ส่งออกไตรมาส 4 อาจพลิกกลับเป็นบวกกว่า 7.5% … แต่ต้องระวังเงินบาทแข็งค่า

การส่งออกของไทยในเดือนกันยายนปรับตัวดีขึ้นอย่างมาก โดยหดตัวในอัตราที่ชะลอลงมาเป็นตัวเลขหลักเดียว การฟื้นตัวอย่างชัดเจนของการส่งออกในเดือนดังกล่าวนี้ ค่อนข้างสอดคล้องกับทิศทางของหลายประเทศในเอเชีย ซึ่งเป็นไปตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และถ้าหากปัจจัยหนุนการส่งออกยังคงรักษาแรงขับเคลื่อนไว้ได้อย่างต่อเนื่อง ก็อาจเห็นการส่งออกกลับมาเป็นบวกได้ตั้งแต่เดือนตุลาคม ซึ่งจะถือว่าเร็วกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นที่เพิ่มมากขึ้นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก จะยิ่งตอกย้ำโอกาสที่ค่าเงินดอลลาร์ฯ จะอ่อนค่าลงต่อไปอีก ขณะที่การเกินดุลการค้าที่สูงขึ้นของไทยเอง ก็จะเป็นปัจจัยหนุนให้ค่าเงินบาทมีโอกาสที่จะแข็งค่าขึ้นได้ต่อเนื่อง ผู้ประกอบการส่งออกของไทยจึงจำเป็นต้องเตรียมรับมือกับแนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาทในระยะข้างหน้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์สถานการณ์และแนวโน้มการส่งออกของไทย โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้
การส่งออกของไทยในเดือนกันยายน 2552 หดตัวลงร้อยละ 8.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year) ชะลอลงอย่างมากจากที่หดตัวร้อยละ 18.4 ในเดือนก่อนหน้า และเป็นอัตราที่ดีกว่าที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยและนักวิเคราะห์โดยเฉลี่ยคาดการณ์ไว้ว่าจะหดตัวประมาณร้อยละ 15 สำหรับมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 14,905 ล้านดอลลาร์ฯ จาก 13,281 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนก่อน โดยมูลค่าการส่งออกที่ปรับฤดูกาลแล้ว เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (Seasonally Adjusted, Month-on-Month) นับเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นรายเดือนที่แข็งแกร่งที่สุดในรอบ 20 เดือน ในเดือนนี้ การส่งออกได้รับแรงหนุนจากการส่งออกทองคำที่ขยายตัวถึงร้อยละ 163 (YoY) มีมูลค่าสูงถึง 1,013 ล้านดอลลาร์ฯ (สูงกว่าช่วงปกติ ซึ่งมูลค่าส่งออกทองคำโดยเฉลี่ยในช่วง 8 เดือนก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 483 ล้านดอลลาร์ฯ) อย่างไรก็ตาม แม้ไม่รวมทองคำ การส่งออกก็มีทิศทางปรับตัวดีขึ้นค่อนข้างมาก โดยหดตัวลงร้อยละ 12.7 (YoY) ชะลอลงมากจากที่หดตัวร้อยละ 20.2 ในเดือนก่อนหน้า

ในด้านการนำเข้าในเดือนกันยายนก็ปรับตัวดีขึ้นอย่างมากเช่นเดียวกัน โดยหดตัวร้อยละ 17.9 (YoY) มีมูลค่า 12,925 ล้านดอลลาร์ฯ จากที่มีมูลค่า 11,201 ล้านดอลลาร์ฯ หดตัวสูงถึงร้อยละ 32.8 ในเดือนก่อน ที่สำคัญเป็นผลมาจากการนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากในเดือนดังกล่าวซึ่งเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวลดลง สำหรับดุลการค้าของไทยในเดือนกันยายนเกินดุล 1,980 ล้านดอลลาร์ฯ ลดลงเล็กน้อยจาก 2,079 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนก่อนหน้า โดยภาพรวมในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 การส่งออกมีมูลค่า 109,301 ล้านดอลลาร์ฯ หดตัวลงร้อยละ 21.4 ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 93,544 ล้านดอลลาร์ฯ หดตัวร้อยละ 32.7 ดุลการค้าเกินดุล 15,757 ล้านดอลลาร์ฯ จากที่ขาดดุล 1,448 ล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2551

สินค้าส่งออกสำคัญส่วนใหญ่มีการปรับตัวดีขึ้นแทบทุกประเภท โดยเฉพาะกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ที่หดตัวชะลอลงค่อนข้างชัดเจน เห็นได้จากสินค้าคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญอันดับ 1 ของไทย หดตัวเพียงร้อยละ 3.3 (จากที่หดตัวร้อยละ 8.4 ในเดือนก่อน) แผงวงจรไฟฟ้า หดตัวร้อยละ 3.8 (จากร้อยละ 11.3 ในเดือนก่อน) กลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบหดตัวร้อยละ 10.9 (จากที่หดตัวร้อยละ 11.2 ในเดือนก่อน) ขณะที่รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบปรับตัวดีขึ้น โดยหดตัวร้อยละ 24.2 (จากร้อยละ 40.9 ในเดือนก่อน) สำหรับสินค้าอื่นๆ ที่ปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ ข้าว เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป และน้ำตาลทราย เป็นต้น

เป็นที่สังเกตว่าการส่งออกในเดือนกันยายนมีทิศทางดีขึ้นในเกือบทุกตลาด โดยในตลาดหลัก การส่งออกหดตัวเฉลี่ยร้อยละ 19.8 ปรับตัวดีขึ้นกว่าเดือนก่อน (ที่หดตัวร้อยละ 26.3) โดยปรับตัวดีขึ้นทั้งในสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น และตลาดอาเซียนเดิม 4 ประเทศ (สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์) สำหรับการส่งออกไปยังตลาดใหม่พลิกกลับมาขยายตัวร้อยละ 2.7 (จากที่หดตัวร้อยละ 9.6 ในเดือนก่อน) โดยการส่งออกไปจีนขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ที่ร้อยละ 4.5 (จากที่ขยายตัวร้อยละ 1.2 ในเดือนก่อน) ส่วนตลาดใหม่อื่นๆ ที่ขยายตัวในเดือนนี้ หากไม่รวมออสเตรเลียและบางประเทศที่อาจมีผลของการส่งออกทองคำ จะประกอบด้วย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ พม่า สาธารณรัฐเช็ก บังกลาเทศ เป็นต้น

เมื่อพิจารณาปัจจัยที่จะมีผลต่อแนวโน้มการส่งออกในระยะเดือนต่อๆ ไป พบว่ามีสภาวะที่ดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจในต่างประเทศสะท้อนให้เห็นการฟื้นตัวของภาวะอุปสงค์ การผลิตในภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ขณะที่เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ก็มีทิศทางปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาตัวเลขการนำเข้าสินค้าทุนและสินค้าวัตถุดิบในเดือนกันยายน พบว่ามีระดับที่สูงขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นเครื่องชี้ล่วงหน้าในเชิงบวกต่อภาวะการผลิตและส่งออกในเดือนถัดๆ ไป ปัจจัยทั้งหลายเหล่านี้น่าจะสนับสนุนให้การส่งออกของไทยค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ในระยะนี้อาจมีภาพของการเพิ่มขึ้นของคำสั่งซื้อของธุรกิจต่างๆ เพื่อปรับระดับการผลิตและระดับสินค้าคงคลังที่ลดลงไปค่อนข้างมากในระยะก่อนหน้า ดังตัวอย่างเช่นในสหรัฐฯ ระดับสินค้าคงคลังของภาคธุรกิจลดลงร้อยละ 1.5 ในเดือนสิงหาคม เป็นการลดลงมากที่สุดในช่วงปีนี้ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวอาจเป็นสาเหตุให้สถานการณ์การส่งออกของเอเชียเร่งตัวขึ้นมากในช่วงนี้ แต่เมื่อการปรับตัวของธุรกิจเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตและสินค้าคงคลังเริ่มเข้าสู่ดุลยภาพ ก็มีความเป็นไปได้ที่การฟื้นตัวของการส่งออกอาจมีอัตราเร่งที่ชะลอลง หรืออีกนัยหนึ่งคือมูลค่าการส่งออกเมื่อปรับฤดูกาลที่เทียบเดือนต่อเดือน (MoM, SA) อาจจะเพิ่มในอัตราที่ชะลอลงในระยะต่อไป
จากตัวเลขการส่งออกของเดือนกันยายนที่สูงกว่าคาดนี้ และถ้าแรงขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศยังมีความต่อเนื่อง การส่งออกของไทยก็อาจมีโอกาสที่จะเริ่มขยายตัวเป็นบวกได้ในเดือนตุลาคมนี้ (เร็วขึ้นจากเดิมที่คาดว่าจะเริ่มขยายตัวเป็นบวกตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน) ทั้งนี้ จากการที่ภาวะการส่งออกมีการฟื้นตัวได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงปรับเพิ่มประมาณการแนวโน้มการส่งออกของไทยในปี 2552 มาเป็นหดตัวร้อยละ 12.0-15.0 ขณะที่การนำเข้าอาจจะหดตัวร้อยละ 24.0-28.0 จากเดิมคาดว่าการส่งออกและการนำเข้าจะหดตัวร้อยละ 14.5-17.5 และ 25.5-29.0 ตามลำดับ โดยคาดว่าแนวโน้มการส่งออกในไตรมาสที่ 4/2552 อาจขยายตัวมากกว่าร้อยละ 7.5 การส่งออกที่ฟื้นตัวขึ้นค่อนข้างชัดเจนในขณะที่การนำเข้ายังคงฟื้นตัวได้อย่างเชื่องช้ากว่า จะมีผลทำให้ดุลการค้าของไทยในปี 2552 เกินดุลสูงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในระดับที่เกินกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์ฯ และอาจมีแนวโน้มที่จะเกินดุลต่อเนื่องในปี 2553

การเกินดุลการค้าในระดับสูงจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่หนุนให้ค่าเงินบาทมีทิศทางแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง โดยแม้ว่ารายได้สุทธิจากต่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากนี้จะส่งผลดีต่อเสถียรภาพด้านต่างประเทศ จากการเพิ่มปริมาณทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของไทย แต่ในอีกด้านหนึ่ง ความแข็งแกร่งของฐานะดุลบัญชีระหว่างประเทศย่อมส่งผลให้สกุลเงินของประเทศนั้นๆ แข็งค่าขึ้น จากปัจจัยภายในประเทศที่ไทยมีการการเกินดุลการค้ามูลค่าสูง บวกกับความเชื่อมั่นต่อค่าเงินดอลลาร์ฯ ในฐานะสกุลเงินที่เป็นสื่อกลางในการธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ เริ่มถดถอยลง โดยมีสาเหตุมาจากความไม่สมดุลของโครงสร้างเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาการขาดดุลงบประมาณที่สูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.42 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ในปีงบประมาณ 2552 สิ้นสุด ณ เดือนกันยายน ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าจากปีก่อนหน้า ปัจจัยดังกล่าวจึงมีแนวโน้มที่จะหนุนให้ค่าเงินบาทยังคงมีทิศทางแข็งค่าขึ้นต่อไปได้อีก ซึ่งแม้ว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวสอดคล้องกับสกุลเงินต่างๆ ในภูมิภาค แต่คงต้องยอมรับว่าการแข็งค่าของเงินบาทย่อมกระทบต่อรายได้ของผู้ส่งออก นอกจากนี้ ค่าเงินของคู่แข่งสำคัญของไทยอย่างจีนและเวียดนามเคลื่อนไหวในขอบเขตที่จำกัด แนวโน้มเงินบาทที่แข็งค่ากว่าคู่แข่งบางประเทศจึงอาจกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกไทยในบางอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมที่มีการใช้วัตถุดิบและมีการสร้างมูลค่าเพิ่มภายในประเทศในระดับสูง เช่น สินค้าเกษตร อาหาร สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า ผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง และสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้นอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการคนไทยและเป็นธุรกิจเอสเอ็มอี ผู้ประกอบการในกลุ่มนี้จึงจำเป็นต้องหาแนวทางรับมือกับแนวโน้มดังกล่าว อย่างไรก็ตาม สินค้าส่งออกบางกลุ่มอาจได้รับผลกระทบน้อยกว่าหรืออาจได้รับประโยชน์จากค่าเงินที่แข็งค่า โดยส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการนำเข้า (Import Content) สูง เช่น อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์บางประเภท ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและปิโตรเคมี เป็นต้น

โดยสรุป การส่งออกของไทยในเดือนกันยายนปรับตัวดีขึ้นอย่างมาก โดยมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมาที่ 14,905 ล้านดอลลาร์ฯ จาก 13,281 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนก่อนหน้า ขณะที่เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year) มีอัตราการหดตัวชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 8.5 จากร้อยละ 18.4 ในเดือนก่อน และเมื่อพิจารณาในด้านมูลค่าการส่งออกที่ปรับฤดูกาล เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 จากเดือนก่อนหน้า (Seasonally Adjusted, Month-on-Month) นับเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นที่แข็งแกร่งที่สุดในรอบ 20 เดือน แม้ว่าการส่งออกในเดือนนี้ได้รับแรงหนุนจากการส่งออกทองคำที่ขยายตัวถึงร้อยละ 163 (YoY) มีมูลค่าสูงถึง 1,013 ล้านดอลลาร์ฯ แต่การส่งออกที่ไม่รวมทองคำก็มีทิศทางปรับตัวดีขึ้นเช่นเดียวกัน โดยหดตัวลงร้อยละ 12.7 (YoY) ชะลอลงอย่างมากจากที่หดตัวร้อยละ 20.2 ในเดือนก่อนหน้า จากตัวเลขการส่งออกและนำเข้าของเดือนกันยายนที่พุ่งสูงขึ้นเกินคาดนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงปรับเพิ่มคาดการณ์การส่งออกของไทยในปี 2552 เป็นหดตัวร้อยละ 12.0-15.0 ขณะที่การนำเข้าหดตัวร้อยละ 24.0-28.0 จากเดิมคาดว่าการส่งออกและการนำเข้าจะหดตัวร้อยละ 14.5-17.5 และร้อยละ 25.5-29.0 ตามลำดับ โดยคาดว่าแนวโน้มการส่งออกในไตรมาสที่ 4/2552 อาจขยายตัวมากกว่าร้อยละ 7.5

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การฟื้นตัวของการส่งออกที่มีอัตราเร่งที่เร็วกว่าการนำเข้า จะทำให้ดุลการค้าของไทยในปี 2552 เกินดุลสูงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในระดับที่เกินกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์ฯ และอาจมีแนวโน้มที่จะเกินดุลต่อเนื่องในปี 2553 จากปัจจัยภายในประเทศที่ไทยมีการการเกินดุลการค้ามูลค่าสูง บวกกับปัจจัยความเชื่อมั่นต่อค่าเงินดอลลาร์ฯ ในฐานะสกุลเงินหลักของโลก เริ่มถดถอยลง ซึ่งจะมีผลให้ค่าเงินบาทยังคงมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าขึ้นต่อไปได้อีก และอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันและกำไรของผู้ประกอบการส่งออกของไทย โดยเฉพาะผู้ผลิตสินค้าที่ไม่มีความแตกต่างในตัวสินค้ามากนัก และผู้ซื้อค่อนข้างอ่อนไหวต่อปัจจัยราคา ซึ่งผู้ส่งออกควรหาแนวทางรับมือกับแนวโน้มค่าเงินที่แข็งค่านี้ โดยการปรับตัวในระยะสั้นอาจทำได้โดยใช้เครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเหมาะสม มีการเจรจากับลูกค้าเพื่อซื้อขายเป็นสกุลเงินอื่นนอกเหนือจากดอลลาร์ฯ และมีการกระจายความเสี่ยงของตลาดส่งออกให้หลากหลายขึ้น ส่วนการปรับตัวในระยะปานกลางถึงระยะยาว ผู้ผลิตจะต้องสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าและการบริการ เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันในด้านราคา สำหรับปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องติดตาม ซึ่งอาจจะมีผลต่อธุรกิจส่งออกของไทยในระยะต่อไป เช่น ปัญหาสภาพคล่องของผู้ประกอบการ ภาวะตลาดแรงงานที่เริ่มตึงตัวในบางอุตสาหกรรม และมาตรการทางการค้าของประเทศคู่ค้าที่แต่ละประเทศมีแนวโน้มที่จะหันมาปกป้องตลาดภายในประเทศของตนมากยิ่งขึ้น