"เนชั่นฯ กระชากใจวัยโจ๋"

กระแสยังคงร้อนแรงสำหรับธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ นอกจากจะมีการเข็นหนังสือพิมพ์ และนิตยสาร “หัวใหม่” ออกสู่แผงหนังสืออย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่แล้ว จนล่วงเลยข้ามมาจนถึงปีนี้

บรรดาสื่อสิ่งพิมพ์ “หัวเก่า” ที่อยู่ในตลาดมานานไม่ต่ำกว่า 10 ปี ก็ลุกมาปรับปรุงโฉมใหม่กันเป็นแถว เพื่อช่วงชิง “เค้กก้อนใหญ่” ที่คาดว่ากำลังขยายเพิ่มขึ้นทุกที โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ๆ

หลังจากเห็นค่ายคู่แข่ง ล่าสุด “เนชั่นสุดสัปดาห์” ของกลุ่มเนชั่น ถือเอาฤกษ์ ครบรอบ 12 ปี ขึ้นปีที่ 13 ลุกขึ้นมา re-launch ปรับโฉมใหม่ สร้างบุคลิกใหม่ เพิ่มสีสัน จัดหน้าใหม่ และความหลากหลายของเนื้อหา ให้ดูเด็กลง เพื่อต้องการขยายไปยังกลุ่มคนอ่านที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ๆ ไม่ใช่ประเภท Hard core

“จากการศึกษา เราพบว่า กลุ่มคน working people ซึ่งเป็นกลุ่มคนอ่านขนาดใหญ่ และคนกลุ่มนี้ ต้องการอ่าน ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ ไม่หนักมาก ทั้งสีสันที่ต้องดูดี “ ธนะชัย สันติชัยกูล รองประธานกรรมการ เนชั่น กรุ๊ป ให้เหตุผลการลุกขึ้นปรับโฉมหน้าครั้งนี้

ตามสถิติที่เก็บมาได้ กลุ่มคนอ่านของ “เนชั่นสุดสัปดาห์” จะมีอายุระหว่าง 35 ปีขึ้นไป แต่กลุ่มคนอ่านที่เป็นเป้าหมายใหม่ในครั้งนี้ จะมีอายุลดลงมาเหลือเพียงแค่ 25 ปี ประเภท fist jobber ไม่จำกัดว่าเป็นเพศใด

เพื่อให้สอดคล้องกับกลุ่มคนอ่านที่เป็นคนรุ่นใหม่ หนังสือจะเลย์เอาท์ใหม่ เพิ่มหน้าสี มากขึ้น เพื่อให้ดูสดใส “คอลัมนิสต์” หน้าใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับกลุ่มคนรุ่นใหม่จะถูกเพิ่มเติมเข้ามา

งานแถลงข่าว ต้องเลือกเอาโรงภาพยนตร์ SF ชั้น 6 ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซ่า จัดเป็นทั้งเวทีเสวนา ที่มีบรรดาแขกรับเชิญที่เป็นนักการเมือง นักธุรกิจ คอลัมนิสต์มากันคับคั่ง โดยปิดท้ายด้วยการชมภาพยนตร์เรื่อง “The letter” ที่เพิ่มลงโรงไปหมาดๆ

เนชั่นกรุ๊ป หวังว่า การขยับขยายในครั้งนี้จะทำให้ เนชั่นสุดสัปดาห์ ช่วงชิงเค้กก้อนใหญ่ ที่กำลังขยายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ได้ ที่มีกลุ่มคนอ่านรุ่นใหม่เป็นเดิมพัน

การขยับตัวของเนชั่นสุดสัปดาห์มีขึ้น หลังจากที่ ค่ายทราฟฟิก คอร์นเนอร์ส เข็น a day weekly ลงตลาด มีเป้าหมายอยู่ที่กลุ่มผู้ที่เริ่มทำงาน หรือ fist jobber ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ไม่แตกต่างความต้องการขยายฐานคนอ่านที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ของเนชั่นสุดสัปดาห์นัก

“กลุ่มคนอ่านของ a day weekly เป็นกลุ่มคนอ่านที่เคย a day มาก่อน แต่ตอนหลังเลิกไปเพราะ คนกลุ่มนี้เมื่อโตขึ้น เข้าสู่วัยทำงาน a day ก็อาจไม่ใช่ ความต้องการของเขาอีกต่อไป” สุรพงษ์ เตรียมชาญชัย หรือ ป๊อป แห่งทราฟฟิก คอร์เนอร์ส บอก

การออก “a day weekly” จึงเป็นความพยายามที่ต้องการขยายฐานกลุ่มคนอ่าน ที่ไม่ต้องการจบลงเพียงแค่กลุ่มคนอ่านที่เป็นระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นกลุ่มหลักของ a day แต่ต้องการขยายฐานคนอ่าน ที่เรียกได้ว่าเป็นการโตไปพร้อมๆ กับคนอ่าน

แต่เนื่องจากรูปเล่ม “เนชั่นสุดสัปดาห์” และมติชนสุดสัปดาห์ ที่เป็นเจ้าตลาดเดิม แถมนื้อหา ที่ออกมาเน้นหนักไปเรื่อง “การเมือง” ทำให้ a day weekly ถูกมองว่า เป็นนิตยสารการเมืองสำหรับวัยรุ่น

“ผมไม่ตั้งใจจะให้เป็นข่าวการเมือง แต่ด้วยรูปเล่ม และกระแสข่าว ที่มาทางเรื่องการเมือง ทำให้คนมอง เราตั้งใจให้เนื้อหาหลากหลาย บังเอิญว่ากระแสเวลานี้ ไปทางด้านนี้” สุรพงษ์บอก

ส่วนใครจะช่วงชิง “เค้ก”ก้อนนี้ได้สักเพียงใด ก็ต้องติดตามกันต่อ แต่ที่แน่ๆ กลุ่มคนเริ่มต้นทำงานใหม่ หรือ first jobber กำลังเนื้อหอม ที่ถูกสิ่งพิมพ์ทั้งหลายต่างรุมตอม ไม่เชื่อก็ต้องถามสิ่งพิมพ์ค่ายต่างๆ ดู