วิกฤตหนี้ภาครัฐของกรีซ…ภาระที่ต้องสะสางของกลุ่ม EU

จากประวัติศาสตร์ 11 ปีของการใช้สกุลเงินยูโรร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกยูโรโซน ณ ขณะนี้ ดูเหมือนว่า ยูโรโซนกำลังเผชิญกับบททดสอบครั้งใหญ่อันเนื่องมาจากฐานะการคลังที่เปราะบางเรื้อรังของประเทศสมาชิกบางประเทศ โดยเฉพาะกรีซ ซึ่งกำลังก่อให้เกิดผลกระทบที่ลุกลามไปยังประเทศอื่นๆ ที่มีฐานะการคลังที่อ่อนแอเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ พัฒนาการดังกล่าวอาจนำไปสู่วิกฤตความเชื่อมั่นต่อยูโรโซนที่อาจสร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดการเงิน กระตุ้นให้มีแรงเทขายสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง สกุลเงินยูโร รวมถึงพันธบัตรรัฐบาลของประเทศสมาชิกยูโรโซนที่กำลังประสบกับวิกฤตการคลังอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ วิกฤตแห่งความเชื่อมั่นต่อยูโรโซนได้พัฒนาไปจนถึงขั้นที่มีความเห็นที่ว่า กรีซอาจจะต้องหลุดออกจากสถานะประเทศสมาชิกยูโรโซน ซึ่งในกรณีดังกล่าวนับว่าเป็นกรณีเลวร้ายที่สุด ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ยังคงมีความเป็นไปได้ที่ค่อนข้างต่ำมากในขณะนี้ เพราะหากกรีซหลุดออกจากยูโรโซน นอกจากจะเป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจกรีซเองแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของกลุ่มยูโรโซนที่มีหน้าที่ต้องดูแลประเทศสมาชิก โดยเฉพาะในขณะที่กำลังมีประเทศในยุโรปตะวันออกเตรียมตัวเข้าร่วมเป็นสมาชิกของยูโรโซน ดังนั้น เพื่อพลิกฟื้นความเชื่อมั่นและเพื่อแสดงความสามารถของยุโรปในการเข้าจัดการกับปัญหาการคลังของประเทศสมาชิกที่ประสบกับวิกฤตหนี้สาธารณะในระดับสูงแล้ว แผนการให้ความช่วยเหลือแก่กรีซคงถูกผลักดันออกมาในท้ายที่สุด ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รวบรวมและวิเคราะห์ประเด็นขจากวิกฤตหนี้สาธารณะและดุลการคลังที่อ่อนแอของประเทศในแถบยูโรโซนไว้ดังนี้ :-

ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤตหนี้กรีซ และประเทศอื่นๆ ยูโรโซน
ความวิตกเกี่ยวกับปัญหาด้านการคลังของประเทศสมาชิกบางประเทศในยูโรโซน ได้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2552 ที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศชั้นนำหลายแห่งประกาศปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของกรีซลง (ฟิทช์ เรทติ้งส์ และสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ ลดอันดับเครดิตของกรีซลงสู่ ‘BBB+’ จาก ‘A-‘ ขณะที่ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ลดอันดับเครดิตของกรีซ ลงสู่ ‘A2’ จาก ‘A1’) เนื่องจากฐานะการคลังที่ย่ำแย่และการทะยานขึ้นอย่างรวดเร็วของระดับหนี้สาธารณะ ทั้งนี้ ความวิตกต่อปัญหาการขาดดุลงบประมาณในระดับสูงของกรีซ ได้ลุกลามไปยังประเทศสมาชิกอื่นๆ ในยูโรโซน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โปรตุเกส สเปน ไอร์แลนด์ และอิตาลี จนทำให้มีการนำตัวอักษรที่นำหน้าชื่อแต่ประเทศมาเรียงต่อกัน และเรียกประเทศสมาชิกยูโรโซนที่มีปัญหาการคลังกลุ่มนี้ว่า ‘PIIGS’ (Portugal + Ireland + Italy + Greece + Spain)

กรีซมีสัดส่วนประมาณ 2.6% ของยูโรโซน (16 ประเทศ) แต่หากปัญหาไม่จบแค่กรีซผลกระทบอาจรุนแรงขึ้น ขนาดมูลค่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจของกรีซมีสัดส่วนเพียง 2.6% ของเศรษฐกิจยูโรโซนโดยรวม อย่างไรก็ตาม หากนับรวมขนาดเศรษฐกิจของกรีซเข้ากับโปรตุเกสและสเปนซึ่งมีภาระหนี้สาธารณะในระดับสูงและกำลังเป็นจุดสนใจของตลาดการเงินเช่นเดียวกันนั้น จะพบว่า เศรษฐกิจของทั้ง 3 ประเทศมีสัดส่วนรวมกันประมาณ 16.2% ของยูโรโซน และท้ายที่สุด หากปัญหาลุกลามต่อเนื่องไปยังไอร์แลนด์และอิตาลี แล้ว (รวมเป็น 5 ประเทศ ตามตัวอักษร ‘PIIGS’) ความปั่นป่วนต่อสินทรัพย์และค่าเงินยูโรอาจเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ เนื่องจากสัดส่วนขนาดเศรษฐกิจของทั้ง 5 ประเทศมีมูลค่าสูงถึง 35.2% ของเศรษฐกิจยูโรโซน

หนี้สาธารณะและดุลการคลังของประเทศสมาชิกยูโรโซนหลายประเทศพุ่งขึ้นเกินเพดานที่กำหนดภายใต้ The Stability and Growth Pact ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำทั่วโลกในช่วงเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลประเทศในแถบยูโรโซนต่างก็ได้ผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่หลากหลายออกมามาพยุงการทรุดตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเหล่านั้น ก็ได้สัมฤทธิ์ผล (ไม่มากก็น้อย) แล้วในขณะนี้ ดังจะเห็นได้เศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวขึ้นหลังจากที่หดตัวติดต่อกันในช่วงหลายไตรมาสก่อนหน้า แต่กระนั้นก็ดี ผลพวงที่เกิดขึ้นตามมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ก็คือ ฐานะการคลังที่อ่อนแอลง โดยประเทศสมาชิกยูโรโซนหลายประเทศต้องเผชิญกับยอดขาดดุลการคลังในระดับสูง (เกินกว่า 3% ของ GDP) และหนี้สาธารณะที่พุ่งสูงขึ้น (เกินเพดานที่ 60% ของ GDP)

ทั้งนี้ ฐานะการคลังที่ย่ำแย่ของรัฐบาลกรีซ ไอร์แลนด์ และสเปน ได้สะท้อนออกมาที่ดุลการคลังในปี 2552 ซึ่งบันทึกยอดขาดดุลสูงถึง 12.7% 11.6% และ 11.4% ของ GDP ตามลำดับ แต่เนื่องจากกรีซมีระดับหนี้สาธารณะที่สูงถึง 112.6% ของ GDP ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกในที่กรีซจะถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด จนกลายเป็นเป้าหมายแรกที่ตลาดการเงินมุ่งเป้าให้ความสนใจเป็นพิเศษ ในขณะที่ โปรตุเกสอาจกลายเป็นเป้าหมายถัดๆ ไปของตลาด เนื่องจากโปรตุเกสก็กำลังเผชิญกับความท้าทายในการบริหารจัดการทางด้านการคลังเช่นเดียวกัน ส่วนฐานะการคลังของสเปนนั้น แม้จะตกอยู่ในสภาวะที่ย่ำแย่ไม่น้อยไปกว่ากัน แต่กระนั้นก็ดี ตลาดการเงินก็เชื่อมั่นว่า แผนการแก้ไขปัญหาการคลังของสเปนมีความน่าเชื่อถือและสามารถปฏิบัติได้ในความเป็นจริง

แผนการช่วยเหลือกรีซ…มีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ชัด : มุมมองของศูนย์วิจัยกสิกรไทย
จากวิกฤตหนี้สาธารณะของกรีซที่พัฒนาขึ้นจนอาจสร้างความเสี่ยงให้กับกรีซและยูโรโซนโดยรวม ทำให้รัฐบาลกรีซออกมาประกาศแผนการรักษาวินัยทางการคลังที่มุ่งเป้าไปที่การลดยอดขาดดุลการคลังจากระดับ 12.7% ต่อ GDP ในปี 2552 ลงไปที่ระดับ 3.0% ต่อ GDP ภายในปี 2555 ซึ่งเป็นเพดานของ The Stability and Growth Pact ของสหภาพยุโรป กระนั้นก็ดี แผนการรัดเข็มขัดทางการคลังดังกล่าวกลับถูกต่อต้านโดยประชาชนในประเทศ เช่น สหภาพแรงงาน ขณะที่ พัฒนาการของตลาดการเงินในช่วงปลายเดือนมกราคม-ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ก็สะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ตลาดการเงินยังคงไม่เชื่อมั่นว่า กรีซจะสามารถดำเนินการตามแผนการรักษาวินัยทางการคลังได้จริงในทางปฏิบัติ

และแม้ว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลประเทศสมาชิกยูโรโซนหลายประเทศ ตลอดจนสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศหลายแห่ง จะสะท้อนความคิดเห็นออกมาในเชิงที่เชื่อมั่นว่า วิกฤตหนี้สาธารณะและปัญหาการขาดดุลการคลังของกรีซ ณ ขณะนี้ น่าที่จะสามารถบริหารจัดการได้ แต่เนื่องจากกรีซกำลังจะถูกทดสอบด้วยโจทย์ความสามารถในการระดมทุนเพื่อไถ่ถอนหนี้และจ่ายดอกเบี้ยมูลค่า 2.15 หมื่นล้านยูโร ในเดือนเมษายน และเดือนพฤษภาคมนี้1 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงมองว่า ยุโรปคงไม่สามารถปล่อยให้กรีซแก้ไขปัญหาการคลังอย่างโดดเดี่ยว เนื่องจากความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้อาจเพิ่มสูงขึ้นในท้ายที่สุด และหากสถานการณ์เป็นเช่นนั้นจริง ความเชื่อมั่นที่ถดถอยลงของนักลงทุนอาจลุกลาม (Contagion Risk) ไปยังประเทศสมาชิกยูโรโซนอื่นๆ (อาทิ โปรตุเกส สเปน ไอร์แลนด์ และอิตาลี) รวมถึงอังกฤษที่อยู่นอกยูโรโซน ที่กำลังแบกภาระหนี้ภาครัฐในทำนองเดียวกัน ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทำการวิเคราะห์แผนการช่วยเหลือกรีซ และมีความเห็นต่อประเด็นเหล่านี้ ดังนี้ :-

รูปแบบของแผนการให้ความช่วยเหลืออาจเน้นหนักไปที่มาตรการให้ความช่วยเหลือ “แบบทวิภาคี” (Bilateral Aid) หรือระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิกจำนวนหนึ่งกับกรีซ (และ/หรือประเทศอื่นที่ประสบปัญหา) และน่าที่จะมีการพิจารณาเป็นรายกรณี มากกว่าที่จะเป็นการให้ความช่วยเหลือโดยตรงจากสหภาพยุโรป (Direct Bailout) เนื่องจากปัญหาการขาดวินัยทางการคลังของกรีซนั้น ไม่เข้าข่ายกรณีตามมาตรา 122 ของสนธิสัญญาสหภาพยุโรป (The EU Treaty) ที่คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป (The EU Council) จะสามารถพิจารณาให้ความช่วยเหลือแบบฉุกเฉินได้ ขณะที่ ธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank: ECB) และธนาคารกลางของประเทศสมาชิกแต่ละประเทศก็ไม่สามารถให้ความช่วยเหลือรัฐบาลประเทศใดประเทศหนึ่งได้โดยตรงผ่านการซื้อพันธบัตรหรือปล่อยกู้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แผนการให้ความช่วยเหลือระดับทวิภาคี อาจครอบคลุมหลากหลายมาตรการเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งอาจรวมถึง 1.การให้เงินกู้ในระดับรัฐบาลต่อรัฐบาลด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างเป็นมิตรกับกรีซ (และ/หรือ ประเทศอื่นๆ ที่ประสบปัญหา) 2.การเข้าค้ำประกันหนี้ของรัฐบาลเพื่อลดความกังวลเกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้ (Default Risk) และ 3.การรับซื้อพันธบัตรรัฐบาลกรีซ (และ/หรือ ประเทศอื่นๆ ที่ประสบปัญหาการระดมทุน) โดยรัฐบาล และ/หรือ องค์กร (อาทิ ธนาคาร) ที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล เพื่อให้ตลาดพันธบัตรยังคงเป็นทางเลือกในการระดมทุนของรัฐบาล ทั้งนี้ คาดว่า เยอรมนี และฝรั่งเศส ซึ่งเป็นประเทศที่มีสถานะที่แข็งแกร่งกว่าประเทศอื่นๆ ในยูโรโซนน่าที่จะเข้ามาทำหน้าที่เป็นแกนหลักในการให้ความช่วยเหลือแก่กรีซ เนื่องจากประเทศอิตาลีและสเปนที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นลำดับรองลงไปนั้น ต่างก็มีภาระหนี้สาธารณะที่ค่อนข้างสูงมากอยู่แล้วในขณะนี้

อนึ่ง ความท้าทายของแผนการช่วยเหลือกรีซ ก็คือ ยูโรโซนยังไม่เคยมีประสบการณ์ในการรับมือกับวิกฤตหนี้ภาครัฐในประวัติศาสตร์ 11 ปีของยูโรโซนที่ผ่านมา นอกจากนี้ ไม่ว่าแผนการให้ความช่วยเหลือกรีซจะออกมาในรูปแบบใด ก็เป็นที่คาดหมายว่า มาตรการดังกล่าวน่าที่จะผนวกเงื่อนไขภาระผูกพันที่ค่อนข้างเข้มงวด (ในระดับที่สมเหตุสมผลต่อกรีซ และสามารถดำเนินการได้จริงภายใต้เงื่อนเวลาที่เหมาะสม) เพื่อตีกรอบให้รัฐบาลกรีซรักษาวินัยทางการคลังอย่างเคร่งครัดไปพร้อมๆ กับวางแนวทางปฎิรูประบบการคลังของประเทศ

นอกจากนี้ ความท้าทายอีกประการหนึ่งก็คือ เสถียรภาพทางการเมือง ความยืดหยุ่น/ความคล่องตัวในการดำเนินการ ตลอดจนความเพียงพอของทรัพยากรทางการเงินของประเทศที่ยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือ เนื่องจากคาดว่า แผนการช่วยเหลือกรีซในรอบนี้อาจจะไม่จบที่กรีซเพียงประเทศเดียว เพราะมีความเป็นไปได้ว่า ประเทศอื่นๆ อาทิ โปรตุเกสและสเปน ซึ่งกำลังเผชิญกับวิกฤตการคลังอาจต้องการความช่วยเหลือทางด้านการเงินเช่นเดียวกันกับกรีซ ซึ่งทำให้ประเทศในยุโรปจะต้องพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศอื่นๆ นอกจากกรีซเป็นกรณีๆ ไป (Adhoc Basis) เนื่องจากข้อจำกัดด้านข้อกฏหมายของ EU ดังที่กล่าวไปแล้วในเบื้องต้น

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงมองว่า แม้สหภาพยุโรปจะยังคงเชื่อมั่นว่า กลไกการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิกที่ประสบกับวิกฤตการคลัง (เช่น กรีซ) ยังคงมีศักยภาพเพียงพอ แต่ในกรณีเลวร้ายที่วิกฤตหนี้ภาครัฐไม่จบลงง่ายๆ แล้ว ไม่ว่าจะมีสาเหตุมาจากรัฐบาลกรีซไม่สามารถรักษาวินัยทางการคลังตามที่ได้ให้คำมั่นไว้จนถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงอีกครั้ง และ/หรือประเทศสมาชิกยูโรโซนอื่นๆ ที่มีปัญหาการคลังกลายเป็นเป้าหมายในการโจมตีรายต่อไปถัดจากกรีซ การขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ก็อาจเป็นทางเลือกหนึ่งในแผนการให้ความช่วยเหลือประเทศเหล่านี้ในระยะถัดไป โดยข้อดีจากการขอรับความช่วยเหลือจาก IMF

ทั้งนี้ IMF มีประสบการณ์การรับมือกับวิกฤตการเงินและการคลังในหลายๆ ประเทศ ก็คือ เงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือของ IMF น่าที่จะออกแบบมาอย่างเคร่งครัด ซึ่งน่าจะช่วยหนุนความเชื่อมั่นของนักลงทุนให้ฟื้นคืนมาได้โดยเร็ว นอกจากนี้ การช่วยเหลือจาก IMF ยังจะไม่สร้างภาระโดยตรงต่อประเทศใดประเทศหนึ่ง ซึ่งต่างไปจากกรณีที่ประเทศในยูโรโซนให้ความช่วยเหลือกันเอง แต่ข้อเสียของการหันไปพึ่ง IMF ก็คือ ความน่าเชื่อถือของยูโรโซนจะถูกบั่นทอนลงไป

ผลพวงจากการรัดเข็มขัดทางการคลังของประเทศที่แบกภาระหนี้ภาครัฐในระดับสูง ตลอดจนประเทศสมาชิกอื่นๆ ในยูโรโซน อาจส่งผลทำให้เศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้น ตกอยู่ในภาวะที่ซบเซายาวนานต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2553 (เนื่องจากแรงกระตุ้นทางการคลังต้องแผ่วลงไป) โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในแถบยูโรโซนโดยรวม น่าที่จะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ในขณะนี้ ซึ่งนั่นก็เป็นนัยว่า หากแรงกดดันเงินเฟ้อยังมีสัญญาณเร่งตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (ความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางด้านราคาอยู่ในระดับต่ำ) พื้นฐานทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอของประเทศสมาชิกโดยรวม ส่งผลต่อเนื่องให้ ECB ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่สามารถส่งสัญญาณคุมเข้มทางการเงินได้ตามที่คาดไว้เดิม โดยอาจจำต้องยืดมาตรการช่วยเหลือด้านสภาพคล่องออกไป และ/หรือยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ที่ 1.00% ในขณะนี้ให้นานที่สุด ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะสวนทางกับแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่อาจโน้มไปในเชิงคุมเข้มมากขึ้น โดยล่าสุดประธานเฟดก็ได้ออกมากแจกแจงแผนการในการถอยออกจากนโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ดังนั้น ผลในท้ายที่สุดจากกรณีที่ภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจลุกลามออกไปเป็นวงกว้างทั้งยูโรโซน ก็คือ แรงกดดันที่มีต่อค่าเงินยูโรนั่นเอง

เหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นตามมาจากวิกฤตหนี้ภาครัฐและแนวโน้มความซบเซาทางเศรษฐกิจ ก็คือ ความเสี่ยงของระบบธนาคาร และเจ้าหนี้อื่นๆ ทั้งนี้ 5 ประเทศ (กรีซ โปรตุเกส สเปน ไอร์แลนด์ และอิตาลี) ที่กำลังเผชิญกับปัญหาการคลังที่ย่ำแย่นั้น ล้วนเป็นประเทศที่มีดุลบัญชีเดินสะพัดที่ขาดดุล ซึ่งสะท้อนถึง สถานะผู้กู้สุทธิ (Net Debtor) ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แม้ความเสี่ยงของวิกฤตหนี้ภาครัฐจะถูกบรรเทาลงด้วยแผนการให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ ในระดับรัฐต่อรัฐ แต่ก็คงจะต้องจับตาและรอประเมินผลของสถานการณ์เลวร้ายที่อาจเกิดขึ้นทั้งจากกรณีที่กรีซ (หรือประเทศอื่นๆ) เผชิญอุปสรรคที่ทำให้ไม่สามารถรัดเข็มขัดทางการคลังได้ตามแผนการที่วางไว้จนถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงเป็นระลอกๆ หรือจากกรณีที่ภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจได้ก่อให้เกิดปัญหาคุณภาพสินทรัพย์และความกังขาต่อความแข็งแกร่งของสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ และประเทศผู้ปล่อยกู้ (Net Creditor) แก่กรีซ และ/หรือประเทศอื่นๆ ที่ประสบกับวิกฤตการคลัง ทั้งนี้ ข้อมูลเบื้องต้นจากรายงานข่าวบ่งชี้ว่า สัดส่วนการถือครองพันธบัตรรัฐบาลกรีซของนักลงทุนต่างชาติอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงกว่าประเทศอื่นๆ ขณะที่ ในบรรดาเจ้าหนี้ของของกลุ่มประเทศ โปรตุเกส ไอร์แลนด์ กรีซ และสเปน (PIGS) นั้น ส่วนหนึ่งรวมไปถึงสถาบันการเงินชั้นนำหลายแห่งของสหรัฐฯ (โดยมีมูลค่าประมาณ 1.76 แสนล้านดอลลาร์ฯ)

โดยสรุปแล้ว วิกฤตหนี้ภาครัฐของกรีซ ซึ่งอาจตามมาด้วยปัญหาในลักษณะเดียวกันของประเทศอื่นๆ อาทิ โปรตุเกส สเปน ไอร์แลนด์ และอิตาลี ในรอบนี้นั้น เปรียบเสมือนบททดสอบระบบการเงินของยูโรในการเข้าจัดการกับปัญหาความแตกต่างของฐานะการคลังของประเทศสมาชิกแต่ละประเทศ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า แม้ตลาดการเงินอาจรับข่าวดีจากแผนการเฉพาะหน้าสำหรับช่วยเหลือรัฐบาลกรีซ (หรืออาจรวมไปถึงประเทศอื่นๆ ที่มีวิกฤตการคลังเช่นเดียวกัน) ในระยะสั้น แต่ก็คงจะต้องรอประเมินเงื่อนไขและภาระผูกพันที่กรีซจำต้องรับมาปฏิบัติตามว่า มีลักษณะที่เข้มงวดจนทำให้รัฐบาลกรีซต้องเผชิญกับอุปสรรคทางการเมืองและในเชิงสังคมในการดำเนินการรัดเข็มขัดทางการคลังและการปฏิรูประบบการคลังของประเทศหรือไม่

ดังนั้น ข่าวดีระลอกแรกของแผนการให้ความช่วยเหลือแก่กรีซในรอบนี้ น่าที่จะสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการเข้าจัดการกับปัญหาของประเทศสมาชิกในยูโรโซนเท่านั้น แต่ยังไม่เพียงพอที่จะบ่งชี้ว่า เป็นการแก้ไขปัญหาที่เบ็ดเสร็จสมบูรณ์แบบ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ความเสี่ยงต่อการถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของกรีซ และประเทศที่มีภาระหนี้ภาครัฐอื่นๆ ยังไม่ลดระดับลง) เพราะยังคงมีความเป็นไปได้ว่า ประเทศอื่นๆ อาทิ โปรตุเกสและสเปน ซึ่งกำลังเผชิญกับวิกฤตการคลัง อาจต้องการความช่วยเหลือทางด้านการเงินเช่นเดียวกันกับกรีซ ขณะที่ กรีซเองก็มีตารางภาระหนี้สาธารณะจำนวนมากที่รอทดสอบความสามารถในการระดมทุนอยู่ในระยะ 3-5 ปีข้างหน้าเป็นอย่างน้อย นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ยุโรปยังคงมีภาระกิจที่จะต้องสะสางเรื่องปัญหาหนี้สาธารณะอีกในช่วงหลายปีข้างหน้า เนื่องจากกรอบกฎหมายในปัจจุบันของ EU ยังไม่มีการพัฒนากลไกให้ความช่วยเหลือแบบ IMF ที่สามารถรองรับวิกฤตด้านการเงินและการคลังที่อาจเกิดขึ้นตามมาอีกในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากจำนวนประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมยูโรโซนเพิ่มจำนวนมากขึ้น

และสำหรับผลกระทบต่อไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ผลกระทบโดยตรงต่อไทยนั้นค่อนข้างน้อยในกรณีที่ความรุนแรงของวิกฤตการคลังจำกัดอยู่เพียงประเทศกรีซ เนื่องจากมูลค่าการส่งออกไปยังประเทศกรีซมีสัดส่วนเพียง 0.1-0.2% ต่อการส่งออกรวมของไทย อย่างไรก็ตาม หากแนวโน้มนโยบายการคลังที่ค่อนข้างเคร่งครัดเกิดขึ้นกับทุกประเทศในยูโรโซนจนส่งผลทำให้แนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของยูโรโซนมีลักษณะที่ไม่ราบรื่น และตกอยู่ในสภาวะที่ซบเซาในระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพต่อเนื่องในระยะ 1-2 ปีข้างหน้าเป็นอย่างน้อยแล้ว ผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยอาจเพิ่มสูงขึ้นเป็นกว่า 10% ของการส่งออกรวม นอกจากนี้ คงจะต้องจับตาพัฒนาการของตลาดการเงินอย่างใกล้ชิดต่อไป เนื่องจากความกังวลในประเด็นดังกล่าวสามารถแพร่กระจายออกไปอย่างรวดเร็ว และไม่ใช่มีแค่เพียงประเทศในแถบยูโรโซนเท่านั้นเผชิญกับความท้าทายจากประเด็นทางด้านการคลัง รัฐบาลสหรัฐฯ อังกฤษ ญี่ปุ่น และบางประเทศในแถบเอเชีย ต่างก็ต้องเร่งจัดการกับการขาดดุลการคลังที่เพิ่มขึ้นมาในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินของโลกในรอบล่าสุดนี้เช่นเดียวกัน

ณ ขณะนี้ คงต้องยอมรับว่า แผนการช่วยเหลือกรีซนับว่าเป็นข่าวดีของตลาดการเงิน ซึ่งหนุนให้ค่าเงินยูโรฟื้นตัวขึ้นจากระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 9 เดือน และเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม การแก้ไขวิกฤตด้านการคลังของกรีซคงจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ซึ่งกรีซเองก็จะต้องพิสูจน์ให้เห็นว่า สามารถดำเนินการตามเงื่อนไขการปฏิรูปการคลังได้จริง ดังนั้นภายใต้สถานการณ์ที่ประเทศส่วนใหญ่ในยูโรโซนต้องเข้าสู่ช่วงเวลาของการรัดเข็มขัดทางด้านการคลัง ผลกระทบต่อเศรษฐกิจคงยากที่จะหลีกเลี่ยง ซึ่งเศรษฐกิจยูโรโซนที่มีแนวโน้มเติบโตต่ำกว่าศักยภาพดังกล่าว น่าที่จะส่งผลต่อเนื่องมาสร้างแรงกดดันต่อค่าเงินยูโร ซึ่งก็อาจเป็นนัยว่า ค่าเงินบาทอาจไม่เคลื่อนไหวในทิศทางที่แข็งค่าเพียงทิศเดียวในระยะถัดไป