ดวงฤทธิ์ บุนนาค “ผมไม่ใช่ Minimalist”

ภายหลังการเปิดตัว H1 บูติกมอลล์ (Boutique Mall) ย่านทองหล่อเพียงไม่นาน ทั้งชื่อโครงการ ชื่อเจ้าของโครงการ ชื่อดีไซเนอร์ และชื่อของสถาปนิก ก็พากันโชว์หราอยู่บนหน้าหนังสือออกแบบเกือบทุกเล่ม ด้วยความแรงของสถาปัตยกรรมและการตกแต่ง ทุกร้านในโครงการก็พากันพาเหรดเปิดตัวตามนิตยสาร Lifestyle ต่างๆ เครดิตส่วนหนึ่งคงต้องยกให้กับสถาปนิกผู้ออกแบบตัวตึกภายนอก ได้แก่ ดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกที่กำลังฮอตที่สุดคนหนึ่งในยุคนี้

นอกจาก H1 เขายังเป็นผู้ออกแบบอีกหลายโครงการ โดยหนึ่งในนั้นคือ Costa Lanta หนึ่งในสมาชิกของ Design Hotel TM ซึ่งถือเป็น HIP resort ที่ฉีกตำราสถาปัตยกรรมรีสอร์ตแบบเดิมกระจุย (อ่านรายละเอียดใน Insight เรื่อง Design Hotel TM)

“หลักการออกแบบของผมก็คือ ทำในสิ่งที่เชื่อ ผมเชื่อในความจริง และเชื่อในความคิด ผมคิดว่าสถาปัตยกรรมควรจะมีช่วงเวลาของมัน เรามีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาปัจจุบัน เราก็ทำงานออกมาในช่วงเวลาปัจจุบัน ก็ควรเป็นงานที่มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่บ่งบอกช่วงเวลาที่เราทำก็คือช่วงปัจจุบัน” นี่เป็นบทสรุปคอนเซ็ปต์การออกแบบของดวงฤทธิ์ที่ตรงที่สุด อันดูได้จากผลงานสถาปัตยกรรมของ H1 และ Costa Lanta

วิธีคิดในการออกแบบ H1 ดวงฤทธิ์เริ่มต้นจากคำตอบที่ว่า สถาปัตยกรรมจะต้องเชื่อมโยงภายในและภายนอกของตัวตึกเข้าด้วยกัน ขณะที่ตัวอาคารเปรียบเสมือนกรอบ (รูป) ใส ซึ่งทำให้เห็นดีไซน์ภายใน (Interior design) สถาปัตยกรรมเองก็ต้องสร้างความสมดุลระหว่างความเปิดกับความปิด โดยที่ความสมดุลในการเปิดปิดตรงนี้ ต้องเริ่มจากใจของสถาปนิกเองก่อน

“เราไม่รู้มาก่อนนะว่าใครจะมาทำ Interior แต่ละร้าน เพราะเป็นพื้นที่เช่า ฉะนั้นเราก็ไม่รู้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ซึ่งก็ต้องเปิดใจให้กว้างและยอมรับว่าเราจะปล่อยให้เห็น interior ตรงไหนบ้าง ก็ต้องให้เครดิตคุณวิฑูรย์ (วิฑูรย์ คุณาลังการ จากบริษัท IAW) เพราะเขาออกแบบภายในเกือบทุกร้าน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ architecture ดูดี เพราะถ้าดีไซน์ข้างในหมอง ตึกข้างนอกก็หมองไปด้วยเหมือนกัน”

ส่วนคำตอบของความดูหรูหราของโครงการ ดวงฤทธิ์บอกว่า ไม่ได้มาจากส่วนประกอบ (element) ที่ใช้ตกแต่งเพียงอย่างเดียว แต่มาจากสเกล (scale) และสัดส่วน (proportion) ของตัวตึกที่มีความสูงถึง 3.8 เมตร ซึ่งทำให้เกิดพื้นที่ว่าง (space) และการเล่นกับ Interior space และ exterior space จะทำให้มุมมองข้างนอกของแต่ละข้างในไม่เหมือนกัน นั่นก็คือความหรูหราที่คนทั่วไปสัมผัสได้โดยไม่ต้องเข้าใจถึงหลักสถาปัตยกรรม

สำหรับวิธีคิดในการออกแบบ Costa Lanta ดวงฤทธิ์เริ่มต้นจากคำถาม “ทำไมรีสอร์ตในเมืองไทยต้องเป็นสไตล์บาหลี หรือทำไมต้องมีหน้าจั่ว ดูหน้าตาเป็นไทยทุกอัน” เมื่อเขาตอบตัวเองไม่ได้ เขาจึงลองทำตามความเชื่อในเรื่อง “ปัจจุบัน” บวกกับความเรียบง่ายที่ฝังรากในความชอบของเขา สิ่งที่ได้คือ ความกลมกลืนระหว่างสถาปัตยกรรมสมัยใหม่กับความนุ่มนวลของธรรมชาติ “สิ่งที่ผมเคารพมากที่สุดก็คือ natural context ของสถานที่ ผมจึงพยายามทำให้ตึกหายไปและเก็บธรรมชาติไว้ให้มากที่สุด”

ดวงฤทธิ์ย้ำว่า ทั้ง 2 โครงการนี้ รวมถึงโครงการอื่นๆ ของเขา ไม่ใช่สไตล์ minimal ทั้งนี้เพราะเขาไม่เคยคิดแบบ minimalist ที่เน้น “องค์ประกอบที่น้อยที่สุด” แต่แนวคิดของเขาคือ “องค์ประกอบเท่าที่จำเป็น” หรือก็คือ ทางสายกลางตามแนวพุทธ “ผมคิดว่าการมีชีวิตแบบ minimalist มันน้อยเกินไปก็จะอยู่ลำบาก ของผมจะเน้นที่อยู่สบาย ไม่เพิ่มมากกว่านี้ และก็ไม่ตัดทอนให้มันอัตคัด คือรู้ว่าถ้ามันพอดีแล้วก็ต้องพอ” ดังนั้นดวงฤทธิ์จึงเชื่อว่างานของตัวเองค่อนไปทางแนว simplicity มากกว่า

นอกจากนี้ โครงการทั้ง 2 แห่งยังมีความคล้ายคลึงอีกประการคือ ความพยายามในการรักษาสภาพต้นไม้ภายในโครงการไว้เป็นอย่างดี ดวงฤทธิ์ใช้วิธีวางคานอ้อมต้นไม้และกลายเป็นสถานที่นั่งเล่นอันแสนสบายที่ H1 และเขาเลี่ยงการตัดต้นสน จนเกิดสระว่ายน้ำกลางร่มสนที่ Costa Lanta โดยเขาให้ข้อคิดเกี่ยวกับแรงกดดัน ที่หลายคนอาจถือเป็นอุปสรรคไว้อย่างสนใจว่า …

“โดยส่วนตัว ผมให้ความสำคัญกับบริบทของสถานที่มาก คือ ผมพยายามมองข้อจำกัดต่างๆ แล้วใช้มัน เพราะผมมองว่าสิ่งใหม่ๆ จะเกิดขึ้นได้จากข้อจำกัดทั้งภายใน (เช่น ข้อบังคับการสร้างตึก เวลา) และภายนอก (เช่น ทำเลที่ตั้ง) ถ้าเราจัดการข้อจำกัดทั้งสองอย่างสมดุล มันก็จะเกิดสิ่งใหม่ที่น่าสนใจ แต่ถ้าเรามุ่งรับใช้ข้อจำกัดภายในอย่างเดียวก็จะไม่เกิดอะไรใหม่ เหมือนกับเรามีตรายางแล้ว stamp ไปทุกที่ มันก็เหมือนกันหมด”

ดวงฤทธิ์มองว่า งานทุกชิ้นที่ทำก็คือการทำการตลาดให้กับตัวเอง ฉะนั้น เขาจึงไม่วางตัวเป็นผู้ถูกเลือกฝ่ายเดียว เขาเองก็เลือกลูกค้าด้วย “งานสถาปัตยกรรมทุกชิ้นจะดีได้ เพราะได้ลูกค้าดีมีรสนิยมและให้โอกาสให้เราได้ทำในสิ่งที่เราเชื่อ จริงๆ ความสัมพันธ์ระหว่างลูกค้ากับสถาปนิกยิ่งกว่าแต่งงานอีก เพราะไม่มีอย่างอื่นนอกจากสถาปัตยกรรมที่จะผูกพันกันไว้ ถ้าเราไม่ได้หลงรักในสิ่งเดียวกัน ทำงานด้วยกันมันก็เป็นวิบากกรรมทั้ง 2 ฝ่าย”

ด้วยความระมัดระวังในการเลือกลูกค้านี้เอง ผลงานทุกชิ้นที่มีแบรนด์ดวงฤทธิ์เป็นผู้ออกแบบ เขากล้ารับประกันว่าดีแน่ เพราะงานทุกชิ้นจะถูกสร้างสรรค์มาจากความเชื่อของเขา “เราเชื่ออย่างนั้นแล้วก็ทำในสิ่งที่เราเชื่อ ใครจะมาจ้างเราก็ต้องมีความเชื่อคล้ายๆ กับเรา”

เมื่อถามถึงเอกลักษณ์หรือสไตล์ในงานของตัวเอง ดวงฤทธิ์บอกว่า เอกลักษณ์ของเขาคือความไม่มีเอกลักษณ์ “งานของผมเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามช่วงเวลาและอายุ ผมตั้งใจและพยายามทำงานให้คนจำไม่ได้ว่าเป็นคนคนเดียวกันทำ แต่อยากทำให้คนมองเห็นว่าแก่นความคิดมันเหมือนกัน เพราะ form ไม่ใช่สาระของงานผม สาระของผมคือแก่นของความคิด ถ้าเอางานของผมมาเรียงกันก็จะเห็นว่าแตกต่างบนแกนความคิดเดียวกัน”

ดวงฤทธิ์ทำงานในวงการการออกแบบทั้งสถาปัตยกรรมและตกแต่งภายในมาร่วม 15 ปี ซึ่งกว่าจะมีวันนี้ได้ เขาบอกว่าต้องอาศัยประสบการณ์และการเรียนรู้เพื่อการพัฒนา โดยขุมทองของการพัฒนางานของดวงฤทธิ์มีชื่อว่า “ความผิดพลาด” เขาอาศัยความผิดพลาดของตัวเองและผู้อื่นเพื่อเรียนรู้และพัฒนางานใหม่ๆ “ถ้ามัวแต่คิดว่างานตัวเองดีตลอด มันก็จะไม่พัฒนาไปไหน ชาตินี้ก็อยู่ตรงนั้นแหละ”

ในยุคนี้ที่ดีไซน์กลายเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ เป็นเครื่องหมายศักดิ์สิทธิ์แสดงความมีสไตล์ของคนรุ่นใหม่ ที่ใฝ่จะเป็น “ฮิพ (hip)” Positioning เลยขอยกคำพูดของดวงฤทธิ์ที่กล่าวไว้อย่างน่าฟังว่า …

“ความสร้างสรรค์เป็นเรื่องง่ายมาก ไม่มีอะไรเป็น magic และไม่เกี่ยวกับ talent ทั้งหมดคืออันนี้…สมอง (ยกนิ้วชี้ที่หัว) สมองมนุษย์มีศักยภาพที่จะสร้างสรรค์ และมนุษย์ก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่พร้อมจะสร้างสรรค์อยู่แล้วโดยธรรมชาติ เพียงแต่สิ่งที่เราต้องการก็คือ data ถ้าคุณยัดข้อมูลเข้าไปในสมองคุณให้มากพอ คุณก็จะคิดอะไรบางอย่างออกเสมอ โดยมีเคล็ดไม่ลับนิดนึงคือ คุณต้องพยายามใส่ข้อมูลเหล่านั้นเข้าไปพร้อมๆ กันให้มากที่สุด มันจะช่วยให้กระบวนการความคิดสร้างสรรค์เยอะขึ้น ถ้ามีข้อมูลในหัวมากพอ สมองจะเหนี่ยวนำให้คิดออกเอง”

… ดวงฤทธิ์สรุปสั้นๆ ว่า “สิ่งที่ต้องเพิ่มขึ้นก็คือกบาลล้วนๆ” …

Profile

ชื่อ : ดวงฤทธิ์ บุนนาค ชื่อเล่น “ด้วง”
วันเกิด : 14 มี.ค. 2509
ครอบครัว : คุณพ่อคือ พิทยาพล บุนนาค (ข้าราชการรัฐวิสาหกิจ) สืบเชื้อสายตระกูลบุนนาคมาจากสายของ
เจ้าพระยาประยูรวงศ์ ปัจจุบัน แต่งงานกับ อัชฌานาท บุนนาค Interior Designer และเป็นผู้บริหารใน IA49 มีลูก 2 คน คน โตเป็นลูกชายชื่อ “น้องนท” อายุ 5 ขวบ และคนเล็กเป็นลูกสาวชื่อ “น้องนีร” อายุ 2 ขวบ
ที่ทำงาน : Siam Tower ชั้น 28
การศึกษา :
ประถม-มัธยมศึกษา : สาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปริญญาตรี : เกียรตินิยม สถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯ (พ.ศ. 2532)
ปริญญาโท : สถาปัตยกรรมศาสตร์ (Graduate Diploma in Design) จาก Architectural Association (AA), London, UK
ประสบการณ์ :
ปัจจุบัน : กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดวงฤทธิ์ บุนนาค จำกัด (ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2541 เริ่มจากเป็น หจก. ดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิก แล้วเปลี่ยนเป็น บจก. ในปี พ.ศ. 2544)
เจ้าของร้าน anyroom ชั้น 4 สยามดิสคัฟเวอรี่ (ขายเฟอร์นิเจอร์นำเข้า กำลังจะส่งออก และกำลังจะมีสาขาในต่างประเทศ เร็วๆ นี้)
2538-2541 : สถาปนิกอาวุโส บริษัท สถาปนิก 49 (A49) จำกัด
ผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรม :
2547 : โครงการบูติกมอลล์ H1 ทองหล่อ
2544 : Costa Lanta โรงแรมบูติก (boutique hotel) ที่กระบี่ ได้รับรางวัล the Best 50 New Hotels in the World จากนิตยสาร Conde Nast Traveler (UK Edition) ฉบับ May 2004
2541 : อาคารสำนักงานโรงกลั่นน้ำมัน เอสโซ่ และอาคารรักษาความปลอดภัยภายในโรงกลั่นน้ำมันเอสโซ่ ศรีราชา
2539 : อาคารศูนย์กีฬา หมู่บ้านและสนามกอล์ฟ ปัญญาปาร์ค กรุงเทพฯ
2538 : อาคารสำนักงานพิพัฒนสิน กรุงเทพฯ, อาคารคอนโดเฮาส์ โนเบิลพาร์ค สมุทรปราการ