กฏเกณฑ์ใหม่ ปี 2552 ตัวแทนประกันชีวิตนอกจากสอบผ่านแล้วต้องผ่านการอบรมด้วย

สมาคมประกันชีวิตไทยเผย การสอบตัวแทนประกันชีวิต เดือน มกราคม 2552 มีผู้สมัครสอบทั่วประเทศ 8,904 คน ลดลงในระยะเดียวกัน ร้อยละ 35.45 มีผู้สอบผ่าน 4,058 คน หรือร้อยละ 61.22 ของผู้เข้าสอบ

นางบุษรา อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการสมาคมประกันชีวิตไทยเปิดเผยว่า การสอบความรู้เพื่อขอรับใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิตเดือน มกราคม 2552 ที่ผ่านมา มีผู้สมัครสอบความรู้เพื่อขอรับใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิต ทั่วประเทศ จำนวน 8,904 คน ในจำนวนนี้มีผู้เข้าสอบ 6,629 คน หรือร้อยละ 74.44 ของผู้สมัครสอบ มีผู้สอบผ่าน 4,058 คน หรือร้อยละ 61.21ของผู้เข้าสอบ โดยแยกเป็นการสมัครสอบด้วยคอมพิวเตอร์ 4,328 คน เข้าสอบ 3,655 คน สอบผ่าน 2,466 คน หรือร้อยละ 67.46 ของผู้เข้าสอบ และสมัครสอบด้วยระบบกระดาษ 4,576 คน เข้าสอบ 2,974 คน สอบผ่าน 1,592 คน หรือร้อยละ 53.53 ของผู้เข้าสอบ ทั้งนี้ การจัดสอบทั้งสองระบบแยกเป็นการสอบในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคได้ดังนี้

ส่วนกลาง มีผู้สมัครสอบรวม 4,022 คน เข้าสอบ 3,506 คน สอบผ่าน 2,387 คน หรือร้อยละ 68.08 ของผู้เข้าสอบ แยกเป็นสมัครสอบด้วยระบบคอมพิวเตอร์ 3,587 คน เข้าสอบ 3,222 คน สอบผ่าน 2,203 คน หรือร้อยละ 68.37 ของผู้เข้าสอบ และสมัครสอบด้วยระบบกระดาษ 435 คน เข้าสอบ 284 คน สอบผ่าน 184 คน หรือร้อยละ 64.78 ของผู้เข้าสอบ

ส่วนภูมิภาค มีผู้สมัครสอบรวม 4,882 คน เข้าสอบ 3,123 คน สอบผ่าน 1,671 คน หรือร้อยละ 53.50 ของผู้เข้าสอบ แยกเป็นการสมัครด้วยระบบคอมพิวเตอร์ 741 คน เข้าสอบ 433 คน สอบผ่าน 263 คน หรือร้อยละ 60.73 ของผู้เข้าสอบ และสมัครสอบด้วยระบบกระดาษ 4,141 คน เข้าสอบ 2,690 คน สอบผ่าน 1,408 คน หรือร้อยละ 52.34 ของผู้เข้าสอบ

สำหรับจังหวัดที่มีผู้สมัครสอบสูงสุด 5 อันดับแรกของทั่วประเทศ คือ อันดับที่ 1 กรุงเทพมหานคร มีผู้สมัครสอบ 4,022 คน อันดับที่ 2 สงขลา มีผู้สมัครสอบ 339 คน อันดับที่ 3 ขอนแก่น มีผู้สมัครสอบ 324 คน อันดับที่ 4 เชียงใหม่ มีผู้สมัครสอบ 303 คน และอันดับที่ 5 นครราชสีมา มีผู้สมัครสอบ 246 คน

เปรียบเทียบการสอบตัวแทนประกันชีวิตของเดือนมกราคม 2551 และ 2552 ปรากฏว่ามีผู้สมัครสอบเดือนมกราคม 2551 รวม 13,793 คน ผู้สมัครเดือนมกราคม 2552 ลดลงจากเดือนมกราคม 2551 ร้อยละ 35.45 ทั้งนี้ อาจจะเนื่องจากผลกระทบด้านเศรษฐกิจของประเทศ ตกต่ำ และกฏเกณฑ์ใหม่ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กำหนดให้ผู้ที่จะขอรับและขอต่อใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิต จะต้องผ่านการอบรมตามที่ สำนักงาน คปภ.กำหนด จึงทำให้บริษัทชะลอการพิจารณาส่งคนเข้าสอบ โดยเฉพาะผู้สมัครสอบที่มีภูมิลำเนาในต่างจังหวัดจะต้องมีค่าใช้จ่ายต่อคนเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากค่าอบรมแล้วจะต้องมีค่าเดินทางและค่าที่พักด้วย คาดว่าประมาณเดือน เมษายน 2552 บริษัทประกันชีวิตคงสามารถปรับแผนการอบรมของบริษัทได้ ซึ่งจะเป็นผลให้ปริมาณผู้สอบตัวแทนประกันชีวิตเพิ่มตามภาวะปกติ

นางบุษรา อึ๊งภากรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการรองรับประกาศสำนักงาน (คปภ.) เรื่องกำหนดหลักสูตรและวิธีการอบรมความรู้เกี่ยวการประกันชีวิต สำหรับผู้ขอรับและขอต่อใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิตและนายหน้าประกันชีวิต สมาคมจึงได้ขออนุมัติและได้รับอนุมัติจากสำนักงาน คปภ. ให้เป็นผู้จัดอบรมหลักสูตรสำหรับการขอรับและขอต่อใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิต รวม 4 หลักสูตร คือ

1.หลักสูตรการขอรับใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิต ใบอนุญาต 1 ปี (6 ชั่วโมง) 2.หลักสูตรการขอต่อใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิต ครั้งที่ 1 ใบอนุญาต 1 ปี(6 ชั่วโมง) 3. หลักสูตรการขอต่อใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิต ครั้งที่2 ใบอนุญาต 1 ปี(6 ชั่วโมง) 4. หลักสูตรการขอต่อใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิต ครั้งที่ 3 ใบอนุญาต 5 ปี(11ชั่วโมง)

ในการอบรมหลักสูตรขอรับและขอต่อใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิต นอกจากจะจัดอบรมที่สมาคมประกันชีวิตไทย อาคารอามีโก้ทาวเวอร์ ชั้น 9 เลขที่ 388 ถนนสี่พระยา แขวงมหาพฤฒราม เขตบางรัก กรุงเทพฯ แล้ว สมาคมจะจัดอบรมนอกสถานที่เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับบริษัทสมาชิกอีกด้วย

นอกจากนี้สมาคมจะจัดอบรมหลักสูตรการขอรับและขอต่อใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันชีวิต ขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นขออนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ผู้ใดประสงค์จะทราบรายละเอียดกำหนดการจัดอบรม และกำหนดการสอบความรู้เพื่อขอรับใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิตทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค สามารถดูได้ที่บริษัทประกันชีวิตทั่วประเทศหรือที่เวปไซด์ของสมาคมประกันชีวิตไทย http://www.tlaa.org

หากสงสัยประการใดหรือต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมสอบถามได้ที่ฝ่ายตัวแทนสัมพันธ์สมาคมประกันชีวิตไทย โทรศัพท์ 0 2633 0788