โอกาสและความเป็นไปได้ของการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพหรือผลิตภัณฑ์พลาสติกที่สามารถย่อยสลายเองได้ตามธรรมชาติ ซึ่งผลิตจากผลผลิตทางการเกษตร เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพด ข้าวสาลี อ้อย เป็นต้น กำลังมีบทบาทมากขึ้น เนื่องจากการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ทำจากปิโตรเคมีนั้นก่อให้เกิดปัญหาในการกำจัดขยะ เพราะพื้นที่ฝังกลบมีจำกัดและอาจก่อให้เกิดสารพิษตกค้างในดิน หากกำจัดโดยวิธีการเผาทำลายยังก่อให้เกิดมลพิษ อีกทั้งกระบวนการผลิตพลาสติกจากปิโตรเคมียังสิ้นเปลืองพลังงานมากกว่ากระบวนการผลิตพลาสติกจากพืช ประกอบกับปัจจุบันประเทศต่างๆทั่วโลกได้ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลให้กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เป็นต้น มีการรณรงค์ให้ใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพมากขึ้น ส่วนประเทศไทยเองแม้ว่าอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพยังอยู่ในระยะเริ่มต้น แต่ด้วยความพร้อมทางด้านปัจจัยการผลิตที่ได้จากผลผลิตทางการเกษตรของไทย คาดว่า อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพของไทยจะสามารถพัฒนาไปได้ในอนาคต ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงได้ทำการวิเคราะห์ถึงโอกาสและความเป็นไปได้ของการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพของประเทศไทย

สหภาพยุโรปเป็นตลาดหลักของพลาสติกชีวภาพและมีแนวโน้มการเติบโตของตลาดสูง

จากกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้ทำให้ตลาดพลาสติกชีวภาพโดยเฉพาะตลาดในสหภาพยุโรปมีการขยายตัว โดยสมาคมพลาสติกชีวภาพยุโรปได้คาดการณ์ตลาดพลาสติกชีวภาพว่าจะมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องและจะมีอัตราการเจริญเติบโตมากกว่าร้อยละ 20 ต่อปี และผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพในตลาดจะมีจำนวนมากขึ้นเป็น 50 ล้านตัน ภายในปี 2573 จากที่ในปี 2550 จำนวนการใช้พลาสติกชีวภาพมีเพียง 75,000-100,000 ตัน ของผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้งหมดในตลาดพลาสติกของยุโรป อีกทั้งยังคาดว่าศักยภาพในการผลิตพลาสติกชีวภาพของโลกจะเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 4 เท่า จากเกือบ 300,000 ตันในปัจจุบันเป็นมากกว่า 1 ล้านตันภายในปี 2554 ในส่วนของราคาของผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพค่อนข้างจะมีราคาสูงกว่าผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ผลิตจากปิโตรเคมี เพราะต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับสูงเนื่องจากขนาดการผลิตที่น้อยจึงไม่เกิดการประหยัดต่อขนาด ปัจจุบันราคาของเม็ดพลาสติกชีวภาพมีราคาประมาณ 2-3 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อกิโลกรัม สูงกว่าเม็ดพลาสติกที่ผลิตจากปิโตรเคมีประมาณ 1-2 เท่า อย่างไรก็ตาม สมาคมพลาสติกชีวภาพยุโรป คาดว่า ในอนาคตต้นทุนของพลาสติกชีวภาพจะมีแนวโน้มลดลงมาใกล้เคียงกับต้นทุนของพลาสติกที่ผลิตจากปิโตรเคมี เนื่องจากผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพจะได้รับความนิยมมากขึ้น และมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ผลิตจากปิโตรเคมี ทั้งในด้านของเทคโนโลยีและกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นทำให้เกิดการประหยัดต่อขนาด รวมทั้งภาวะการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากจำนวนของคู่แข่งขันรายใหม่ๆ ที่จะเข้ามาในตลาดมากขึ้น

ไทยมีความได้เปรียบด้านความอุดมสมบูรณ์ของปัจจัยการผลิตแต่ยังขาดเทคโนโลยีในการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพ

อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพในประเทศไทยนั้นยังอยู่ในระยะเริ่มต้น โดยปัจจุบันไทยยังไม่สามารถผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพได้เอง โดยไทยมีเทคโนโลยีในขั้นของการนำแป้งมันสำปะหลังมาผ่านกระบวนการเพื่อให้ได้น้ำตาลกลูโคสออกมาและเทคโนโลยีในการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์พลาสติก ซึ่งขาดกระบวนการในการหมักกลูโคสเหลวให้กลายเป็นกรดแลคติคและนำกรดแลคติคนั้นมาผ่านกระบวนการพอลิเมอร์ไรเซชั่นเพื่อให้ได้เม็ดพลาสติกชีวภาพ ซึ่งเทคโนโลยีในขั้นตอนข้างต้นนั้นกำลังอยู่ในระดับของการวิจัยและพัฒนา อย่างไรก็ตาม ได้มีบางบริษัทที่ได้นำเข้าเม็ดพลาสติกชีวภาพจากต่างประเทศมาเพื่อทำการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพบ้างแล้ว โดยผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพที่ไทยผลิตได้ประกอบไปด้วย ถุงพลาสติกสำหรับปลูกต้นไม้ ภาชนะใส่อาหาร ถุงพลาสติกสำหรับใส่ของ ช้อนส้อม แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ฟิล์มถนอมอาหาร เป็นต้น ซึ่งผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพเหล่านี้จะมีราคาค่อนข้างสูงกว่าพลาสติกทั่วไป จึงไม่ค่อยแพร่หลายในตลาดทั่วไปมากนักเพราะมีจำนวนผู้บริโภคในวงจำกัด

ความพร้อมของปัจจัยการผลิต

ประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยมวลชีวภาพหรือผลผลิตทางการเกษตร ได้แก่ ข้าวเจ้า อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด เซลลูโลส ปาล์มน้ำมัน โดยเฉพาะมันสำปะหลังซึ่งเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่ไทยมีความสามารถในการเพาะปลูกและราคาโดยเปรียบเทียบถูกกว่าผลผลิตทางการเกษตรชนิดอื่นๆ ที่สามารถนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตพลาสติกชีวภาพ โดยในปี 2550 ไทยมีเนื้อที่เก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง 7,339,000 ไร่ มีผลผลิตมันสำปะหลังทั้งสิ้น 26,916,000 ตัน คิดเป็นผลผลิต 3,668 กิโลกรัมต่อไร่ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศไนจีเรียและบราซิลพบว่าผลผลิตมันสำปะหลังต่อไร่ของไทยสูงกว่าของไนจีเรียและบราซิลที่มีผลผลิตต่อไร่อยู่ที่ 1,901 กิโลกรัมต่อไร่ และ 2,247 กิโลกรัมต่อไร่ ตามลำดับ (เนื้อที่เก็บเกี่ยวมันสำปะหลังของไนจีเรียและบราซิล 24,063,000 ไร่ 12,155,000 ไร่ ตามลำดับ) ซึ่งไทยเป็นผู้ผลิตมันสำปะหลังรายใหญ่ลำดับที่ 3 ของโลกรองจากไนจีเรียและบราซิล (ในปี 2551 ไทยมีเนื้อที่เพาะปลูกมันสำปะหลัง 7,750,000 ไร่ มีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 7,397,000 ไร่ มีผลผลิตทั้งสิ้น 25,556,000 ตัน คิดเป็นผลผลิต 3,456 กิโลกรัมต่อไร่) และไทยยังเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังทั้งมันอัดเม็ดและมันเส้นเป็นอันดับ 1 ของโลก

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

จากข้อมูลราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ที่ไร่นาในช่วงปี 2527- ปี 2551 ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่าราคาสินค้าเกษตรประเภทแป้งโดยเปรียบเทียบแล้ว (พืชที่มีส่วนประกอบของแป้งสามารถนำไปผลิตเป็นเม็ดพลาสติกชีวภาพได้) พืชที่มีราคาถูกที่สุด คือ ราคามันสำปะหลัง เพราะฉะนั้นการที่ประเทศไทยมีความสามารถในการผลิตมันสำปะหลังและราคาของมันสำปะหลังที่มีราคาถูก ทำให้ไทยมีความได้เปรียบทางด้านปัจจัยการผลิตที่จะนำมาผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพ นอกเหนือจากความอุดมสมบูรณ์ของปัจจัยการผลิตแล้วไทยยังมีอุตสาหกรรมปลายน้ำ คือ อุตสาหกรรมการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง ซึ่งการขึ้นรูปพลาสติกชีวภาพสามารถใช้เทคโนโลยีในการขึ้นรูปแบบเดียวกับพลาสติกที่ผลิตจากปิโตรเคมี ประกอบกับต้นทุนการผลิตของพลาสติกที่ไม่ย่อยสลายมีการผันผวนตามราคาน้ำมัน ซึ่งคาดว่าในอนาคตราคาน้ำมันจะอยู่ในระดับสูง เนื่องด้วยความไม่สมดุลระหว่างความต้องการใช้น้ำมันและปริมาณของน้ำมันที่มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ เพราะน้ำมันเป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไปและไม่สามารถสร้างขึ้นมาทดแทนได้ในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งการเปลี่ยนมาผลิตและบริโภคผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพนับเป็นการช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าปิโตรเลียมมาเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมผลิตพลาสติกที่ไม่ย่อยสลายอีกด้วย

โอกาสของอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพจากกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

ปัจจุบันในหลายๆประเทศทั่วโลกได้ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมรวมทั้งใช้มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี เช่น สหภาพยุโรป ได้มีการออกมาตรการเกี่ยวกับการผลิตรถยนต์ให้ประกอบไปด้วยชิ้นส่วนที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 โดยน้ำหนักหรือต้องเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ และการนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จะต้องสามารถนำกลับมาใช้ใหม่หรือสามารถย่อยสลายได้ ประเทศเยอรมนีได้ทำการเก็บภาษีถุงพลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายได้เพื่อให้ถุงพลาสติกที่ไม่ย่อยสลายมีราคาสูงขึ้น ฝรั่งเศสได้ออกกฎระเบียบให้เริ่มใช้พลาสติกชีวภาพในปี 2553 เป็นต้น และประเทศที่เป็นประเทศผู้นำด้านการผลิตและบริโภคพลาสติกชีวภาพ เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ยังคงมีปริมาณการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพภายในประเทศไม่เพียงพอ รวมทั้งกำลังแสวงหาแหล่งผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพแห่งใหม่ ซึ่งประเทศไทยค่อนข้างจะมีความอุดมสมบูรณ์ของวัตถุดิบทางการเกษตร จึงเป็นโอกาสที่ไทยจะได้พัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ อีกทั้งการที่ประเทศเยอรมนีได้ให้ความร่วมมือกับไทยเพื่อพัฒนาโครงการนวัตกรรมพลาสติกชีวภาพ จากความร่วมมือนี้จะช่วยให้ไทยได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพ รวมถึงการสร้างตลาดของอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ

การขาดเทคโนโลยีและต้นทุนที่สูงยังคงเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ

ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่สามารถผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพได้ เนื่องจากขาดเทคโนโลยีและผู้เชี่ยวชาญ โดยเทคโนโลยีในการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพยังอยู่ในช่วงของการวิจัยและพัฒนา ประกอบกับในระยะแรกๆของการพัฒนาผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพต้นทุนในการผลิตยังคงสูงอยู่เนื่องจากมีขนาดการผลิตที่ยังไม่ก่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาด เมื่อต้นทุนสูงจึงส่งผลให้ราคาขายของผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพมีราคาสูงตามไปด้วย จึงทำให้มีจำนวนผู้บริโภคค่อนข้างจำกัด อีกทั้งการประชาสัมพันธ์ถึงประโยชน์ของการใช้พลาสติกชีวภาพยังไม่ทั่วถึงจึงทำให้มีฐานของจำนวนผู้บริโภคค่อนข้างแคบ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศไทยยังไม่สามารถที่จะผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพเองได้แต่ในขณะนี้ภาครัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณจำนวน 1,800 ล้านบาท เพื่อความเป็นผู้นำด้านพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพในระดับภูมิภาค ซึ่งแผนแม่บทในการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพของไทยนั้นประกอบไปด้วยกลยุทธ์ด้านต่างๆ คือ 1. กลยุทธ์ในการสร้างความพร้อมด้านวัตถุดิบชีวมวล 2. กลยุทธ์เร่งรัดการสร้างเทคโนโลยี 3. กลยุทธ์สร้างอุตสาหกรรมและธุรกิจนวัตกรรม การสร้างอุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ของอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ และสุดท้ายคือการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ห้องปฏิบัติการทดสอบและรับรองมาตรฐาน เป็นต้น

โอกาสธุรกิจของผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ

การพัฒนาเม็ดพลาสติกชีวภาพในประเทศไทยนั้น ยังคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ซึ่งตามแผนพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพของภาครัฐนั้น ต้องอาศัยระยะเวลาประมาณ 5 ปี คือตั้งแต่ปี 2551-2555 กว่าที่ประเทศไทยจะมีโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพ แต่ในระหว่างการพัฒนานั้น ไทยสามารถนำเข้าเม็ดพลาสติกชีวภาพจากต่างประเทศมาเพื่อทำการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพได้ เนื่องจากในปัจจุบันราคาของเม็ดพลาสติกชีวภาพ (Polylactic Acid: PLA) มีราคาประมาณ 2 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อกิโลกรัม ซึ่งใกล้เคียงกับราคาเม็ดพลาสติกที่ผลิตจากปิโตรเคมี (Polyethylene Terepthalate: PET) ที่มีราคา 1.5 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อกิโลกรัม ประกอบกับว่ามีแนวโน้มที่ภาครัฐบาลอาจจะลดภาษีนำเข้าเม็ดพลาสติกชีวภาพ ตามที่ภาคเอกชนเคยทำการเรียกร้องไปก่อนหน้านี้ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพของไทยสามารถแข่งขันกับประเทศต่างๆ ได้ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยน่าจะเร่งศึกษาความต้องการของตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพเพื่อขยายโอกาสตลาดส่งออกไปยังกลุ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีศักยภาพเติบโตสูง โดยการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพอาจต้องศึกษาวิจัยวัสดุอื่นๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นผลิตภัณฑ์ที่ควรจะต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย เช่น อาจใช้สีธรรมชาติผสมในเม็ดพลาสติกชีวภาพ เป็นต้น โดยผลิตภัณฑ์พลาสติกและตลาดที่ไทยมีศักยภาพในการแข่งขัน ได้แก่ ถุงพลาสติก เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ ซึ่งผลิตภัณฑ์ถุงพลาสติกไทยมีสัดส่วนการส่งออก ไปยังสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นร้อยละ 29.6 และ 25.1 ตามลำดับ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปร้อยละ 17.1 และ 13.2 ตามลำดับ ส่วนอุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ ไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางร้อยละ 20.8 จากการที่ผลิตภัณฑ์พลาสติกของไทยมีศักยภาพในกลุ่มตลาดที่กล่าวข้างต้นอยู่แล้ว เมื่อปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ผลิตจากปิโตรเคมีมาเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้ คาดว่า น่าจะทำให้ไทยมีสัดส่วนการส่งออกที่เพิ่มมากขึ้น เหตุผลทั้งจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีที่ประเทศต่างๆนำมาใช้และการตระหนักถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของทุกๆประเทศ

จากการวิเคราะห์ถึงความได้เปรียบและเสียเปรียบของอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทยที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า

-ในปัจจุบันที่ไทยยังไม่มีเทคโนโลยีในการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรสนับสนุนให้มีโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศกับประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยีพลาสติกชีวภาพให้มากขึ้น (เช่น ในปัจจุบันที่มีความร่วมมือกับประเทศเยอรมนี) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพ เพราะการพัฒนาเทคโนโลยีเองนั้นจะก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนา ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้จะสะท้อนไปถึงต้นทุนการผลิต และส่งผลต่อระดับราคาของผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพในที่สุด ฉะนั้นในระยะสั้นควรสนับสนุนให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนำเทคโนโลยีนั้นมาคิดค้นต่อยอด และโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศยังอาจช่วยให้ไทยสามารถขยายตลาดไปยังประเทศที่ให้ความร่วมมือได้อีกด้วย

-ในภาวะที่อุตสาหกรรมพลาสติกที่ผลิตจากปิโตรเคมีมีการแข่งขันกันสูงทั้งจากจำนวนคู่แข่งที่มีอยู่ในตลาด จากมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี และจากกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่เพิ่มบทบาทมากขึ้น ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมพลาสติกที่ผลิตจากปิโตรเคมีควรมีการปรับเปลี่ยนไปผลิตพลาสติกชีวภาพ เนื่องจากเทคโนโลยีในการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพสามารถใช้เทคโนโลยีเดิมที่ใช้สำหรับการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์พลาสติกจากปิโตรเคมีได้

-ในปัจจุบันการบริโภคผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพภายในประเทศยังไม่แพร่หลายมากนัก อาจเป็นเพราะราคาที่สูงของผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ และการขาดการประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงประโยชน์ของการใช้พลาสติกชีวภาพ ดังนั้น ภาครัฐควรประชาสัมพันธ์และให้ความรู้กับผู้บริโภคเกี่ยวกับผลดีที่เกิดจากการใช้พลาสติกที่ย่อยสลายได้ เพื่อให้มีตลาดที่กว้างขึ้นช่วยให้ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพเกิดการประหยัดต่อขนาด และการมีฐานการผลิตที่แข็งแกร่งก็จะเอื้อประโยชน์ต่อการแข่งขันสำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพไปยังตลาดโลก

สรุป

การใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ทำจากปิโตรเคมีนั้นได้ก่อให้เกิดปัญหาในเรื่องของการกำจัดขยะ ซึ่งกระบวนการกำจัดขยะนั้นก่อให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งปัญหาของการแข่งขันที่รุนแรงจากจำนวนผู้ผลิตที่มีมากขึ้น แนวโน้มของการค้าที่เปิดเสรีมากขึ้นทำให้ประเทศต่างๆ มีแนวโน้มที่จะใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีมากขึ้น ส่งผลให้ในปัจจุบันพลาสติกชีวภาพ (Biodegradable Plastics) ได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น เนื่องจากพลาสติกชีวภาพผลิตมาจากพืช เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพด อ้อย เป็นต้น ซึ่งพลาสติกชีวภาพสามารถย่อยสลายได้เมื่อถูกทิ้งไปเป็นขยะหรือถูกฝังกลบอีกทั้งพลาสติกชีวภาพยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถส่งออกไปยังประเทศที่ค่อนข้างเข้มงวดในมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมได้ด้วย

ปัจจุบันประเทศในกลุ่มพัฒนาแล้วส่วนใหญ่จะเป็นประเทศผู้นำในด้านการผลิตและการบริโภคพลาสติกชีวภาพ เช่น ตลาดพลาสติกชีวภาพในสหภาพยุโรปมีการขยายตัวสูง ซึ่งสมาคมพลาสติกชีวภาพยุโรปได้คาดการณ์ว่าตลาดพลาสติกชีวภาพจะมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องและจะมีอัตราการเจริญเติบโตมากกว่าร้อยละ 20 ต่อปี แต่ราคาของผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพค่อนข้างจะมีราคาสูงกว่าผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ผลิตจากปิโตรเคมี เพราะต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับสูงเนื่องจากขนาดการผลิตที่น้อยจึงไม่เกิดการประหยัดต่อขนาด

อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพในประเทศไทยนั้นยังอยู่ในระยะเริ่มต้น โดยปัจจุบันไทยยังไม่สามารถผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพได้เองเนื่องจากขาดเทคโนโลยีและผู้เชี่ยวชาญ แต่ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของผลผลิตทางการเกษตรโดยเฉพาะมันสำปะหลังซึ่งเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่ไทยมีความสามารถในการเพาะปลูกและมีราคาโดยเปรียบเทียบถูกกว่าผลผลิตทางการเกษตรชนิดอื่น ประกอบกับไทยยังมีอุตสาหกรรมปลายน้ำ คือ อุตสาหกรรมการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง อีกทั้งประเทศที่เป็นประเทศผู้นำด้านการผลิตและบริโภคพลาสติกชีวภาพยังคงมีปริมาณการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพภายในประเทศไม่เพียงพอ จึงกำลังแสวงหาแหล่งผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพแห่งใหม่ ซึ่งประเทศไทยค่อนข้างจะมีความอุดมสมบูรณ์ของวัตถุดิบทางการเกษตร จากความได้เปรียบและเสียเปรียบของอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทยที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า จากการที่ไทยยังขาดเทคโนโลยีในการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรสนับสนุนให้มีโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศกับประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยีพลาสติกชีวภาพให้มากขึ้น เพื่อส่งเสริมให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี พร้อมกับประชาสัมพันธ์และให้ความรู้กับผู้บริโภคเกี่ยวกับประโยชน์ที่เกิดจากการใช้พลาสติกที่ย่อยสลายได้ เพื่อให้มีตลาดที่กว้างขึ้นช่วยให้ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพเกิดการประหยัดต่อขนาด และการมีฐานการผลิตที่แข็งแกร่งก็จะเอื้อประโยชน์ต่อการแข่งขันสำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพไปยังตลาดโลก