Ask.fm ถามกันสนั่นเมือง เครื่องมือสื่อสารใหม่หรือกระแสชั่วคราว

เห่อไปทั่วเมือง สำหรับ “Ask.fm” แอปพลิเคชั่น “ถามมา ตอบไป” ทื่กำลังระบาดหนักในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กของไทย  จนเวลานี้ นักร้อง นักแสดง ค่ายเพลง หันมาใช้เป็นช่องทางสื่อสารกับแฟนคลับ แต่ดิจิตอลเอเยนซีเชื่อ อาจเป็นกระแสชั่วคราวประเภทมาเร็วไปเร็ว คล้ายกับ “ซิมชิมิ” ที่เคยฮิตมาก่อนหน้านี้ 

คำถาม และคำตอบแบบเกรียนๆ และกวนๆ ที่จะพบได้ในช่วงสัปดาห์หรือสองสัปดาห์ที่ผ่านมา จาก Ask.fm  แอปพลิเคชั่นที่กำลังเป็นที่นิยม และแชร์กันกระหน่ำบนโลกออนไลน์ และแน่นอนว่ายังไงแล้วคนไทยก็ขอโหนกระแสไปกับเขาด้วย เพราะไม่มีใครอยากตกเทรนด์เป็นแน่

แอปพลิเคชั่นที่ว่าก็คือ Ask.fm เป็นแพลตฟอร์มของโซเชียลเน็ตเวิร์ก ที่สามารถเข้าได้ทั้งทางเว็บไซต์ และแอปพลิเคชั่น มีคอนเทนต์หลักๆ คือการสนทนากันในกลุ่มเพื่อนฝูง หรือคนที่เราต้องการติดตาม สามารถ Follow บุคคลอื่นๆ ได้ตามใจชอบ โดยเป็นการสนทนาด้วยการ “ตั้งคำถาม” ด้วยจำนวนตัวอักษรไม่เกิน 300 ตัว ส่วนคำตอบ สามารถตอบได้ทั้งตัวอักษร รูปภาพ และวิดีโอ

ดูเหมือนว่าหน้าตาจะเหมือนกับโซเชียลเน็ตเวิร์กอื่นๆ ที่เราคุ้นเคยกันอยู่แล้ว แต่จุดเด่นหลักๆ ที่ทำให้ Ask.fm ดังกระหึ่มเป็นพลุแตกได้ในตอนนี้คือ “การไม่ระบุชื่อคนถาม” นับว่าเป็นกิมมิกหลักๆ ที่ทำให้หลายๆ คนสนใจ และชักชวนเพื่อนฝูงมาเล่นกัน

นอกจากจะเป็นการตั้งคำถามแบบไม่เปิดเผยตัวตนแล้ว เราก็ไม่สามารถรับรู้ได้อีกด้วยว่าเพื่อนคนไหนติดตามเราอยู่ แต่จะขึ้นเป็นจำนวนคนเท่านั้น ความน่าตื่นเต้นอยู่ที่ว่า เราสามารถคุยกับคนที่เราไม่กล้าคุยได้ อย่างเช่นคนที่เราแอบชอบ แต่ในขณะเดียวกันก็นำพาซึ่งความหยาบคายในภาษาด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อไม่มีการเปิดเผยตัวตน หลายคนก็จะใช้ถ้อยคำ หรือประโยคที่รุนแรงในการพูดคุยกัน

หลายคนอาจจะคิดว่า Ask.fm เป็นเว็บไซต์น้องใหม่ที่เข้ามาตีตลาดโซเชียลเน็ตเวิร์กอื่นๆ แต่ที่จริงแล้วมีอายุอานามถึง 4 ปีเข้าไปแล้ว ก่อตั้งเมื่อเดือนมิถุนายน 2010 มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมือง Riga ประเทศ Latvia โดย CEO มีนามว่า Ilja Terebin

ในตอนแรก Ask.fm ก็เป็นการสนทนาเหมือนกับโซเชียลเน็ตเวิร์กอื่นๆ เช่นกัน แต่เมื่อเดือนธันวาคม 2011 ได้ปล่อยฟีเจอร์การไม่เปิดเผยตัวตนผู้ถามออกมา ทำให้ Ask.fm เป็นที่นิยม และในเดือนมิถุนายน 2013 ก็ได้ปล่อยแอปพลิเคชั่นทั้งใน iOS และแอนดรอยด์ออกมา

ปัจจุบัน Ask.fm ได้ให้บริการทั่วโลก พร้อมทั้งมีภาษาท้องถิ่นไว้รองรับถึง 40 ภาษา หนึ่งในนั้นก็มีภาษาไทยอยู่ด้วย ในเดือนสิงหาคม 2013 Ask.fm ได้มีจำนวนผู้ใช้ทั่วโลก 70 ล้านคน และมีจำนวนคำถามและคำตอบมากกว่า 30 ล้านครั้งต่อวัน ล่าสุดเดือนเมษายน 2014 Ask.fm ได้มีจำนวนผู้ใช้ทั่วโลกถึง 112 ล้านคนแล้ว

ผู้ใช้ในทวีปเอเชียยังเป็นสัดส่วนที่น้อยอยู่ มีไม่ถึง 10% ประเทศที่มีการเติบโตสูงๆ ได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย เกาหลีใต้ เวียดนาม ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์

เหตุผลที่ทำให้ Ask.fm เป็นที่นิยมก็คือการที่ไม่เปิดเผยตัวตนนี่เอง ถ้ามองย้อนกลับไปถึงความนิยมของ Snapchat ก็ด้วยความใหม่ของแอปพลิเคชั่น และมีฟังก์ชันที่แปลก แหวกแนวจากโซเชียลเน็ตเวิร์กอื่นๆ ในตลาด ทำให้วัยรุ่นอยากลอง อยากเล่น และแชร์กันต่อไปบนโลกออนไลน์

เห็นกระแสความยอดนิยมขนาดนี้ งานนี้ไม่รู้ว่าเฮียมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก แห่งเฟซบุ๊ก จะกว้านซื้อกิจการเข้าอาณาจักรตนเองอีกหรือเปล่า เพราะช่วงหนึ่งที่ Snapchat เป็นที่นิยม เฮียมาร์กก็เจรจาขอซื้อด้วยมูลค่าถึง 3,000 ล้านบาท แต่ทาง Snapchat กลับปฏิเสธ

ฮิตตั้งแต่ดารายันการเมือง

ใช่ว่าจะมีเพียงแค่วัยรุ่นธรรมดาเล่นแอปฯ นี้เท่านั้น เหล่าบรรดาเซเลบฯ ดาราก็ขอจับจองพื้นที่โซเชียลเน็ตเวิร์กตัวนี้กับเขาบ้าง เหมือนเป็นกระดานสนทนาระหว่างแฟนคลับ อาจจะเป็นที่ถูกอกถูกใจสำหรับแฟนๆ ก็เป็นได้ เพราะสามารถถามคำถามอะไรก็ได้ที่อยากถาม จะเป็นคำถามที่มีสาระ หรือไม่มีสาระก็ได้ เพราะไม่มีการระบุตัวตนอยู่แล้ว

ดารา นักร้อง คนดัง อย่าง พีช พชร และมาร์ช จุฑาวุฒิ ดาราวัยรุ่นจากค่ายจีทีเอช หรือ แป้งโกะ จินตนัดดา, แกรนด์ เดอะสตาร์, ปาย สิตางศ์, ไต้ฝุ่นจากเคพีเอ็นอวอร์ด, แอริน ยุกตะทัต นักแสดงจากค่ายละคร Exact หันมาใช้แอปพลิเคชั่น Ask.fm เป็นอีกเครื่องมือในการสื่อสารกับแฟนคลับ รวมถึงค่ายเพลงบางแห่งเริ่มจากการใช้แอปพลิเคชั่นนี้ในการให้ข้อมูลข่าวสาร นอกเหนือจากการใช้เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม

แต่แน่นอนว่าก็เป็นดาบสองคม เพราะมีดาราบางคนโดนแอบอ้าง ปลอมแอคเคานต์ขึ้นมาใหม่ และพูดคุยเสมือนเป็นคนคนนั้นจริงๆ จนเจ้าตัวต้องออกมาชี้แจงผ่านโซเชียลมีเดยของตนเองเลยว่าตนเองไม่ได้เล่น หนึ่งในนั้นก็มี โอปอลล์ ปณิสรา พิมพ์ปรุ, ใบเตย อาร์สยาม หรือแม้กระทั่งอาจารย์ยิ่งศักดิ์ จงเลิศเจษฎาวงศ์ ก็ถูกปลอมแอคเคานต์ด้วยเช่นกัน ซึ่งถ้อยคำที่ถามตอบกันนั้นจะเป็นถ้อยคำที่ไม่สุภาพทั้งสิ้น

หรือแม้แต่วงการการเมืองที่ร้อนระอุยิ่งกว่าอากาศประเทศไทย ชาวไทยก็ยังสามารถสร้างแอคเคานต์สำหรับ “สุเทพ เทือกสุวรรณ” และ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” โดยเนื้อหาที่ปรากฏก็จะเกี่ยวข้องกับการเมืองบ้าง หรือเป็นคำถามกวนๆ ทั่วๆ ไป

แบรนด์ควรใช้กระแสให้เป็นประโยชน์

สำหรับ Ask.fm เป็นกระแสฮิตในเมืองไทยได้สักพักใหญ่แล้ว เป็นช่วงเวลา 1-2 สัปดาห์ แต่ยังไม่มีแบรนด์สินค้าไหนที่โหนกระแสใช้สื่อตัวนี้เป็นเครื่องมือในการปฏิสัมพันธ์กับผู้บริโภค จากการสังเกตดูแล้วจะมีเพียงแค่ค่ายเพลง Genie Records ที่สร้างแอคเคานต์ขึ้นมาใหม่

กลายเป็นว่าเหมือนเป็นการพูดคุยระหว่างแฟนเพลงกับค่ายเพลงเลยทีเดียว เป็นการสนทนาที่ไม่สามารถพบเห็นได้ในสื่ออื่นๆ อย่างเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม หรือทวิตเตอร์ ตัวอย่างคำถามอย่างเช่นความเป็นมาทำไมถึงชื่อจีนี่ เรคคอร์ด และส่วนใหญ่ก็เป็นคำถามสำหรับคอนเสิร์ตใหญ่ของค่ายที่กำลังจะจัดขึ้นในวันที่ 10 พ.ค. 2557 พอดิบพอดี นับว่าเป็นการใช้สื่อได้เหมาะเจาะ

แต่จริงๆ แล้วการที่แบรนด์ไม่ลงมาเล่นโซเชียลเน็ตเวิร์กแบบกระแสชั่วคราวอย่างนี้ เพราะอยู่ที่ความน่าเชื่อถือของแบรนด์ เพราะเทรนด์การเล่นแอปฯ แบบนี้มักจะมาเป็นกระแสแค่ช่วงหนึ่งเท่านั้น และก็หายไป แต่ถ้าแบรนด์ไหนที่ต้องการเจาะตลาดกลุ่มวัยรุ่น และอยากสร้างสีสันให้กับแบรนด์ตัวเองอาจจะทดลองใช้ เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสื่อสารกับผู้บริโภค

เอเยนซีชี้กระแสชั่วคราวคล้ายซิมชิมิ

ศุภฤกษ์ ตั้งเจริญศิริ Digital Director บริษัท MEC INTERACTION ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า การที่ Ask.fm ได้รับความนิยมจากคนไทย นอกจากเป็นแอปพลิเคชั่นที่เล่นง่าย เหมาะสำหรับการเล่นฆ่าเวลาแล้ว การที่เว็บไซต์เด็กดีดอทคอมก็ออกเกมทายใจ หรือ funnyquiz หรือเกมคำถามที่มาในแนวใกล้เคียงกัน ก็ยิ่งกระตุ้นให้กระแส Ask.fm ได้รับความสนใจยิ่งขึ้น แต่ก็ต้องรอดูว่า อาจแค่กระแสชั่วคราว เหมือนเมื่อครั้ง SimSiMi หรือ “ซิมชิมิ” แอปพลิเคชั่นที่สามารถโต้ตอบพูดคุยได้จากเกาหลี เคยสร้างความนิยมจนฮิตกันทั่วเมือง แต่ไม่นานกระแสก็หายไป

“ในแง่ของเอเยนซีโฆษณาออนไลน์ ดูว่ากระแสนี้จะอยู่ได้นานแค่ไหน เพราะเวลานี้กระแสความสนใจของผู้บริโภคยุคนี้สั้นมาก การที่แบรนด์จะเข้าไป Tie in เลยเป็นเรื่องยาก ต้องดูว่ากระแสนี้จะอยู่ได้”

นอกจากนี้ โฆษณาบนโทรศัพท์มือถือ หรือ Advertising on mobile ที่มีการคาดการณ์กันว่าจะได้รับความนิยมอย่างมากในปีนี้ เนื่องจากการเติบโตของสมาร์ทโฟน แต่เอาเข้าจริงแล้ว ตัวเลขกลับยังไม่สูงมาก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะที่ผ่านมาการทำแอปพลิเคชั่นโฆษณาบนโมบายต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง แต่กลับ “Engage” คนดูได้ไม่นาน เนื่องจากผู้บริโภคมีกระแสใหม่ๆ มาสร้างความสนใจอยู่ตลอดเวลา ทำให้หลายแบรนด์จึงรอดูว่าจะมีแบรนด์ไหนทำแล้วประสบความสำเร็จ

สื่อต่างชาติเตือน แอปฯ อันตรายสำหรับวัยรุ่น

แม้จุดเด่นของ Ask.fm ก็คือการที่ไม่ระบุตัวตนของผู้ถาม แต่ก็นำมาซึ่งมหันตภัยเช่นกัน เพราะเมื่อไม่รูจักตัวตนกัน หลายคนก็มักใช้ถ้อยคำที่หยาบคาย และส่อเสียดไปในเรื่องเพศ ส่วนใหญ่ผู้ที่ใช้แอปฯ นี้จะมีอายุระหว่าง 13-18 ปี และในทวีปยุปโรปก็พบว่ามีเด็กฆ่าตัวตายจากการเล่นแอปฯ นี้ไปไม่น้อยเลยทีเดียว

ด้วยวุฒิภาวะของเด็กยังน้อย รวมไปถึงเกิดการคุกคามทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งบางทีเด็กมีปัญหาแล้วขอคำปรึกษาจากใครบางคนแต่กลับได้รับคำตอบที่ไม่สู้ดีนัก ทำให้เด็กเกิดการคิดสั้นได้