แตกต่างอย่าง บิ๊กซี

ยุคผู้บริโภคระวังการใช้จ่าย สินค้าใน Hyper Market อย่าง Big C จึงต้องจับกระแสพฤติกรรม ด้วยการรุกขายสินค้าทางเลือก หรือ House Brands ด้วยการเปิดตัวสินค้าเฮาส์แบรนด์ กลุ่มเสื้อผ้า 6 แบรนด์ ภายใต้คอนเซ็ปต์ Only @BigC รับซัมเมอร์ ซึ่งเป็นฤดูขายสินค้าที่แรงที่สุด สะท้อนแนวรุกบิ๊กซีแต่เนิ่นๆ

Only @ BigC มีบทบาทเหมือน Umbrella Brand ซึ่งมีการ Segmentation หรือการจัดแบ่งกลุ่มสินค้าออกตามกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งประเดิมด้วยกลุ่มสินค้าเสื้อผ้า 6 แบรนด์ ครอบคลุมตั้งแต่เด็กเล็กจนถึง ผู้ใหญ่ ได้แก่ แบรนด์ “เดอะโคฟ” เสื้อผ้าแฟชั่นยีนส์ สำหรับทุกเพศทุกวัย “เอฟเอฟดับบลิวดี” เสื้อผ้าแฟชั่นลำลองสำหรับผู้ชายวัยรุ่น “ซี-โซน”เสื้อผ้าลำลองวัยรุ่นสตรี “เอมิลี่” เสื้อผ้าเด็กผู้หญิงอายุ 4-14 ปี ดอนโดลิโอ เสื้อผ้าเด็กผู้ชายอายุ 4-14 ปี และ “โมดาบิมบิ” เสื้อผ้าเด็กเล็กอายุ 1-3 ปี

การรุกตลาดครั้งนี้ จริยา จิราธิวัฒน์ รองประธานฝ่ายการตลาดและการสื่อสาร บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ บอกว่า “สินค้าเฮาส์แบรนด์จำเป็นต้องสร้างความแตกต่าง (Differentiatoin) ซึ่งการดีไซน์รูปแบบใหม่ๆ เพิ่มความหลากหลาย ให้ตรงใจกลุ่มลูกค้าแต่ละกลุ่มที่มีหลากหลาย จะทำให้ลูกค้าสามารถจดจำแบรนด์ได้ ที่สำคัญก่อให้เกิดลูกค้าที่ซื้อประจำขึ้น“

อีกทั้งยังช่วยตอกย้ำกลุ่มลูกค้าเดิมและสร้างกลุ่มลูกค้าใหม่ที่ให้รู้จักสินค้า BigC มากยิ่งขึ้น ในแง่ยอดขาย ยังเป็นการ
การกระตุ้นยอดขายกลุ่มสินค้าให้สูงขึ้น โดยอัตราเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 20% และในปีนี้คาดว่ามีอัตราเติบโตไม่น้อยกว่าเดิม และจะมีฐานลูกค้ากลุ่มเสื้อผ้าประมาณ 80% จากลูกค้าทั้งหมด

เฮาส์แบรนด์ เป็นกลยุทธ์หนึ่งที่บิ๊กซีนำมาใช้เพื่อต่อกรกับคู่แข่งในเรื่องราคา โดยมีทั้งผลิตภัณฑ์ภายใต้ชื่อ Leader Price และ First Price ซึ่งเป็นสินค้าจ้างผลิตคัดสรรจากโรงงานผู้ผลิตชาวไทย โดยมีคุณภาพใกล้เคียงกับยี่ห้อชั้นนำ แต่บริษัทฯ สามารถจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคได้ในราคาที่ถูกกว่า 15 – 20 % เนื่องจากผู้ผลิตไม่ต้องเสียค่าโฆษณา หรือค่าจัดจำหน่ายสินค้า

สำหรับ “เสื้อผ้าเฮ้าแบรนด์บิ๊กซี” มีอัตราเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 20% จัดเป็นกลุ่มสินค้าขายดีมีวอลุ่ม
แนวโน้มดี ไม่แพ้สินค้า Community product สินค้าของกินของใช้ อาทิ ข้าวสาร น้ำปลา ขณะเดียวกันยังได้เปรียบในแง่ต้นทุนผลิต เพราะมีโรงงานเซ็นทรัล การ์เมนต์ และในเครือ รองรับ และเมื่อเปรียบเทียบกับเฮาส์แบรนด์เสื้อผ้าของคู่แข่งอย่าง เทสโก้ โลตัส คาร์ฟูร์ ที่ส่วนใหญ่ไม่มีโรงงานเองต้องจ้างโรงงานนอกผลิต ดังนั้นต้นทุนอาจสูงกว่า

Did you know

มาร์คแอนด์สเปนเซอร์ (MARK & SPENSOR) เป็นสินค้าเฮาส์แบรนด์ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในอังกฤษ มีการสร้างแบรนด์สินค้าจนลูกค้าจดจำ

สาขา ดิสเคานต์สโตร์ในปี 2547
– เทสโก้ โลตัส มีสาขาจำนวน 60 สาขา
– คาร์ฟูร์ มีสาขาจำนวน 20 สาขา
– แม็คโคร มีสาขาจำนวน 29 สาขา
– บิ๊กซี มีสาขาจำนวน 40 สาขา

ที่มา : POSITIONING รวบรวม