ศุภกรณ์ เวชชาชีวะ Sense Marketing

หนุ่มนักบริหารอารมณ์ดี ท่าทางเป็นมิตร ยิ้มง่าย และหัวเราะบ่อยครั้งตลอดเวลาของการบอกเล่าเรื่องราวความเป็น Young Executive ของ “ศุภกรณ์ เวชชาชีวะ” รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ ของกลุ่มโพสต์ พับลิชชิ่ง ทำให้ได้ข้อสรุปอย่างหนึ่งว่าคนเก่ง รับผิดชอบสูงในธุรกิจที่มีแรงกดดันมากมาย ไม่จำเป็นต้องดูเคร่งขรึมเสมอไป

ธุรกิจสิ่งพิมพ์ เป็นธุรกิจหนึ่งที่มีความซับซ้อนการบริหารจัดการ เพราะนอกจากเรื่องต้นทุนและการสร้างรายได้แล้ว ยังมีเส้นแบ่งระหว่างธุรกิจและจรรยาบรรณของความเป็นสื่อ และความเป็นอัตตาสูงตั้งแต่บรรดานักข่าว ไปจนถึงบรรณาธิการ รวมไปถึงความพยายามแทรกแซงของเจ้าของหรือนายทุน เพราะฉะนั้นหลายครั้งที่หนังสือพิมพ์ หรือสื่อสิ่งพิมพ์ลงแผงแล้ว ก็อาจไปไม่รอด เพราะความขัดแย้ง ไม่ลงตัวในเนื้อหา จนในที่สุดไม่มีรายได้ และปิดตัวเองไปในที่สุด

แต่ความซับซ้อนนี้กับเวลาที่ผ่านไป 4 ปี สำหรับ ”ศุภกรณ์” ไม่ใช่อุปสรรค ในทางกลับกัน ยังทำให้เครือโพสต์ฯ ที่มีผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่น คือหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ”บางกอกโพสต์” และหนังสือในเครืออีกหลายเล่ม หลายประเภทเติบโตและดูสดใสมากกว่าเดิม รวมไปถึงหนังสือพิมพ์รายวันภาษาไทย ”โพสต์ ทูเดย์” ที่ ”ศุภกรณ์” บอกว่านอกจากสามารถมาอุดช่องว่างสกัดไม่ให้ผู้ที่ลงโฆษณาหนีไปอยู่ค่ายอื่นแล้ว ยังกำลังเริ่มทำกำไร จนฝ่ายบริหารของเครือโพสต์ฯ พร้อมต่อยอดธุรกิจไปยังสื่อใหม่ๆ อย่างอินเทอร์เน็ต และข่าวสารผ่านโทรศัพท์มือถือ

“ศุภกรณ์” ลูกพี่ลูกน้องของนักการเมืองชื่อดังอย่างอภิสิทธิ์ และสุรนันท์ ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ”เป็นเด็กเส้น” เพราะเป็นลูกเขยของ ”สุทธิเกียรติ จิราธิวัตน์” ผู้ถือหุ้นและประธานโพสต์พับลิชชิ่ง เข้ามาร่วมบริหารในเครือโพสต์ฯ ตั้งแต่ปี 2545 ด้วยภารกิจคือการเตรียมทำตลาดหนังสือพิมพ์ใหม่ในเครือ ”โพสต์ ทูเดย์”

เขาบอกว่าปัจจุบันสำเร็จในระดับหนึ่งทั้งยอดขาย ที่มีสมาชิกจำนวนมาก เพราะฐานสมาชิกที่เครือโพสต์ฯ มีความแข็งแกร่ง และรายได้จากโฆษณา เพราะตรงตามเป้าหมายที่ต้องการให้ผู้ที่ลงโฆษณามีทางเลือกมาที่เครือโพสต์ฯ จากเดิมที่โฆษณาที่ลงในบางกอกโพสต์ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าและบริการสำหรับลูกค้าระดับไฮเอนด์มากกว่า เช่น รถยนต์ ก็เป็นเบนซ์ หรือบีเอ็ม ส่วนยี่ห้ออื่นๆ ก็อาจเลือกไปลงฉบับอื่นสำหรับลูกค้าอีกระดับหนึ่ง ซึ่งกลยุทธ์ของเครือโพสต์ฯ ก็คือว่า มีสินค้าอีกมากมายที่เราควรได้มาลงโฆษณา แต่อาจไม่เหมาะกับบางกอกโพสต์ ก็ต้องเพิ่มสื่อเพิ่มรองรับ

ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา นอกจากโพสต์ ทูเดย์ จะเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับตลาดโฆษณาแล้ว ในส่วนของบางกอกโพสต์เอง ก็ได้เพิ่มสื่อใหม่เป็นส่วนเสริม (Supplement) เช่นวันศุกร์ มีนิตยสาร GURU สำหรับกลุ่มคนอ่านที่หนุ่มสาวขึ้น จากเดิมที่บางกอกโพสต์ส่วนใหญ่กลุ่มคนอ่านเป็นผู้ใหญ่ วันพฤหัสบดีจะมี Magazine สำหรับกลุ่มคนที่สนใจเรื่องแฟชั่น เสื้อผ้า ทั้ง GURU และ Magazine ทำให้โฆษณาหลายประเภทที่เครือโพสต์ไม่เคยได้มากก่อน ก็ได้มา เช่น อาหาร เครื่องดื่ม เสื้อผ้า

ล่าสุด ”ศุภกรณ์” บอกว่าแนวโน้มของโฆษณารับสมัครงาน เริ่มไหลไปอยู่ที่สื่ออินเทอร์เน็ตมากขึ้น เครือโพสต์ฯ ก็ได้ทำเว็บไซต์หางาน และรับสมัครงานออนไลน์ ที่ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะเป็นอันดับ 1 ในตลาดงานออนไลน์ รวมไปถึงการพัฒนาระบบเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ ของทั้งโพสต์ทูเดย์ และบางกอกโพสต์ให้เป็นชุมชนของคนอ่านมากขึ้น จากเดิมที่ในเว็บไซต์จะมีเพียงข่าวที่ให้บริการผู้อ่านเท่านั้น ซึ่งเป้าหมายคือ อยากอยู่ในอันดับต้นๆ ของชุมชนข่าวออนไลน์

ความเปลี่ยนแปลงอีกอย่างหนึ่งคือการเห็นบางกอกโพสต์โฆษณาผ่านสื่อในรูปแบบโฆษณา ประชาสัมพันธ์มากขึ้น อย่างการซื้อเวลาโฆษณาโดยให้ผู้ประกาศข่าวภาคภาษาอังกฤษนิวส์ไลน์ ช่อง 11 หยิบหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ขึ้นมาอ่าน ซึ่ง ”ศุภกรณ์” บอกว่าเป็นการตอกย้ำแบรนด์ของบางกอกโพสต์ ซึ่งเท่าที่จำได้คือไม่เคยโฆษณาทางทีวีมานานกว่า 10-20 ปีแล้ว

ถึงบรรทัดนี้ต้องบอกว่าผลงานเข้มข้นอย่างที่เห็นนี้ ไม่ได้หมายความว่าได้มาอย่างง่ายๆ เพราะนอกจาก ”ศุภกรณ์” ต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับบุคลากรในกองบรรณาธิการเพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างเป็นทีม โดยแต่ละฝ่ายสามารถทำหน้าที่ที่รับผิดชอบได้อย่างสมบูรณ์แล้ว เขายังต้องเรียนรู้ทำงานกับผู้บริหารที่มีประสบการณ์และอยู่มานาน ในฐานะที่เขาอายุน้อยที่สุดในระดับฝ่ายบริหาร

“ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเด็ก (หัวเราะ) และไม่ได้คิดว่าคนอื่นแก่ เราจะพูดอะไรก็พูด ไม่ค่อยเกรงใจ ไม่ไปพยายามต้องเกรงใจ ว่าคนนี้อยู่นานแล้ว ผมเอางานเป็นหลัก ส่วนเขาจะพอใจกันหรือไม่ เขาคงไม่บอกผม (หัวเราะ) ”

หลักการชัดเจนตรงไปตรงคงต้องบอกว่าส่วนหนึ่งเพราะเขาเรียนและเติบโตที่อังกฤษ แม้จะจบสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่มีโอกาสเจริญรอยตามบิดา ที่เป็นอดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ แต่เขาก็เลือกที่จะทำงานในสถาบันการเงิน เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักทรัพย์ เพราะช่วงเวลานั้นอุตสาหกรรมธุรกิจหลักทรัพย์ได้รับความนิยมสูงมาก มีโอกาสทำงานกับบริษัทต่างชาติช่วงหนึ่ง

ในที่สุดมีโอกาสเดินตามความต้องการเดิมของตัวเองที่เคยคิดอยากเป็นนักข่าว ด้วยการร่วมลงทุนธุรกิจข่าวออนไลน์ Q –Thai เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมจึงเข้าร่วมบริหารในเครือโพสต์ฯ ที่กำลังมีแผนขยายธุรกิจ จึงขายหุ้น Q –Thai ในที่สุด

แต่ละช่วง “ศุภกรณ์” อาจไม่เคยผ่านวิชางานทางการทำตลาดมากก่อน แต่เขาก็บอกว่า “เป็น Sense Marketing คือ Sense จากการเป็นผู้บริโภค เห็นคนอื่นทำยังไง และคิดว่า Work กับเรา ก็เอามาใช้ ในฐานะผู้บริโภค ถ้าโดนก็เอามาใช้ และเรื่องข่าวสารเราก็สนใจตั้งแต่เด็ก คือถ้าเราสนใจสินค้าที่เราบริหารอยู่ ก็ดีกว่าไปขายอะไรที่ไม่ค่อยชอบ”

ความสุขที่ ”ศุภกรณ์” ได้คือเข้ามาคลุกคลีกับธุรกิจ ”สื่อ” นั้น เขาบอกว่า ”ที่สนุกที่นี่ คือได้คุยกับผู้สื่อข่าว ได้รู้ว่าวันๆ เกิดอะไรขึ้นบ้าง มันสนุก ที่ Q –Thai ก็เหมือนกัน แต่มันจำกัด ที่นี่มีหลายคน เป็น 100 อยากได้ข้อมูลอะไร ก็คุยได้ สนุกกว่ากันเยอะ”

อะไรจะลงตัวจนน่าอิจฉา สำหรับ Young Executive คนนี้ที่ได้ทำทั้งสิ่งที่ตัวเองชอบและงานหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ จนผลงานที่ออกมาสามารถพิสูจน์ และสร้างการยอมรับให้กับคนในเครือโพสต์ฯ ได้ ว่าถึงเวลาที่ต้องปรับตัวกันอีกครั้ง

Profile

Name : ศุภกรณ์ เวชชาชีวะ (ก้อง)
Age : 39 ปี
Education :
– มัธยมศึกษา โรงเรียนแฮร์โรว์ สคูล อังกฤษ
– ปริญญาตรี (เกียรตินิยม) ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
– มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ อังกฤษ
Career Highlights :
2532-2534 นักวิเคราะห์หลักทรัพย์อุตสาหกรรมสื่อ คาเซนนอฟ (Cazenove) อังกฤษ
2534-2537 ผู้ช่วยผู้บริหาร ฝ่ายค้าหลักทรัพย์ต่างประเทศ ภัทรธนกิจ
2537-2540 ผู้อำนวยการฝ่ายค้าหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์
2541-2543 วาณิชธนากร เลห์แมนบราเธอร์ส ไทยแลนด์
2543-2545 กรรมการผู้จัดการ เว็บไซต์ข่าวออนไลน์ Q-Thai
2545-ปัจจุบัน เข้าบริหารในบริษัทโพสต์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ในตำแหน่งต่างๆ ดังนี้
2545-2547 ผู้อำนวยการฝ่ายจัดจำหน่าย และสื่อสารการตลาด
2547-2548 ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด
ปัจจุบัน รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ
Status :
สมรส ภรรยา : สมกมล (จิราธิวัฒน์)
บุตรสาว ศุภรรณิกา (อิงค์) 2 ขวบ
Life Style :
กีฬา-สคอวช์
เสื้อผ้า-แบรนด์ PINK
ร้องเท้า-Church
งานอดิเรก-อ่านหนังสือ