เวียดนามรุก สร้างฐานการผลิตสมาร์ทโฟน โอกาสและผลกระทบการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ไทย

จีนนับได้ว่าเป็นฐานการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อันดับหนึ่งของโลก โดยมีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 487,462 ล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2555 อย่างไรก็ดี จากค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้นของประเทศจีน โดยเฉลี่ย 300 ดอลลาร์ฯต่อเดือน ทำให้นักลงทุนต่างชาติได้เริ่มมองหาและขยายฐานการผลิตในประเทศอื่นๆที่มีค่าแรงต่ำกว่า โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ขั้นปลายน้ำ เช่น การผลิตชิ้นส่วนสมาร์ทโฟน และการประกอบสมาร์ทโฟน เป็นต้น ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก โดยเห็นได้จากตัวเลขเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของจีน เริ่มชะลอตัวลงในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2556 ซึ่งขยายตัวเพียงร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากที่เคยขยายตัวร้อยละ 8.8 ในช่วงเดียวกันของปี 2555

สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในส่วนของการผลิตสมาร์ทโฟน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นในส่วนของการผลิตชิ้นส่วนและการประกอบตัวเครื่องสมาร์ทโฟน เวียดนามนับได้ว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่นักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุนในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่จะเป็นศูนย์กลางการผลิตสมาร์ทโฟน นอกเหนือจากจีนในอนาคต สำหรับปัจจัยสำคัญต่างๆ ที่สนับสนุนให้นักลงทุนต่างชาติสนใจเข้าไปลงทุนและตั้งฐานผลิตสมาร์ทโฟนในเวียดนาม ได้แก่ ประเทศเวียดนามมีข้อได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตทั้งในส่วนของจำนวนแรงงาน (52.6 ล้านคน ในปี 2555) ขณะเดียวกันค่าจ้างแรงงานยังอยู่ในอัตราที่ไม่สูงมากนัก (100-150 ดอลลาร์ฯต่อเดือน) เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน รวมไปถึงต้นทุนของค่าสาธารณูปโภคโดยเฉลี่ยยังต่ำ อาทิ ค่าน้ำประปาและค่าไฟ เป็นต้น ความสะดวกในการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากผู้ผลิตรายใหญ่เนื่องจากการผลิตสมาร์ทโฟนในเวียดนามส่วนใหญ่เป็นการประกอบ จึงต้องนำเข้าชิ้นส่วนจากผู้ผลิตหลักคือ จีน(เกือบทั้งหมดมาจากจีนตอนใต้) เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน ดังนั้นภูมิประเทศของเวียดนามจึงมีความได้เปรียบเรื่องการนำเข้าจากประเทศดังกล่าว และสิทธิประโยชน์ด้านภาษีในอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออก โดยเฉพาะสินค้าเทคโนโลยี ได้แก่ การยกเว้นค่าธรรมเนียม (ประมาณร้อยละ 1-3 ของมูลค่าสินค้านำเข้า) ที่ต้องให้กับบริษัทของรัฐในกรณีที่บริษัทเอกชนนำเข้าสินค้าวัตถุดิบเพื่อมาใช้เป็นปัจจัยการผลิตเพื่อการส่งออก รวมถึงภาษีเงินได้นิติบุคคล มีการกำหนดภาษีนิติบุคคลอัตราพิเศษที่ร้อยละ 10-20 ในกิจการที่ลงทุนในเขตส่งเสริมการลงทุนพิเศษ แต่นอกพื้นที่จะจัดเก็บในอัตราร้อยละ 25 ของรายได้

จากปัจจัยต่างๆดังกล่าวข้างต้น ทำให้บริษัทผู้ผลิตสมาร์ทโฟนค่ายเกาหลียักษ์ใหญ่ได้ย้ายฐานผลิตบางส่วนจากจีนมายังเวียดนาม และยังเป็นจุดเริ่มต้นดึงดูดอีกหลายบริษัทผู้ผลิตสมาร์ทโฟนชั้นนำของโลก เช่น ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนสัญชาติฟินแลนด์ ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายใหญ่ของไต้หวันที่รับจ้างผลิตสมาร์ทโฟนแบรนด์อเมริกา เป็นต้น อีกทั้งยังดึงดูดผู้ผลิตชิ้นส่วนสมาร์ทโฟนเข้ามาตั้งฐานผลิตในเวียดนาม เช่น บริษัทผลิตไมโครชิปยักษ์ใหญ่ของอเมริกา บริษัทผลิตหน้าจอระบบสัมผัสของไต้หวัน เป็นต้น โดยในปี 2555 เวียดนามมี FDI ไหลเข้ามาลงทุนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมสมาร์ทโฟนและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากผู้ผลิตยักษ์ใหญ่มากกว่า 2,300 ล้านดอลลาร์ฯ สำหรับการส่งออกสินค้าสมาร์ทโฟนและส่วนประกอบ มีมูลค่าสูงถึง 16,230 ล้านดอลลาร์ฯ หรือขยายตัวถึงร้อยละ 143 เมื่อเทียบกับปี 2554 ทำให้ปัจจุบันเวียดนามก้าวมาเป็นผู้ส่งออกสมาร์ทโฟนและส่วนประกอบ เป็นอันดับที่ 7 ของโลก และมีอัตราการขยายตัวสูงที่สุดเมื่อเทียบกับผู้ผลิตสมาร์ทโฟนประเทศอื่นๆ ขณะที่ไทยอยู่ที่อันดับที่ 22 ของโลก

โอกาสและผลกระทบต่อไทยจากการเป็นศูนย์กลางการผลิตสมาร์ทโฟนของเวียดนาม

ปัจจุบัน อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยมักผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับสายการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟและส่วนประกอบคอมพิวเตอร์เป็นสำคัญ โดยดูได้จากมูลค่าการส่งออกที่คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 60 ในปี 2555 ในขณะที่ชิ้นส่วนสมาร์ทโฟนมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 3 อย่างไรก็ดี การเติบโตของตลาดคอมพิวเตอร์โลกมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2555 ยอดขายคอมพิวเตอร์โลกมีจำนวน 350 ล้านเครื่อง ซึ่งหดตัวร้อยละ 0.8 จากปีก่อนหน้า ในขณะที่ยอดขายสมาร์ทโฟนมีจำนวน 722 ล้านเครื่อง ซึ่งขยายตัวสูงถึงร้อยละ 46 จากปีก่อนหน้า ทำให้ผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์ไทยน่าที่จะศึกษาและขยายโอกาสทางธุรกิจตามทิศทางของตลาดโลกที่เปลี่ยนไป

ทั้งนี้ การที่เวียดนามซึ่งเป็นสมาชิกประเทศหนึ่งในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community) ได้เริ่มเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตสมาร์ทโฟนของภูมิภาค โดยส่วนใหญ่จะเป็นอุตสาหกรรมการประกอบสมาร์ทโฟนในส่วนปลายน้ำ แนวโน้มดังกล่าวย่อมมีทั้งโอกาสและผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทย โดยสามารถวิเคราะห์ได้ดังนี้

ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นโอกาสสำหรับไทยในสายการผลิตสมาร์ทโฟนของเวียดนาม

ปัจจุบัน การผลิตสมาร์ทโฟนในเวียดนามโดยส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมการประกอบ โดยจะนำเข้าชิ้นส่วนต่างๆมาประกอบเป็นส่วนใหญ่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่เวียดนามมีการนำเข้าสูงสุด 4 อันดับแรก คือ 1.วงจรรวมและไมโครแอสเซมบลี 2.ชิ้นส่วนสมาร์ทโฟน 3.ชิ้นส่วนเครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้าอุตสาหกรรม 4.วงจรพิมพ์ โดยมีวัตถุประสงค์ของการนำเข้าอยู่ 2 ประการคือ เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิต (วงจรรวมและไมโครแอสเซมบลี ชิ้นส่วนสมาร์ทโฟน วงจรพิมพ์) และเพื่อใช้เป็นสินค้าทุนในการสร้างโรงงานผลิต (ชิ้นส่วนเครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้าอุตสาหกรรม)

ในปี 2555 การนำเข้าของชิ้นส่วนเครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้าอุตสาหกรรมขยายตัวถึงร้อยละ 767 แสดงถึง อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เวียดนามมีการขยายกำลังการผลิตและสร้างโรงงานใหม่ๆอย่างมากมาย สำหรับวัตถุดิบในการผลิต ได้แก่ วงจรรวมและไมโครแอสเซมบลี และแผ่นวงจรพิมพ์ ก็มีการขยายตัวที่ดีเช่นกัน และคาดว่า แนวโน้มจะขยายตัวสูงขึ้นเมื่อโรงงานผลิตชิ้นส่วนสมาร์ทโฟนและประกอบสมาร์ทโฟนที่เริ่มต้นสร้างในปี 2555 แล้วเสร็จ อย่างไรก็ดี สำหรับการนำเข้าชิ้นส่วนสมาร์ทโฟนกลับมีแนวโน้มขยายตัวลดลง เนื่องจาก หลายๆบริษัทที่ผลิตชิ้นส่วนสมาร์ทโฟนซึ่งเป็นอุตสาหกรรมประกอบที่อาศัยแรงงานเข้นข้น ได้เริ่มมีการเข้ามาตั้งฐานผลิตในเวียดนามเพื่อทดแทนการนำเข้า

จากปัจจัยด้านแนวโน้มความต้องการการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนามที่เพิ่มขึ้นเพื่อการผลิตสมาร์ทโฟน ประกอบกับศักยภาพการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เทคโนโลยีสูงของไทยที่สามารถตอบสนองความต้องการดังกล่าว ส่งผลให้ตลาดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในเวียดนามน่าจะเป็นอีกตลาดหนึ่งที่น่าสนใจของผู้ประกอบการไทยที่ต้องการเข้าสู่ห่วงโซ่อุตสาหกรรมการผลิตสมาร์ทโฟน เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจต่อไป

สำหรับทิศทางการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ไปเวียดนามที่ไทยมีศักยภาพในการแข่งขัน คือ การผลิตชิ้นส่วนที่ใช้เทคโนโลยีค่อนข้างสูง และไม่ใช้แรงงานเข้มข้น ดังนั้น แม้ในขั้นตอนการประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อย่างชิ้นส่วนสมาร์ทโฟนซึ่งเป็นกระบวนการที่ใช้แรงงานสูงนั้น อาจเป็นการยากที่ไทยจะแข่งขันกับจีนและเวียดนาม อย่างไรก็ดี ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ไทยสามารถแข่งขันได้และมีความต้องการนำเข้าของเวียดนามมีดังต่อไปนี้

• วงจรพิมพ์
วงจรพิมพ์มีความต้องการมากในการผลิตสมาร์ทโฟน โดยเฉพาะแผงวงจรประเภท Flexible printed circuit และ multi-layer printed circuit boards โดยในปี 2555 เวียดนามนำเข้าวงจรพิมพ์ถึง 900 ล้านดอลลาร์ฯ หรือขยายตัวร้อยละ 45.6 ส่วนใหญ่นำเข้าจากเกาหลีใต้ เป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 48.4 และได้นำเข้าจากไทยเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.4 เมื่อพิจารณาช่วง 4 เดือนแรกของปี 2556 มูลค่าการส่งออกวงจรพิมพ์ไทยไปเวียดนาม มีมูลค่า 9.1 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวถึงร้อยละ 36.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับแนวโน้มในอนาคต คาดว่า เวียดนามจะนำเข้าวงจรพิมพ์มากขึ้น ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมการผลิตสมาร์ทโฟนของเวียดนาม

• ชิ้นส่วนเครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้าอุตสาหกรรม
การลงทุนสร้างและการขยายตัวที่สูงของโรงงานประกอบสมาร์ทโฟนและผลิตชิ้นส่วนสมาร์ทโฟนในเวียดนาม ส่งผลให้การนำเข้าชิ้นส่วนเครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้าอุตสาหกรรม มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น โดยเวียดนามนำเข้าสินค้าทุนดังกล่าวมาจากเกาหลีใต้เป็นส่วนใหญ่ เป็นสัดส่วนร้อยละ 34.7 และนำเข้าจากไทยเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.9 หรือมีมูลค่าถึง 112.1 ล้านดอลลาร์ฯ เมื่อพิจารณาช่วง 4 เดือนแรกของปี 2556 ไทยได้ส่งออกไปเวียดนาม มีมูลค่าถึง 56.9 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวถึงร้อยละ 132 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับแนวโน้มปี 2556 คาดว่าเวียดนามยังต้องการนำเข้าชิ้นส่วนเครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้าอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก เนื่องจากการขยายตัวต่อเนื่องที่สูงของการลงทุนต่างชาติในเวียดนาม

• วงจรรวมและไมโครแอสเซมบลี
เป็นชิ้นส่วนที่ต้องใช้เป็นจำนวนมากในการผลิตสมาร์ทโฟน ดังจะเห็นได้ว่า เวียดนามมีการนำเข้าวงจรรวมและไมโครแอสเซมบลีสูงมากเป็นอันดับหนึ่งหรือคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 52.6 ของมูลค่าการนำเข้า 4 ชิ้นส่วนหลักของสมาร์ทโฟนในปี 2555 และมีการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 75.3 ส่วนใหญ่นำเข้าจากเกาหลีใต้ร้อยละ 35.6 แต่มีการนำเข้าจากไทยเพียงร้อยละ 0.2 แม้ว่าไทยมีการผลิตวงจรรวมและไมโครแอสเซมบลีเป็นจำนวนมาก แต่การผลิตส่วนใหญ่จะอยู่ในห่วงโซ่ของการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ และคอมพิวเตอร์ มีเพียงส่วนน้อยอยู่ในห่วงโซ่การผลิตสมาร์ทโฟนเป็นผลให้มูลค่าการส่งออกไปเวียดนาม 4 เดือนแรกของปี 2556 มีมูลค่าเพียง 2.5 ล้านดอลลาร์ฯ หรือหดตัวถึงร้อยละ 41.4 ขณะที่การส่งออกวงจรรวมโดยรวมขยายตัวร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ดี การส่งออกวงจรรวมไปเวียดนามมีแนวโน้มการขยายตัวที่ดีขึ้น เห็นได้จาก การส่งออกเดือนเมษายนปี 2556 ขยายตัวถึงร้อยละ 59 เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม สำหรับแนวโน้มในอนาคต คาดว่า ความต้องการวงจรรวมและไมโครแอสเซมบลีของเวียดนามน่าจะขยายตัวต่อเนื่อง โดยประเภทวงจรรวมที่มีความต้องการสูงในการผลิตสมาร์ทโฟนคือ Processors and Controller IC และ Memories IC ดังนั้นไทยควรเพิ่มสัดส่วนการผลิตในประเภทวงจรรวมดังกล่าวเพื่อเข้าสู่ห่วงโซ่การผลิตสมาร์ทโฟนมากขึ้น

ผลกระทบจากการเป็นศูนย์กลางการผลิตสมาร์ทโฟนของเวียดนามต่ออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทย

เนื่องจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยในปัจจุบันเน้นการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟและคอมพิวเตอร์ดังที่กล่าวมาข้างต้น ประกอบกับการตั้งฐานการผลิตสมาร์ทโฟนในเวียดนามปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นในส่วนของปลายน้ำที่อาศัยแรงงานเข้มข้นในการประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆจากการนำเข้า เพื่อผลิตเป็นเครื่องสมาร์ทโฟน ทำให้อาจกล่าวได้ว่าผลกระทบเชิงลบจากการเป็นศูนย์กลางการผลิตสมาร์ทโฟน ของเวียดนามต่อไทยในปัจจุบันยังคงไม่สูงนัก อย่างไรก็ดี ในอนาคตหากสายการผลิตของเวียดนามมีการขยายตัวสู่การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในส่วนของกลางน้ำมากขึ้น โดยเฉพาะวงจรรวมและไมโครแอสเซมบลี ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ได้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆนอกเหนือจากสมาร์ทโฟน ทำให้อาจเป็นภัยคุกคามต่ออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยในอนาคต ซึ่งปัจจุบันไทยมีมูลค่าการส่งออกวงจรรวมและไมโครแอสเซมบลีสูงเป็นอันดับสองรองจากฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟและส่วนประกอบ โดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 21 ของมูลค่าการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด

ดังนั้น เพื่อส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยจึงควรที่จะรักษาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์กลางน้ำที่ใช้เทคโนโลยีในการผลิตขั้นสูงไว้ อย่างไรก็ดี การที่จะสามารถรักษาฐานการผลิตอิเล็กทรอนิกส์กลางน้ำดังกล่าว ยังต้องอาศัยการออกแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Micro Electronics Design and Embedded System Design) ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำ ซึ่งเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีแกนหลักที่เป็นรากฐานสำคัญของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยในปัจจุบันไทยยังคงขาดในส่วนนี้ ดังนั้น การพัฒนาอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำควบคู่กับการรักษาอิเล็กทรอนิกส์กลางน้ำ น่าจะเป็นแนวทางที่จะส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นในอนาคต ซึ่งแนวทางดังกล่าวก็ยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนใหม่ในระยะ 5 ปี (2556-2560) ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ทั้งนี้ สำหรับผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ไทย การขยายตลาดส่งออกเพื่อมาทดแทนยอดขายของผลิตภัณฑ์กลุ่มคอมพิวเตอร์นั้น อาจจำเป็นต้องเพิ่มสัดส่วนการผลิตมาสู่กลุ่มผลิตภัณฑ์อื่นๆที่มีโอกาสทางการตลาดสูงในอนาคต ซึ่งกลุ่มอุปกรณ์เคลื่อนที่ เช่น สมาร์ทโฟน ก็เป็นทางเลือกหนึ่งเนื่องจากเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีฐานตลาดใหญ่ มีการเติบโตสูง และมีวัฎจักรชีวิตผลิตภัณฑ์สั้น อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีของสินค้ากลุ่มนี้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้ผลิตชิ้นส่วนจึงจำเป็นต้องตามให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี