กางแผน เมเจอร์ กันตนาฯ จับมือลุย “ทีวีดาวเทียม”

เพื่อรับมือกับการแข่งขัน “ดิจิทัลทีวี” ที่กำลังรุกไล่แย่งคนดูและโฆษณา บริษัท เมเจอร์ กันตนา บรอดแคสติ้ง จำกัด ซึ่งเกิดจากการร่วมทุนระหว่าง เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์” และกลุ่ม “กันตนา” เปิดช่องทีวีดาวเทียมและเคเบิลในชื่อว่า “M Chanel”   ล่าสุดทั้งคู่ได้เปิดช่อง “การ์ตูน” เพิ่มอีก 1 ช่อง จากที่มีอยู่ 1 ช่อง เพื่อจับกลุ่มเป้าหมายกลุ่มเด็ก อายุตั้งแต่ 4-15 ปี

การหันมาบุกช่องการ์ตูนนั้น เกิดจากการที่ไปได้ “บริษัท เทิร์นเนอร์ บรอดแคสติ้ง ซิสเต็ม เอเชีย แปซิฟิค อิงค์ จำกัด” ผู้บริหารลิขสิทธิ์ “การ์ตูนเน็ตเวิร์ค” มาเป็นพันธมิตร โดยได้ร่วมลงขันถือหุ้น “บริษัท เอ็ม เทิร์นเนอร์ จำกัด” ในสัดส่วนการถือหุ้น 51 : 49 โดยเมเจอร์  และกันตนา ถือหุ้น 51% ส่วนเทิร์นเนอร์ถือ 49

ก่อนหน้านี้ เมเจอร์ กันตนา มีช่องการ์ตูน “Boomerang (บูมเมอแรง)” ออกอากาศเมื่อปี 2556 เป็นช่องการ์ตูนสำหรับคนดูที่เป็นเด็กเล็ก อายุ 4-15 ปี ส่วนช่อง “Toonami (ทูนามิ)” ที่เพิ่งออกอากาศต้นปี 2558 จะเน้นเนื้อหาการ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่ เพื่อขยายกลุ่มคนดูไปยังเด็กโตตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไป

ทั้งนี้การที่ต้องเพิ่มช่องทูนามิเพิ่มอีก 1 ช่อง เนื่องจากช่องบูมเมอแรงติดเงื่อนไขเรื่องการลงโฆษณาสินค้าบางประเภท บางแบรนด์ไม่สามารถลงได้ เด็กเล็กอายุไม่ถึง 15 ปี เช่น เครื่องดื่มที่มีโซดา ขนมบางชนิด เป็นต้น เมื่อเพิ่มช่อง ขยายกลุ่มคนดู และโฆษณา คาดว่าภายในสิ้นปีจะมีรายได้ของทั้งสองช่องรวมกันไม่ต่ำกว่า 140 ล้านบาท

สยามรัศมิ์ เลาหสุขเกษม กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมเจอร์ กันตนา บรอดแคสติ้ง จำกัด กล่าวว่า การมาของดิจิทัลทีวีส่งผลให้การแข่งขันสูงมาก และได้แย่งแชร์เม็ดเงินโฆษณา ประกอบกับเศรษฐกิจก็ไม่ดี ทำให้เม็ดเงินซื้อสื่อโฆษณาช่วงครึ่งปีหลังลงถึง 10%  ซึ่งต่อไปผู้ที่จะประสบความสำเร็จได้จะต้องมีความเป็นมืออาชีพในธุรกิจ จึงเป็นที่มาของร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ที่มีคอนเทนต์ที่แข็งแกร่ง

สำหรับผลกระทบที่มีต่อธุรกิจทีวีดาวเทียมและเคเบิล ยังไม่มาก ยังครองสัดส่วน 70% ของตลาด ดังนั้นโอกาสการเติบโตยังมีอีกเยอะ โดยเฉพาะต่างจังหวัด และมีช่องให้เลือกมากกว่าดิจิทัลทีวี 

โดยที่ก่อนหน้าที่กันตนาจะมาร่วมมือกับทางเมเจอร์ กันตนาเองก็ได้มีช่องทีวีดาวเทียมของตนเองอยู่ 3 ช่องเช่นกัน ได้แก่ Miracle Chanel, Farm Chanel และ Rama Chanel ซึ่งแต่ละช่องมีกลุ่มเป้าหมายเฉพาะกลุ่มแตกต่างกัน

แผนต่อไปของทางเมเจอร์ กันตนาฯ คือ การ “ซื้อคอนเทนต์” จากต่างประเทศ แล้วทำการขายต่อให้ผู้ผลิตสื่อรายอื่นๆ ต่อไป ทั้งช่องทีวีดาวเทียม และดิจิทัลทีวี ซึ่งปัจจุบันมีการเจรจาเพื่อลงคอนเทนต์ให้แก่ช่อง 3 แฟมิลี่ ในช่วงเวลา 5 โมงเย็นแล้ว 

นอกจากนี้กันตนายังอยู่ในช่วงกำลังศึกษาธุรกิจ “ดิจิทัลทีวี” โดยมีแผนที่อาจจะเข้าไปร่วมทุนหรือเทกโอเวอร์ช่องดิจิทัลทีวีบางช่องที่ประสบปัญหา ซึ่งก่อนหน้านี้ทางกันตนาก็สนใจในการประมูลดิจิทัลทีวีด้วยเช่นกัน แต่หลังจากประเมินความเสี่ยงแล้ว ทำให้กันตนามองว่ายังไม่คุ้มที่จะลงทุน รออีก 1-2 ปีให้เข้าที่เข้าทาง แล้วจะเข้าไปลงทุนก็ยังไม่สาย พร้อมเล็งช่องกลุ่ม “ครอบครัว” และ “เอสดี” และมองว่าถ้าถึงเวลานั้นต้องมีเงินในกระเป๋าสัก 2,000-3,000  ล้านบาทในการลงทุน