ปี’52 ไทยเที่ยวไทย…โตร้อยละ 3 : สร้างเม็ดเงินสะพัด 4 แสนล้านบาท

ในปี 2552 ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงมีแนวโน้มถดถอยลงต่อเนื่องมาจากช่วงปลายปี 2551 ที่สถานการณ์ทางการเมืองยังไม่มีเสถียรภาพเท่าที่ควร ก่อให้การชุมนุมเรียกร้องทางการเมือง ซึ่งนำไปสู่การปิดล้อมสนามบิน และส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของไทยอย่างรุนแรง ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนไม่น้อยต่างชะลอการเดินทางเข้ามายังประเทศไทยออกไป เพื่อรอดูสถานการณ์ให้มั่นใจในความสงบและปลอดภัยภายในประเทศไทยก่อน นักท่องเที่ยวเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวจากตลาดท่องเที่ยวหลักของไทยในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ฮ่องกง และไต้หวัน ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันกว่าร้อยละ 60 ของนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกทั้งหมดที่เดินทางมายังประเทศไทยประมาณปีละเกือบ 8 ล้านคน ขณะที่นักท่องเที่ยวจากตลาดท่องเที่ยวระยะไกลในยุโรปของไทย ซึ่งเป็นตลาดที่สร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวให้ประเทศไทยได้สูงกว่าทุกภูมิภาคมาตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมานั้น มีแนวโน้มถดถอยลงจากผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาที่ลุกลามไปยังยุโรป

ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว จำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องเร่งดำเนินมาตรการต่างๆเพื่อเรียกความมั่นใจด้านความปลอดภัยในประเทศไทยให้กลับคืนมาในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเร็ว และเริ่มเดินทางกลับมาท่องเที่ยวประเทศไทยตามปกติ ซึ่งคาดว่าคงต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร ทั้งนักท่องเที่ยวจากตลาดระยะใกล้ในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งอ่อนไหวต่อสิ่งกระทบด้านความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน และนักท่องเที่ยวจากตลาดระยะไกลในยุโรป ซึ่งประสบกับปัญหาภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ดังนั้น การกระตุ้นตลาดนักท่องเที่ยวคนไทยให้ขยายตัวเร็วขึ้น จากเดิมที่เติบโตในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 2 ต่อปีในช่วงตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา โดยมีคนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ 83.2 ล้านคนครั้งในปี 2550 ทั้งนี้เพื่อทดแทนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หดหายไปในปัจจุบัน เป็นสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการควบคู่ไปกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้กลับเข้ามาเที่ยวประเทศไทย

นอกจากนี้ จากการสำรวจของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยพบว่า ในปี 2550 มีนักท่องเที่ยวคนไทยเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศจำนวน 3.89 คน (ไม่รวมคนไทยที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศ) เพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 20 เทียบกับปี 2549 ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 และมีการใช้จ่ายในต่างประเทศคิดเป็นมูลค่าประมาณ 100,475 ล้านบาท สำหรับในปี 2551 บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดการณ์ว่า จะมีคนไทยเดินทางไปต่างประเทศเพิ่มขึ้นแม้ในอัตราที่ชะลอตัวลง คือ เพิ่มขึ้นไม่เกินร้อยละ 10 โดยมีจำนวนรวมทั้งสิ้นประมาณกว่า 4 ล้านคน และมีการใช้จ่ายในต่างประเทศคิดเป็นมูลค่าประมาณเกือบ 110,000 ล้านบาท

การส่งเสริมให้คนไทยหันมาเดินทางท่องเที่ยวในประเทศกันมากขึ้นจึงไม่เพียงช่วยเสริมสภาพคล่องให้แก่ธุรกิจบริการด้านการท่องเที่ยวของไทย ทำให้สามารถยืนหยัดอยู่ได้จนตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาคึกคักตามเดิมเท่านั้น แต่ยังสามารถช่วยชะลอการเติบโตของตลาดคนไทยเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ และสกัดกั้นไม่ให้เงินตราต่างประเทศจำนวนมากไหลออกนอกประเทศ ช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศได้อีกทางหนึ่งด้วย

ตลาดไทยเที่ยวไทยปี’51 : ฝ่าปัจจัยลบ….โตต่อเนื่อง
จากการสำรวจของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พบว่า ตลาดคนไทยเที่ยวในประเทศ (พิจารณาจากจำนวนครั้งของการเดินทางในประเทศของคนไทย) ที่ขยายตัวในอัตราเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 8 ต่อปีอย่างต่อเนื่องในช่วงระหว่างปี 2544-2548 มีแนวโน้มชะลอการขยายตัวลงเหลือเพียงเฉลี่ยร้อยละ 2 ต่อปีตั้งแต่ปี 2549 -2550 เนื่องจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วส่งผลกระทบทำให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวสูงตาม ประกอบกับราคาสินค้าและบริการที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันส่งผลบั่นทอนกำลังซื้อของประชาชนโดยรวมให้ถดถอยลง

อย่างไรก็ตาม สำหรับในปี 2551 แม้ว่าสถานการณ์โดยทั่วไปเกือบตลอดทั้งปีจะไม่เอื้อต่อการเติบโตของตลาดคนไทยเที่ยวในประเทศ แต่โดยรวมแล้ว บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ยังคาดการณ์ว่า จะมีคนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้นแม้ในอัตราใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า ทั้งนี้เนื่องจากมีปัจจัยสำคัญที่เกื้อหนุนการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยในช่วงปลายปี 2551 ดังนี้

– อากาศที่หนาวเย็นติดต่อกันเป็นเวลานานตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายนจนถึงสิ้นปี 2551 และต่อเนื่องมาจนถึงเดือนมกราคม 2552 เอื้ออำนวยให้คนไทยจำนวนมากเดินทางไปท่องเที่ยวสัมผัสอากาศที่หนาวเย็นจัดตามยอดดอยในภาคเหนือ และตามยอดภูในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

– ราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่กลางปี 2550 มาถึงเดือนกรกฎาคม 2551 โดยพิจารณาจากราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วที่อยู่ในระดับเฉลี่ยลิตรละ 25.34 บาทในเดือนมิถุนายน 2550เพิ่มขึ้นตามลำดับมาอยู่ในระดับสูงสุด คือ เฉลี่ยลิตรละ 42.15 บาทในเดือนกรกฎาคม 2551 และมีแนวโน้มลดลงอย่างรวดเร็วตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก จนมายืนในระดับเฉลี่ยลิตรละ 19.75 บาทในเดือนธันวาคม 2551 ทำให้ราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2551 ลดลงตามลำดับเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยลดลงร้อยละ 4.4 ร้อยละ 22.6 และร้อยละ 32.0 ตามลำดับในเดือนตุลาคม เดือนพฤศจิกายน และเดือนธันวาคม 2551 แนวโน้มราคาน้ำมันที่ลดลงในช่วงปลายปี 2551 ดังกล่าวมีส่วนสำคัญที่ช่วยเกื้อหนุนตลาดคนไทยเที่ยวในประเทศ (ซึ่งส่วนใหญ่ คือ กว่าร้อยละ 90 นิยมเดินทางท่องเที่ยวกันเองด้วยรถยนต์ส่วนตัวหรือบริการรถเช่า) ให้กลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นตามลำดับในช่วงปลายปี 2551

– บรรยากาศการท่องเที่ยวไทยที่กลับมาแจ่มใสอย่างเด่นชัดอีกครั้ง เมื่อสถานการณ์ความไม่สงบภายในประเทศ จากเหตุการณ์ชุมนุมเรียกร้องทางการเมือง ได้คลี่คลายลงตามลำดับหลังกลุ่มพันธมิตรฯคืนพื้นที่สนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2551 และมีรัฐบาลชุดนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเข้ามาบริหารประเทศได้ในช่วงปลายปี 2551

– ธุรกิจบริการด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะโรงแรมตามเมืองท่องเที่ยว ต่างปรับลดอัตราค่าบริการ และจัดรายการส่งเสริมการขาย เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติ หลังประสบปัญหาตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติถดถอยลงอย่างรุนแรงหลังรัฐบาลประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่กรุงเทพฯเมื่อวันที่ 2-14 กันยายน 2551 และการปิดล้อมสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิของกลุ่มพันธมิตรฯ

– ภาครัฐฯโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเป็นแกนนำจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย ในโครงการ “เที่ยวไทยครึกครื้น เศรษฐกิจไทยคึกคัก” ตั้งแต่ปลายปี 2551 ต่อเนื่องมาในปี 2552 ภายใต้แคมเปญ Amazing Thailand โดยได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน อาทิ ธุรกิจสายการบิน ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจบริการนำเที่ยว และธุรกิจค้าปลีก

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด จึงคาดการณ์ว่า ในปี 2551 จะมีคนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศรวมทั้งสิ้นประมาณ 84.7 ล้านคนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 จากปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม จากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยเพราะกำลังซื้อของประชาชนโดยรวมถูกบั่นทอนให้ถดถอยลงด้วยราคาสินค้าและบริการที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้นักท่องเที่ยวคนไทยส่วนใหญ่ต่างปรับพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวในลักษณะประหยัดมากขึ้น ทำให้การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวคนไทยที่เดินทางท่องเที่ยวในประเทศในปี 2551 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 385,000 ล้านบาทเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.2 จากปี 2550 ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1

ปี’52 ภาครัฐและเอกชนหนุนไทยเที่ยวไทย….ชดเชยต่างชาติที่หดตัว
ปัจจัยสำคัญที่เกื้อหนุนการเติบโตของตลาดคนไทยเที่ยวในประเทศ โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำกว่าราคาน้ำมันเฉลี่ยในปี 2551 และราคาสินค้าและบริการต่างๆที่ปรับตัวลดลง เนื่องจากภาวะตลาดที่กำลังซื้อโดยรวมถดถอยลง ประกอบกับความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชนในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ช่วยสร้างบรรยากาศการท่องเที่ยวภายในประเทศที่แจ่มใส บรรดาเมืองท่องเที่ยวหลักและเมืองท่องเที่ยวรองต่างจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในท้องถิ่นกันอย่างยิ่งใหญ่ต่อเนื่องตลอดทั้งปีในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ สำหรับงานเทศกาลสำคัญๆที่มีการจัดงานเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ในทุกพื้นที่เมืองท่องเที่ยวสำคัญ ได้แก่ เทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ หรืองานเคาต์ดาวน์ปี 2009 และตามมาด้วยเทศกาลตรุษจีนในช่วงปลายเดือนมกราคม

นอกจากนี้ ยังมีบริการด้านการท่องเที่ยวที่พัฒนาขึ้นมาในรูปแบบใหม่เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติจำนวนไม่น้อยที่หันมาท่องเที่ยวในแบบประหยัดกันมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจด้านที่พักแรมสำหรับนักท่องเที่ยว

เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่เกื้อหนุนให้ตลาดคนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศขยายตัวในอัตราสูงขึ้นในปี 2552 โดย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดการณ์ว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 จะมีนักท่องเที่ยวคนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 เทียบกับครึ่งแรกของปี 2551 ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 และในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวคนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 เทียบกับครึ่งหลังของปี 2551 ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 ทำให้โดยรวมตลอดทั้งปี 2552 คาดว่าจะมีคนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศรวมทั้งสิ้นประมาณ 87.2 ล้านคนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 และก่อให้เกิดรายได้ด้านการท่องเที่ยวสะพัดสู่ธุรกิจบริการด้านการท่องเที่ยวในประเทศคิดเป็นมูลค่าประมาณ 400,000 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 เทียบกับปี 2551 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2

เม็ดเงินรายได้ด้านการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวคนไทยดังกล่าวมีแนวโน้มสะพัดสู่ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องโดยตรง ดังนี้
– ร้อยละ 24 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 96,000 ล้านบาทมีแนวโน้มสะพัดสู่ธุรกิจด้านที่พัก ได้แก่ โรงแรม รีสอร์ท บังกะโล โฮมสเตย์ ที่พักในอุทยานแห่งชาติ เป็นต้น

– ร้อยละ 20 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 80,000 ล้านบาทมีแนวโน้มสะพัดสู่ธุรกิจด้านการจับจ่ายซื้อสินค้าของนักท่องเที่ยว ได้แก่ ร้านจำหน่ายสินค้าของที่ระลึกนักท่องเที่ยว ร้านจำหน่ายอัญมณีและเครื่องประดับ ร้านจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ร้านจำหน่ายสินค้าโอทอป ห้างสรรพสินค้า ร้านจำหน่ายสินค้าตามศูนย์การค้า และย่านค้าส่งต่างๆ เป็นต้น

– ร้อยละ 20 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 80,000 ล้านบาทมีแนวโน้มสะพัดสู่ธุรกิจด้านอาหารและเครื่องดื่ม ได้แก่ ภัตตาคาร และร้านอาหารประเภทต่างๆ รวมทั้งร้านอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ด เป็นต้น

– ร้อยละ 15 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 60,000 ล้านบาทมีแนวโน้มสะพัดสู่ธุรกิจบริการด้านบันเทิง ได้แก่ สถานบันเทิง รวมทั้งสถานที่จัดการแสดงโชว์ (อาทิ การแสดงหุ่นละครเล็กของโจหลุยส์ โรงละครสยามนิรมิต และภูเก็ตแฟนตาซี ) บริการสปา บริการนวดแผนไทย กีฬาประเภทต่างๆ รวมทั้งการดำน้ำ และกอล์ฟ

– ร้อยละ 12 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 48,000 ล้านบาทมีแนวโน้มสะพัดสู่ธุรกิจบริการด้านคมนาคม ได้แก่ รถไฟ รถทัวร์ สายการบิน ธุรกิจรถเช่า และสถานีบริการน้ำมัน

– ร้อยละ 7 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 28,000 ล้านบาทมีแนวโน้มสะพัดสู่ธุรกิจบริการด้านบริการนำเที่ยว รวมทั้งมัคคุเทศก์

สรุป
ในภาวะที่การท่องเที่ยวไทยได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศดังได้กล่าวมาแล้ว ทำให้ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มถดถอยลงในปี 2552 ตลาดนักท่องเที่ยวคนไทยจึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง ในอันที่จะช่วยเสริมสร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยว ให้สะพัดสู่ธุรกิจบริการด้านการท่องเที่ยวของไทย ทดแทนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มหดหายไปได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยเสริมสภาพคล่องแก่ธุรกิจบริการด้านการท่องเที่ยวของไทยให้สามารถยืนหยัดอยู่ได้ จนกว่าตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติจะฟื้นตัวกลับมาสู่ภาวะปกติ และเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยในการเดินทางมาเที่ยวประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องประสานความร่วมมือกันอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยในการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย และจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศควบคู่กันไป รวมทั้งการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและบริการด้านการท่องเที่ยว ทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการ เพื่อสร้างความประทับใจแก่นักท่องเที่ยวที่มาเยือนและอยากกลับมาเที่ยวอีก ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และส่งผลให้การท่องเที่ยวเป็นแหล่งรายได้ที่มั่นคงของประเทศได้ในที่สุด