ย้อนรอยวิกฤตสถาบันการเงินสหรัฐฯ…ปัญหายังคงรออยู่ข้างหน้า

หากย้อนรอยปัญหาสถาบันการเงินของสหรัฐฯ จะพบว่า ต้นตอของวิกฤตตลาดสินเชื่อเกิดขึ้นจากปัญหาซับไพร์มในสหรัฐฯ โดยเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2550 ธนาคารบีเอ็นพี พาริบาส์ได้ประกาศระงับการไถ่ถอนกองทุนของตนเป็นการชั่วคราว เนื่องจากปัญหาการลงทุนในตราสารที่เกี่ยวโยงกับสินเชื่อซับไพร์ม และหลังจากนั้นภาวะความปั่นป่วนได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ โดยในช่วงไตรมาส 4/2550 กองทุนเฮดจ์ฟันด์ กลุ่มนักลงทุนสถาบัน บริษัทปล่อยกู้จำนอง ตลอดจนสถาบันการเงินต่างๆ ต้องประสบกับปัญหาการขาดสภาพคล่องอย่างหนัก อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2551 ที่ผ่านมา สถานการณ์ของวิกฤตในรอบนี้ดูเหมือนจะคลี่คลายลง เมื่อข่าวร้ายของบริษัทแบร์ สเติร์นส์ โค อิงก์ สิ้นสุดลง หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) สาขานิวยอร์ก ได้เข้ามาช่วยจัดสรรวงเงินสินเชื่อเพื่อช่วยบริษัทเจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค เข้าซื้อกิจการของบริษัทแบร์ สเติร์นส์ แต่กระนั้นก็ดี ความอ่อนไหวของตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยและฐานะของสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ได้ถูกสั่นคลอนอีกครั้ง หลังจากปัญหาความเพียงพอของเงินกองทุนของสถาบันการเงินชั้นนำอย่าง แฟนนี เม และเฟรดดี แมค เป็นชนวนสำคัญที่ทำให้รัฐบาลและธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องเร่งเข้ามาดำเนินการช่วยเหลือเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบทางการเงินอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นตามมาหากความเชื่อถือของสถาบันการเงินทั้งสองถูกกระทบ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รวบรวมลำดับเหตุการณ์ของสถาบันการเงินที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องมาจากวิกฤตซับไพร์ม ดังนี้ :-

ระลอก 1 : กองทุนเฮดจ์ฟันด์ กลุ่มนักลงทุนสถาบัน และบริษัทปล่อยกู้จำนอง
ภาวะวิกฤตของตลาดสินเชื่อในปัจจุบันนั้น ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2550 หลังจากที่ธนาคารบีเอ็นพี พาริบาส์ ซึ่งเป็นธนาคารรายใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศสประกาศระงับการไถ่ถอนกองทุน 3 แห่งเป็นการชั่วคราวมูลค่า 1.6 พันล้านยูโร (2.2 พันล้านดอลลาร์ฯ) โดยในช่วงระหว่างเดือนสิงหาคม-กันยายน 2550 กองทุนเฮดจ์ฟันด์และกลุ่มนักลงทุนสถาบันหลายแห่งทั่วโลกที่ทำการลงทุนในตราสารที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินเชื่อซับไพร์มต้องประสบกับปัญหาสภาพคล่อง การลดลงของมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ จนบางแห่งต้องประกาศระงับการไถ่ถอนกองทุนเพื่อหลีกเลี่ยงการเทขายสินทรัพย์อย่างต่อเนื่อง

ในช่วงเวลาเดียวกันบริษัทขนาดใหญ่ที่อยู่ในธุรกิจปล่อยกู้จำนองของสหรัฐฯ หลายแห่ง (อาทิ บริษัท นิว เซ็นจูรี) ต้องปิดตัวลง และ/หรือ เข้ารับความคุ้มครองตามหมวด11 กฎหมายล้มละลาย เนื่องจากประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน เมื่อไม่สามารถหานักลงทุนที่มีความสนใจที่จะซื้อตราสารที่หนุนหลังด้วยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยซึ่งการผิดนัดชำระหนี้ของลูกหนี้ซับไพร์มได้พุ่งสูงขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ นอกจากนี้ บริษัทนอร์ทเธิร์น ร็อค ซึ่งเป็นสถาบันการเงินปล่อยกู้จำนองของอังกฤษต้องเผชิญปัญหาลูกค้าแห่ถอนเงินออกจากธนาคาร ซึ่งนับเป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 140 ปีในธนาคารของอังกฤษ

ระลอก 2 : งบดุลของสถาบันการเงินเริ่มอ่อนแอลง
ในช่วงเดือนตุลาคม 2550 เป็นช่วงของการประกาศผลประกอบการของสถาบันการเงินสหรัฐฯ ซึ่งส่วนใหญ่จะรายงานผลประกอบการออกมาแย่กว่าที่ตลาดได้คาดการณ์ไว้ และเกือบทุกแห่งจะต้องทำการปรับลดมูลค่าทางบัญชีลงอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการลงทุนที่ย่ำแย่ที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อซับไพร์มซึ่งมีความเสี่ยงสูง อาทิ ธนาคารซิตี้กรุ๊ป และวาโชเวีย คอร์ป ที่ประกาศผลกำไรไตรมาส 3/2550 ดิ่งลงถึง 57% และ 10% ตามลำดับ ต่อมาในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2550 สถาบันการเงินหลายแห่งยังคงทยอยประกาศข่าวร้ายจากการปรับลดมูลค่าในบัญชีอย่างต่อเนื่อง และในเดือนมกราคม 2551 ตลาดการเงินต้องผิดหวังอีกครั้งกับผลประกอบการไตรมาส 4/2550 ของเมอร์ริล ลินช์ ซึ่งนับเป็นผลประกอบการที่เลวร้ายที่สุดในประวัติของทางบริษัท

ระลอก 3 : วิกฤตของบริษัทแบร์ สเติร์นส์ โค อิงก์
แบร์ สเติร์นส เป็นบริษัทหลักทรัพย์รายใหญ่ที่สุดอันดับ 5 ของสหรัฐฯ โดยทำธุรกิจเป็นเทรดเดอร์และอันเดอร์ไรเตอร์ของสินเชื่อจำนองและหนี้อื่นๆ ต้องประสบกับภาวะวิกฤตด้านสภาพคล่องอย่างหนักในช่วงเดือนมีนาคม 2551 จนในท้ายที่สุด ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) สาขานิวยอร์ก ต้องเข้ามาช่วยเหลือด้วยการจะจัดสรรวงเงินสินเชื่อ 2.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อช่วยบริษัทเจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค ในการเข้าซื้อกิจการของแบร์ สเติร์นส์ นอกจากนี้ ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน บริษัทคาร์ไลล์ แคปิตอล คอร์ป ซึ่งเป็นบริษัทด้านการจำนองในเครือบริษัทกองทุนเอกชนคาร์ไลล์ กรุ๊ป ต้องเผชิญปัญหาไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกับบรรดาเจ้าหนี้ และต้องถูกยึดหลักทรัพย์จำนองที่เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในที่สุด

ระลอก 4 : ความน่าเชื่อถือต่อบริษัทประกันหุ้นกู้ถดถอยลง
วิกฤตซับไพร์มได้สร้างความวิตกต่อเนื่องไปยังธุรกิจที่ให้บริการประกันตราสารหนี้ (Bond Insurer) ซึ่งมีมูลค่าตลาดสูงกว่า 2.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ตั้งแต่ในช่วงต้นปี 2551 เนื่องจากบริษัทประกันตราสารหนี้โดยทั่วไปใช้อันดับความน่าเชื่อถือของตนในการรับประกันตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทหรือแม้แต่รัฐต่างๆ ต่อโอกาสการผิดนัดชำระดอกเบี้ยให้กับผู้ถือตราสารหนี้ และในช่วงที่ผ่านมา บริษัทประกันตราสารหนี้หลายแห่งได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการรับประกันตราสารหนี้ที่หนุนหลังด้วยสินเชื่อซับไพร์ม จึงทำให้บริษัทประกันตราสารหนี้ดังกล่าวมีความเสี่ยงที่จะต้องแบกรับภาระจ่ายผลตอบแทนให้กับผู้ถือตราสารหนี้

ทั้งนี้ ภาวะการขาดสภาพคล่องและขาดทุนทำให้บริษัทประกันตราสารหนี้หลายรายถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงในช่วงต่อมา อาทิ บริษัทประกันหุ้นกู้ในเครือของบริษัทเอ็มบีไอเอ อิงค์ และบริษัทแอมแบ็ค ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ที่ถูกมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส และบริษัทสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงจากระดับสูงที่สุดไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2551 ที่ผ่านมา หลังจากที่ฟิทช์ เรตติ้งส์ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือไปแล้วในช่วงก่อนหน้านี้ อันเนื่องมาจากความวิตกเกี่ยวกับการขาดทุนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจจำนอง และแนวโน้มทางธุรกิจที่มีอยู่อย่างจำกัด และผลกระทบที่ได้เกิดขึ้นตามมาก็คือ สถาบันการเงินที่ซื้อประกันความน่าเชื่อถือไปอาจจำต้องทำการปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ลงอีกระลอกหนึ่ง

ระลอก 5 : บริษัทชั้นนำนอกภาคการเงินประสบกับการขาดสภาพคล่องเช่นกัน
ในเดือนกรกฎาคม 2551 นักลงทุนได้เทขายหุ้นเจเนอรัล มอเตอร์สอย่างหนัก ซึ่งส่งผลทำให้หุ้นเจเนอรัล มอเตอร์ส ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 54 ปี ทั้งนี้ ความจำเป็นต้องเร่งเพิ่มทุนเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง และลดการจ่ายเงินปันผล ท่ามกลางการชะลอตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้บริษัทวาณิชธนกิจชั้นนำ อาทิ โกลด์แมน แซคส์ และ เมอร์ริล ลินช์ ปรับลดอันดับความน่าลงทุนของหุ้นเจเนอรัล มอเตอร์ส ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของสหรัฐฯ โดยเมอร์ริล ลินช์ ระบุว่า มีความเป็นไปได้ที่บริษัทเจเนอรัล มอเตอร์ส อาจประสบภาวะล้มละลาย หากภาวะตลาดรถยนต์ยังคงทรุดตัวต่อไป

ระลอก 6 : เสาหลักในการแปลงสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้เป็นหลักทรัพย์สั่นคลอน
ความอ่อนไหวของภาวะตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และฐานะของสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ได้ถูกสั่นคลอนอีกครั้ง หลังข่าวสถาบันการเงินชั้นนำอย่าง แฟนนี เม และเฟรดดี แมค ซึ่งเป็นเสาหลักในการแปลงสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้เป็นหลักทรัพย์ (Mortgage-Backed Securities) อาจประสบกับปัญหาความเพียงพอของเงินกองทุน จนในที่สุดวันที่ 13 กรกฎาคม ที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องเข้าไปให้ความช่วยเหลือ ด้วยการประกาศเพิ่มวงเงินสินเชื่อโดยตรงให้กับสถาบันการเงินทั้ง 2 แห่ง และอาจเข้าซื้อหุ้นของทางบริษัทถ้าจำเป็น ในขณะที่ เฟดก็ได้อนุมัติให้สถาบันการเงินทั้ง 2 แห่ง สามารถขอกู้ฉุกเฉินผ่านช่องทาง Discount Window ได้

ก่อนหน้านี้ไม่นาน (11 กรกฎาคม 2551 ) หน่วยงานควบคุมกฎระเบียบด้านธนาคารของสหรัฐฯ ได้เข้าเทคโอเวอร์ธนาคารอินดี้แมค แบงคอร์ป อิงค์ ซึ่งทำธุรกิจปล่อยกู้จำนอง เนื่องจากลูกค้าจำนวนมากได้แห่ถอนเงินออกจากสถาบันการเงินแห่งนี้ ซึ่งนับเป็นการล้มละลายของธนาคารที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งนับตั้งแต่นับตั้งแต่เกิดวิกฤต Savings and Loan ในทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา

โดยสรุปแล้ว แม้สถาบันการเงินของสหรัฐฯ จะได้เผชิญกับข่าวร้ายมาหลายระลอกนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2550 แล้วก็ตาม แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ข่าวร้ายในภาคการเงินยังอาจปรากฏขึ้นได้อีก ทั้งนี้ เนื่องจากความอ่อนแอของตลาดอสังหาริมทรัพย์และเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ทำให้มีการคาดการณ์อย่างกว้างขวางว่า สถาบันการเงินขนาดเล็กตลอดจนธนาคารในระดับรัฐของสหรัฐฯ อาจต้องตกเป็นเหยื่อรายถัดไปของวิกฤตสินเชื่อในรอบนี้ เนื่องจากสถาบันการเงินเหล่านั้นจะต้องเผชิญกับต้นทุนในการระดมทุนที่สูงกว่าสถาบันการเงินขนาดใหญ่ ในขณะที่ช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนตลอดจนมาตรการช่วยเหลือด้านสภาพคล่องอื่นๆ จากทางการ ก็ทำได้ยากกว่า ในขณะเดียวกัน สถาบันการเงินขนาดใหญ่ก็ใช่ว่าจะสามารถดำเนินธุรกิจได้ง่ายนัก เนื่องจากเสถียรภาพของตลาดสินเชื่อยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ขณะที่ปัญหาความอ่อนแอของเงินทุนของสถาบันการเงินก็ยากที่จะหลีกเลี่ยง หากสถาบันการเงินเหล่านั้นมีความจำเป็นต้องทำการปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ลงอีกเป็นระลอกๆ

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า วิกฤตสินเชื่อของสหรัฐฯ จะยังคงสร้างความผันผวนแก่ตลาดเงิน-ตลาดทุนในระยะเวลาข้างหน้า และอาจกดดันให้ทางการสหรัฐฯ ต้องเข้าไปดูแลปัญหาเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงวิกฤต Savings and Loan ในช่วงทศวรรษ 1980 และ 1990 ที่สถาบันการเงินประเภท Savings and Loan ล้มลงกว่า 700 แห่ง และทางการสหรัฐฯ ต้องใช้เงินไปกว่า 160 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในการแก้ไขปัญหา สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยนั้น ทั้งความอ่อนแอของภาคการเงินและเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมทั้ง ความผันผวนในตลาดหุ้น อัตราแลกเปลี่ยน และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะน้ำมัน ย่อมจะกระทบต่อเศรษฐกิจและการเงินไทยอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า นอกจากการดำเนินการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยการบรรเทาผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อและการชะลอตัวทางเศรษฐกิจด้วยการออกมาตรการต่างๆ ของทางการแล้ว ทางการไทยควรคำนึงถึงประเด็นด้านความมั่นใจของนักลงทุนและตลาดเงิน-ตลาดทุน ที่มีต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการดำเนินนโยบายในด้านต่างๆ ของประเทศ ทั้งนี้เพราะการดำรงรักษาความเชื่อมั่นดังกล่าว น่าที่จะช่วยบรรเทาผลกระทบที่เศรษฐกิจและตลาดการเงินไทยอาจได้รับจากวิกฤตสินเชื่อของสหรัฐฯ ในรอบนี้ซึ่งได้ส่งผ่านผลกระทบไปยังตลาดการเงินต่างๆ ทั่วโลก ในขณะเดียวกัน ทุกฝ่ายควรที่จะเตรียมการรองรับกรณีเลวร้ายที่อาจเกิดขึ้นจากปัญหาสินเชื่อและเศรษฐกิจในสหรัฐฯ อาทิ การเร่งกระจายตลาดสินค้าส่งออก รวมทั้งการรักษาดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาทในยามที่เงินดอลลาร์ฯ อาจจะยังคงเผชิญกับความผันผวนอย่างหนักต่อไปอีกระยะหนึ่ง