปท.น่าจะสามารถอาศัยอำนาจของ พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงินฉบับใหม่ดังกล่าว ในการเข้าไปตรวจสอบการประกอบธุรกิจของนอนแบงก์ได้เหมือนกับการตรวจสอบธนาคารพาณิชย์อีกด้วย

การแก้ไขกฎหมายในลักษณะดังกล่าว สะท้อนเจตนารมย์ของผู้กำกับดูแลสถาบันการเงินที่ให้ความสำคัญและต้องการติดตามความเคลื่อนไหวของสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคอย่างใกล้ชิดต่อไป อันอาจจำกัดการเติบโตของสินเชื่อประเภทดังกล่าวในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีแนวโน้มว่าการขยายสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคมีอัตราสูงเกินไป หรือชี้ถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายที่ไม่สมเหตุสมผลของประชาชน อันจะทำให้ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

เพดานการถือหุ้นของต่างชาติในสถาบันการเงินไทยมีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยในมาตรา 16 ของกฎหมายใหม่ กำหนดว่า บุคคลที่มีสัญชาติไทยสามารถถือหุ้นของสถาบันการเงินได้ไม่ต่ำกว่า 75% ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงและจำหน่ายแล้วทั้งหมด อีกทั้ง ต้องมีกรรมการเป็นบุคคลสัญชาติไทยไม่ต่ำกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนกรรมการทั้งหมด อย่างไรก็ตาม หาก ธปท.เห็นสมควร ผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยดังกล่าว สามารถถือหุ้นได้สูงสุดถึง 49% และให้มีกรรมการที่ไม่มีสัญชาติไทยได้เกินกว่า 1 ใน 4 แต่ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด ขณะที่ ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นต้องแก้ไขฐานะการดำเนินการ หรือเพื่อความมั่นคง ก็สามารถผ่อนผันไปจากข้างต้นได้อีก ซึ่งเท่ากับเป็นการผ่อนผันให้ชาวต่างชาติมีโอกาสเข้ามาลงทุนในกิจการธนาคารพาณิชย์ไทยมากขึ้นกว่ากฎหมายเดิม ทั้งนี้ ในมาตรา 5 เบญจของกฎหมายเดิม กำหนดให้ต้องมีผู้ถือหุ้นชาวไทยไม่ต่ำกว่า 75% และมีกรรมการบุคคลผู้มีสัญชาติไทยไม่ต่ำกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนกรรมการทั้งหมด ยกเว้นในกรณีที่จำเป็นต้องแก้ไขฐานะ หรือการดำเนินการของธนาคารพาณิชย์ก็ให้รัฐมนตรี ด้วยคำแนะนำของ ธปท. พิจารณาผ่อนผันให้ได้

ทั้งนี้ เนื่องจากในปัจจุบัน ธนาคารพาณิชย์ไทยส่วนใหญ่มีสัดส่วนการถือหุ้นของชาวต่างชาติเกิน 25% อยู่แล้ว อันเป็นผลจากการผ่อนผันของ ธปท.ตั้งแต่ช่วงของการเพิ่มทุนเพื่อแก้ไขปัญหาสภาพคล่องในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 กอปรกับการเพิ่มความมั่นคงทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ไทยบางแห่งในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น การเพิ่มความยืดหยุ่นของเพดานการถือหุ้นของต่างชาติตามกฎหมายใหม่นี้ จึงอาจเป็นประโยชน์ต่อธนาคารพาณิชย์ส่วนน้อยมากกว่า

อย่างไรก็ตาม การขอเพิ่มเพดานการถือหุ้นของต่างชาติตามกฎหมายใหม่ น่าจะกระทำได้ ‘ง่ายขึ้น’ กว่าเดิม เพราะขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของ ธปท. ซึ่งแตกต่างจากกฎหมายเดิมที่จะต้องเป็นกรณีที่จำเป็นต้องแก้ไขฐานะ หรือการดำเนินการเท่านั้น ทำให้การเพิ่มทุนของธนาคารบางแห่งที่ฐานะเงินทุนไม่ได้อ่อนแอตามการตีความของกฎหมายเดิมนั้น ไม่สามารถดำเนินการได้คล่องตัวนักในช่วงที่ผ่านมา

การกำกับดูแลจะเน้นความเป็นกลุ่มธุรกิจการเงิน โดยในกฎหมายเก่า ไม่ได้มีการระบุถึงประเด็นนี้ ซึ่งแตกต่างจากกฎหมายใหม่ที่จะระบุถึง ‘กลุ่มธุรกิจการเงิน’ ในหลายส่วนด้วยกัน กล่าวคือ ตั้งแต่ คำนิยาม (ที่มีการให้คำนิยามของ ‘บริษัทแม่’ และ ‘บริษัทลูก’) ลักษณะของกลุ่มธุรกิจทางการเงิน ประเภทธุรกิจที่อนุญาต ขอบเขตการทำธุรกรรมระหว่างบริษัทแม่ บริษัทลูก หรือบริษัทร่วม ไปจนถึงการตรวจสอบบริษัทที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจการเงิน และการกำหนดอัตราส่วนเงินกองทุนของกลุ่มธุรกิจการเงินเป็นอัตราส่วนกับสินทรัพย์ หนี้สิน ภาระผูกพัน หรือตัวแปรและความเสี่ยงอื่นๆ ขณะที่ การจัดตั้งบริษัทลูกจะต้องได้รับอนุญาตจาก ธปท. ซึ่งการปรับปรุงกฎหมายดังกล่าว มีความสอดคล้องกับการประกอบธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบันมากขึ้น และเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับหลักเกณฑ์การกำกับดูแลในลักษณะรวมกลุ่ม (Consolidated Supervision) ของธปท.ที่เริ่มนำส่งร่างให้สถาบันการเงินแสดงความคิดเห็นตั้งแต่ปี 2548 ก่อนที่จะมีการทยอยปรับปรุงและทดลองใช้หลังจากนั้น

ทั้งนี้ เนื่องจากการประกอบธุรกิจในลักษณะกลุ่มธุรกิจการเงินนั้น เอื้อประโยชน์หลายประการให้กับบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์ อาทิ แหล่งเงินทุนที่ไม่จำกัดจากบริษัทแม่ ดังนั้น เกณฑ์การกำกับแบบรวมกลุ่มตามประกาศของ ธปท.ที่รองรับด้วยกฎหมายใหม่นี้ จึงขยายความเข้มงวดไปถึงบริษัทลูกในหลายกรณี เช่น กรณีบริษัทการเงินที่อยู่ในกลุ่ม Solo-Consolidation จะต้องปฏิบัติตามในประเด็นต่างๆ อย่างเรื่องการสอบทานสินเชื่อ ข้อห้ามในการให้สินเชื่อ การจัดชั้นสินทรัพย์ และการบริหารความเสี่ยงด้านต่างๆ เป็นต้น เพราะถือว่ามีความรับผิดชอบทางอ้อมต่อเงินฝากของประชาชนที่ธนาคารพาณิชย์ระดมมาเช่นกัน กระนั้นก็ดี ในทางปฏิบัติ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า กฎเกณฑ์ที่เข้มงวดดังกล่าวอาจมีผลในการเพิ่มต้นทุนการดำเนินงาน ตลอดจนลดความสามารถในการแข่งขันและการขยายสินเชื่อของบริษัทลูกนั้นๆ เมื่อเทียบกับบริษัทคู่แข่งที่ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เข้มงวดดังกล่าว นอกจากนี้ สำหรับบริษัทลูกที่มีฐานธุรกิจที่มั่นคงเพียงพอ น่าจะมีทางเลือกในการระดมทุนที่ค่อนข้างเปิดกว้าง โดยน่าจะสามารถขอสินเชื่อ ภายใต้เงื่อนไขที่ดึงดูด จากบริษัทอื่นๆ ที่ไม่ใช่บริษัทแม่ได้เช่นกัน ทำให้อาจไม่จำเป็นต้องพึ่งสิทธิประโยชน์จากความสัมพันธ์กับบริษัทแม่เสมอไป

มีการกำหนดมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งแตกต่างจากกฎหมายเดิมที่ไม่ได้มีการระบุถึงข้อกำหนดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคดังกล่าวในกฎหมาย เช่น ภายใต้กฎหมายใหม่ในมาตรา 39-40 ธปท.สามารถกำหนดให้เงื่อนไขให้สถาบันการเงินปฏิบัติตามสำหรับการให้บริการ หรือการทำธุรกรรมต่างๆ กับประชาชน อาทิ การรับฝากเงิน การกู้ยืมเงิน การลงทุน การให้สินเชื่อ การทำนิติกรรมกับประชาชน การค้ำประกันด้วยบุคคล รวมทั้ง การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสถาบันการเงิน นอกจากนี้ สถาบันการเงินต้องแสดงรายละเอียดการคำนวณค่าบริการรายปีต่างๆ ให้ประชาชนทราบ ขณะที่ ธปท.มีอำนาจในการกำหนดวิธีการคำนวณอัตราค่าบริการรายปีให้สถาบันการเงินถือปฏิบัติอีกด้วย ซึ่งถือเป็นมาตรการเสริมในการดูแลการประกอบธุรกิจของสถาบันการเงินให้มีความเป็นธรรมและโปร่งใสต่อผู้ใช้บริการ ทั้งนี้ แม้ว่าแนวทางดังกล่าว ย่อมจะเป็นผลดีต่อผู้บริโภค แต่ขณะเดียวกัน ก็เท่ากับเป็นการเตือนสถาบันการเงินให้ตระหนักว่า ธปท. มีไม้ตายที่จะจัดการกับธุรกิจที่ ธปท.เห็นว่าไม่เป็นธรรม หรือได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภค

เกณฑ์การลงทุนและการให้สินเชื่อมีความเข้มงวดมากขึ้น โดยสำหรับการลงทุนนั้น นอกจากกฎหมายใหม่จะอิงกับกฎหมายเดิมที่กำหนดว่าห้ามสถาบันการเงินถือหุ้นเกิน 10% ของหุ้นที่จำหน่ายแล้วทั้งหมดของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง และห้ามมีมูลค่าหุ้นในทุกบริษัทรวมกันเกินอัตราส่วนต่อเงินกองทุน ซึ่งกำหนดไว้ที่ 20% ของเงินกองทุนทั้งหมดแล้ว กฎหมายใหม่ยังเพิ่มเติมว่า การลงทุนในบริษัทแต่ละรายต้องไม่เกิน 5% ของเงินกองทุนทั้งหมดของสถาบันการเงินด้วย

ส่วนข้อห้ามในการให้สินเชื่อนั้น มีความซับซ้อนเพิ่มขึ้นมาก ยกตัวอย่างเช่น กฎหมายเดิมจะห้ามการให้สินเชื่อ อาวัลตั๋วเงิน ขาย/ซื้อทรัพย์สินเป็นค่าตอบแทนให้กับกรรมการ บุคคล (เช่น คู่สมรสของกรรมการ และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของกรรมการ) หรือห้างหุ้นส่วนตามเงื่อนไขที่กำหนด (เช่น ห้างหุ้นส่วนสามัญที่กรรมการเป็นหุ้นส่วน) และบริษัทจำกัดที่กรรมการ บุคคลตามที่ระบุ ห้างหุ้นส่วนที่กรรมการเป็นหุ้นส่วน ถือหุ้นรวมกันเกิน 30% ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายแล้วทั้งหมดของบริษัทนั้น ขณะที่กฎหมายใหม่ในมาตรา 48 นอกจากจะพุ่งการพิจารณาไปที่กรรมการแล้ว ยังขยายความครอบคลุมไปถึงผู้บริหารระดับรองลงมาอย่างรองกรรมการผู้จัดการ และผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการด้วย นอกจากนี้ ในมาตรา 49 กำหนดให้ข้อห้ามในการให้สินเชื่อ หรือทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายสินเชื่อแก่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือกิจการที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกันนั้น เกินเกณฑ์ที่กำหนด (นั่นคือ 5% ของเงินกองทุนชนิดใดชนิดหนึ่งของสถาบันการเงิน และ 25% ของหนี้สินทั้งหมดของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ โดยให้เลือกใช้ แล้วแต่ว่าจำนวนใดจะต่ำกว่า) ขณะเดียวกัน กฎหมายใหม่ยังจะบังคับใช้เกณฑ์ดังกล่าวไปถึง ‘ผู้ที่เกี่ยวข้อง’ กับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ด้วย (ผู้ที่เกี่ยวข้องนี้จะพิจารณาทั้งสัดส่วนการถือหุ้น และอำนาจการจัดการ/บริหาร) ทำให้ ในทางปฏิบัติ สถาบันการเงินจะต้องพิจารณาข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งคงจะทำให้ใช้เวลาในการตรวจสอบเพิ่มขึ้นมากเช่นกัน อันอาจเพิ่มภาระการดำเนินงานกับธนาคารพาณิชย์

เกณฑ์การดำรงเงินกองทุนและสินทรัพย์ สอดรับกับการบังคับใช้เกณฑ์ Basel II ในช่วงสิ้นปี 2551 กฎหมายใหม่จะเพิ่มความยืดหยุ่นเกี่ยวกับการดำรงเงินกองทุน โดยกำหนดให้ดำรงเงินกองทุนดังกล่าว เป็นอัตราส่วนกับตัวแปรความเสี่ยงอื่น ตามที่ ธปท.กำหนด อีกทั้งให้รายงานข้อมูลดังกล่าว ทั้งของสถาบันการเงินเอง หรือของกลุ่มธุรกิจการเงิน ซึ่งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ Basel II ที่ ธปท.เตรียมบังคับใช้อย่างเป็นทางการในช่วงสิ้นปี 2551 ทั้งนี้ ตามเกณฑ์ Basel II ดังกล่าว สถาบันการเงินจะต้องดำรงเงินกองทุนเป็นอัตราส่วนต่อสินทรัพย์เสี่ยง ที่สะท้อนความเสี่ยงทั้งด้านเครดิต ด้านตลาด และด้านปฏิบัติการ ขณะที่ ตามกฎหมายเดิม (มาตรา 10) กำหนดกว้างๆ ว่า ให้ธนาคารพาณิชย์ดำรงเงินกองทุนเป็นอัตราส่วนกับสินทรัพย์ หนี้สิน หรือภาระผูกพันตามเงื่อนไขที่ ธปท.กำหนดเท่านั้น

การแก้ไขฐานะ หรือการดำเนินงานของสถาบันการเงินมีลักษณะเชิงรุกมากกว่าเดิม โดยมีกระบวนการ ขั้นตอน และระยะเวลาในการจัดการกับสถาบันการเงินที่ประสบปัญหาการเงินที่ชัดเจนขึ้น เช่น มาตรการ Prompt Corrective Action ที่ให้อำนาจ ธปท.สั่งให้สถาบันการเงินดำเนินการ เมื่อมีเงินกองทุนลดลงตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ 3 ระดับในมาตราที่ 95-97 คือ

ระดับแรก เมื่อเงินกองทุนต่ำกว่าเกณฑ์ (ปัจจุบัน คือ 8.5%) สถาบันการเงินจะต้องเสนอโครงการเพื่อแก้ไขฐานะและการดำเนินงานต่อ ธปท.ภายใน 60 วัน และต้องดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 1 ปี โดยถ้าไม่สามารถดำเนินการสำเร็จ ธปท.มีอำนาจที่จะสั่งปิดกิจการได้

ระดับที่สอง ในกรณีที่เงินกองทุนต่ำกว่า 60% ของอัตราที่กำหนด (หรือ 5.1%) ธปท.สามารถเข้าควบคุมสถาบันการเงินได้

ระดับที่สาม ในกรณีที่เงินกองทุนต่ำกว่า 35% ของอัตราที่กำหนด (หรือ 2.975%) ธปท.สามารถสั่งปิดกิจการได้ จากนั้น ก็เสนอให้รัฐมนตรีเพิกถอนใบอนุญาต

ทั้งนี้ มาตรการในการแก้ไขฐานะของสถาบันการเงินดังกล่าว คงจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของ ธปท.ในการจัดการกับสถาบันการเงินที่มีปัญหาทางการเงิน โดยไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนเสียก่อน (อาทิ อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงติดลบ) เหมือนในกฎหมายเดิม ซึ่งถือเป็นปราการสำคัญในการป้องกันโอกาสเกิดปัญหาวิกฤติสถาบันการเงินซ้ำรอยเหมือนเช่นในปี 2540 อีกทั้งจะช่วยจำกัดภาระของทางการและเงินภาษีของประชาชนในการเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาทางการเงินของสถาบันการเงินในอนาคตด้วย

ธปท.มีบทบาทในการจัดการเรื่องต่างๆ มากขึ้น โดยในภาพรวมแล้ว รมว.กระทรวงการคลังจะเหลืออำนาจหลัก คือ การออกและเพิกถอนใบอนุญาติในการประกอบธุรกิจ ขณะที่ อำนาจในการดูแลประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานด้านต่างๆ ของสถาบันการเงิน การสั่งการและตรวจสอบสถาบันการเงิน ไปจนถึงการสั่งปิดสถาบันการเงิน ส่วนใหญ่จะถ่ายโอนไปที่ ธปท. ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การปรับปรุงอำนาจและบทบาทในการตัดสินใจประเด็นต่างๆ ที่ชัดเจนขึ้นข้างต้น สะท้อนภาพการกำกับดูแลสถาบันการเงินของ ธปท.ที่มีความเป็นอิสระมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งตามหลักการแล้ว น่าที่จะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นต่อระบบสถาบันการเงินไทยในสายตาของนักลงทุนต่างชาติตามไปด้วย

ธปท.สามารถกำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจได้ โดยในกฎหมายฉบับใหม่นี้ ให้สิทธิ ธปท.ในหมวด 7 มาตรา 119-120 สำหรับกำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจ หาก รมว.เจ้ากระทรวงของสถาบันการเงินเฉพาะกิจนั้นๆ มอบหมายหน้าที่บางส่วน หรือทั้งหมดให้กับ ธปท. เพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลระบบสถาบันการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ

บทลงโทษมีความรุนแรงขึ้น โดยส่วนใหญ่จะมีทั้งโทษจำคุกและโทษปรับที่รุนแรงขึ้นกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นความผิดของสถาบันการเงิน ความผิดของตัวบุคคล ความผิดของกรรมการ ผู้จัดการ ผู้มีอำนาจในการจัดการ และผู้สอบบัญชี ซึ่งไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ การปรับบทลงโทษให้รุนแรงขึ้นดังกล่าว คงจะสอดคล้องกับค่าของเงินที่ลดลงตามกาลเวลา รวมทั้ง ถือเป็นการกระตุ้นให้สถาบันการเงินและผู้ที่เกี่ยวข้องเพิ่มความระมัดระวังในการประกอบธุรกิจมากขึ้น

โดยสรุปแล้ว การบังคับใช้ พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงินใหม่ดังกล่าว น่าที่จะส่งผลดีต่อการกำกับดูแลสถาบันการเงินของทางการ โดยเฉพาะ ธปท.ให้มีความเป็นอิสระและประสิทธิภาพมากขึ้น หลังจากที่ ธปท.ได้วางแนวทางการกำกับดูแลในช่วงที่ผ่านมา ให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติสากลไว้หลายประการ และเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ มาตรการในการเข้าไปจัดการกับสถาบันการเงินที่มีปัญหาทางการเงิน ภายใต้กฎหมายใหม่นี้ ยังมีขั้นตอน ระยะเวลาดำเนินการ และการกำหนดบทบาทของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ ชัดเจน ทำให้เชื่อมั่นได้ว่า ทางการไทยมีเครื่องมือจัดการกับปัญหาความอ่อนแอของสถาบันการเงินตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนที่ปัญหาจะบานปลายเหมือนเช่นวิกฤติสถาบันการเงินปี 2540

นอกจากนั้น ภาพรวมการกำกับดูแลที่ครอบคลุมและเคร่งครัดขึ้นดังกล่าว ยังสะท้อนเจตนารมย์ของทางการว่า เมื่อธนาคารพาณิชย์ประกอบธุรกิจได้กว้างขึ้น มีวิธีแสวงหากำไรได้หลากหลายขึ้น ก็จะต้องมีความรับผิดชอบ (Accountability) ต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมากขึ้นตามไปด้วย โดยย้ำลักษณะการดำเนินงานจะต้องมีความโปร่งใสและตรวจสอบได้มากขึ้น ซึ่งถือเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ในการประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ท้ายที่สุดแล้ว น่าจะเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค ตลอดจนนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศต่อสถาบันการเงินไทย